จาตุรนต์ ฉายแสง : มองรัฐบาล มองคสช.
มีเพื่อนตั้งประเด็นมาว่า อยากให้ช่วยประเมินผลงานคสช.และรัฐบาลในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ความจริงแล้วผมไม่ได้คิดว่า ควรจะต้องเขียนหรือพูดอะไรในโอกาสครบรอบกี่เดือนหรือกี่ปีของการรัฐประหาร ครั้งล่าสุดนี้สักเท่าไหร่ อยากเป็นแบบเห็นอะไรตอนไหนน่าพูดก็พูด น่าจะดีกว่า แต่ประเด็นที่มีคนตั้งมาก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน เพราะระยะหลังนี้ดูจะมีเหตุการณ์ต่างๆมากมายเกิดขึ้น และ 6 เดือนที่ผ่านมา ก็ทำให้พอมองเห็นแนวโน้มความเป็นไปของบ้านเมืองในหลายๆด้าน หากได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์ตามสมควร
การบริหารงานและการแก้ปัญหาโดยรวมๆของรัฐบาล
หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่วิจารณ์ค่อนข้างยาก เพราะเวลาผ่านไปยังไม่มาก อีกอย่างหนึ่งการทำงานของรัฐบาลนั้น ไม่มีการทำสัญญาประชาคมอะไรมาก่อน ถึงแม้มีการแถลงนโยบาย แต่ก็คงไม่มีใครจำได้ว่า รัฐบาลแถลงอะไรไว้บ้าง คสช.และรัฐบาลประกาศจะทำอะไรหลายอย่าง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งเรื่องธรรมดาๆไปจนถึงเรื่องที่ซับซ้อนซึ่งต้องใช้เวลานาน ผลงานจึงไม่ชัดเจน บางเรื่องก็กลายเป็นท่าดีทีเหลวไปแล้วก็มี
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็คือ หาคนมาร่วมงานได้ยากและผู้ที่มาบริหารไม่รู้สึกว่า มีพันธะผูกพันอะไรกับประชาชน ยิ่งหัวหน้ารัฐบาลย้ำอยู่บ่อยๆว่า ทำอะไรไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง ก็ยิ่งทำให้รัฐมนตรีทั้งหลายคำนึงถึงความเรียกร้องต้องการของประชาชนน้อยลง เรื่อยๆ
ถ้าสรุปสั้นๆก็คงต้องบอกว่าไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่มากและควรจะมีการติดตามตรวจสอบกันอย่างสม่ำเสมอ ผมจะวิจารณ์เรื่องนี้ให้มากขึ้นในโอกาสต่อๆไป
ในขั้นนี้ ขอพูดเพียงย่อๆก่อนว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสมากอย่างที่ทราบกัน เศรษฐกิจโลกกำลังตกต่ำและไม่มีแนวโน้มที่จะกระเตื้องขึ้นในเร็วๆนี้ เศรษฐกิจไทยซึ่งอาศัยการส่งออกมากเป็นพิเศษจึงลำบากไปด้วย
ปัญหาสำคัญอีกอย่าง คือ ปัจจัยภายในของประเทศเราเอง ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงปีกว่าๆที่ผ่านมา ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเศรษฐกิจ เมื่อมีการรัฐประหารก็ยิ่งเป็นผลเสียต่อความร่วมมือ คบค้าสมาคมกับประเทศต่างๆ บรรยากาศการลงทุนก็ยิ่งเสียไป การปกครองโดยคสช.ภายใต้กฎอัยการศึกมีผลอย่างมากต่อการท่องเที่ยวจากต่าง ประเทศ
รัฐบาลประกาศว่า มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างแล้วและกำลังจะมีเพิ่มเติมอีก แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไปแล้ว เกือบทั้งหมดเป็นเพียงการรวบรวมรายการงบประมาณที่ยังไม่ได้ใช้จ่ายของปีที่ แล้วกับงบประมาณหลายๆรายการของปีปัจจุบัน ที่รัฐบาลต้องการให้เร่งรัดใช้จ่ายให้เร็วขึ้น ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คิดขึ้นต่างหากอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง ซ้ำร้าย การใช้จ่ายภาครัฐก็ยังไม่ได้เร็วขึ้นอย่างที่ประกาศด้วย
ส่วนมาตรการทางการคลังเท่าที่ประกาศมา ส่วนใหญ่ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เน้นที่การหาทางเพิ่มรายได้กับการ พยายามลดความเหลื่อมล้ำเสียมากกว่า
โดยรวมแล้วบทบาทของคสช.และรัฐบาล มีผลทางลบมากกว่าจะเป็นผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการใหม่ๆอะไรออกมาอีก
ประเมินผลงานตามข้ออ้างในการรัฐประหาร
การรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ มีข้ออ้างน้อยกว่าครั้งก่อนมาก คือ อ้างว่า บ้านเมืองมีความขัดแย้งและเกิดความรุนแรง รัฐบาลในขณะนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้และรัฐบาลอยู่ในสภาพที่บริหารปกครองไม่ ได้ ไม่สามารถรักษากฎหมายได้ คสช.จึงจำเป็นต้องเข้ามายึดอำนาจเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น
ต่อมา จึงได้มีการเพิ่มเติมสิ่งที่คสช.ต้องการจะทำอีกมากมายหลายอย่าง แต่ที่เน้นย้ำเป็นพิเศษ คือ การปฏิรูปประเทศและการแก้ปัญหาคอรัปชั่น
ผมได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปที่กำลังทำกันอยู่ไปบ้างแล้ว ยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมในตอนนี้
ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาคอรัปชั่นนั้น ความจริงกำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมื่อมีนักธุรกิจที่ ติดตามเรื่องนี้ออกมาพูดว่า ในหลายเดือนมานี้ก็ยังมีการคอรัปชั่นในอัตราที่สูงมาก กับล่าสุด อดีตนายกฯท่านหนึ่งก็พูดว่า ได้ยินเรื่องคอรัปชั่นมาเหมือนกัน ปัญหาคอรัปชั่นจึงเป็นเรื่องที่เราควรติดตามและให้ความสำคัญอย่างมาก แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นหัวข้อใหญ่หัวข้อหนึ่งทีเดียว จึงจะขอเอาไว้พูดถึงในโอกาสหน้า
การแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง
พลันที่คสช.เข้ายึดอำนาจ การใช้ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์และกฎอัยการศึกได้ทำให้การกระทำผิดกฎหมายตาม อำเภอใจ โดยไม่ต้องถูกลงโทษและเหตุการณ์บ้านเมืองที่เคยวุ่นวายยุติลงได้ในทันที
ไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ขัดต่อกฎหมายปกติของบ้านเมือง อาจจะมีบ้างก็เป็นการแสดงออกที่อาจขัดต่อคำสั่งคสช.หรือที่คสช.เห็นว่า ไม่เหมาะสม
ถ้าดูผิวเผินก็เหมือนกับว่า ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยได้รับการแก้ไขไปมากแล้ว
แต่ถ้าวิเคราะห์ถึงต้นเหตุความเป็นมาของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิด ขึ้นในหลายปีมานี้และสภาพความเป็นจริงที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบันก็จะพบว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย นอกจากยังไม่ได้รับการแก้ไขแล้วยังถูกกดทับ กลบเกลื่อนไว้ และใน 6 เดือนมานี้ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเงื่อนไขของความขัดแย้งและความรุนแรงให้ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ในวงอภิปราย เสวนาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาบ้านเมือง รวมถึงการปฏิรูปทั้งหลาย เกือบจะไม่มีการพูดถึงสาเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทยในหลายปีที่ผ่านมา
ไม่ค่อยมีการพูดกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งหรือไม่ อย่างไร ?
มีการพูดว่า ก่อนการรัฐประหาร บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่บริหารปกครองไม่ได้ รัฐบาลไม่มีอำนาจในการแก้ปัญหา กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย แต่ไม่ค่อยมีการพูดกันว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ใครบ้างที่ทำให้เป็นเช่นนั้น
ที่แย่กว่านั้นคือ ไม่มีการพูดกันเลยว่า จะทำอย่างไรบ้านเมือง จึงจะไม่ต้องอยู่ในสภาพอย่างนั้นอีก
6 เดือนมานี้ มีการใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์และกฎอัยการศึกเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งก็ มีต้นทุนสูง คือ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็เป็นอุปสรรคต่อการ ปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญอย่างมาก จนทำให้ยากที่จะเกิดการปฏิรูปจริงๆหรือรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย
เมื่อผู้คนในสังคมที่มีความขัดแย้งกันมานาน ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ กระบวนการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งและการปรองดองก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
ในกระบวนการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญ มีการพูดถึงการออกแบบระบบที่จะลดบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมืองลง ลดความหมายของการเลือกตั้งลง บ้าง ต้องการจัดการกับพรรคการเมืองบางพรรค นักการเมืองบางคนหรือบางครอบครัว ซึ่งก็เป็นความคิดเดิมๆที่เคยคิดเคยทำกันมาแล้วหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าความคิดเหล่านี้นี่เองที่มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำ ให้มีความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้นทุกที
แต่ไม่มีการพูดถึงปัญหาว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและพัฒนาไปได้อย่างราบรื่นเมื่อ มีรัฐธรรมนูญและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว
พูดอีกแบบก็คือ ไม่มีการพูดกันว่า จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพกฎหมายเป็นกฎหมาย เมื่อไม่มีการใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ที่มาจากการรัฐประหารและการใช้กฎอัยการ ศึก
อย่างที่พูดที่ทำกันมาใน 6 เดือนมานี้ ยังอธิบายไม่ได้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร จะก้าวสู่ความเป็นนิติรัฐและยึดหลักนิติธรรมได้อย่างไร ?
อย่างที่พูดที่ทำกันมา 6 เดือนมานี้ยังเหมือนกับว่า สังคมไทยมีทางเลือกแค่ 2 ทางคือ
1.เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่มีการใช้กฎอัยการศึก บ้านเมืองก็อาจกลับอยู่ในสภาพไม่มีขื่อมีแปอีกเมื่อไหร่ก็ได้ หรือ
2.ต้องอาศัยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์และกฎอัยการศึกในการปกครองบ้านเมืองซึ่งก็คือ สภาพที่ไม่เป็นนิติรัฐ เพราะบุคคลหรือกลุ่มบุคคล คือ กฎหมายหรือมีอำนาจเหนือกฎหมาย ไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น
สภาพเช่นนี้คล้ายกับว่า ผู้ที่มีอำนาจและผู้ที่กำลังจะสร้างระบบการปกครองบ้านเมืองที่ต้องอาศัย บริการจากรัฏฐาธิปัตย์และกฎอัยการศึกไปอีกตราบนานเท่านานนั่นเอง
ส่วนความขัดแย้งในสังคมนอกจากไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ในอนาคตยังจะมีมากขึ้นอีกด้วย
ถ้าประเมินผลงานของคสช.ว่า สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ตามข้ออ้างของการยึดอำนาจคือ การเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งแล้ว ดูผิวเผินก็เหมือนจะสำเร็จ แต่วิเคราะห์ให้ดี ไม่ต้องถึงกับลึกซึ้งอะไรมากก็เห็นจะต้องบอกว่าถ้ายังเดินหน้าไปอย่างนี้ "เสียของ" อย่างไม่ต้องสงสัยเลย
ผมไม่ได้ไปหารือกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ขอแสดงความเห็นฝากไปยังท่านทั้งหลายเหล่านั้นด้วยหวังว่า จะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
จาตุรนต์ ฉายแสง
28 พฤศจิกายน 2557
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar