tisdag 12 januari 2021

เยอรมนีตอบเรื่องวีซ่า ร.10 และขอให้ไทยชี้แจงกรณี "วันเฉลิม"

รัฐบาลเยอรมนีตอบกระทู้ของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ว่า เท่าที่รัฐบาลเยอรมนีทราบ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับในเยอรมนีบ่อยครั้งและประทับอยู่เป็นระยะเวลานาน ตามที่รัฐบาลไทยแจ้งให้ทราบนั้นพระองค์เสด็จมาประทับเป็นการส่วนพระองค์ รัฐบาลเยอรมนีได้แจ้งให้ทางฝ่ายไทยรับทราบแล้วถึงความคาดหวังของรัฐบาลกลางเยอรมนีว่าขณะประทับอยู่ที่นี่จะไม่มีพระราชบัญชา ตัดสินพระราชหฤทัยใด ๆ ที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากล

รัฐบาลเยอรมนีตอบกระทู้ถามของพรรคกรีนส์และพรรคฝ่ายซ้าย กว่า 40 ข้อ ยืนยันว่า กษัตริย์ไทยสามารถประทับในเยอรมนีได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการพำนัก เนื่องจากทรงเป็นประมุขของประเทศ แต่รัฐบาลเยอรมนีไม่ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ในเยอรมนีหรือไม่ขณะมีพระบรมราชโองการในเรื่องต่าง ๆ ของไทย

นอกจากนี้ยังระบุว่ารัฐบาลไทยรับมือกับการประท้วงในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างเหมาะสม และได้ขอให้รัฐบาลไทยชี้แจงกรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวไทยที่ลี้ภัยในกัมพูชา และการบังคับให้สูญหายกรณีอื่น ๆ ด้วย

บีบีซีไทยได้รับคำชี้แจงของรัฐบาลเยอรมนีและกระทู้ของ 2 พรรคฝ่ายค้าน ที่ถูกแปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทย จาก คณะทำงานด้านประเทศไทย ของมูลนิธิอาเซียนเฮาส์ (Stiftung Asienhaus) รัฐบาลเยอรมนี ออกคำชี้แจงเมื่อ 6 ม.ค. ปีนี้ หลังจากที่พรรคกรีนส์ (The Greens) และพรรคฝ่ายซ้าย (The Left) ต่างยื่นกระทู้ผ่านรัฐสภาไปเมื่อ 10 ธ.ค. ปีที่แล้ว

บีบีซีไทยสรุป คำชี้แจงและคำถามที่สำคัญ ดังนี้

จากหัวหน้าคณะรัฐประหารสู่ผู้นำรัฐบาลพลเรือน

ในคำชี้แจงต่อกระทู้ของพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาลเยอรมนีมีข้อสังเกตต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ส่งผลให้รัฐบาลทหารที่ก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 สิ้นสุดอำนาจลงอย่างเป็นทางการ อดีตหัวหน้ารัฐบาลทหาร คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภาจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐบาลทหารชุดก่อนมากนัก การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ฝ่ายค้านที่เข้มแข็งได้เข้ามาทำหน้าที่ในสภาเพื่อการอภิปรายถกเถียงและตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาลในรัฐสภา แต่ฝ่ายค้านก็ต้องอ่อนกำลังลงหลังพรรคสำคัญถูกยุบ

"การยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนมีนาคม 2563 ด้วยเหตุเพราะละเมิดข้อบังคับว่าด้วยที่มาของรายได้พรรคเรียกได้เป็นการก้าวถอยหลัง แม้ว่าสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนาคตใหม่เกือบทั้งหมดจะรวมตัวกันใหม่ในนามพรรคก้าวไกล แต่การยุบพรรคที่เกิดขึ้นส่งผลให้ฝ่ายค้านอ่อนกำลังลงอย่างเห็นได้ชัด" รัฐบาลเยอรมนี ตั้งข้อสังเกต

นอกจากนี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากการตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการยุบพรรค เกิดการประท้วงขึ้นทั่วประเทศและทวีความร้อนแรงถึงขีดสุดในช่วง ก.ย.-พ.ย.. 2563 ในบางครั้งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากถึง 100,000 คน ในช่วงหลังมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมอยู่ที่ประมาณ 5,000 ถึง 10,000 คน ในช่วงเริ่มแรกผู้ชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลงจากตำแหน่ง ให้มีการเลือกตั้งใหม่และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีการเพิ่มข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งต่อมากลายเป็นข้อเรียกร้องหลักของการชุมนุมนับตั้งแต่นั้นมา

เรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯเป็นพัฒนาการใหม่ของไทย

"ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เนื่องจากสถาบันกษัตริย์และราชวงศ์ยังคงได้รับความเคารพนับถือและสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ยังถือเป็นเรื่องต้องห้าม เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น จากการกำหนดความผิดในฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่อาจมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี" รัฐบาลเยอรมนีระบุ

รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอ่าน 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563
คำบรรยายภาพ,

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอ่าน 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563

รัฐบาลเยอรมนีระบุเพิ่มเติมว่า ทางการไทยตอบโต้กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ประท้วงโดยสันติได้อย่างเหมาะสม มี 3 ครั้งที่ตำรวจคุมฝูงชนใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม การเผชิญหน้าครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ 17 พ.ย. 2563 เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มทำลายสิ่งกีดขวางบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาในช่วงประชุมร่วมรัฐสภา ตำรวจคุมฝูงชนได้ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาสกัดผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คนตามตัวเลขทางการ หลังจากการชุมนุมยุติลงเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่ง มีผู้บาดเจ็บจากการถูกยิง 6 คน

"รัฐบาลเยอรมนีประสานติดต่อกับรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอและสนับสนุนส่งเสริมให้เคารพสิทธิมนุษยชนตลอดจนเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมรวมถึงการปฏิบัติตามครรลองของหลักนิติรัฐ รัฐบาลเยอรมนีเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์การใช้อาวุธปืนยิงในบริเวณที่ชุมนุมอย่างรัดกุม" รัฐบาลกลางเยอรมนีระบุ

ความคาดหวังต่อกษัตริย์ไทยขณะประทับในเยอรมนี

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า เท่าที่รัฐบาลเยอรมนีทราบ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับในเยอรมนีบ่อยครั้งและประทับอยู่เป็นระยะเวลานาน ตามที่รัฐบาลไทยแจ้งให้ทราบนั้นพระองค์เสด็จมาประทับเป็นการส่วนพระองค์ รัฐบาลเยอรมนีได้แจ้งให้ทางฝ่ายไทยรับทราบแล้วถึงความคาดหวังของรัฐบาลกลางเยอรมนีว่าขณะประทับอยู่ที่นี่จะไม่มีพระราชบัญชา ตัดสินพระราชหฤทัยใด ๆ ที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากล

โรงแรมแกรนด์ โฮเทล ที่สื่อเยอรมันรายงานว่าเป็นที่ประทับของกษัตริย์ไทย
คำบรรยายภาพ,

โรงแรมแกรนด์ โฮเทล ที่สื่อเยอรมันรายงานว่าเป็นที่ประทับของกษัตริย์ไทย

"รัฐบาลเยอรมนีไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าขณะทรงประทับในประเทศเยอรมนี พระมหากษัตริย์ไทยทรงบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะดังกล่าว" รัฐบาลกลางเยอรมนีระบุ

หลังจากตั้งข้อสังเกต รัฐบาลเยอรมนีได้ตอบคำถามของพรรคกรีนส์และพรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งมีคำถามรวมกัน 44 ข้อ โดยสามารถสรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ ดังนี้

ร.10 ประทับในเยอรมนีได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ?

ประเด็นหนึ่งที่ทั้งพรรคกรีนส์และพรรคฝ่ายซ้ายถามตรงกันคือ สิทธิในการพำนักอาศัยอยู่ในเยอรมนีของพระมหากษัตริย์ไทยตามกฎหมายการพำนักของเยอรมนี โดยพรรคฝ่ายซ้ายได้ถามอย่างละเอียดว่า กษัตริย์ไทยทรงจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าที่อนุญาตให้ประทับในเยอรมนีเป็นการส่วนพระองค์โดยต้องมีคุณสมบัติความเหมาะสมตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายการพำนักหรือไม่ นอกจากนี้ยังถามถึงประเภทวีซ่าและจำนวนครั้งที่ได้รับวีซ่านับตั้งแต่ปี 2560 รวมถึงอายุของวีซ่าที่พระองค์ทรงมี

รัฐบาลเยอรมนีตอบกระทู้ถามที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงว่า "ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กฎหมายการพำนักและข้อบังคับการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้กับพระองค์ แต่ตามมาตรา 1 ย่อหน้า 2 ข้อ 2 ของกฎหมายการพำนัก กฎหมายการพำนักไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้กับองค์พระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐได้"

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 6 ม.ค. โดยอ้างกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีที่ตอบกระทู้ถามของพรรคฝ่ายซ้ายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงไม่จำเป็นต้องใช้วีซ่าในการเดินทางเข้าเยอรมนี เพราะพระองค์ทรงเป็นประมุขของรัฐ

นอกจากนี้รอยเตอร์ยังรายงานเพิ่มเติมโดยอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงต่างประเทศรายหนึ่งว่า "แม้ว่าประมุขของรัฐต่างประเทศไม่จำเป็นต้องใช้วีซ่าในการเข้าประเทศ เยอรมนีก็มีเสรีภาพในการยินยอมให้พำนักอยู่หรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นอธิปไตยเหนือดินแดนของเยอรมนี"

นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงในสภาฯ
คำบรรยายภาพ,

นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงในสภาฯ (แฟ้มภาพ)

ออกพระบรมราชโองการขณะประทับในเยอรมนี ?

พรรคกรีนส์ได้ถามด้วยว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงประทับอยู่ในเยอรมนีหรือไม่ ในช่วงที่มีการประกาศพระบรมราชโองการต่าง ๆ ในราชกิจจานุเบกษาของไทย โดยมีการยกพระบรมราชโองการพร้อมระบุวันที่ประกาศในราชกิจกานุเบกษามาประกอบรวม 11 เรื่อง ตั้งแต่ 8 ก.พ. 2562 เกี่ยวกับกรณีที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึง 21 ก.ย. 2563 เรื่องแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่

รัฐบาลเยอรมนีตอบว่า "รัฐบาลเยอรมนีทราบโดยทั่วไปว่ากษัตริย์ไทยเสด็จมาประทับทางตอนใต้ของเยอรมนีบ่อยและประทับอยู่ติดต่อกันเป็นเวลานาน รัฐบาลเยอรมนีไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเสด็จมาประทับแต่ละครั้งในเนื้อหาของคำถามที่ถามมา"

ส่วนพรรคฝ่ายซ้ายถามถึงกรณีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 28 ส.ค.2563 ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระบรมราชโองการว่า นางสาวสินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นางสาวสินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์ ดำรงฐานันดรศักดิ์ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี กับตำแหน่งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารและยศทหาร และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตราสืบเนื่องตลอดมา ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวพระองค์ทรงยังคงประทับอยู่ในประเทศเยอรมนี

"รัฐบาลเยอรมนีไม่มีข้อมูลตามเนื้อหาของคำถามที่ถามมาในข้อนี้"

ร.10 และ เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ

พรรคกรีนส์ถามด้วยว่า รัฐบาลเยอรมนีถือว่าการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำของรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยหรือไม่

รัฐบาลเยอรมนีตอบว่า "ตามรัฐธรรมนูญไทยพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย การปฏิบัติพระราชภารกิจของพระองค์จึงไม่ถือเป็นการกระทำของรัฐบาล"

ส่วนกระทู้ถามของพรรคกรีนส์เรื่อง นายธนากร บัวรัษฏ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติเดินทางมาเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ไทยขณะประทับอยู่ในเยอรมนี รัฐบาลกลางเยอรมนีตอบว่า "ไม่มีข้อมูลรายละเอียด"

ภาษีมรดก

ประเด็นหนึ่งที่ผู้ชุมนุมในประเทศไทยได้ตั้งคำถามก็คือ เรื่องภาษีมรดกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาจต้องจ่ายในเยอรมนี โดยพรรคฝ่ายซ้ายได้ตั้งกระทู้ถามหลายข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปใจความได้ว่า จริงหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีที่พำนักหลักในประเทศเยอรมนีแต่ไม่เคยทรงเสียภาษีมรดกให้แก่รัฐบาวาเรียถึงแม้ว่าตามข้อเท็จจริงแล้ววิลล่าที่ประทับในเมืองทุทซิงจะเคยถูกใช้หรือถูกใช้สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์เท่านั้น จริงหรือไม่ที่รัฐบาวาเรียยังไม่ได้รับการชำระเงินภาษีมรดกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องชำระในอัตราร้อยละ 30 ของทรัพย์สินทั้งหมดที่ทรงครอบครองหรือประมาณ 3 พันล้านยูโร (1.1 แสนล้านบาท)

ภาพมุมหนึ่งของบ้านหลังใหญ่แห่งหนึ่งในเยอรมนี ที่ผู้ประท้วงชาวไทยในต่างแดนเชื่อว่าเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คำบรรยายภาพ,

ภาพมุมหนึ่งของบ้านหลังใหญ่แห่งหนึ่งในเยอรมนี ที่ผู้ประท้วงชาวไทยในต่างแดนเชื่อว่าเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อีกคำถามคือ จริงหรือไม่ที่ทรงปลดภาระหน้าที่ในการเสียภาษีมรดกของพระองค์โดยใช้วิธีเสด็จออกจากวิลล่าที่ประทับในเมืองทุทซิงแล้วแปรพระราชฐานไปประทับในโรงแรมเช่าแห่งหนึ่งในเมืองการ์มิช-พาร์เทิน ซึ่งวิธีการนี้ทำให้พระองค์มิได้ทรงมีสถานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่คือแขกอย่างเป็นทางการของโรงแรมในรัฐบาวาเรีย พระองค์จึงไม่มีภาระหน้าที่ต้องเสียภาษีอากร

รัฐบาลเยอรมนีได้ตอบคำถามเหล่านี้อย่างสั้น ๆ ว่า "การจัดการและเรียกเก็บภาษีมรดกและภาษีจากของขวัญเป็นหน้าที่รับผิดชอบของรัฐท้องถิ่นแต่ละรัฐ"

การดำเนินคดีผู้ชุมนุม

นอกจากนี้ในส่วนของกระทู้ถามของพรรคกรีนส์เกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้ชุมนุมและสิทธิ์ในการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมนั้น รัฐบาลเยอรมนีตอบว่า รัฐบาลไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนของผู้ที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ตัวเลขที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียคือราว 80 คน เท่าที่รัฐบาลทราบ ไม่มีใครในกลุ่มนี้ยังถูกคุมขัง เท่าที่ทราบผู้ถูกจับกุมทุกคนสามารถเข้าถึงทนายความตามที่ตัวเองเลือกได้ และได้รับการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ รวมทั้งสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบยังไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดี

"เท่าที่รัฐบาลเยอรมนีทราบ การดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ ศัพท์กฎหมายหลายคำที่มีความหมายไม่ชัดเจนเปิดช่องทางให้ศาลนำมาใช้เป็นเครื่องมือเอาผิดกับจำเลย" รัฐบาลกลางเยอรมนีระบุ

คำบรรยายวิดีโอ,

หน่วยงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็น "ตกใจ" และ "กังวล" ที่ไทยใช้ ม.112 กับเด็ก

หนุนสานเสวนาระหว่างคู่ขัดแย้ง

รัฐบาลเยอรมนีได้ตอบคำถามของพรรคกรีนส์เกี่ยวกับการเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนว่า รัฐบาลเยอรมนีเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในวิถีทางที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องและในทุกระดับเพื่อขอให้เคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการชุมนุม สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ก็ดำเนินการผลักดันข้อเรียกร้องนี้ผ่านกิจกรรมที่ตัวเองจัดขึ้น

นอกจากนี้ยังยืนยันคำถามของพรรคกรีนส์เรื่องความพยายามสานเสวนาระหว่างคู่ขัดแย้งในไทยว่า "รัฐบาลเยอรมนีทราบดีว่ามีความคิดริเริ่มเกิดขึ้นโดยประธานรัฐสภาไทยซึ่งพยายามจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มภาคประชาชนที่สำคัญทุกกลุ่ม และหากมีการร้องขอ รัฐบาลเยอรมนียินดีผลักดันกระบวนการสานเสวนาอย่างแข็งขันและกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมเจรจาทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหา"

ขอคำชี้แจงกรณีสูญหายของ "วันเฉลิม"

พรรคกรีนส์ยังได้ถามถึงกรณีการถูกบังคับสูญหายของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลซึ่งเป็นชาวไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ เช่น กรณีล่าสุดคือ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ว่ารัฐบาลเยอรมนีได้ดำเนินการผลักดันเพื่อให้มีการติดตามหาตัวผู้สูญหายจำนวนหลายคนนี้อย่างไรบ้าง

"กรณีการหายสาบสูญไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในการประชุมเจรจาระหว่างกันหลายครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีได้แจ้งเตือนให้ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยเร่งชี้แจงรายละเอียดโดยปราศจากช่องโหว่นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมนียังได้สอบถามรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในกรณีอื่นตามความหมายในคำถามนี้ด้วย โดยรัฐบาลยอรมนีเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชนและให้ติดตามหาตัวผู้สูญหายเหล่านั้น" รัฐบาลเยอรมนีระบุ

นับตั้งแต่หายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 นักกิจกรรมในไทยมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง
คำบรรยายภาพ,

นับตั้งแต่หายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 นักกิจกรรมในไทยมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกระทู้ถามจากพรรคกรีนส์ที่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยหรือองครักษ์ได้กระทำการอันละเมิดกฎหมายเยอรมนีหรือไม่ และรัฐบาลเยอรมนีทราบอะไรบ้างเรื่องที่มีบุคคลซึ่งถูกองครักษ์ส่วนพระองค์คุกคามหรือรู้สึกว่าตัวเองถูกข่มขู่ได้ดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเยอรมนี

"รัฐบาลเยอรมนีไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ในเนื้อหาของคำถามที่ถามมา"

เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า พระมหากษัตริย์ไทยหรือทหารองครักษ์ส่วนพระองค์ฝ่าฝืนข้อจำกัดการเดินทางและมาตรการยับยั้งการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่ และรัฐบาลกลางเยอรมนีได้ตรวจสอบหนังสืออนุมัติเป็นกรณีพิเศษของสำนักงานเขตท้องถิ่นเรื่องการเสด็จเข้าประทับของพระมหากษัตริย์ไทย ณ โรงแรมหรูในบาวาเรียในช่วงที่มีการห้ามเข้าพักค้างคืนหรือไม่

รัฐบาลเยอรมนีระบุว่า ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ในเนื้อหาของคำถาม และการกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อบังคับป้องกันการติดเชื้อโรคในพื้นที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาวาเรีย

การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ไทย-สหภาพยุโรป

พรรคกรีนส์ได้ถามเกี่ยวกับการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอของเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายไทยกับฝ่ายสหภาพยุโรปเมื่อ 28 ต.ค. 2563 มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ในการเจรจาครั้งนี้ประชาธิปไตย หลักความเป็นนิติรัฐ และสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญอยู่ในระดับไหน

รัฐบาลเยอรมมนีตอบว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นในหลายเรื่องซึ่งครอบคลุมถึงการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและไทยเรื่องปัญหากฎหมายแรงงาน ตลอดจนความร่วมมือระดับพหุภาคีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปที่ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกันเรื่องสถานะการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย และการรื้อฟื้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ความมุ่งหมายให้เคารพสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

นอกจากนี้ยังมีการอ้างรายงานสรุปผลการประชุมของสภาสหภาพยุโรปเมื่อ 14 ต.ค. 2562 การจัดทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทยตลอดจนส่งเสริมพหุนิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar