ขณะนี้ทนายความกำลังยื่นเรื่องคัดค้านการฝากขังนักศึกษาชั้นปีที ่1 ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหามาตรา 112 คนล่าสุดที่ถูกจักกุมกลางดึกที่ผ่านมา
ม.112: ศาลธัญบุรีให้ประกันตัวนักศึกษา มธ. หลังถูกแจ้งข้อหามาตรา 112
ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จ.ปุทมธานี ควบคุมตัวนายสิริชัย นาถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าเตรียมแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ภายหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลจังหวัดธัญบุรีไม่กี่ชั่วโมง
สิริชัยซึ่งถูกตำรวจ สภ.คลองหลวง บุกจับเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา โดยแจ้งข้อหา ม.112 จากการพ่นสีบนรูปภาพ เพิ่งได้รับอนุญาตจากศาลจังหวัดธัญบุรีให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลักประกัน ในวงเงิน 150,000 บาท
เวลา 14.10 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งว่าการจับกุมสิริชัย หรือนิว สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ได้รับการปล่อยตัวจากศาลธัญบุรี เป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ แต่ทางตำรวจอ้างว่าตัวผู้ต้องหาได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว จึงทำการแจ้งข้อกล่าวหา
เวลาต่อมา ศูนย์ทนายฯ ให้ข้อมูลว่าพนักงานสอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาฯ แจ้งกับนายสิริชัยว่าจะไม่แจ้งข้อหา ม.112 กับเขาแล้ว แต่จะกันตัวไว้เป็นพยาน
ในเวลาใก้ลเคียงกัน ที่ สภ.ธัญบุรี ที่สิริชัยถูกควบคุมตัวไปอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เข้าแจ้งข้อหาตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 27 อีกหนึ่งคดี และพยายามขอรหัสเข้าคอมพิวเตอร์ แต่สิริชัยปฏิเสธ
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. สิริชัย ได้รับการประกันตัว โดยศาลได้กำหนดเงื่อนไขประกันว่า ห้ามผู้ต้องหากระทำการในทำนองเดียวกันซ้ำอีก
เอกสารข่าวจากศาลธัญบุรี ระบุถึงเหตุของการปล่อยตัวชั่วคราวว่า "ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยมีอาจารย์ในสถาบันที่ผู้ต้องหาศึกษาอยู่เป็นผู้ประกัน หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน"
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ยื่นคำร้องขอฝากขังนายสิริชัยต่อศาล โดยระบุเหตุผลความจำเป็นในการขอฝากขังว่า เพื่อสอบสวนพยานอีก 8 ปาก รอผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา และรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง
ร้อง ตร.ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน
"ตอนนี้ (กฎหมายอาญามาตรา 112) ถูกใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย เรียกว่าใช้กันมั่ว กฎหมายมันก็จะหมดความน่าเชื่อถือ หมดความศักดิ์สิทธิ์ลง" สิริชัยกล่าวกับสื่อมวลชน ภายหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลจังหวัดธัญบุรี เขาย้ำด้วยว่า "ไม่เคยกลัวเรื่องการต่อสู้เรื่องพวกนี้"
สิริชัยเผยว่า เขาถูกตั้งข้อหาจากตำรวจ 2 ข้อหา ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเช้ามืดเขาเปิดเผยว่าการจับกุม "ตำรวจแนบหลักฐานว่าไปพ่นสีบนรูปภาพของคน"
สิริชัย ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เล่าเหตุการณ์การถูกจับกุมโดยตำรวจนอกเครื่องแบบ คืนวานนี้ (13 ม.ค.) ว่าช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ได้ขี่รถจักรยานยนต์ออกจากหอพักไปบ้านเพื่อน โดยสังเกตเห็นว่ามีคนดักรอหน้าหอพัก หลังจากถึงบ้านเพื่อนก็ขี่รถออกมากินข้าว ระหว่างนั้นได้ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบขับรถประกบและแสดงหมายจับในการจับกุม แต่ไม่ให้โอกาสเขาในการติดต่อทนายความ
"ผมขอสิทธิในการติดต่อทนายและแจ้งเรื่องแก่ผู้ไว้วางใจได้ แต่ตำรวจไม่ได้ให้สิทธินั้นกับผม แล้วก็ลากผมไปที่ สภ.คลองหลวง"
หลังจากนั้นตำรวจได้ทำบันทึกการจับกุม ตรวจร่างกาย กระบวนการทั้งหมดกินเวลาเกือบ 2 ชม.กว่าที่เขาจะได้พูดคุยติดต่อกับทนายความเป็นครั้งแรก
นักศึกษา มธ.ชั้นปีที่ 1 ผู้ถูกกล่าวหาคดี ม.112 รายล่าสุด ระบุอีกด้วยว่า หลังจากนั้นตำรวจได้นำตัวเขาไปเข้าตรวจค้นหอพัก แต่เจ้าหน้าที่ไมได้แสดงหมายในการตรวจค้น และเจ้าหน้าที่ได้ทำการค้นห้องก่อนโดยไม่ได้บันทึกการตรวจค้น ณ ที่หอพักทันที แต่มาทำบันทึกย้อนหลัง นั่นทำให้เขามีความกังวลถึงเรื่องพยานหลักฐานที่ถูกดำเนินการตามขั้นตอนนี้
ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่าคดีนี้นับเป็นการดำเนินคดี 112 คดีแรกที่ศาลออกหมายจับตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออกแถลงการณ์ "บังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา" เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563
หลังจากที่มีรายงานข่าวว่าในช่วงแรกตำรวจไปขอศาลออกหมายจับในคดีแกนนำบางคดี แต่ศาลไม่ออกให้
ตำรวจแจ้งข้อหา ม.112 จากการพ่นสีบนรูปพระบรมวงศานุวงศ์
เว็บไซต์ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่าตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.สุชัย แสงส่อง พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวงได้แจ้งข้อหาสิริชัย 2 ข้อหา คือ ข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358 จากการพ่นสีสเปรย์ข้อความ "ภาษีกู" และ "ยกเลิก 112" บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รวม 6 จุด
ทั้งนี้ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ มีเจ้าหน้าที่เทศบาลคลองหลวงเป็นผู้เข้าแจ้งความ ศูนย์ทนายฯ ให้ความเห็นว่าการพ่นสีบนรูปพระบรมวงศานุวงศ์ไม่เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากกฎหมายมาตรานี้ครอบคลุมการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย "พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ซึ่งโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
การจับกุมและค้นที่พักของนายสิริชัยทำให้สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกลุ่มหนึ่ง นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นัดรวมตัวกันทั้งที่ สภ.คลองหลวงและกองบังคับการตำรวจชายแดนภาค 1 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสิริชัย พร้อมกับออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กประณามการจับกุมบุคคลในยามวิกาล โดยระบุว่า "เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการจับกุมดังกล่าวไม่มีการแสดงหมายจับ"
"พวกเราขอทำการประณามต่อการกระทำดังกล่าวและขอเรียกร้องให้มีการปล่อยเพื่อนเราโดยทันที พวกท่านเองก็รู้ว่ามีการจับกุมและออกหมายเรียกในคดีมาตรา112 มาร่วมสี่สิบกว่ารายแล้ว แต่คนก็หามิได้เกรงกลัวไม่" แถลงการณ์ระบุด้วยว่าเหตุการณ์นี้จะปลุกให้คนตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น
ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทยระดมพลังดันแฮชแท็ก #saveนิวมธ #ยกเลิกม112 จนติด 10 อันดับแรกของเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยตั้งแต่กลางดึกต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
เผยถูกแจ้งข้อหาจากกรณี "พ่นสีบนรูปภาพ"
เวลาประมาณ 04.00 น. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ได้เผยแพร่ข้อความที่ระบุว่าเขียนโดยนายสิริชัย เปิดเผยว่าการจับกุมและแจ้งข้อหาเขาครั้งนี้ ตำรวจได้แนบหลักฐานกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้พ่นสีบนรูปภาพ
"ถึงเพื่อน ๆ พ่อแม่พี่น้องผู้ฝันใฝ่ในประชาธิปไตย วันนี้ผมถูกจับกุมโดยหมายจับคดีมาตรา 112 โดยตำรวจแนบหลักฐานว่าไปพ่นสีบนรูปภาพของคน ผมจึงอยากเรียนพี่น้องให้ทราบว่าไม่ต้องเป็นห่วงผม สู้ต่อไป มันทำร้ายเราได้แค่นี้ และเวลาอยู่ข้างเราเสมอ ขอให้พี่น้องสู้ต่อไป เพื่ออุดมการณ์ผมแลกได้แม้ต้องแลกด้วยชีวิต สู้จนกว่าความเท่าเทียมจะเกิดขึ้น"
การจับกุมนายสิริชัยเกิดขึ้นวันเดียวกับที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ออกรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกในรอบปี 2020 ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า รัฐบาลไทยได้เพิ่มความหนักข้อในการกดขี่สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในขณะที่เยาวชนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญ
"รัฐบาลไทยตอบสนองข้อเรียกร้องของเยาวชนที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ด้วยการทำให้วิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศถดถอยสู่ความเลวร้ายกว่าเดิม" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยยการด้านเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์
"ทางการไทยดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้เห็นต่าง ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่สงบ ปิดกั้นข่าวสารและโลกโซเชียล อีกทั้งลงโทษผู้วิพากษ์วิจารณ์การเมือง"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar