สื่อ–ศาล–ทหาร
ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างอำนาจ 3 ฝ่ายตามระบอบประชาธิปไตย นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ก็ต้องเปรียบเทียบ อำนาจ 3 ฝ่ายที่มีอิทธิพลต่อบ้านเมือง ตั้งแต่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา วิกฤติการเมือง จะซ้ายหันขวาหัน ขึ้นอยู่กับอำนาจ 3 ฝ่ายดังต่อไปนี้ คือ สื่อมวลชน กองทัพ และอำนาจตุลาการ
วิกฤติการเมืองทุกครั้งจบลงที่ การยึดอำนาจหรือการใช้อำนาจทางทหาร แล้วก็มีทหารมาปกครองประเทศ จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางครั้งก็มีการต่อท่ออำนาจออกมานอกกองทัพ หรือใช้อำนาจจากปลายกระบอกปืนแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายการเมือง ควรที่จะรีบตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่สุดก็มาจบลงที่การปฏิวัติรัฐประหารอยู่ดี
และทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ก็จะมีแนวคิดข้อเสนอที่จะร่างบทบัญญัติขึ้นมา เพื่อป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร ร้อยแปดพันเก้า ที่สุดก็ไม่พ้นการแก้วิกฤติการเมือง ด้วยอำนาจจากปลายกระบอกปืน สักที ซึ่งบางครั้งก็มาจาก การชิงอำนาจระหว่างขั้วอำนาจที่มีกองทัพสนับสนุน หรือบางครั้งก็เป็นการชิงอำนาจระหว่างกองทัพด้วยกันเอง เหตุการณ์เมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว ก็ยังเกิดขึ้นกับประเทศไทย เพียงแต่รูปแบบเงื่อนไข และวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ชี้ให้เห็นถึงการด้อยพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยชัดเจนที่สุด
สื่อมวลชนจะมีบทบาทในการชี้นำทางสังคม ให้เกิดทัศนคติทางการเมืองที่เป็นบวกหรือลบ กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าจะใช้ไม้บรรทัดมาวัดมาตรฐานของสื่อมวลชนในบ้านเรา ก็ต้องใช้ไม้บรรทัด ที่ไม่ค่อยจะมีมาตรฐาน หรือมีร่องรอยอารยธรรมมากหน่อย
เรื่องบางเรื่องก็เกิดจากการชี้นำของสื่อ ซึ่งมีทั้งความจริง มีทั้งความจริงเพียงครึ่งเดียว หรือหาความจริงไม่ได้เลย ที่เรียกกันว่าข่าวลือ การปฏิรูปสื่อก็ไม่ต่างจากการวางกรอบและกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ สุดท้ายถ้ากติกาไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมาก็สูญเปล่า
สื่อกับการเมืองก็คือกลุ่มผลประโยชน์ไม่ต่างกัน
สุดท้าย ศาลและองค์กรอิสระ ถ้าไม่อยู่ในนิติรัฐ นิติธรรม และมีจิตสำนึกของผู้ผดุงความเป็นธรรม ใช้วิชาชีพและดุลอำนาจ เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือตีความเอาตามทัศนคติตัวเอง ปัญหาก็จะขยายวงกว้างขึ้นและนำไปสู่วิกฤติเป็นลูกโซ่ ความเป็นธรรมไม่มี สามัคคีย่อมไม่เกิด
ดังนั้น มองภาพรวมของการเมืองไทยวันนี้ จะเป็นคำตอบได้ดีที่สุดว่า สื่อ ศาล ทหาร คือผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองของจริง ยิ่งสื่อ ศาล ทหาร เข้าไปมีอำนาจซ้อนอำนาจ 3 ฝ่าย นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการด้วยแล้ว
การปฏิรูปก็คงเป็นแค่สมมติฐานที่ไม่ตรงกับโรค.
หมัดเหล็ก
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar