การลุกฮือในปี
2011 มาจากคนหนุ่มสาวที่โกรธแค้นเพราะการทุจริต การกดขี่ และการว่าง
แต่ถึงตอนนี้ ปัญหาเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ คนอายุน้อยกว่า 30
ปีในตะวันออกกลางว่างงานมากกว่าที่ไหน ๆ ในโลก...
.
ความหวังจากทศวรรษที่แล้วถูกทำลายไป
.
ประวัติศาสตร์ได้สอนเราแล้วว่าการกดขี่เป็นวิธีการที่ได้ผล
จนกระทั่งความสิ้นหวังเอาชนะความกลัวได้
จนถึงวันที่ความกลัวกลับมาเอาชนะความสิ้นหวังได้อีกที
อาหรับสปริง : 10 ปีหลังการลุกฮือทั่วตะวันออกกลาง ประชาชนสุขขึ้นหรือทุกข์ลง
เจเรมี โบเวน
บรรณาธิการภูมิภาคตะวันออกกลางบีบีซี
เมื่อ 10 ปีก่อน ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ มีชั่วขณะหนึ่งที่ทำให้ผมคิดว่า : "เดี๋ยวนะ นี่มันไม่ใช่แค่การประท้วงธรรมดา ๆ"
วันนั้นเป็นวันศุกร์ เป็นวันสำคัญประจำสัปดาห์ของการสวดของชาวมุสลิม ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น มีการชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค เป็นครั้งแรก
ผมค่อนข้างคลางแคลงใจกับขบวนการต่อต้านประธานาธิบดี ผมเคยเห็นการประท้วงมาแล้วหลายปีก่อนหน้านั้นที่ส่วนใหญ่ผู้ชุมนุมเป็นชนชั้นกลางผู้กล้าหาญ
เมื่อการสวดภาวนาวันนั้นสิ้นสุดลง ผู้ประท้วงมุ่งเป้าไปที่ตำรวจ สิ่งที่ทำให้ผมตระหนักว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เหมือนที่เคยเป็นมาคือผู้ประท้วงเป็นคนจนในอียิปต์ ไม่ใช่ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษา พวกเขาดันรถตำรวจจนพลิกคว่ำ จุดไฟเผา ยึดกระบองและแก๊สน้ำตา การปฏิวัติจะไม่มีพลังเลยหากไม่มีคนจนเมืองเข้าร่วมด้วย
มันเป็นวันแห่งการต่อสู้กันบนท้องถนน ผู้คนเดินขบวนไปบนสะพานข้ามแม่น้ำไนล์ซึ่งนำไปสู่จัตุรัสทาห์รีร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของใจกลางเมือง
ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ถูกโค่นจากอำนาจสำเร็จ หลังจากผู้ชุมนุมประท้วงต่อสู้ 18 วันติดต่อกัน แม้มีประกาศเคอร์ฟิว แต่เสียงการต่อสู้บริเวณจัตุรัสทาห์รีร์ก็ยังดังครึกโครมไปถึงช่วงกลางคืน
การลุกฮือปฏิวัติในครั้งนั้นไม่มีผู้นำ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นประชาธิปไตยและเป็นการต่อสู้ของมวลชนอย่างแท้จริงด้วย อย่างไรก็ดี นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนั้นล้มเหลว คนรุ่นใหม่ที่กลายมาเป็นผู้นำของขบวนการเคลื่อนไหวไม่สามารถกลายมาเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพได้ การตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จหลายปีเท่ากับว่าพวกเขาต้องเริ่มต้นทุกอย่างตั้งแต่ศูนย์
การเลือกตั้งอย่างเสรีที่ตามมาในปี 2012 เป็นการต่อสู้ของคนจากสองฝักฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ กลุ่มภราดรภาพมุสลิม หรือ Muslim Brotherhood ซึ่งผลักดันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 ให้ใช้กฎศาสนาอิสลามปกครองประเทศ และอีกฝ่ายคือกองทัพอียิปต์ ซึ่งควบคุมประเทศมาตั้งแต่สถาบันกษัตริย์ถูกล้มล้างในปี 1952
กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ชนะการเลือกตั้ง แต่บริหารประเทศได้ย่ำแย่ และทำให้ชาวอียิปต์ที่ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนพวกเขารู้สึกเหินห่าง และเมื่อเกิดความรุนแรงทำให้ประเทศไร้เสถียรภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ เหล่านายพลก็เข้ายึดอำนาจในปี 2013
ถึงต้นปี 2014 ประเมินกันว่า มีผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนที่เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองมากกว่า 2,000 ราย ผมได้เห็นความรุนแรงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังความมั่นคงที่กราดยิงใส่กลุ่มคนที่ไปรวมตัวอยู่หน้าสถานที่ที่นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี อดีตประธานาธิบดีอียิปต์ที่ถูกกองทัพโค่นลงจากอำนาจ ถูกควบคุมตัวอยู่ หรือตอนที่ครอบครัวพยายามจะค้นหาร่างสมาชิกในครอบครัวตัวเองที่ถูกนำไปกองเรียงกันที่มัสยิดหลังกองกำลังความมั่นคงสังหารคนอย่างน้อย 900 ราย ที่เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม
จากนั้นเป็นต้นมา กองทัพก็เข้าควบคุมประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผู้นำของพวกเขา พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล ซีซี ก็ได้กลายมาเป็นประธานาธิบดี และเขาก็ทำให้อียิปต์กลายเป็นรัฐตำรวจอย่างเข้มข้นกว่าที่ประธานาธิบดีมูบารัค เคยพยายามทำมา ชาวอียิปต์นับหมื่นถูกคุมขัง ความผิดมีตั้งแต่การต่อต้านคณะผู้ปกครองโดยตรง ไปจนถึงล้อเลียนเสียดสีผู้นำ มีคนหลายร้อยที่ถูกประหารชีวิตหลังการพิจารณาคดีที่กลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนประณามว่าไม่เป็นธรรม
การโค่นประธานาธิบดีมูบารัค เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากการลุกฮือปฏิวัติในตูนีเซีย และเหตุการณ์ที่อียิปต์ก็นำไปสู่การลุกฮือในอีกหลายประเทศทั่วตะวันออกกลาง
การปฏิวัติเหล่านี้เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แต่ไม่ใช่ในแบบที่ผู้ประท้วงที่ต้องการอิสรภาพและต้องการให้เผด็จการพิพาศลง ได้หวังไว้
กองทัพต่อสู้กลับ คนหลายแสนต้องเสียชีวิต และคนอีกหลายล้านต้องสูญเสียบ้านที่อยู่อาศัย นักรบจีฮัดที่มีความคิดสุดโต่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างแพร่หลาย เสนอ "สัจธรรม" อีกแบบหนึ่งให้กับคนหนุ่มสาวที่ถูกเผด็จการกดขี่
การกำจัดผู้นำเผด็จการเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ถือว่าพวกเขาเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ คณะผู้ปกครองในอียิปต์คงไม่สามารถอยู่รอดมาได้หากไม่ได้ความช่วยเหลือทางการเงินจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประธานาธิบดีซีซี ก็ได้แรงสนับสนุนทางการเมืองสำคัญจากชาติตะวันตกด้วย
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอียิปต์ ไลลา ซูอีฟ ซึ่งมีลูกสองคนติดคุกอยู่เพราะต่อต้าน ปธน.ซีซี บอกผมผ่านแอปพลิเคชันซูมว่า รัฐบาลประเทศตะวันตกต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องนี้
เธอบอกว่า นักการเมืองในชาติตะวันตกพยายามจะโน้มน้าวประชาชนในประเทศตนว่าต้องสนับสนุนคณะผู้ปกครองในอียิปต์และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ เพราะเป็นทางเดียวที่จะรักษาเสถียรภาพเอาไว้
"นี่ไม่ใช่เรื่องจริง คนในสหราชอาณาจักรควรให้รัฐบาลพวกเขารับผิดชอบต่อสิ่งที่รัฐบาลทำ สิ่งที่กำลังขาย หรือที่พวกเขากำลังทำเพื่อบริษัทผลิตอาวุธและธุรกิจพลังงานมากกว่าประโยชน์ของผู้คน" ซูอีฟ กล่าว
การลุกฮือในปี 2011 มาจากคนหนุ่มสาวที่โกรธแค้นเพราะการทุจริต การกดขี่ และการว่าง แต่ถึงตอนนี้ ปัญหาเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ คนอายุน้อยกว่า 30 ปีในตะวันออกกลางว่างงานมากกว่าที่ไหน ๆ ในโลก
และความรู้สึกโกรธเกรี้ยวก็ยังมีอยู่ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง แม้ว่าตูนิเซียจะได้ประชาธิปไตยจากการประท้วงในปี 2011 แต่ปีนี้ก็ยังมีการประท้วงใหญ่จากวิกฤตการว่างงานในประเทศ ที่เลบานอน ผู้ประท้วงเข้าทำลายตึกอาคารสาธารณะขณะที่ระบบการเมืองและเศรษฐกิจกำลังพังครืนลง
ทัศนคติของคนรุ่นใหม่สำคัญ เพราะพวกเขานับเป็นคนส่วนใหญ่ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผลกระทบจากโควิด-19 จะยิ่งขับเน้นให้ทุกอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ความหวังจากทศวรรษที่แล้วถูกทำลายไป
ประวัติศาสตร์ได้สอนเราแล้วว่าการกดขี่เป็นวิธีการที่ได้ผล จนกระทั่งความสิ้นหวังเอาชนะความกลัวได้ จนถึงวันที่ความกลัวกลับมาเอาชนะความสิ้นหวังได้อีกที
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar