lördag 22 november 2014

"รัฐประหารสืบชะตา" ......"สืบชะตา" อะไร?...














https://www.facebook.com/somsakjeam?fref=nf


 ThaiE- News
ฟีดข่าว


    รัฐประหาร "สืบชะตา"
    ไม่กี่วันก่อน ผมนั่งนึกๆว่า ถ้าจะตั้งชื่อให้การรัฐประหาร คสช. ครั้งนี้ ควรจะตั้งว่าอะไรดี

    ผมไม่เก่งเรื่องการตั้งชื่อ (ไม่เหมือนเกษียร) แต่ถ้าจะตั้ง ผมคิดว่าน่าจะเรียกรัฐประหารครั้งนี้ได้ว่า "รัฐประหารสืบชะตา"

    คิดว่าคนไทยส่วนมากในสมัยนี้ คงพอได้ยินประเพณีหรือพิธีกรรมที่เรียกๆกันว่า "สืบชะตา" (หรือบางทีก็เรียกเรียบๆว่า "ต่อชีวิต") ว่ากันว่า เดิมเป็นประเพณี (หรือความเชื่อ) จากล้านนา แต่สมัยนี้ ผมเข้าใจว่ามีการทำกันทั่วไปในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะทำบุญ ถวายทาน ไปจนถึงแกล้งนอนในโรงศพ อะไรทำนองนั้น ไอเดียคือทำแล้ว ช่วย "ต่ออายุ" ออกไปอะไรแบบนั้น

    รัฐประหารครั้งนี้ ถึงที่สุด เป้าหมายก็อยู่ที่การ "สืบชะตา" หรือ "ต่ออายุ"

    "สืบชะตา" อะไร?

    ตอบ: สถานะของสถาบันกษัตริย์


    ผมขอเสนอเหตุผลที่วิเคราะห์ (และเรียก) การรัฐประหารครั้งนี้แบบนี้ เป็นข้อๆต่อเนื่องกัน เพื่อให้อ่านง่ายหน่อย ดังนี้

    (1) อำนาจขององค์กรรัฐต่างๆ ที่มีลักษณะอยู่เหนือการตรวจสอบควบคุมของสาธารณะมาโดยตลอด ได้แก่ องคมนตรี ทหาร ตุลาการ ไปจนถึงองค์กรแบบสำนักงานทรัพย์สินฯ หรือเครือข่ายอำนาจแบบไม่เป็นทางการขององค์กรเหล่านี้อีกมาก ล้วนแต่อาศัยความชอบธรรมของการดำรงอยู่และใช้อำนาจของตน จากสถานะของสถาบันกษัตริย์ ที่เป็นยอดสูงสุดของการอยู่เหนือการตรวจสอบควบคุมของสาธารณะ
     
    (อันที่จริง ถ้าจะพูดในเชิง "สังคมวิทยา" แบบกว้างออกไป อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า ชนชั้นกลางในเมืองที่เติบโตขึ้นและกลายเป็น "ฐานมวลชน" ให้สถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ก็อาศัยสถานะของสถาบันกษัตริย์ในลักษณะเป็น "องค์ประกอบเชิงอุดมการณ์" ในการเติบโตขึ้นมามีบทบาทนำในสังคมเช่นกัน แต่เรื่องนี้มีความซับซ้อนที่ต้องการการอภิปรายมากกว่านี้)

    (2) ตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่สำคัญหลายอย่าง (เช่่นกัน เรื่องนี้ต้องอภิปรายกันอีกยาว นีคือปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่า mass monarchy ผู้สนใจลองดูบทสัมภาษณ์ผมในหนังสือประกอบงาน 14 ตุลา เมื่อปีกลาย) อย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือลักษณะการ personified หรือทำให้มีลักษณะเป็นตัวบุคคล พูดแบบง่ายๆ (อย่างที่ทุกคนคงเห็นและคุ้นเคยกันดี) คือการทำให้ สถาบันกษัตริย์ = ในหลวงภูมิพล (นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่กว่าที่นักวิชาการบางคนพูดกัน ตัวอย่างง่ายๆ ในช่วง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา และหลังจากนั้นอีกหลายปี ยังไม่ใช่แบบที่เราเห็นกันนี้)

    (3) การ personification หรือทำให้ = ตัวบุคคล เช่นนี้ มองในแง่สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ มีผลที่ตามมาที่เรียกว่าเป็นทั้ง "จุดแข็ง" และ "จุดอ่อน" อย่างสำคัญ

    "จุดแข็ง" ก็อย่างที่คุ้นเคยกันดี คือทำให้ชนชั้นกลางในเมืองที่เชียร์เจ้า สามารถ "แยกความรู้ึสึก" ในใจ ระหว่างในหลวงกับเจ้าองค์อื่นๆ เช่น รัชทายาท ออกจากกัน และการกระทำใดๆ ของเจ้าองค์อื่นๆ ก็จะไม่ "กระทบ" ต่อความรู้สึกจงรักภักดีต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "สถาบัน" กษัตริย์ได้ (เพราะ "สถาบัน" กษัตริย์ = ในหลวง ในทางเป็นจริงสำหรับพวกเขา)

    ด้านที่เป็น "จุดอ่อน" ที่สำคัญที่สุด และเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิกฤติและรัฐประหารครั้งนี้ ก็อย่างที่ "ชาวพุทธ" ทุกคนรู้ดี คือคนทุกคนต้อง "เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย" แน่นอน ตราบเท่าที่ตัวบุคคลที่ถูกทำให้ = "สถาบัน" กษัตริย์ยังมีพระพลานามัยแข็งแรง ก็ไม่ปัญหา แต่ในกรณีที่ต้วบุคคลแก่ชรา พระพลานามัยทรุดลงเรื่อยๆเล่า?

    (4) ในลักษณะเฉพาะที่สถาบันกษัตริย์ถูกทำให้มีลักษณะ = ตัวบุคคล อย่างเข้มข้นเช่นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ตัวบุคคลชราภาพและมีพระพลานามัยทรุดลงทุกขณะ วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะทุ่มเทอย่างไรก็เพียงสามารถ "ยืดเวลา" ได้ชั่วคราวไม่กี่ปีเท่านั้น

    จะทำอย่างไรกับสถานะสถาบันกษัตริย์ ที่เป็น "ฐาน" ของการดำรงอยู่ของอำนาจในลักษณะที่กล่าวถึงข้างต้นในข้อแรก หากไม่มีตัวบุคคลที่ถูกทำให้กลายเป็น = สถาบัน เช่นนี้?

    นี่คือ "หัวใจ" หรือเป้าหมายสูงสุดแท้จริงของการรัฐประหารครั้งนี้

    นั่นคือ ในเมื่ออย่างไรเสียก็อาศัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่ออายุตัวบุคคลที่ถูกทำให้ = สถาบันฯ ได้อย่างจำกัด ก็เลยอาศัยรัฐประหารมา "ต่ออายุ" แทน คือ (ถ้าใช้สำนวนแบบบ้านๆหน่อย) ต่ออายุด้วยยาไม่ได้ ก็ต่ออายุด้วยปืนและรถถังแทน
    คือหวังว่า โดยการควบคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเข้มงวด จะสามารถทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง (ที่มีแต่จะลดลง) ในสถานะสถาบันกษัตริย์จากที่เป็นอยู่ แม้จะไม่มีองค์พระมหากษัตริย์ที่ถูกทำให้ = สถาบันฯ แล้วก็ตาม

    คือ รักษาสถานะสถาบันกษัตริย์ที่ไม่มีกษัตริย์ที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน

    (5) อันที่จริง ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารครั้งนี้เป็นปีๆแล้ว ผมกับเพื่อนบางคนได้พูดคุยกันถึง scenario ที่ได้เกิดขึ้นในการรัฐประหารครั้งนี้ นั้นคือ การยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ควบคุมหมดทุกอย่าง เราเห็นตรงกันว่า การยึดอำนาจในลักษณะนี้คงจะเกิดขึ้นแน่ เมื่อถึงเวลาเกิดการเปลี่ยนรัชกาล

    สิ่งที่เรา (ผมเอง) ประเมินพลาด คือไม่คิดว่า scenario เช่นนี้จะเกิดขึ้นเร็วอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว (เรื่องการประเมินพลาดของผม และแน่นอนอีกหลายคน ในประเด็นนี้ผมจะหาโอกาสอภิปรายในกระทู้อื่น)

    (6) ถ้าเราดูที่ "เป้า" ที่การรัฐประหารครั้งนี้เล่นงานจริงๆ จะเห็นว่าไมใช่แม้แต่นักการเมืองของรัฐบาลที่แล้ว แต่คือพวก "112" ที่มีการ "กวาด-เก็บ" คดี 112 ที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา และเป็นคดีที่มีการเล่นงานจริง คือจับเข้าคุกจริงๆ ไม่ให้ประกันตัว 

    (พูดแบบเข้มงวด มีคดีอีกประเภทหนึ่งที่เป็น "เป้า" ถูกเล่นงานจริงๆ จากรัฐประหารครั้งนี้ คือพวกที่เกี่ยวกับ "กองกำลัง" - เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผมจะหาโอกาสอภิปรายในโอกาสอื่นเช่นกัน เฉพาะหน้าในที่นี้ขอกล่าวอย่างสั้นๆว่า เรื่องนี้ถึงที่สุดผมมองว่าเกี่ยวข้องกับการรักษาสถานะสถาบันฯ เช่นกัน)

    นโบายแรกสุดของ "รัฐบาล" ชุดนี้ ที่แถลงด้วยภาษาตรงๆง่ายๆ (ผิดไปจากภาษาราชการที่ปกติใช้ในการแถลงนโยบายรัฐบาลที่ผ่านๆมา) "ดำเนินการกับผู้คะนองปาก ย่ามใจหรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ"

    เป้าหมายสำคัญที่สุดแท้จริงของรัฐประหารคือ คิดจะ "หมุนนาฬิกา [เวลา] กลับ" (turning back the clocks) ให้กลับไปสู่สถานการณ์ก่อนปี 2550-51 (โดยประมาณ) ที่ประเด็นเรื่องสถานะสถาบันกษัตริย์ยังไม่เป็นประเด็นสาธารณะขึ้นมา

    (7) มีนัยยะที่ตามมาหลายอย่างจากการวิเคราะห์รัฐประหารครั้งนี้แบบนี้ ในที่นี้ผมขอยกเฉพาะเรื่องเดียว คือ ถ้าการวิเคราะห์นี้ถูกต้อง หมายความว่าโอกาสที่คณะรัฐประหารนี้จะปล่อยมือจากการอำนาจเบ็ดเสร็จคงไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยไปจนถึงมีการเปลี่ยนรัชกาล ไม่ว่าต่อให้มีการเลือกตั้งในปีหน้าหรือปีถัดไปก็ตาม

    เพราะในความคิดของพวกเขา มีแต่การคงอำนาจแบบเบ็ดเสร็จไว้ จึงสามารถประกันได้ว่าจะรักษาสถานะสถาบันกษัตริย์ในภาวะที่ไม่มีกษัตริย์ที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน ซึ่งเป็นภาวะที่จะต้องเกิดขึ้นไม่นานข้างหน้าได้

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar