The Politics ข่าวบ้าน การเมือง
10h ·
รัฐประหารของทรัมป์!
สุรชาติ บำรุงสุข
หลายท่านที่ตื่นมาในเช้าวันพฤหัสบดีที่
7 มกราคม 2564 คงอดตกใจอย่างมากกับข่าวเรื่อง
การบุกรัฐสภาอเมริกันของฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์
แทบไม่น่าเชื่อว่าทรัมป์จะสามารถปลุกกระแสขวาจัด
และทำให้คนในสังคมอเมริกันส่วนหนึ่งเชื่อว่า
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
เป็นการโกงการเลือกตั้ง
และพวกเขาจะต้องเดินทางมาคัดค้านการประชุมสภาที่จะรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เกิดขึ้น
สำหรับปีกขวาจัดแล้ว โจ ไบเดน ไม่ใช่ผู้ชนะ ทรัมป์ต่างหากที่เป็นผู้ชนะ!
ด้วยการสร้างกระแสขวาจัดในสังคมอเมริกันมาตลอดเวลา
4 ปีในระหว่างการดำรงตำแหน่งของเขา
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คนส่วนหนึ่ง ที่อาจจะต้องเรียกว่าเป็น
“สาวกของทรัมป์” พร้อมที่จะเชื่อ และปิดใจที่จะรับฟังความเห็นต่าง
พวกเขาเหล่านี้สมาทานสิ่งที่ทรัมป์นำเสนอ และเชื่ออย่างเต็มที่
จนไม่เหลือพื้นที่ความคิดเป็นอย่างอื่น
และพร้อมที่จะเชื่อโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล และข้อเท็จจริงใดๆรองรับ
เมื่อทรัมป์บอกว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นโกง พวกเขาก็พร้อมจะเชื่อว่าโกง
โดยปราศจากหลักฐานรองรับ
ไม่แปลกใจนักถ้าจะเปรียบว่าสำหรับคนเหล่านี้ ทรัมป์เป็นดัง “ศาสดา” ที่จะพาสังคมอเมริกันให้เดินไปสู่ความรุ่งเรืองในอนาคต และพวกเขาเชื่อโดยไม่จำเป็นต้องต้องมีข้อสงสัย อย่างน้อยสี่ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ได้หล่อหลอมด้วยการส่งสาร และแสดงออกผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง จนอาจเรียกชุดความคิดที่ถูกสร้างขึ้นจากการสื่อสารเช่นนี้ว่า “ลัทธิทรัมป์” (Trumpism) และชุดความคิดนี้หลอมจนคนบางส่วนพร้อมอาวุธกล้าที่จะบุกเข้าไปในสภา พร้อมกับเสียงเรียกร้อง “เราต้องการทรัมป์” (We want Trump!) ที่แสดงอย่างชัดเจนว่า ไม่รับผลเลือกตั้ง
การแสดงออกด้วยท่าทีที่ต่างจากประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนๆ การละเลยต่อการให้คุณค่าเสรีนิยมแบบอเมริกัน การลดการให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องสีผิวและความเท่าเทียมในสังคม การมีทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่พลิกไปจากวิถีอเมริกันในการเมืองโลก ตลอดจนถึงการโฆษณาทางการเมืองด้วยคำขวัญแบบประชานิยม ไม่ว่าจะเป็น “American First” หรือ “America Great Again” กลายเป็นสิ่งที่ถูกใจกับบรรดากลุ่มที่สนับสนุนเขาที่ไม่ต้องการการมีบทบาทของสหรัฐนอกบ้าน แต่ต้องการหันสหรัฐกลับสู่บ้านตัวเอง และถูกใจอย่างมากกับกลุ่ม “ผิวขาวขวาจัด” ที่ต่อต้านทั้งคนผิวสี คนมุสลิม และผู้อพยพ
ในบริบทของการเมืองโลก ทิศทางของทรัมป์กลายเป็นปัญหาในทางยุทธศาสตร์ว่า สหรัฐกำลังทิ้งบทบาทการเป็น “ผู้นำโลก” และเปิดทางให้จีนขยายบทบาทดังกล่าวได้มากขึ้น จนเสมือนกับสหรัฐกำลังสูญเสียสถานะการนำในเวทีโลกในยุคของทรัมป์ เช่นเดียวกับในบริบทภายใน ทิศทางแบบทรัมป์ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมอเมริกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนหลายคนมีความเห็นคล้ายกันว่า สังคมอเมริกันกำลังเผชิญกับการกลับมาของ “สงครามกลางเมืองครั้งใหม่” ในยุคปัจจุบันหรือไม่
อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับบุคคลิกในความเป็นผู้นำของทรัมป์ ที่แม้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะแพ้ แต่เขากลับสามารถสร้างจินตนาการด้วย “ข่าวปล่อย-ข่าวปลอม” ว่า เขาต่างหากที่ชนะ และถูกโกง!
ดังได้กล่าวแล้วว่าด้วยการโหมโฆษณาชวนเชื่อ สาวกของทรัมป์พร้อมจะเชื่ออย่างไม่กังขา ... ทำให้อดเปรียบเทียบกับครั้งที่ผู้นำประชานิยมของอิตาลีคือ มุสโสลินีประกาศ “การเดินไปโรม” (The March on Rome) ในเดือนตุลาคม 2465 แล้วคนอืตาลีจำนวนมากก็เข้าร่วมการก่อการกบฏของพรรคฟาสซิสต์ในเดือนดังกล่าว เช่นเดียวกับอีก 1 ปีต่อมา ฮิตเลอร์ก็ก่อการกบฏ (The Beer Hall Putsch) ที่มิวนิค แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอำนาจของฮิตเลอร์ และนำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจอย่างแท้จริงในปลายปี 2475
ความสำเร็จของทั้งฮิตเลอร์และมุสโสลินีมีปัจจัยร่วมที่สำคัญคือ “การโฆษณาทางการเมือง” หรือโดยความหมายที่แท้จริงคือการโฆษณาชวนเชื่อ ที่มาพร้อมกับการสร้างภาพบุคลิกของความเป็นผู้นำ และประชาชนในฐานะผู้รับสารพร้อมที่จะเชื่อ และเชื่อในแบบของการเป็น “สาวกทางการเมือง” ดังจะเห็นได้ว่า บทบาทในการเป็นนักโฆษณาของฮิตเลอร์ ที่สามารถพูดชักชวนให้ชาวเยอรมันในขณะนั้นเชื่อมั่นว่า ฮิตเลอร์จะพาเยอรมนีก้าวไปสู่ความเป็นมหาอาณาจักรอีกครั้ง
บุคคลิกภาพรวมกับการเป็นนักโฆษณาในแบบของ “นักขายสินค้าทางการเมือง” ทำให้ทรัมป์ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี 2559 อย่างไม่น่าเชื่อ หากย้อนกลับไปในปีดังกล่าว ใครเลยในขณะนั้นจะเชื่อว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐชื่อ โดนัล ทรัมป์ ... ว่าที่จริงก็แทบไม่ต่างจากฮิตเลอร์และมุสโสลินี จะต่างกันตรงที่ทั้งสองผู้นำในยุคนั้นไม่มีทวิตเตอร์ และเฟสบุ๊ค ที่จะใช้ในการปลุกระดม
อย่างไรก็ตาม ผู้นำขวาจัดที่เล่นด้วยการปลุกอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในแบบที่ทรัมป์พยายามจะต่อสู้กับการพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี 2563 นั้น มีความเปราะบางในตัวเองอย่างมาก เพราะด้านหนึ่งทำให้สังคมอเมริกันเกิดความแตกแยกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และในอีกด้านทำให้ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันที่เป็นหนึ่งใน “ต้นแบบประชาธิปไตย” ของโลก ต้องกลายเป็นสิ่งที่ถูกเยาะเย้ยและถากถางจากบรรดานักอำนาจนิยม อีกทั้งทรัมป์แสดงตัวเป็นผู้ที่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างกับผู้นำอำนาจนิยมในหลายประเทศ
แน่นอนว่า การปลุกระดมของทรัมป์เป็นเสมือนความพยายามที่จะยึดอำนาจด้วยการให้รัฐสภาอเมริกันออกมติตามความต้องการของฝ่ายตน หรือเป็น “รัฐประหารโดยสภา” (Congressional Coup) คือ ให้สภาเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง และประกาศให้ทรัมป์เป็นผู้ชนะ ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่า วุฒิสภาอเมริกันส่วนใหญ่คงไม่เล่นในเกมของทรัมป์ และเสียงในวุฒิสภาเป็นพรรคเดโมแครต
ในอีกด้าน อาจจะเป็นเพราะทรัมป์ไม่สามารถใช้อำนาจของทำเนียบขาวสั่งเคลื่อนกำลังรบ และประกาศการรัฐประหารในแบบของบางประเทศได้ การยึดอำนาจจึงยังต้องอาศัยกระบวนการทางรัฐสภาเป็นเครื่องมือ ดังนั้นสิ่งที่ทรัมป์ทำได้มากที่สุดคือ การสั่ง “เคลื่อนม๊อบ” ให้บุกรัฐสภา จนถือเป็นภาพที่น่าอดสูของการเมืองอเมริกัน และเป็นการสั่นคลอนการเมืองอเมริกันอย่างมากด้วย จนถึงกับมีการกล่าวว่า การบุกรัฐสภาครั้งนี้เป็น “การก่อการร้ายภายใน” (อาจเทียบเคียงได้กับการยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินระหว่างประเทศในบางประเทศ)
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ ระบอบประชาธิปไตยยังสามารถดำรงอยู่ได้ และเช่นเดียวกันการปลุกม๊อบขวาจัดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ แม้ระบอบประชาธิปไตยอาจต้องเผชิญกับความอดสูในบางครั้ง แต่ความอดสูนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของผู้นำแบบขวาจัด ที่เห็นแก่ตัว และต้องการเพียงการเอาตนเองให้อยู่ในอำนาจต่อไป... ผู้นำขวาจัดมักจะสร้างจินตนาการเสมอว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังรักเขา ต้องการให้เขาอยู่ในอำนาจต่อ และเขาจะไม่แพ้เลือกตั้ง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง และไบเดนจะเข้าสาบานตัวรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม นี้ ปัญหาจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวว่า แล้วในอำนาจของประธานาธิบดีที่ทรัมป์ยังมีอยู่ในทางกฎหมายนั้น เขาจะทำอะไรที่จะเขย่าสังคมอเมริกัน หรือเขย่าสังคมโลกอีกหรือไม่?
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar