ผู้นำฝ่ายค้านในสภาถูก "ทีมองครักษ์พิทักษ์สถาบันฯ" ประท้วงไป 3 ครั้ง ในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ระหว่างอ่านญัตติซักฟอกรัฐบาลกลางสภา
อภิปรายไม่ไว้วางใจ: พล.อ.ประยุทธ์ปัดรับเงินบ่อน ลั่น "เงินชั่ว ๆ ไม่รับ" ด้าน พปชร. ประท้วงทั้งวัน
ศึกซักฟอกรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" เป็นไปด้วยความวุ่นวายเกือบตลอดทั้งวัน เมื่อ ส.ส. รัฐบาลที่ถูกวางตัวเป็น "ทีมประท้วง" ลุกขึ้นทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยังไม่เริ่มอ่านญัตติ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันฯ ไม่ให้ถูกพาดพิง และยังทำหน้าที่ปกป้องผู้นำรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน ต้องล่าช้ากว่ากำหนดที่ประธานสภานัดหมายเกือบ 1 ชม. เพราะเมื่อถึงเวลา 09.00 น. มีสมาชิกมาลงชื่อเพียง 68 คน จากองค์ประชุมที่ต้องการ 244 คน (ต้องเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 487 คน)
นอกจากนี้รัฐบาลยังเปิดเกมสกัดศึกซักฟอกตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่วาระการประชุม เมื่อนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) แสดงความไม่สบายใจต่อถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏในญัตติของฝ่ายค้าน และพยายามทักท้วงมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขตามที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา รับปากว่าจะนำไปหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
"ท่านอ่านข้ามไปได้ไหม ในส่วนญัตติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ทั้งหมด คิดว่าการประชุมจะราบรื่นและเป็นไปได้ด้วยดี" นายวิรัชเสนอแนะกลางสภา
ประธานวิปรัฐบาลยังแสดงความเห็นใจนักการเมืองต่างขั้วโดยระบุว่า "เชื่อว่าผู้นำฝ่ายค้านจำเป็นและจำใจ เพราะทราบว่าท่านเป็นคนจงรักภักดี" และย้ำว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจะทักท้วงให้ล่าช้า แต่เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติ
อย่างไรก็ตามนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ชี้แจงว่า แม้กังวลเรื่องความราบรื่นเรียบร้อยในการประชุม แต่หลักนิติรัฐเป็นสิ่งที่ต้องยึดไว้ เมื่อประธานสภาให้บรรจุญัตตินี้ จึงถือว่าถูกข้อกฎหมายและข้อบังคับ หากไปแก้ไขเสียก็จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ดังนั้นไม่ควรแก้กฎหมาย แต่ให้แก้ที่สำนึก ทว่าเขาหลุดปากยอมรับว่า "ไม่สบายใจ แต่จำเป็นต้องอ่านตามญัตติ" ไม่ควรละเว้น เพราะเป็นการแสดงว่าความเห็นของประธานไม่ชอบ การบรรจุญัตติครั้งนี้ผิดพลาด
ทีม "องครักษ์พิทักษ์สถาบันฯ" มาครบ
หลังจากนั้น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถูกวางตัวเป็น "ทีมองครักษ์พิทักษ์สถาบันฯ" ได้ลุกขึ้นทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ทั้งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม., นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ รวมถึง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า หากปล่อยให้ผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติจะเป็นปัญหา เพราะเป็นการกระทำต้องห้ามตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และประกาศจะใช้สิทธิประท้วงเต็มที่เพื่อรักษารัฐธรรมนูญ และจะไม่ยอมให้ใครกล่าวถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ
รองหัวหน้า พปชร. รายนี้เป็นเจ้าของญัตติด่วนคาสภา ขอให้สภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 และข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 49 เนื่องจากเห็นว่าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านมีเนื้อหาที่เชื่อได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันเบื้องสูง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และยังเป็นมือยื่นยุบ ทษช. ก่อนการเลือกตั้งปี 2562
"มีคนไปนับมาแล้วว่าข้อกล่าวหานายกฯ มี 30 ประเด็น ทำไมต้องเอาเรื่องต้องห้ามมา นั่นคือเหตุ ส่วนผมคือผล ต้องดำเนินการเพราะท่าน ผมเป็นคนยื่นยุบ ทษช. เตือนด้วยความหวังดี ถ้าไม่ฟัง" นายไพบูลย์กล่าว
ขณะที่นายสิระกล่าวหานายสมพงษ์ว่า "ได้รับสัญญาณจากดูไบให้ต้องบรรจุให้ได้ คิดว่าเรื่องนี้ผู้นำฝ่ายค้านโดนแทรกแซงจากต่างประเทศ"
ส่วน น.ส.ปารีณา ประท้วงประธานให้ทำหน้าที่เป็นกลาง พอฝ่ายค้านพูด ให้สิทธิเต็มที่ แต่พอนายไพบูลย์พูด กลับถูกตัดบท "วันนี้ท่านกำลังเปิดสภาให้จาบจ้วงสถาบันฯ"
ชวนประกาศพร้อมรับผิดชอบ หากศาล รธน. ตีความญัตติมิชอบ
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภา กล่าวชี้แจงตอนหนึ่งว่า ในการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ จะดูว่ามีข้อความใดละเมิดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของสภาเห็นร่วมกันว่าไม่มี แต่เป็นการกล่าวหารัฐบาลอย่างรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ส่วนตัวจึงทักท้วงไป เพราะถ้าข้อความนี้ปรากฏ รัฐบาลคงไม่อยู่เฉย รัฐบาลต้องตอบ และคำตอบนั้นอาจเป็นผลลบต่อผู้อภิปรายเอง อาจมีการแจ้งข้อกล่าวหา และตกเป็นจำเลยของประชาชนได้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อผลหารือของฝ่ายค้านยืนยันตามเดิม ญัตติก็ต้องบรรจุ
"ดังนั้นญัตตินี้ถูกต้องตามข้อบังคับทุกอย่าง เป็นสิทธิของผู้เสนอญัตติ ส่วนถ้าใครจะประท้วงก็เป็นสิทธิ แต่ประธานจะเป็นผู้วินิจฉัย" และ "ถึงไม่อ่าน ยังไงญัตติก็เป็นญัตติแล้ว" ประธานสภากล่าว
ในทัศนะของนายชวน ไม่มีปัญหาว่าจะอภิปรายได้หรือไม่ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยมีญัตติทำนองนี้มาแล้วสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ดังนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้อยคำต้องไม่ละเมิดต่อสถาบันฯ
ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติรายนี้ยังบอกด้วยว่า "ถ้าวันข้างหน้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าญัตติไม่ชอบ ผมต้องรับผิดชอบ"
นอกจากนี้นายชวนยังนำความกังวลใจของสถานีโทรทัศน์รัฐสภามาแจ้งต่อบรรดา ส.ส. ด้วยว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มาตรา 37 ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ไม่เช่นนั้นสถานีโทรทัศน์รัฐสภาจะถูกระงับการออกอากาศทันที และอาจถูกพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต
พปชร. ประท้วง 3 รอบระหว่างอ่านพฤติการณ์ประยุทธ์อ้างสถาบันฯ
หลังเปิดให้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางราว 1 ชม. นายชวนได้ชี้แจงกติกาในศึกซักฟอก และเข้าสู่วาระเวลา 10.45 น. ด้วยการเปิดให้นายสมพงษ์เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คือ "เป้าแรก" ที่ฝ่ายค้านจ้องถล่มตลอดวันนี้ (16 ก.พ.)
หลังจากนายสมพงษ์อ่านญัตติไปได้เพียง 5 นาที ได้เกิดเหตุประท้วงอีกครั้ง ในระหว่างบรรยายข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ รวม 21 บรรทัด
พลันที่มาถึงข้อความว่า "ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นายไพบูลย์คนเดิมก็ยกมือใช้สิทธิประท้วงทันที โดยให้เหตุผลว่าผู้นำฝ่ายค้านกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น ทำให้สถาบันฯ ที่ควรอยู่เหนือการเมือง ถูกนำมาเป็นคู่แข่งหรือฝักฝ่ายการเมือง การอภิปรายล้วนแต่ทำให้มีปัญหาและสร้างความเสียหายต่อสถาบัน
ทว่านายชวนวินิจฉัยว่า ผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติไม่ตกหล่นแม้สักคำ คำประท้วงไม่มีผล และให้อ่านต่อไป แต่หลังจากนั้นนายไพบูลย์ และ น.ส.ปารีณา ก็ประท้วงแทรกขึ้นมาอีกรายละครั้งเมื่อผู้นำฝ่ายค้านอ้าปากพูดคำว่า "สถาบันฯ" แต่นายชวนยืนยันคำวินิจฉัยเดิมว่าญัตติบรรจุไว้เช่นนั้น จำเป็นต้องอ่านตามนั้น จึงสามารถเดินหน้านำเสนอญัตติได้จนจบ
เบ็ดเสร็จแล้ว นายสมพงษ์ถูกประท้วงไป 3 ครั้งในเวลาครึ่งชั่วโมงที่นำเสนอญัตติ
สำหรับคำบรรยายพฤติการณ์ของนายกฯ ที่ ส.ส.พรรครัฐบาล พยายามกีดขวางไม่ให้ผู้นำฝ่ายค้านอ่านกลางสภาคือ "ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง"
สิระ-เสรีพิศุทธ์ ประดิษฐ์คำด่ากันวุ่นตลอด 2 ชม.
ส่วนบรรยากาศการประชุมในช่วงบ่ายได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเกือบตลอดเวลา 2.15 ชม. ที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ได้ "อภิปรายโดยไม่จำกัดเวลา" แต่ถูก ส.ส.รัฐบาล ลุกขึ้นประท้วงเป็นระยะ เนื่องจากในช่วงต้น พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ได้นำคลิปวิดีโอของสำนักข่าวและพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์มาฉายกลางสภา แสดงให้เห็นนาทีที่เขา ในฐานะจเรตำรวจแห่งชาติ นำทีมบุกทลายบ่อนประตูน้ำเมื่อปี 2547 จนถูก ส.ส.พปชร. ประท้วงว่าพูดจาวนเวียนซ้ำซาก ไม่เข้าประเด็น จงใจใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเวที "อวดผลงานในอดีต" และ "โฆษณาตัวเอง" ขณะที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธาน ได้เอ่ยปากเตือนเป็นระยะ "ขอให้เอาแบบหมัดเดียวโป้งเดียวจอด... ส่วนประวัติศาสตร์อันงดงามของท่าน เอาให้พอประมาณ"
จากนั้นเมื่อเข้าสู่การอภิปรายปัญหาปัจจุบันจากการลักลอบเล่นพนันหลายแห่งช่วงโควิด-19 อาทิ บ่อนพระราม 3 และบ่อนระยอง หัวหน้า สร. ก็ยังอภิปรายโดยอาศัยคลิปข่าวและรายการวิเคราะห์ข่าวของสื่อมวลชนเช่นเคย เนื้อหาบางส่วนเป็นการกล่าวหาและพาดพิงบุคคลภายนอกซึ่งเป็นนายตำรวจนอกราชการ เป็นผลให้ ส.ส.พปชร. ต้องลุกขึ้นประท้วงอีกครั้ง โดยนายสิระ เจนจาคะ หลุดปากบริภาษเขาไปหลายคำ เพื่อคัดค้านการนำคลิปสื่อมาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาทิ "ต้องโง่ขนาดไหน" และ "ท่านแก่แล้วแก่เลยจริง ๆ หรือไม่" ร้อนถึงลูกพรรคของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ต้องลุกขึ้นมาตอกกลับโดยกล่าวว่า "สภามีอดีตนักโทษมานั่งอยู่ในห้องประชุม"
หลังจากนั้นบรรยากาศในสภาก็ดุเดือด เกิดการประท้วงกันไปมาของสองฝ่าย และเริ่มวุ่นวายหนักขึ้นเมื่อ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์หยิบยกข่าวอีกชิ้นขึ้นฉายบนจอโปรเจคเตอร์ บรรยายว่านายกฯ ขู่ตัดเงินเดือน ส.ส.พปชร. 2 แสนบาท พร้อมตั้งคำถามลอย ๆ ขึ้นกล่าวหาว่า "เอาเงินมาจากไหน เอามาจากบ่อนหรือไม่" นั่นทำให้ ส.ส. พรรคแกนนำรัฐบาลต่างยกมือประท้วงและใช้สิทธิพาดพิงกันเกลื่อนห้อง แต่ประธานได้ชิงลดความร้อนแรงด้วยการสั่งให้ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ถอนคำพูดที่เป็นการใส่ร้ายพรรคการเมือง โดยกล่าวว่า "วันนี้เราอภิปรายไม่วางใจนายกฯ และรัฐมนตรี ไม่ใช่ให้ไปเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พปชร." ทว่านอกจากไม่ยอมถอนคำพูด หัวหน้า สร. ยังต่อล้อต่อเถียงกับประธานไปมา ทำให้นายสิระกดไมค์พูดแทรกขึ้นมาหลายครั้งว่า "เชิญออกไปได้แล้ว สติไม่ดีแล้ว" และ "กลัวเสียหน้าหรือครับ ก่อนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์จะตะโกนสวนกลับไปว่า "เห้ย! นั่งลงไอ้นักโทษ" ก่อนอภิปรายจนจบท่ามกลางการประท้วงอย่างต่อเนื่องของทีม พปชร.
ประยุทธ์ลั่น "เงินชั่ว ๆ ไม่รับ"
หลังรับฟังนาน 6 ชม. พล.อ.ประยุทธ์ลุกขึ้นชี้แจงเป็นครั้งแรก โดยระบุตอนหนึ่งว่ากรณีเรียกรับประโยชน์มีการอ้างอิงจากโทรทัศน์ ข้อมูลเหล่านี้เป็น "ข้อมูลดิบ" ดังนั้นต้องหาพยานหลักฐาน วัตถุพยาน หรือมีการฟ้องร้อง "การเอาข้อมูลจากสื่อมาจะใช่ไม่ใช่ ไม่ทราบ แต่ผมยืนยันว่าผมไม่ได้ทำสักอย่าง"
เช่นเดียวกับเรื่องบ่อนพนัน ในฐานะนายกฯ ทำตรงข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะไม่นิยมชมชอบการเล่นพนันขันต่อไม่ว่าจะรูปแบบใด เพราะทราบว่าขัดศีลธรรม ขัดหลักศาสนา เป็นเรื่องต้องห้ามตามหลักกฎหมาย การตกเป็นทาสพนันไม่ว่ารูปแบบใดจะทำให้เกิดความเสื่อม โจรปล้น 10 ครั้งยังเหลือบ้าน ไฟไหม้ 10 ครั้งยังเหลือที่ดิน แต่เสียพนันครั้งเดียวอาจไม่เหลืออะไรสักอย่าง จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันเสมอ ถ้าจับบ่อนในพื้นที่ใดได้ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นต้องรับผิดชอบ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สามารถจับกุมบ่อนพนันได้จำนวนมาก และสั่งย้ายนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการไป 51 ราย และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
นายกฯ คนที่ 29 ยังแจกแจงสถิติการจับกุมตาม พ.ร.บ.การพนัน ระหว่างปี 2561-2563 จำนวน 35,000-50,000 คดี มีผู้ต้องหา 74,000-98,000 คน
"ใครที่กล่าวหาว่าผมรับประโยชน์ ผมยืนยันบาทเดียวก็ไม่เกี่ยวข้อง เงินชั่ว ๆ ไม่รับ รับแต่สิทธิประโยชน์ของผมตามกฎหมายเท่านั้น" พล.อ. ประยุทธ์กล่าวและฝากถึง ส.ส. ที่อภิปรายว่าจะพูดลอย ๆ ไม่ได้ ต้องแจ้งความ
"วันนี้ยินดีที่ได้มาสภา ก็คิดถึง ไม่ได้หวาดกลัวใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นโอกาสที่ดีของทั้งสองฝ่ายที่จะได้มาร่วมมือกันทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน ถึงแม้ว่าท่านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจอะไรก็ตาม ผมพร้อมจะชี้แจง" นายกฯ กล่าว และยังฝากถึงประชาชนที่อยู่ทางบ้านให้ฟังและคิด จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตัดสินเอง แต่ย้ำว่าทุกอย่างมีข้อกำหนดทั้งหมด ไม่เคยทำอะไรที่ออกนอกกรอบ เพราะระมัดระวังอย่างที่สุดในการทำงาน
ศึกซักฟอกรัฐมนตรีเกิดขึ้นเป็นหนที่ 2 ของรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" ซึ่งการอภิปรายจะดำเนินไปต่อเนื่อง 4 วัน 4 คืน โดยวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านตกลงกรอบเวลากันไว้ว่า ฝ่ายค้านมีเวลาอภิปราย 42 ชม. โดยพยายามให้จบภายใน 02.00 น. ของแต่ละวัน ยกเว้นวันที่ 19 ก.พ. ที่วิปรัฐบาลเสนอให้ยุติการอภิปรายในเวลา 22.00 น. ก่อนที่ ส.ส. จะลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในช่วงเช้าของวันที่ 20 ก.พ.
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar