tisdag 2 februari 2021

สถาบันกษัตริย์: สมยศ พฤกษาเกษมสุข กับข้อหา ม.112 ครั้งที่ 2

"ผมคุกเข่าไม่ได้" สมยศ พฤกษาเกษมสุข บอกกับบีบีซีไทย

ไม่ใช่เพราะมีปัญหาสุขภาพ - ในวัย 59 ปี นักเคลื่อนไหวชื่อดังผู้นี้ยังเดินเหินคล่องแคล่ว ขึ้นเวที-ร่วมขบวนประท้วงของคนรุ่นใหม่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ย้อนไประหว่างถูกจำคุกอยู่ 7 ปี แผลติดเชื้อที่ข้อเท้าเพราะโซ่ตรวนก็ลามขึ้นมาถึงแค่หน้าแข้ง

การคุกเข่าที่ว่าหมายถึงการสารภาพผิดในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต้องเข้าพิธีน้อมสำนึกว่าที่เขาจะได้อิสรภาพเร็วกว่ากำหนดหลายปีถือเป็น "พระมหากรุณาธิคุณ"

ก่อนเคลื่อนไหวการเมืองอย่างเต็มตัว เขาต่อสู้ร่วมกับขบวนการแรงงานอยู่หลายสิบปี ผลักดันข้อเรียกต่าง ๆ จนสำเร็จเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน อาทิ กฎหมายประกันสังคม สิทธิลาคลอด 90 วัน การเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร และการประกันการว่างงาน

กลางปีที่แล้ว เขาเป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวหลัง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง หายตัวไป ที่หลายคนอาจไม่รู้คือ วันเฉลิม หรือ "ต้าร์" เป็นอดีตแฟนที่ลูกสาวเขาคบมาหลายปี และสมยศเองก็ถือว่าเป็น “ลูกเขย”

"นี่เป็นหน้าที่ของชีวิตนะ ...ขอให้ได้พูดความจริง ความเชื่อที่เรามีอยู่ จะโดนกฎหมายอีกรอบก็แล้วแต่กฎหมายนี้"

สถาบันกษัตริย์: สมยศ พฤกษาเกษมสุข กับข้อหา ม.112 ครั้งที่ 2

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

"ผมคุกเข่าไม่ได้" สมยศ พฤกษาเกษมสุข บอกกับบีบีซีไทย

ไม่ใช่เพราะมีปัญหาสุขภาพ - ในวัย 59 ปี นักเคลื่อนไหวชื่อดังผู้นี้ยังเดินเหินคล่องแคล่ว ขึ้นเวที-ร่วมขบวนประท้วงของคนรุ่นใหม่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ย้อนไประหว่างถูกจำคุกอยู่ 7 ปี แผลติดเชื้อที่ข้อเท้าเพราะโซ่ตรวนก็ลามขึ้นมาถึงแค่หน้าแข้ง

การคุกเข่าที่ว่าหมายถึงการสารภาพผิดในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต้องเข้าพิธีน้อมสำนึกว่าที่เขาจะได้อิสรภาพเร็วกว่ากำหนดหลายปีถือเป็น "พระมหากรุณาธิคุณ"

"สรุปที่จับกุมพวกเรามา มันมาจบที่คำว่าขอบคุณด้วยนะ แปลว่าอะไร" สมยศกำลังเล่าถึงตอนที่ถูกจำคุกไปได้ราว 2 ปี และมี "ข้อเสนอ" ให้เขาและนักโทษคดี ม.112 ด้วยกันในเวลานั้นยอมสารภาพผิด

เขารู้สึกลังเลใจและโดดเดี่ยวขณะเห็นผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ได้รับการปล่อยตัว "...แต่รับข้อเสนอไม่ได้ ก็ต้องอยู่กันไป"

"จะว่าชนะก็ไม่ชนะ แพ้ก็ไม่แพ้" สมยศเล่าความรู้สึกหลังอยู่ต่อจนได้รับอิสรภาพในปี 2561 ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อนหน้านั้น เขาถูกจับกุมเพราะบทความ 2 ชิ้นในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการอยู่ "...ได้สู้แล้วกับระบบนี้ ได้รักษาอุดมการณ์ รักษาความเป็นตัวตนเราไว้อย่างเต็มที่"

หลังได้รับอิสรภาพมากว่า 2 ปี ขณะสมยศยังขับรถหลงทางในกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไปมาก ดูเหมือนที่บอกว่า "ได้สู้แล้ว" ยังไม่แล้วเสร็จ หมายเรียกคดีหมิ่นสถาบันฯ 2 ฉบับในมือเขาตอนนี้เท่ากับว่าอาจต้องฉลองวันเกิดครบ 60 ปี ในเรือนจำ

ในครั้งนี้ สมยศเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 อีกหลายคน สองคดีของสมยศมาจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 19 ก.ย. และที่กรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ปีที่แล้ว

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
คำบรรยายภาพ,

เวทีปราศรัยที่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ปีที่แล้ว

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ระบุว่า นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึงวันที่ 27 ม.ค. มีการดำเนินคดีนี้อย่างน้อย 42 คดี เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 24 คดี มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 55 คน เป็นเยาวชนอย่างน้อย 3 คน โดยแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" อย่าง พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก โดนคดีมากที่สุด

"สองกรรมก็จะตกประมาณ 10 ปี ใช่ไหมครับ" เขาคำนวณโทษจำคุกที่ตัวเองอาจจะโดน พร้อมเสริมว่าตัวเองจะกลายเป็น "นักโทษชั้นเลว" การทำผิดซ้ำจะบวกโทษเข้าไปอีก 1 ใน 3 ของโทษทั้งหมดคืออีกราว 3 ปีครึ่ง และจะไม่ได้รับอภัยโทษ

ถ้าทักษะคณิตศาสตร์และความรู้ประมวลกฎหมายอาญาของสมยศไม่คลาดเคลื่อน เขาอาจต้องฉลองวันเกิดครบ 70 ปี ในนั้นด้วย

ระหว่างพูดคุยกับบีบีซีไทยเกือบสามชั่วโมง นักเคลื่อนไหวผู้นี้ดูเปี่ยมหวังและสิ้นหวังไปพร้อม ๆ กัน

สดชื่นเมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา: "คุณไม่มีทางจะสู้กับคนรุ่นนี้ได้ ...ไม่รู้จะแนะนำอะไรนอกจากขอคารวะความกล้าหาญ"

หดหู่เมื่อพูดถึงอนาคตตัวเอง: "ถ้าใช้ชีวิตคุกอีก 13 ปี คิดอยู่เหมือนกันว่าน่าจะตัดสินใจฆ่าตัวตายดีกว่า"

สิทธิแรงงาน

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
คำบรรยายภาพ,

สมยศขณะทำงานกับสมาคมสิทธิเสรีภาพเมื่อปี 2536

พ่อแม่สมยศเป็นชาวจีนอพยพ ครอบครัวที่ "ไม่ถึงกับจนมาก เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง" มีรายได้จากการทำสวนและค้าขาย เขาต้องช่วยงานทั้งก่อนและหลังไปโรงเรียน เอาหน่อไม้และมะพร้าวที่ปลูกไปส่งตลาด

เขาเกิดในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่เริ่มสัมผัสการเคลื่อนไหวทางการเมืองตอนเรียนอยู่มัธยมต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ในยุคที่ประชาธิปไตยกำลังผลิบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ประสบการณ์ร่วมชุมนุมครั้งแรกเป็นในปี 2517 ที่กรรมกรโรงงานหลายหมื่นคนรวมตัวกันที่สนามหลวงต่อเนื่องหลายวันเพื่อเรียกร้องประกันค่าแรงขั้นต่ำ

"เป็นครั้งแรกที่เราได้เรียนรู้นอกตำรา ได้สัมผัสปัญหาที่เป็นรูปธรรมของสังคมในขณะนั้น"

ระหว่างเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากทำกิจกรรมกับชมรมที่เคลื่อนไหวด้านแรงงาน สมยศเข้าทำงานในโรงงานน้ำตาลและโรงงานเหล็กเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพไปด้วย

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
คำบรรยายภาพ,

สมยศในฐานะประธานสหภาพแรงงานประชาธิปไตยจัดกิจกรรมประท้วง-เผารูปกษัตริย์คเยนทราแห่งเนปาลเมื่อปี 2549 หน้าสถานทูตเนปาลในไทย เรียกร้องประชาธิปไตยหลังสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเนปาลถูกจับกุมตัวไปจำนวนมาก

"สมัยนั้นมันไม่เป็นระบบระเบียบแบบปัจจุบัน" สมยศเล่าถึงการได้สัมผัสชีวิตกรรมกรโดยตรง "...คนทำงานจนไม่มีเวลาที่พัฒนาตนเองในแง่ความรู้อะไรเลย อยู่กินแบบวัน ๆ"

หลังเรียนจบ เขาเริ่มทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิกรรมกรของสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน(สสส.) ก่อนที่จะร่วมก่อตั้งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ศบร.) และเป็นประธานพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย (พสป.) ในเวลาต่อมา

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
คำบรรยายภาพ,

สมยศอุ้มลูกชายเพิ่งเกิดใหม่ไปร่วมเรียกร้องสิทธิลาคลอด 90 วัน หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2534

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี สมยศต่อสู้ร่วมกับขบวนการแรงงาน ผลักดันข้อเรียกต่าง ๆ จนสำเร็จเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน อาทิ กฎหมายประกันสังคม สิทธิลาคลอด 90 วัน การเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร และการประกันการว่างงาน

24 มิถุนาฯ

"สถานการณ์ต่อต้านรัฐประหารมันพาไป" คือเหตุผลหนึ่งที่เขาขยับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มรูปแบบหลังปี 2549 ผ่านกลุ่ม "24 มิถุนายนประชาธิปไตย" นอกจากนั้น สมยศบอกว่าการทำงานเรื่องสิทธิก่อนหน้านั้นก็เพื่อทำลายข้อจำกัดที่ทำให้แรงงานไม่มีอิสระมาเข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตยได้อยู่แล้ว เช่น การต้องทำงานหนักเกินไป

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
คำบรรยายภาพ,

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดกิจกรรม "ครบ 1 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549" หน้าทำเนียบรัฐบาล

จากที่อุ้มลูกชายเพิ่งเกิดใหม่ไปเรียกร้องให้ผู้หญิงได้สิทธิลาคลอด 90 วัน หน้าทำเนียบรัฐบาลช่วงหลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ในปี 2534 สมยศในฐานะแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ก็ยังพูดเรื่องสิทธิ แต่คราวนี้เป็นสิทธิของราษฎรในอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยริเริ่มจัดพิธีรำลึกคณะราษฎรและการอภิวัฒน์สยามปี 2475 ในปี 2550

จากที่ไม่ได้พูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาแม้เริ่มจะตระหนักแล้วว่า "มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง" กับการรัฐประหารอย่างแยกไม่ออก กว่า 10 ปีผ่านไป กลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ได้นำสัญลักษณ์และแนวคิดของคณะราษฎรมาในการเรียกร้องเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งและทรงพลังมากกว่าครั้งไหน ๆ

ชุมนุม 14 ตุลา
คำบรรยายภาพ,

การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" เมื่อวันที่ 14 ต.ค. มีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมในช่วงรุ่งสางของวันถัดมา

แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ "พลิกหน้ามือซ้ายเป็นหลังมือขวา" แต่สมยศเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ปฏิเสธความคิดเก่าอย่างการแต่งชุดนักเรียนหรือพิธีรับปริญญา และรูปแบบการชุมนุมที่เป็นแบบ "แนวราบ" ไม่ใช่สั่งการจากบนลงล่างอย่างที่เขาเคยสัมผัสมาเองในฐานะ "แกนนำรุ่นสอง" ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ม.112

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
คำบรรยายภาพ,

สมยศบอกว่าไปเจอรูปนี้ในแฟ้มประวัตินักโทษในเรือนจำ

มีตระกูลหนึ่งที่ไปโค่นอำนาจอีกตระกูลหนึ่งเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน นี่คือโครงเรื่องจากบทความชิ้นที่หนึ่ง ในบทความชิ้นที่สอง หลวงนฤบาลเป็นตัวละครสมมติผู้มีอำนาจเหนืออดีตนายกรัฐมนตรี และอยู่เบื้องหลังการสังหารประชาชน

วันที่ 30 เม.ย. 2554 สมยศถูกจับกุมขณะกำลังเดินทางข้ามไปยังประเทศกัมพูชาด้วยข้อหา ม.112 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) ซึ่งตีพิมพ์บทความสองชิ้นนี้ แต่เขามองว่านี่เป็นผลจากที่เขาเพิ่งออกมารณรงค์ยกเลิก ม.112 ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น และเขาก็มีชื่ออยู่ใน "ผังล้มเจ้า" ของศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จากปี 2553 ด้วย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เขามีความผิดสองกรรมจากบทความสองชิ้นที่เขียนโดยนายจักรภพ เพ็ญแข เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ โดยให้เหตุผลว่าแม้เรื่องราวในบทความจะเล่าผ่านตัวละครสมมติ ไม่มีการเอ่ยพระนามพระมหากษัตริย์ แต่บริบททางประวัติศาสตร์ทำให้ผู้อ่านตีความได้ว่ากำลังพูดถึงใคร

จากมั่นใจว่าต้องชนะคดี เมื่อเลยช่วงฝากขัง 84 วันไปแล้ว สมยศถึงเริ่มตระหนักว่า "ถูกมัดมือชกแล้ว ...เขาไม่ให้ประกันตัวเนี่ย หมายความว่าเขาตัดสินคุณแล้ว" ในวันแรก ๆ เขาน้ำตาร่วง ต้องแก้ผ้าอาบน้ำรวมกับผู้ต้องขังคนอื่น ๆ เจออาหารที่จืดชืดไร้รสชาติ คืนหนึ่งหลังผ่านไปราว 4 เดือน เขาใช้ผ้าขาวม้าพยายามผูกคอตายแต่คนในห้องตื่นมาห้ามไว้ทัน สมยศบอกว่าเมื่อไม่มีทางอื่น "ก็ขอให้ได้เสรีภาพทางจิตวิญญาณ ...ไม่รู้จะสู้ยังไงเพื่อจะได้เสรีภาพ ก็เอาชีวิตไปสู้แทนก็แล้วกัน"

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศพยายามต่อสู้ว่าเนื้อหาในบทความดังกล่าวไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ และตัวเขาเองเป็นเพียงบรรณธิการ โดยอ้าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ที่ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ที่เคยกำหนดไว้ให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบในข้อความหมิ่นประมาทในสิ่งที่ตนพิมพ์ไปแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล

ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลา 10 ปี รวมกับคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและสมาชิกคณะก่อการรัฐประหารปี 2549 อีก 1 ปี รวมเป็น 11 ปี ก่อนที่ศาลฎีกาพิพากษาลดโทษเหลือ 7 ปีในเวลาต่อมา

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ระบุว่า สมยศเคยยื่นประกันรวมอย่างน้อย 16 ครั้ง และเคยวางเงินประกันสูงสุด 4,762,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

"ยอมไม่ได้ เท่านั้นเอง"

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

นอกจากแรงกัดดันจากองค์กรนานาชาติต่าง ๆ อาทิ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรื่องราวของเขายังได้ทำให้เกิดกระแส "#FreeSomyot" หรือเรียกร้องปล่อยตัวสมยศทั้งในและในต่างประเทศ

ขณะที่นักโทษคดีเดียวกันยอมสารภาพผิดและได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง และยังมีโอกาสได้พระราชทานอภัยโทษอีกต่อหนึ่งเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. เวียนมาถึง สมยศบอกว่าเขา "แค่ยอมไม่ได้ เท่านั้นเอง ...ผมได้อิสรภาพจริงทางกายแต่ผมเหมือนขังตัวเองไว้ในใจ"

หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, กฎหมายอาญา, มาตรา 112, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, วอยซ์ออฟทักษิณ
คำบรรยายภาพ,

นักสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงร่วมรณรงค์ให้ปล่อยตัวนายสมยศเมื่อปี 2554

แต่ "อิสรภาพทางใจ" มีค่าแค่ไหนกัน ?

สมยศบอกว่า "ไม่ได้คิดว่าจะมาอยู่คุกเพื่อรอวันออกจากคุก คิดว่าจะต่อสู้กฎหมายนี้ด้วย ...ฉันจะปล่อยคุณนะ แต่คุณก็ต้องรับผิดไป แต่สิ่งที่เราต้องการมันไม่ใช่ความสงสาร เราต้องการความยุติธรรม" เขาบอกอีกว่า จากที่เคยเชื่อมั่นมาตลอดว่าการแสดงความคิดเห็นต่อกษัตริย์ควรเป็นเสรีภาพ การสารภาพก็เท่ากับการทำลายความเชื่อนั้นลงไป

สมยศบอกว่าได้สัมผัสความไม่เป็นธรรมทวีคูณขึ้นอีกจากการได้รู้จักมักคุ้นกับอำพล ตั้งนพกุล "อากง SMS" ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี และเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2555 เขาเล่าว่า "อากง" บอกกับเขาว่าที่แรกที่จะไปหากได้รับอิสรภาพคือการไปลงนามถวายพระพรในหลวง ร.9 ที่ รพ.ศิริราช

อากง
คำบรรยายภาพ,

คดี "อากง SMS" ทำให้เกิดกระแสถกเถียงเรื่องกฎหมายมาตรา 112 อย่างแพร่หลาย

"ผมรู้สึกรับไม่ได้ สะเทือนใจมาก ...112 มันทำร้ายคนจงรักภักดีได้ด้วย" สมยศมั่นใจว่าอากงใช้มือถือไม่เป็นและก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากฎหมายหมิ่นฯ คืออะไร

สร้างความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่าการต่อสู้ของสมยศเป็นการยืนยันทั้งในแง่เสรีภาพสื่อในฐานะบรรณาธิการและเสรีภาพในการแสดงออก เป็นตัวอย่างหนึ่งของการยืนยันว่าความถูกต้องสำคัญกว่าอิสรภาพของตนเอง

ย้อนไปเมื่อปี 2555 ผศ.สาวตรี ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในนามเครือข่าย "คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112" หรือ ครก.112

อากง
คำบรรยายภาพ,

ในระหว่าง ครก.112 รณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 อำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" เสียชีวิตในเรือจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อ 8 พ.ค. 2555 หลังมีอาการปวดท้อง

ผศ.สาวตรี บอกว่า เรื่องราวการยืนหยัดของสมยศช่วยให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย ม.112 อยู่แล้วยิ่งเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายนี้มันไม่เป็นธรรมอย่างไร และ "อาจจะได้ผลในระดับหนึ่ง" กับฝ่ายที่ยัง "ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ" ว่ากฎหมายฉบับนี้มีปัญหาหรือเปล่า

"ลักษณะการยืนยันความบริสุทธิ์ของพี่สมยศ การถูกกระทำหลาย ๆ ปีแบบนี้ ก็อาจจะช่วยให้เขาฉุกคิดขึ้นมา"

อย่างไรก็ดี อาจารย์ธรรมศาสตร์ผู้นี้บอกว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้ส่งผลใด ๆ เลยต่อฝ่ายผู้ใช้อำนาจรัฐและฝ่ายที่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้อยู่แล้ว อาจจะ "สะใจ" ด้วยซ้ำ และไม่อาจเปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะของคดี ม.112 ที่ผลลัพธ์ออกมาแบบ "สู้ก็ติดแน่ แพ้ติดยาว" ที่เป็นมาตลอดได้

สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือสมยศตัดสินใจไม่สารภาพผิดตอนที่กำหนดโทษจำคุกไว้ที่ 11 ปี ก่อนที่ศาลฎีกาจะมาลดเหลือ 7 ปีในภายหลัง

สมยศ
คำบรรยายภาพ,

สมยศที่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์

"คิดให้ได้ว่าตายไปแล้ว" สมยศเล่าถึงการรับมือกับชีวิตในเรือนจำ

"ตอนนั้นคุณต้องปลดปล่อยตัวเองออกมาจากคำว่าตัวตนแล้ว ...ไม่ต้องสนใจว่าจะตายหรือจะเป็นละ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ทำประโยชน์ แม้ว่าไม่มาก แต่ว่าก็ยังถือว่าได้รักษาศีลธรรม อุดมการณ์ ความเชื่อของตัวเองเอาไว้"

ในฐานะผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ได้มีโอกาสติดตามและพูดคุยกับนักโทษคดี ม.112 รวมถึงสมยศ อยู่สม่ำเสมอ เขาเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า สมยศมีภาวะผู้นำ "เขาไม่เศร้า ...เขาเล่นบทแข็งแกร่ง"

หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, กฎหมายอาญา, มาตรา 112, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, วอยซ์ออฟทักษิณ
คำบรรยายภาพ,

สมยศยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวถึง 16 ครั้ง แต่ถูกศาลปฏิเสธทุกครั้ง

"เวลาที่เจอเขาในเรือนจำ เขาจะไม่พูดเรื่องตัวเอง ...ส่วนใหญ่จะพูดเรื่องสิทธินักโทษ นักโทษทุกคน ไม่ใช่[แค่]นักโทษคดีคดีหมิ่นฯ [ที่]ถูกปฏิบัติไม่ดี ไม่รู้ข้อมูลข่าวสาร ต้องใช้ผ้าสามผืนเป็นผ้าห่ม เขาจะพูดเรื่องนี้ตลอด สิทธิของคนอื่น สิ่งที่นักโทษควรได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์" ยิ่งชีพ กล่าว

"ผมเข้าไปอยากได้ข้อมูลคดีเขา แต่เขาอยากให้ช่วยรณรงค์เรื่องสิทธินักโทษ"

ระลอกใหม่

สำหรับการดำเนินคดี ม.112 ระลอกใหญ่หลังชุมนุมใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ยิ่งชีพบอกว่า มีจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น "หนักกว่ายุค คสช. เข้ามาใหม่ ๆ หนักกว่ายุคปี 53"

กลุ่มคนใส่หน้ากากชู 3 นิ้ว
คำบรรยายภาพ,

พริษฐ์ ชิวารักษ์ (ที่ 3 จากขวา), ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ที่ 4 จากขวา), ภานุพงศ์ จาดนอก (ที่ 2 จากซ้าย), เบญจา อะปัญ (ที่ 2 จากขวา) และเยาวชนอีก 2 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกคดี ม. 112 ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เมื่อวันที่20 ม.ค. กรณีแต่งชุดคร็อปท็อปเดินศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อเรียกร้องยกเลิก ม. 112 เมื่อ 20 ธ.ค. 2563

เขาบอกว่า มีการตีความบังคับใช้กฎหมายที่ "กว้างกว่าเดิม" เช่น กรณีที่แต่งชุดไทยของจตุพร แซ่อึง หรือที่เขียนคำว่า "กล้ามาก" ลงเฟซบุ๊กของ "ทราย" อินทิรา เจริญปุระ

"ผมฟัง[การปราศรัยครั้งต่าง ๆ]อยู่ตลอด ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นความผิดอะไร" ยิ่งชีพ กล่าวกับบีบีซีไทย "เป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์จริง ๆ แต่ว่าพูดเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องการเมือง ประเด็นสาธารณะ มันก็ไม่ได้ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทอะไร แต่ว่าก็โดนกันหมด"

ด้าน ผศ.สาวตรี มองว่าในครั้งนี้ กฎหมาย ม.112 "ถูกใช้แบบงง ๆ ...เหมือนเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในระยะสั้น ๆ" เธอบอกว่า การจับแล้วก็ปล่อยชั่วคราว ไม่จริงจังเท่ากับครั้งก่อน ๆ ที่เมื่อผู้ถูกดำเนินคดีมารับทราบข้อกล่าวหาแล้วก็จะถูกกักขังทันที

ผู้ปกครองให้กำลังใจบุตรชายวัย 16 ปี ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหที่ สน.ยานนาวา
คำบรรยายภาพ,

มีเยาวชนวัย 16 ปี โดนดำเนินคดีนี้ด้วย

ย้อนไปเมื่อปี 2554 ตำรวจขอหมายจับและคุมตัวสมยศไปขอฝากขังทันที คราวนี้ สมยศและผู้ถูกดำเนินคดีคนอื่น ๆ แค่ไปรับทราบข้อกล่าวหา และกำลังรอให้ตำรวจส่งเรื่องไปให้อัยการซึ่งจะพิจารณาต่อไปว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่

อาจารย์สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ผู้นี้บอกว่า ท่าทีของรัฐยังมีลักษณะของการ "ขู่ไปเรื่อย ๆ ...ดูทิศทาง ดูกระแส ว่าตกลงใช้ได้ผลไหม" ยังไม่กล้าใช้กฎหมายจริงจังเพราะกลัวเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเหมือนคราวก่อน

ย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง มีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเกิดขึ้น และในเวลาต่อมา วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มนิติราษฎร์ ก็ถูกดักทำร้ายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในที่สุด ครก.112 ได้ผู้ร่วมลงชื่อแก้กฎหมายทั้งสิ้น 38,281 คน แต่ก็ถูกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัดตกไป

อาจารย์ธรรมศาสตร์ผู้นี้บอกว่า มาตรา 112 ในยุคก่อน "น่ากลัวในแบบของมัน ...ใครแตะต้องไม่ได้เลย" ถึงขั้นว่า "การแตะ 112 คือความผิด 112"

เมื่อถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ทุกวันนี้คนจำนวนมากขึ้นเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ผศ.สาวตรี บอกว่าต้องพูดตรง ๆ ว่าเพราะการเปลี่ยนรัชสมัย และคนไทยจำนวนหนึ่งมองที่ตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญมากกว่าการคุ้มครองตัวสถาบันฯ

"มุมมองต่อสถาบันฯ เปลี่ยนแปลงไป ใช้[กฎหมายนี้]หนักมากขึ้น มันอาจจะส่งผลต่อสถาบันฯ มากกว่าในยุคก่อน"

"สะดุดไป 7 ปี"

ปีที่แล้ว สมยศไม่ลังเลเมื่อได้รับคำเชื้อเชิญจากคนรุ่นใหม่ให้พูดเรื่องเดิม เรื่องเดียวกันที่พรากอิสรภาพเขาไปเมื่อเกือบทศวรรษก่อน

"ไม่มีอะไรซับซ้อน สิ่งที่เราเคยพูดก็พูดต่อ เพียงแต่ว่า เออ มันสะดุดไป 7 ปี ก็กลับมาพูดใหม่" สมยศ กล่าว เขาบอกว่ากฎหมาย ม.112 ไม่ใช่เรื่องที่สามารถประเมินหรือคาดเดาได้

อานนท์ นำภา,สมยศ พฤกษาเกษมสุข, เอกชัย หงส์กังวาน, สุรนาถ แป้นประเสริฐ ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังศาลอาญายกคำร้องขอฝากขัง
คำบรรยายภาพ,

วันที่ 3 พ.ย. ปีที่แล้ว สมยศและอานนท์ นำภา (คนที่สามจากซ้าย) ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังเกือบ 20 วัน จากการเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 และ 20 ก.ย. 2563 ขณะที่ สุรนาถ แป้นประเสริฐ (ซ้ายสุด) และเอกชัย หงส์กังวาน ถูกคุมขังจากข้อหา "ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี" เป็นเวลา 13 และ 18 วัน ตามลำดับ

"คุณจะระวังหรือไม่ระวัง คุณโดนได้ตลอด ...ผมน้อยกว่าเพื่อนแล้วนะ ยังรู้สึกละอายใจที่ได้[หมายเรียก]น้อยกว่าคนอื่นเขา"

"เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของชีวิตนะ" สมยศกล่าว เมื่อถามว่า 7 ปีในเรือนจำไม่เท่ากับว่าเขาได้สู้มามากพอแล้วหรือ "นี่เป็นเรื่องปกติที่เราควรจะมี คือการพูดและแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย ...ขอให้ได้พูดความจริง ความเชื่อที่เรามีอยู่ จะโดนกฎหมายอีกรอบก็แล้วแต่กฎหมายนี้"

แล้วเขาคิดอย่างไรที่นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่หลายคนยกให้เขาเป็นฮีโร่ เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้การเรียกร้องประชาธิปไตยมาถึงจุดนี้ได้ ?

"ไม่ได้ทำในแง่เครดิตหรือเกียรติภูมิใด ๆ นะ" สมยศกล่าว "มันเป็นหน้าที่ของชีวิตที่ผมพอจะทำได้ เพื่อประโยชน์สุขต่อคนอื่น หรือต่อบ้านเมือง ...คือได้ทำหน้าที่ตรงนี้แล้วก็จบชีวิตไป โดยคิดว่านี่คือความหมายและคุณค่าของชีวิต"

"ไม่ต้องการใช้ ม.112 ปิดปากคนหรือทำร้ายใครทั้งสิ้น"

ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวถึงจำนวนคดี 112 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีประชาชนมาแจ้งความ ซึ่งตำรวจก็มีหน้าที่จะต้องรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน เพราะหากไม่ดำเนินการใด ๆ ก็อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ว่าด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

"เวลาเราดำเนินคดีในทุกข้อหา ซึ่งรวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย พนักงานสอบสวนจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงหรือองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งโดยหลักการบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจจะแจ้งเตือนก่อน รวมถึงการสร้างความตระหนักต่อสาธารณะว่าการกระทำใดบ้างที่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี" รองโฆษก ตร. กล่าวกับบีบีซีไทย

ต่อมาวันที่ 25 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า "ไม่ต้องการใช้ ม.112 ปิดปากคนหรือทำร้ายใครทั้งสิ้น"

นายกรัฐมนตรีบอกอีกว่าไม่ต้องการเอาประเด็นนี้มาเกี่ยวพันกับการเมือง และหากคนที่ถูกดำเนินคดีคิดว่าตัวเองถูกก็ให้ต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรม

"ตราบใดก็ตามที่มีการทำความผิดทุกคนก็ต้องได้รับการลงโทษ ตามกฎหมายไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน..."

"ประเทศไทยมันเลวร้ายขนาดนี้เลยเหรอ"

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
คำบรรยายภาพ,

ปัจจุบันเขาแยกทางกับภรรยาแล้ว ทั้งสองมีลูกด้วยกันสองคน

เมื่อนึกย้อนถึงชีวิตที่ผ่านมา เรื่องเดียวที่สมยศนึกเสียใจคือครอบครัว การไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะสามีและพ่อของลูกสองคนเท่าที่ควร "เป็นความผิดพลาด… เราทุ่มเทจนละทิ้งสิ่งเหล่านี้ไป"

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ลูกสาวสมยศ เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า เมื่อรู้ข่าวว่าพ่อต้องติดคุก 11 ปี เธอถึงกับ"ทรุด" และเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นโรคซึมเศร้า

การตื่นรู้ทางการเมืองของเธอเริ่มขึ้นเมื่อเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ฝรั่งเศส ตอนมัธยมปลายและได้เรียนรู้แนวคิดด้านสังคมและการเมืองของฝรั่งเศส ทำให้เชื่อในเรื่องความยุติธรรม ความเท่าเทียม ว่า "เราเกิดมาไม่ได้มีโซ่ตรวน ...สังคมมนุษย์ควรต้องเป็นแบบนี้"

จากที่ไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย "พอมันเกิดขึ้นกับพ่อเรา มันตกใจมากว่าประเทศไทยมันเลวร้ายขนาดนี้เลยเหรอ… เราไม่เคยคิดเลยว่าการที่เราพูดถึงใครสักคนที่เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา จะผิดถึงขนาดต้องเข้าคุก"

เรื่องการต่อสู้โดยไม่ยอมสารภาพผิดของพ่อ ประกายดาวบอกว่า "ชื่นชม" และ "เคารพการตัดสินใจของเขา" และมีหลายครั้งที่ตัดความรู้สึกที่ว่าเธอเป็นลูกออกไปไม่ได้ พอรู้ว่าพ่อจะติดคุก 11 ปี "หัวมันก็คำนวณบอกไปว่า บวก 11 เราจะอายุ 28 เราอาจจะแต่งงาน เรียนจบ มีลูก เขาจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนต่าง ๆ ของชีวิตเลยนะ"

ประกายดาว
คำบรรยายภาพ,

ประกายดาวเจอกับพ่อบ่อยครั้งระหว่างการเคลื่อนไหวเมื่อปีที่ผ่านมา

ตลอดเวลา 7 ปี ประกายดาวบอกว่า "ความรู้สึกมันกลับไปกลับมา"

"โกรธสังคมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นได้ยังไง รู้สึกเศร้าเสียใจ รู้สึกว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้สนิทกัน ไม่ได้เป็นลูกที่ดีมากพอ ไม่ได้เข้าหาให้มากกว่านี้ แล้วก็พยายามทำใจเพราะว่าเราต้องเคารพว่าสิ่งที่เขาทำมันโอเคที่สุดแล้ว"

พี่ต้าร์-ลูกเขย

วันที่ 8 มิ.ย. สมยศไปสถานทูตกัมพูชาวเพื่อเรียกร้องรัฐบาลกัมพูชาสอบสวนกรณีที่วันเฉลิมหายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.
คำบรรยายภาพ,

วันที่ 8 มิ.ย. สมยศไปสถานทูตกัมพูชาวเพื่อเรียกร้องรัฐบาลกัมพูชาสอบสวนกรณีที่วันเฉลิมหายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.

และแล้วเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ปีที่แล้ว วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองวัย 37 ปี ก็หายตัวไปจากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญ เป็นมรสุมชีวิตอีกครั้งของประกายดาวเพราะวันเฉลิม หรือ "พี่ต้าร์" คืออดีตแฟนที่เธอคบอยู่หลายปี ซึ่งสมยศเองก็ถือเป็น "ลูกเขย"

ประกายดาวบอกว่า 2-3 เดือนแรก "เละพอสมควร" ต้องกลับไปหาจิตแพทย์อีกครั้ง หนักกว่าตอนพ่อต้องถูกจำคุกเพราะ "อันนี้มันคนหายไปเนอะ ไม่รู้อยู่ไหน ทำอะไร ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า"

เธอเล่าว่าพ่อกับวันเฉลิมสนิทสนมกันดีเพราะต่างก็เป็นนักกิจกรรม สนใจการเมือง วันเฉลิมเคยมาเยี่ยมสมยศตอนจำคุกอยู่ และสมยศก็มีโอกาสได้เดินทางไปเจอวันเฉลิมที่กัมพูชาในเวลาต่อมาด้วย

และสมยศก็เป็นคนแรก ๆ ที่ออกมานำการเคลื่อนไหวหลังวันเฉลิมหายตัวไป และเป็นชนวนสำคัญที่ผลักให้เกิดการชุมนุมใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเวลาต่อมา

"ไม่แปลกที่เขา(สมยศ)จะมาทำเรื่องนี้เพราะนอกจากรู้จักกันแล้ว เขาเชื่ออย่างสุดซึ้งว่าใครเป็นคนทำ ...ต่อให้เขาไม่รู้จักกัน เขาก็น่าจะมาทำเรื่องนี้อยู่ดี"

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข
คำบรรยายภาพ,

ประกายดาวบอกว่าถึงแม้พ่อจะไม่รู้จักกับวันเฉลิม เขาก็จะออกมาเรียกร้องเรื่องนี้อยู่ดี

"เฉยชา ชินชา" คือคำตอบของประกายดาวเมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่พ่อมาถูกดำเนินคดี ม.112 อีกครั้ง

"จริง ๆ มันไม่ควรรู้สึกอย่างนี้หรอกค่ะ แต่ใจเรามันโอเคแล้ว จะให้มาร้องห่มร้องไห้เหมือนสมัยก่อนมันก็ไม่ได้แล้ว ตอนนี้ก็แข็งแรงขึ้น"

จากที่ครั้งก่อนแม่เป็นคนช่วยเดินเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะเธอยังเด็กเกินไป ประกายดาวบอกว่าสิ่งที่ทำได้ในครั้งนี้ก็คือจะช่วยพ่อให้ถึงที่สุด

ประกายดาวบอกว่า หากจะพูดตรง ๆ เลย ที่ผ่านมา การดูแลครอบครัว ทั้งเรื่องเงิน การสั่งสอน และความรักใคร่ มาจากแม่มากกว่า "อาจจะฟังดูแรงนะ แต่ว่าหนูกับพี่ชาย ทุกวันนี้ไม่มีใครคิดคาดหวังกับเขาว่าเขาควรเป็นพ่อที่ดี แต่ว่าเรายินดีที่เขาได้ออกไปสู้เพื่อสังคม"

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar