fredag 12 februari 2021

ทนายยื่นอุทธรณ์ค้านคำสั่งศาลอาญาไม่ให้ประกัน.

Thai E- News

ทนายยื่นอุทธรณ์ค้านคำสั่งศาลอาญาไม่ให้ประกัน เพนกวินกับพวก ข้อหาม.112,116และอื่นๆ



เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยในคดี อ.286/2564 พร้อมด้วย นายพงษ์สิทธิ์ นาเมืองรักษ์ ทนายความของนายพริษฐ์ นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร จำเลยในคดี อ.287/2564

เดินทางมายื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของศาลอาญาในคดีที่กลุ่มจำเลยถูกพนักงานอัยการส่งฟ้องข้อหาตามความผิด มาตรา 112, มาตรา 116, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ป.อาญา มาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะฯ, ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ, ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯ, ทำลายโบราณสถานฯ, ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ รวม 11 ข้อหา จากคดีการชุมนุม 19-20 ก.ย. 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง (เพนกวินมีชุมนุมม็อบเฟสฯ14 พ.ย.ด้วย)

โดยขณะนี้มีรายงานว่าอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคำสั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ภายหลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดี โดยพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระ ตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง

 
 

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
15h ·

• ขอให้สถาบันตุลาการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน •
.
วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2564) ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ส่งหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และประธานศาลฎีกา ขอให้สภาบันตุลาการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
.
จากกรณีศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 4 ราย ได้แก่ นาย พริษฐ์ ชิวารักษ์ นาย อานนท์ นำภา นาย ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ นาย สมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เนื่องจากการปราศรัย 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 และวันที่ 20 กันยายน 2563 และการชุมนุม 14 พฤศจิกายน (Mobfest) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 นั้น
.
ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาข้างต้น ให้เหตุผลว่า
.
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำ ๆ ต่างกรรมต่างวาระ ตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควร เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีกจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว...”
.
การไม่ได้ประกันตัวดังกล่าวมีผลให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณา ทั้ง 4 คน จะถูกคุมขังจนกว่าจะมีคำพิพากษา นั้นหมายความว่าการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนี้จะเป็นผลให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน จะถูกพรากเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม และไม่สามารถเป็นแกนนำในการชุมนุมในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีนี้ การตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 ในกรณีนี้จึงมีจุดประสงค์ซ่อนเร้นเพื่อยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหาเป็น “การฟ้องคดีปิดปาก” เพื่อปิดกันการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคามประชาชนด้วยกระบวนการยุติธรรม การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีจะมีผลเป็นการทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ต้องยุติบทบาทในการนำการชุมนุมสาธารณะเสียก่อนที่พวกเขาจะได้รับการพิพากษาว่าได้กระทำความผิด
.
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียนมาเพื่อคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลอาญาในการสั่งมิให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยเหตุที่จะกล่าวต่อไปนี้
.
1. ปัจจุบันมีการนำกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดและคุกคามสิทธิ

และเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงการณ์

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ที่ระบุว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุม ทำให้คดี 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแถลงของผู้นำประเทศที่เห็นประชาชนเป็นศัตรูและการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเป็นอาชญากรรม และศาลที่รับฟ้องคดีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 112 และมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยหรือผู้ต้องหาได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว มักจะอ้างเหตุผลในทำนองว่าข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง โดยที่ท่านทราบดีว่าสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ต้องพิจารณา ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดและการจะควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยจะกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้บุคคลนั้นหลบหนี อีกทั้งมาตรา 107 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้สิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตในการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก โดยการพิจารณาสั่งคำร้องปล่อยชั่วคราว ให้ศาลอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 108 เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นในมาตรา 108/1
.
2. ดังนั้น การที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดี 112 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์นั้นสะท้อนว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนผู้มีคำสั่งไม่ตระหนักถึงสิทธิของผู้ต้องหา ในการที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามเจตจำนงค์แห่งรัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจแห่งตนที่สามารถใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยมิชอบ ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้อย่างเต็มที่ การไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะต้อง มีเหตุอันควรเชื่อ เหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะไปยุ่งเหยิง กับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกัน หรือ หลักประกัน ไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราว จะเป็นอุปสรรค หรือ ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อการสอบสวน ของเจ้าพนักงาน หรือ การดำเนินคดีในศาล
.
ซึ่งคำสั่งของศาลอาญาตามที่กล่าวมาข้างต้นดังกล่าวไม่ปรากฎเหตุตามมาตรา 108/1 จึงถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งโดยมิชอบ แม้ผู้ต้องหา/จำเลยจะสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ซึ่งอาจจะมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งจากศาลสูงได้แต่การไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในศาลชั้นต้นจะเป็นการสร้างอุปสรรคและสร้างภาระให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเกินสมควรในการเข้าถึงความยุติธรรมทั้งที่กฎหมาบบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน
.
3. ผู้พิพากษาต้องคำนึงถึงหลักความเป็นอิสระและเที่ยงธรรม ในการกรณีการพิจารณาออกหมายจับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง ศาลจำเป็นต้องพิจารณาภายใต้หลักการที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและไม่ยอมตนรับใช้อำนาจใดหากแต่ต้องใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ศาลต้องเป็นหลักอันศักด์สิทธิและเป็นไม้หลักสุดท้ายในการผดุงความยุติธรรมให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมโดยเสมอภาคและต้องดำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดไม่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการดุลพินิจในทางที่เป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้พิพากษาต้องมีความกล้าหาญในการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนหาไม่แล้วสถาบันตุลาการเองจะกลายเป็นสถาบันที่สร้างแต่ความอยุติธรรมให้แก่ประชาชน
.
4. ในสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐเป็นคู่พิพาทกับประชาชนศาลซึ่งมีความเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐหรืออำนาจใด ๆ ยิ่งจักต้องจัดสมดุลระหว่างรัฐกับประชาชน

เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์และทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของการกระทำของฝ่ายบริหาร หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมชั้นตำรวจและชั้นอัยการ เหล่านี้ จะเป็นบรรทัดฐานในการพิทักษ์หลักนิติธรรมของประเทศและทำให้หลักการสิทธิมนุษยชน

ที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมีผลจริงในทางปฏิบัติ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้ศาลยุติการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองและคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar