tisdag 2 februari 2021

รัฐประหารเมียนมา ๒๐๒๑ ไม่ใช่แค่จุดจบ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลาย ๆ อย่างด้วย

ThaiE-News


 
Kasian Tejapira
17h ·

รัฐประหารเมียนมา ๒๐๒๑ ไม่ใช่แค่จุดจบ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลาย ๆ อย่างด้วย

%%%%
รัฐประหารเมียนมาไม่ใช่เป็นแค่จุดจบแห่งการใช้ความรุนแรงต่อการเลือกตั้ง (electoral violence) เพื่อล้มผลเลือกตั้งของกองทัพเท่านั้น หากยังเป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่าง อาทิ

-จุดเริ่มต้นของอาการติดเพดานขลุกขลักในการเลือกเลื่อนตำแหน่งไต่สูงขึ้นไปตามลำดับปกติในกองทัพ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายที่ถ่างก้นนั่งควบเก้าอี้นำกองทัพกับการเมืองต่อไป จะลุกไม่ขึ้นง่าย ๆ เพราะต้องหวงแหนยึดกุมการนำกองทัพไว้ให้มั่นคงหรือส่งต่อให้ลูกน้องที่วางใจได้ ซึ่งย่อมกลายเป็นจุกอุปสรรคการเลือกเลื่อนตามปกติของนายทหารระดับรอง ๆ ลงไป อันจะยิ่งเพิ่มเดิมพันและเชื้อมูลความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองและการทหารในกองทัพมากขึ้น

-จุดเริ่มต้นของการพังทลายของหลักนิติธรรม (the rule of law) สภาพไร้ขื่อไร้แปขยายวงออกและการสวิงไปสู่แนวคิดแข็งกร้าวถึงรากยิ่งขึ้นของพลังฝ่ายค้าน (radicalisation) ทั้งที่สู้ด้วยอาวุธและด้วยความไม่รุนแรง
-จุดเริ่มต้นของการโทษรัฐบาลพลเรือนไม่ได้ต่อปัญหาโควิด-๑๙ ระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจอีก ต่อแต่นี้ไปรัฐบาลทหารปกครองเองต้องรับไว้เต็ม ๆ ถ่ายเดียว

-จุดเริ่มต้นของการเสียเปรียบตกเป็นเบี้ยล่างต่อรองของเมียนมาต่อจีนและอาเซียนในฐานต้องพึ่งพาทั้งความชอบธรรม การทูตและเศรษฐกิจการค้าการลงทุนจากเพื่อนบ้านที่ไม่แยแสหลักการเสรีประชาธิปไตย แต่พร้อมต่อรองเอาเปรียบเหล่านี้

-จุดเริ่มต้นแห่งช่องทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่ปิดแคบลงกับโลกตะวันตกโดยรวม

-จุดเริ่มต้นแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจซ้ำเติมสำหรับประชาชนชาวเมียนมา ภายใต้การปิดกั้นทางเศรษฐกิจการค้าเพิ่มขึ้นจากโลกตะวันตกและภายใต้รัฐบาลทหารที่ไม่จำเป็นต้องฟังประชาชนผู้เดือดร้อนก็ได้ เพราะได้อำนาจมาจากปืน ไม่ใช่เสียงโหวต

-จุดเริ่มต้นของโอกาสการปริแตกแยกห่างระหว่างกองทัพ กับ ชาติเมียนมา ที่กองทัพเคยผูกขาดชาตินิยมมาตลอดนับแต่ได้เอกราชมา มีช่องว่างที่พลังการเมืองฝ่ายอื่นจะต่อสู้ช่วงชิงธงชาตินิยมเมียนมาเป็นของตนบ้างมากขึ้นในนามประชาธิปไตย

-จุดเริ่มต้นของอาการวนลูปในการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยทั้งที่ติดอาวุธและไม่ติดอาวุธใน

เมียนมา รวมทั้งปัญหาโรฮิงญาที่ค้างคาอยู่

ทำไปทำมา ทหารพม่ายึดอำนาจ นี่อาจเกี่ยวโยงอิทธิพลจีน

 

ตู่อ้างมารยาทอาเซียนไม่ยุ่งการเมืองภายในพม่า ถึงได้ใช้หน่วยควบคุมฝูงชนเข้าสลายการประท้วงรัฐประหารหน้าสถานทูตพม่า ซึ่งผู้ชุมนุมมีทั้งชาวพม่าในไทยจำนวนมาก และนักกิจกรรมไทยไม่น้อยเข้าร่วม รวมทั้งกลุ่ม วีโว่มวลชนอาสา

มิใยถูกโจมตีจากบัญชี ไอโอ ว่า “เมื่อคืนเห็นว้อยซ์ออกข่าวกล่าวหา จนท. อีกแล้ว ม๊อบช่วงนี้หิวแสงเยอะอยู่” (@Myra Sangawongse) โพสต์หนึ่งกล่าวหาว่า เพราะมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พรรณิการ์ วานิช คณะก้าวหน้าไปร่วมสังเกตุการณ์

กระนั้นทั่วไทยให้ความสนใจการยึดอำนาจ โดยรัฐธรรมนูญ (ม.๔๑๗ และ ๔๑๘) ของทหารพม่ากันอย่างยิ่งยวด แม้กระทั่ง วู้ดดี้ ผู้ประกาศทีวี (#กินอาหารหมา) ก็ยัง #SaveMyanmar กะเขาบ้าง น่าจะเพราะความเคลิบเคลิ้มต่อ ดอว์ซูจี เป็นอาทิ


บ้างวิเคราะห์ว่าเพราะซูจีเดินแต้มการเมืองภายใต้เงาทหารมา ๕ ปีจนแก่กล้า สร้างฐานคะแนนเสียงท่วมท้น พร้อมที่จะสลัดอำนาจทหารได้ในรัฐสภาสมัยนี้ แต่ทหารไหวตัวก็เลยยึดอำนาจตัดหน้าเสียก่อน ด้วยอำนาจประกาศภาวะฉุกเฉินที่พวกตนฝังไว้ใน รธน.

กระทั่งสำนักข่าว ชินหัว กระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ก็ยังไม่ยอมเรียกการยึดอำนาจในพม่าครั้งนี้ว่า รัฐประหาร กลับบอกว่า “เป็นการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่-Myanmar military announced a major cabinet reshuffle…” (Sunai @sunaibkk)

กลายเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค อย่างควรแก่การใส่ใจ ในเมื่อมีการชักชวนให้ “จับตาดูเฟสสลิ่มอย่างเดียว หากกรูกันออกมาในสามธีม

ด่าตะวันตก เชิดชูจีน เชียร์รัฐประหารพม่า แสดงว่าไอโอเขาส่งสัญญาณให้ออกมากันแล้ว” อันนี้ไม่แน่ใจจะไปถึงจุดเหล่านั้นไหม เท่าที่เห็นตามบัญชีสลิ่มบางรายตอนนี้มีแต่ด่า ม็อบเด็ก เผือกเรื่องพม่าหาซีน อ้างเดี๋ยวได้ติดโควิดระนาว

หากแต่โพสต์ของ Mathee Sootsukont มีประเด็นให้ต้องคิดที่ว่า “จีนสร้างที่มั่นได้สองฝั่งแล้ว Kyaukpyu ฝั่งอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย Ream ฝั่งอ่าวไทย ในมหาสมุทรแปซิฟิค ขาดคลองเชื่อมเท่านั้น จำเป็นต้องกระชับอำนาจให้เร็วที่สุด”

เป็นนัยยะที่ ตู่ทำไม่รู้ไม่ชี้กับการ กระชับอำนาจของทหารใหญ่ในพม่า ลูกบุญธรรมป๋าเปรม ซึ่งถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนตะวันตกตราหน้า ว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนมุสลิมโรฮิงญาในประเทศของตน หากพลเรือนเป็นรัฐบาลมีทางได้ไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

ไม่บังเอิญที่ คลองเชื่อม ดังว่า เป็นส่วนหนึ่งในแผนล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งอยู่บนแผ่นดินไทย ตามวิสัยทัศน์และนโยบายที่เปลี่ยนแปลงมาหลายยุคสมัย ตั้งแต่ คอคอดกระและ คลองไทยมาถึง สะพานข้ามอ่าวไทยและแลนด์บริดจ์


เม็กกาโปรเจ็คสำหรับโครงการ อีอีซีของรัฐบาลตู่ยุคกึ่งเผด็จการนี้คิดกันขึ้นมาเพื่อถลุงงบปรมาณราว ๑.๕ ล้านล้านบาท ประกอบด้วย “การสร้างสะพานข้ามอ่าวไทยจาก จ.ชลบุรี เชื่อม จ.เพชรบุรี ระยะทาง ๘๐-๑๐๐ กิโลเมตร มูลค่า ๙.๙ แสนล้านบาท”

กับ “การสร้างถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟฟ้าระยะทางประมาณ ๑๒๐ ก.ม. เชื่อมสองฝั่งทะเล” ระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน “เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ที่มาจากยุโรปไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาหรือแวะจอดท่าเรือสิงคโปร์ โครงการนี้ใช้เงินประมาณ ๖-๗ หมื่นล้านบาท”

ทั้งหมดนั่นมาจากไอเดียดั้งเดิมของการขุดคอคอดกระ บริเวณแผ่นดินแคบที่สุดบนด้ามขวานไทยตรงจังหวัดระนอง เป็นแนวคิดบรรเจิดทางเศรษฐกิจที่ถูกตีตกไปด้วยเหตุผลทางความมั่นคง กลัวว่าคลองขุดเป็นทางลัดให้เรือเดินสมุทรผ่านได้นี้ จะทำให้การแบ่งแยกดินแดนง่ายขึ้น

จนมาถึงรัฐบาล คสช. ความคิดที่จะขุดคลองให้เรือบรรทุกสินค้าผ่านก็ผุดขึ้นมาใหม่ เมื่อมีแรงผลักจากจีนบอกว่า “อั๊วขุดให้ ลื้อเก็บค่าต๋ง” ขนาดว่าองคมนตรีธานินทร์ ไกรวิเชียร เคยเขียนจดหมายถึงหัวหน้ารัฐประหารหนุนว่าอันนี้ดี เซ็งลี้ฮ้อ

แต่กำหนดแนว คลองไทย กันใหม่เรียก แนว ๙ เออ้อมหน่อย ให้ผ่าน ๕ จังหวัดคือตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีมูลนิธิรัฐบุรุษ (ป๋า) เป็นเจ้ากี้เจ้าการ ที่ไม่บังเอิญอีกแหละ ไปพัวพันกับนโยบาย หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ของจีนจนได้

มาถึงแผนการณ์ใหญ่ สะพานไทย-สะพานเศรษฐกิจที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ จะเอาให้ได้ ถึงขั้นตวาดข้าราชการคมนาคมว่า “เราต้องทำให้เต็มที่ ทุกคนมีวาระ มีหัวโขนในการดำรงตำแหน่งทั้งนั้น” แต่ก็เจอปัญหา

เพราะจะให้เรือยักษ์จอดถ่ายสินค้าขึ้นบกแล้วขนบนดินไปลงเรืออีกฝั่ง “เพิ่มทั้งเวลาและต้นทุน คิดอย่างไรก็ไม่คุ้ม” ก็เลยเห็นท่าจะฝ่อ แต่ก็ยังไม่ล้มหาย พอทหารพม่ายึดอำนาจปั๊บ ภาพลักษณ์เศรษฐกิจใต้ลมปีกจีนก็กลับมาโชย

(https://www.facebook.com/mathee.sootsukont/posts/4013172188694579, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/903282, https://www.isranews.org/article/isranews-news/90602-thai-canal-land-bridge-MOT.html และ https://www.facebook.com/BBCnewsThai/posts/2865501217004233)  

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar