เหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่าเป็นการยึดอำนาจการปกครอง ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
บทเรียนจาก “วิลมิงตัน” ม็อบคนขาวก่อเหตุนองเลือดโค่นล้มรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐฯ เมื่อ 122 ปีก่อน
เหตุจลาจลนองเลือดเมื่อปี 1898 ที่เมืองวิลมิงตัน (Wilmington) รัฐนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐฯ ไม่สู้จะเป็นที่รู้จักและเล่าขานกันมากนัก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษก่อนนี้ กลับถูกปลุกให้คืนสู่ความทรงจำของชาวอเมริกันอีกครั้ง หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในอาคารรัฐสภา จนมีผู้เสียชีวิตหลายรายเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา
ความคล้ายคลึงระหว่างสองเหตุการณ์นี้ คือ การที่ฝูงชนผู้ก่อเหตุรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้มีแนวคิดเชิดชูคนผิวขาว (White Supremacist) โดยพวกเขาถือว่าคนขาวเป็นชาติพันธุ์ที่ล้ำเลิศเหนือกว่าและควรจะมีอภิสิทธิ์สูงกว่าผู้อื่นในสังคมทั้งสิ้น
เหตุการณ์ที่เมืองวิลมิงตันได้รับการขนานนามว่าเป็น "รัฐประหาร" หรือการยึดอำนาจการปกครองที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในหน้าประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยมีที่มาจากความไม่พอใจต่อการขยายตัวของชุมชนคนผิวดำ รวมทั้งความก้าวหน้าด้านฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของพวกเขา ในช่วง 30 ปีหลังยุคสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง
ในช่วงทศวรรษ 1890 เมืองวิลมิงตันเป็นเมืองท่าอันมั่งคั่งและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐนอร์ทแคโรไลนา แต่เพียงชั่วข้ามคืน กลุ่มติดอาวุธของพวกคลั่งลัทธิเชิดชูคนขาว ได้บุกเข้ามาไล่สังหารคนผิวดำ ทั้งยังเผาทำลายบ้านเรือนและกิจการของคนผิวดำลงราบเป็นหน้ากลอง
ท้ายที่สุดม็อบติดอาวุธของคนขาวยังขู่บังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งก็คือฝ่ายปกครองของเทศบาลเมืองวิลมิงตันลาออกทั้งคณะ ก่อนที่ผู้นำม็อบคนขาวจะขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และเข้าควบคุมการบริหารกิจการเมืองโดยคนขาวอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น มีกระแสความไม่พอใจจากกลุ่มคนขาวในบรรดารัฐที่เป็นอดีตสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ ซึ่งแพ้สงครามกลางเมืองและจำต้องยอมรับบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้เลิกทาส รวมทั้งมอบสิทธิเสรีภาพในด้านต่าง ๆ แก่คนผิวดำมากขึ้น
ศาสตราจารย์ เกลนดา กิลมอร์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ บอกว่า "ในยุคนั้นคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเริ่มประสบความสำเร็จกันมากขึ้น ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย มีอัตราการรู้หนังสือและถือครองอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น"
เมืองวิลมิงตันนั้นเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของชุมชนคนผิวดำรุ่นใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จทางธุรกิจและทางการเมืองเป็นอย่างดี โดยมีกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า "ฟิวชันนิสต์" (Fushionist) ซึ่งเป็นเครือข่ายพรรคที่คนผิวดำและผิวขาวร่วมเป็นพันธมิตรกัน เดินหน้ามุ่งสร้างความเท่าเทียมในสังคม จนทำให้พวกเขาชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายครั้ง และมีผู้แทนฝ่ายนิติบัญญัติทั้งในระดับรัฐและในสภาเทศบาลเมืองวิลลิงตันหลายคน
การที่กลุ่มฟิวชันนิสต์ชนะการเลือกตั้งครั้งใหญ่ระดับรัฐทุกครั้ง ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐด้วย ทำให้กลุ่มผู้ยึดถือแนวคิดเชิดชูคนขาวอดรนทนไม่ได้อีกต่อไป พรรคเดโมแครตในยุคนั้นซึ่งต่อต้านความเปลี่ยนแปลงไปในทางเสรีนิยม และหวั่นเกรงว่าคนดำจะยึดครองประเทศ จึงเริ่มทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะพวกฟิวชันนิสต์ในการเลือกตั้งระดับรัฐและท้องถิ่นของปี 1898 ให้จงได้
พรรคเดโมแครตเมื่อ 122 ปีก่อน ซึ่งมีแนวคิดไม่ต่างอะไรกับขบวนการเชิดชูคนขาวในสหรัฐฯทุกวันนี้ เริ่มรณรงค์ถึงสิทธิที่เหนือกว่าของคนขาวอย่างโจ่งแจ้ง มีการใช้กลุ่มติดอาวุธที่เรียกกันว่าพวก "เสื้อแดง" (Red Shirts) ตามสีของเครื่องแบบที่สวมใส่ คอยขี่ม้าออกตระเวนโจมตีทำร้ายคนผิวดำ เพื่อเป็นการข่มขู่ไม่ให้พวกเขาไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง
หนังสือพิมพ์หลายฉบับแพร่ข่าวลือที่ว่า เหล่าคนผิวดำปรารถนาอำนาจทางการเมือง เพื่อที่จะได้ร่วมหลับนอนกับหญิงผิวขาว ทั้งยังปล่อยข่าวไม่มีมูลว่ามีเหตุข่มขืนพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย มีเพียงหนังสือพิมพ์วิลมิงตันเดลีเรคอร์ด (Wilmington Daily Record) ซึ่งเป็นกิจการสื่อของคนผิวดำเท่านั้น ที่ตั้งคำถามกับข่าวให้ร้ายเหล่านี้
ก่อนการเลือกตั้งเพียงวันเดียว นายอัลเฟรด มัวร์ แวดเดลล์ นักการเมืองพรรคเดโมแครต ได้กล่าวปลุกระดมให้เหล่าชายผิวขาว "ทำหน้าที่ของตนเอง" โดยออกมาร่วมกันขับไล่คนดำจากหน่วยเลือกตั้ง และหากพวกเขาไม่ยอมทำตามที่สั่ง ก็ให้ยิงเสียให้ตายด้วยอาวุธปืน
แน่นอนว่าพรรคเดโมแครตได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดในครั้งนั้น เนื่องจากคนผิวดำต่างเกรงกลัวที่จะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หลังจากนั้นเพียงสองวันนายแวดเดลล์และชายผิวขาวหลายร้อยคนที่มีปืนยาวไรเฟิล พากันขี่ม้าเข้ามาในเมืองวิลมิงตันก่อนจะก่อเหตุเผาทำลายชุมชนและสังหารคนผิวดำ โดยผู้ก่อเหตุต่างไม่มีความผิดหรือต้องรับโทษทัณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
หลังใช้กองกำลังติดอาวุธบังคับให้สมาชิกสภาเทศบาลเมืองลาออกทั้งคณะ ผู้นำขบวนการเชิดชูคนขาวก็ได้ขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีในวันเดียวกันทันที และหลังจากนั้นได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อออกกฎหมายกีดกันแบ่งแยกสีผิว และยกเลิกสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของคนผิวดำไปจำนวนมาก
เดบอราห์ ดิกส์ แม็กซ์เวลล์ ประธานสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสีแห่งชาติ (NAACP) สาขาเมืองวิลมิงตัน บอกว่าเหตุนองเลือดในครั้งนั้นแทบไม่ถูกกล่าวถึงแม้แต่ในหมู่คนท้องถิ่นเอง ไม่มีปรากฏในตำราเรียนและแทบไม่มีใครอยากยอมรับว่ามันเคยเกิดขึ้น จนกระทั่งในปี 1998 ซึ่งครบร้อยปีของเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้มีการจัดงานรำลึกและตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น
เมื่อเธอได้ทราบถึงเหตุปะทะที่เกิดขึ้นที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เดบอราห์บอกว่า "หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปีที่แล้ว พวกเราพยายามรณรงค์กันต่อมาอีกหลายเดือน เพื่อชี้ให้ผู้คนเห็นถึงความละม้ายคล้ายคลึง ระหว่างเหตุยึดอำนาจการปกครองเมืองวิลลิงตัน กับสิ่งที่นักการเมืองสหรัฐฯยุคนี้กำลังทำเพื่อบ่อนทำลายผลการเลือกตั้ง"
"เช้าวันนั้นเรายังแถลงประณามนักการเมืองที่สนับสนุนทรัมป์อยู่เลย เราบอกว่ามันอาจเกิดการยึดอำนาจด้วยกลุ่มติดอาวุธขึ้นได้ แต่เราไม่ต้องการให้เกิดเหตุร้ายซ้ำร้อยขึ้นในประเทศนี้"
คริสโตเฟอร์ เอเวอร์เร็ตต์ ผู้ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "เมื่อวิลมิงตันลุกเป็นไฟ" แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวด้วยว่า "ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุนองเลือดที่วิลมิงตัน มันจึงเป็นเหมือนการเปิดประตูไปสู่การลิดรอนสิทธิของคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน นั่นคือสิ่งแรกที่ผมคิดเมื่อได้เห็นเหตุปะทะที่กรุงวอชิงตัน พวกเขากำลังเปิดประตูให้สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าเกิดขึ้น"
ที่มาของภาพ, Speller Street Films
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar