เว็บไซต์ทำเนียบขาวระบุว่านายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ "ได้แสดงความกังวลถึงการจับกุมผู้ประท้วงในไทย รวมทั้งการตัดสินจำคุกผู้กระทำความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเวลานาน"
ม.112 : เลขา สมช. "งง" ที่ปรึกษาโจ ไบเดนกังวลเรื่องคดีหมิ่นฯ ยืนยันไม่ได้คุยกันเรื่องนี้
พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยืนยันว่านายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของนายโจ ไบเดน ไม่ได้หยิบยกเรื่องการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือการจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงในไทยมาพูดคุยในการสนทนาทางโทรศัพท์กับเขาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.
"ผมยังงงอยู่ว่าเอาไปพูดได้ยังไง ยืนยันว่าไม่มีการคุยกันเรื่องนี้" พล.อ. ณัฐพลกล่าวกับบีบีซีไทยวันนี้ (11 ก.พ.) ภายหลังจากเว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่านายซัลลิแวนได้สนทนาทางโทรศัพท์กับเลขา สมช. ของไทยทางโทรศัพท์โดยเน้นย้ำถึงความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่มีมายาวนานบนพื้นฐานในการสร้างความสงบสุขและเสถียรภาพในภูมิภาค
เว็บไซต์ทำเนียบขาวระบุอีกว่านายซัลลิแวน "ได้แสดงความกังวลถึงการจับกุมผู้ประท้วงในไทย รวมทั้งการตัดสินจำคุกผู้กระทำความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเวลานาน"
- ม.112: ส.ส.ก้าวไกล 9 คนไม่ร่วมลงชื่อแก้กฎหมายหมิ่นฯ พิธาชี้ "เป็นประชาธิปไตยในพรรค"
- ม.112: ศาลไม่ให้ประกันตัว หลังอัยการสั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ คดีแรกของการชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร"
- ม. 112: เปิดสำนวนตำรวจ ทำอะไรถึงเข้าข่าย "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ"
พล.อ. ณัฐพลกล่าวว่าเขาไม่ได้รู้จักกับนายซัลลิแวนเป็นการส่วนตัว และการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 8 ก.พ. นั้น นายซัลลิแวนเพียงแค่มาแนะนำตัวในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ โดยเป็นการพูดคุยผ่านล่ามของทั้งสองฝ่ายและใช้เวลาไม่นาน
"เขาแนะนำตัวว่าเป็นที่ปรึกษา แล้วก็แสดงความห่วงใยสถานการณ์ในเมียนมาเท่านั้นเอง นอกนั้นก็เป็นการแนะนำประวัติการทำงานส่วนตัว ไม่มีการพูดเรื่องการจับกุมผู้ประท้วงหรือการดำเนินคดีมาตรา 112 เลย" เลขา สมช. กล่าวและเปิดเผยว่าได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงไปทางผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการคุยเรื่องนี้ระหว่างการสนทนา
เลขา สมช. ตั้งข้อสังเกตว่าข้อความที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนทางเว็บไซต์ทำเนียบขาวนั้นอาจเป็นข้อความที่มีการเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อสนทนาจริง ๆ แล้วไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาคุย
"ผมก็พยายามที่จะไม่พูดอะไรมากอยู่แล้วในสถานการณ์แบบนี้ ผมก็พยายามตัดบทและสรุปเพราะว่าการคุยทางโทรศัพท์ก็เป็นเรื่องเซนซิทีฟ" พล.อ. ณัฐพลกล่าว
สหรัฐฯ ส่งสัญญาณอะไร
ผศ.ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองว่าการที่ทำเนียบขาวเผยแพร่ข่าวการพูดคุยระหว่างที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีกับเลขา สมช. ไทยโดยระบุถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในไทยและในเมียนมาว่า เป็นเรื่องที่น่าจับตาว่ารัฐบาลของนายโจ ไบเดน จะมีความจริงจังในเรื่องนี้แค่ไหน
ผศ.ดร. ประพีร์วิเคราะห์ว่าสหรัฐฯ กำลังต้องการรื้อฟื้นเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่จะให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้จริงจังหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
"พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่มันเหมือนต้องโชว์ว่าฉันกลับมาแล้วนะ ฉันกลับมาในรูปแบบเดิมที่มีความเป็นประชาธิปไตย มีสิทธิมนุษยชนมาก"
อย่างไรก็ตามนี่เป็นสัญญาณว่าสหรัฐฯ จะเดินหน้าประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอย่างแน่นอน
ผศ.ดร.ประพีร์มองว่าขณะนี้การกดดันของสหรัฐฯต่อประเทศไทยโดยตรง อาจจะยังไม่ชัดเจน แต่สำหรับสถานการณ์หลังรัฐประหารในเมียนมา ไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย ดังเช่นในอดีตที่ไทยพยายามดึงเมียนมาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ซึ่งไทยก็ถูกกดดันผ่านนโยบายระหว่างประเทศ
"จากตอนนั้นที่เรามีจุดยืนว่าจะไม่แทรกแซงนโยบายภายในของประเทศเพื่อนบ้าน เราถึงกับต้องมีนโยบายออกมา...ทำให้เราต้องเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์อย่างยืดหยุ่น อเมริกาโอเค แต่อาเซียนไม่ชอบเรา ตรงนี้มันจะกลับมาอีกรึเปล่า" เธอตั้งคำถามพร้อมกับเสนอแนะว่ารัฐบาลไทยต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบด้าน ว่าไทยควรจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar