ทรัมป์ ทหาร และการเมืองอเมริกัน!
สุรชาติ บำรุงสุข
ในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันของวุฒิสภา ด้วยการที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ปลุกระดมกระแสขวาจัด และนำไปสู่การใช้กำลังบุกเข้าไปในการประชุมของวุฒิสภาในวันที่ 6 มกราคม นั้น เป็นเสมือนกับความพยายามที่จะก่อการ “รัฐประหาร” ด้วยการใช้กำลังบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลของกระบวนการรัฐสภา จนอาจต้องเรียกสภาวะที่เกิดในอีกด้านหนึ่งว่า เป็นความพยายามในการ “ก่อการกบฏ” ในการเมืองอเมริกัน
ไม่ว่าปรากฎการณ์นี้จะเรียกว่า “รัฐประหารของทรัมป์” หรือ “กบฏทรัมป์” ก็ตาม ได้นำไปสู่คำถามถึงตัวแสดงหนึ่งที่สำคัญในการเมือง คือ บทบาทของทหารกับการเมือง ... ผู้นำกองทัพจะตัดสินใจอย่างไรกับวิกฤตการเมืองเช่นนี้?
ถ้าเราคิดถึงความพยายามที่จะก่อการกบฎของพวกขวาจัดที่กรุงวอชิงตัน ดีซี. ด้วยแว่นตาการเมืองของประเทศโลกที่ 3 แล้ว เราอาจจะเชื่อว่า หลังจากการบุกสภาแล้ว อีกไม่นานผู้นำทหารอเมริกันอาจนำกำลังออกมาประกาศการยึดอำนาจ ดังเช่นที่เกิดในการเมืองของประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ เพราะหากเกิดความขัดแย้ง จนมีการกบฏแล้ว ผู้นำทหารอาจจะต้องออกมาแสดงบทบาทเป็น “ผู้พิทักษ์” ด้วยการยึดอำนาจ หรือโดยนัยคือ จะใช้กำลังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันเป็นตัวแบบที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากในประเทศด้อยพัฒนา ที่มีระดับวัฒนธรรมทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำและผู้นำทหารอยู่ในระดับต่ำ
บนเงื่อนไขของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่ระดับวัฒนธรรมการเมืองต่ำ คนในสังคมจึงมักถูกประกอบสร้างให้เกิดความเชื่อแบบด้านเดียวว่า “การเมืองต้องไม่มีความขัดแย้ง” และถ้ามีความขัดแย้งเกิดเมื่อใด เมื่อนั้นกองทัพจะต้องแสดงบทเป็น “ผู้พิทักษ์” ด้วยการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลทหาร หรืออาจเป็นการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายขวา และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะถูกขจัดออกไปจากสังคม
แต่ความเชื่อเช่นนี้ไม่ถูกสร้างให้เกิดในสังคมตะวันตก ที่ประชาธิปไตยหยั่งรากลึก หรือมีสถานะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นเมื่อเกิด “กบฏทรัมป์” จึงทำให้เกิดคำถามว่า แล้วทหารอเมริกันจะแทรกแซงการเมืองเหมือนกองทัพในประเทศด้อยพัฒนาหรือไม่?
ในความเป็นจริง เป็นเรื่องง่ายที่จะตอบคำถามเช่นนี้ เพราะสังคมอเมริกันไม่มี “วัฒนธรรมรัฐประหาร” ที่ผู้นำทหารจะต้องยึดอำนาจรัฐ และชนชั้นนำอเมริกันเองก็ไม่ได้มีชุดความคิดที่จะใช้การยึดอำนาจเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง
ดังนั้นแม้ทำเนียบจะเป็นตัวจุดกระแสรัฐประหาร และนำไปสู่ความพยายามในการยึดรัฐสภา แต่ก็จะเห็นได้ว่าในการก่อกระแสรัฐประหารในครั้งนี้ ไม่ได้มีคำสั่งให้มีการเคลื่อนกำลังรบแต่อย่างใด และเชื่อได้เลยว่า แม้ทำเนียบขาวอาจจะตัดสินใจออกคำสั่งให้มีการเคลื่อนกำลังทหาร เพื่อยึดอำนาจจากรัฐสภา ก็คงไม่มีผู้นำทหารอเมริกันคนใดที่จะ “เสียสติ” ยอมรับและปฎิบัติตามคำสั่งเช่นนั้น
แม้กระนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า ทรัมป์พยายามที่ใช้กระบวนการการ “รัฐประหารทางรัฐสภา” เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง ไม่ใช่เปลี่ยนด้วยอำนาจกำลังรบเช่นดังเช่นที่เกิดในประเทศโลกที่ 3 ที่ต้องใช้การเคลื่อนรถถังในเมืองหลวงเป็นเครื่องมือหลัก
ดังนั้นเมื่อมีการออกถ้อยแถลงของคณะเสนาธิการร่วม ของกองทัพสหรัฐฯ (JCS) จึงทำให้เกิดความชัดเจนในทางการเมือง ถ้อยแถลงนี้ลงนามโดยประธานคณะเสนาธิการร่วม รองประธานคณะเสนาธิการร่วม และผู้นำทหารทั้ง 6 เหล่าทัพ ซึ่งในเนื้อหาได้ยืนยันอย่างชัดเจนถึงบทบาทของกองทัพสหรัฐฯ ในการปกป้องรัฐธรรมนูญ การเชื่อฟังคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้นำพลเรือน การไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรง และการยืนยันที่จะทำให้กระบวนการเปลี่ยนอำนาจเป็นไปอย่างถูกต้อง ด้วยการย้ำว่า นายโจ ไบเดน จะได้เข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนที่ 46 ของกองทัพอเมริกัน
ถ้อยแถลงเช่นนี้ในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้นำทหารอเมริกันยอมรับแนวคิดเรื่องการควบคุมโดยพลเรือน (civilian control) หรือโดยนัยคือ การยอมรับการนำของผู้นำพลเรือน (civilian leadership) และที่สำคัญคือ การยอมรับว่า กองทัพอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีหน้าที่ในการ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเท่ากับมีนัยว่า กองทัพจะไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ หรือกระทำตนเป็นผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญ
ในอีกด้านหนึ่งถ้อยแถลงนี้ คือ การระบุถึงบทบาทและหน้าที่ของกองทัพในการเมืองอเมริกัน และเป็นการระบุเพื่อให้เกิดความขัดเจนแก่กำลังพลทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่า เอกสารฉบับนี้เป็นดัง “การประกาศนโยบายทางการเมือง” ของผู้นำทหารอเมริกันในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตจากกลุ่มขวาจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประโยคที่ย้ำอย่างชัดเจนว่า ความพยายามที่ล้มกระบวนการรัฐธรรมนูญไม่เพียงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับประเพณี ค่านิยม และคำสาบานตนเท่านั้น หากยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วย
ดังนั้นคงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ถ้อยแถลงฉบับนี้คือ ภาพสะท้อนถึงทิศทางของความเป็น “ทหารอาชีพ” (professional soldier) ในสังคม และแม้การเมืองจะเผชิญกับวิกฤตการณ์เพียงใด แต่บทบาทของกองทัพมีความชัดเจนที่ไม่แทรกแซงการเมือง และตอกย้ำกับทั้งกำลังพลและสังคมว่า กองทัพยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดจากมติมหาชน โดยเฉพาะประโยคสุดท้ายที่ขอให้กำลังพล “เตรียมตัวให้พร้อม มองไปสู่ขอบฟ้าเบื้องหน้า และยืนยันที่จะมุ่งเน้นอยู่กับภารกิจ [ของทหาร]”
แน่นอนว่า ท่าทีและสัญญาณทางการเมืองของผู้นำทหารในประเทศโลกที่ 3 ที่เติบโตมากับ “วัฒนธรรมรัฐประหาร” อาจแตกต่างอย่างสิ้นเชิง พวกเขาไม่เคยคิดที่จะเป็น “ทหารอาชีพ” พวกเขาไม่เคย “เคารพรัฐธรรมนูญ” อีกทั้งผู้นำทหารในประเทศเช่นนี้คุ้นชินกับ “วัฒนธรรมเผด็จการ” ที่ “กองทัพแห่งรัฐ” ถูกแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการสร้างและแสวงหาอำนาจ และที่สำคัญกองทัพในประเทศเช่นนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของการทำลายประชาธิปไตย แต่ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เราเห็นจากผู้นำทหารอเมริกันในครั้งนี้ กองทัพมีพันธะทางการเมืองในการ “พิทักษ์ประชาธิปไตย”
ฉะนั้นแม้ฝ่ายอำนาจนิยมในบางประเทศจะดีใจกับการก่อกบฏของทรัมป์ และเชื่อว่าประชาธิปไตยอเมริกันถึงจุดจบแล้ว แต่เอกสารจากคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐฯ กลับเป็นคำตอบที่ชัดเจนถึง ความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย และความเป็นทหารอาชีพจะมีส่วนโดยตรงต่อการรักษาระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังยืนชัดเจนว่า ทหารมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทำลายรัฐธรรมนูญ ...
เอกสารฉบับนี้จึงน่าจะแปลและแจกจ่ายให้กับกองทัพของบางประเทศเป็นอย่างยิ่ง!
ooo
อ่าน สาสน์จากคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา (แปล)
จากคุณดวงจำปา
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3733644906678496&id=804632636246419
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar