"หนี้นอกระบบ" เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ปัญหานี้ถูกหยิบยกมาเป็นนโยบายรัฐบาลเพื่อมาแก้ไขอย่างจริงจังอย่างน้อยก็เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ทว่า จนถึงวันนี้ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ล่าสุด รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ประกาศว่า การกำจัดปัญหานี้ให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทยถือเป็น "วาระแห่งชาติ" แต่ดูเหมือนว่าแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลเศรษฐายังขาดรายละเอียด เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนอย่างน้อย 3 ชุด ที่เคยลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากคำแถลงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา "หนี้นอกระบบ" พบว่า เนื้อหาไม่แตกต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากนัก
บีบีซีไทย สรุปรายละเอียดส่วนสำคัญจากคำแถลงของนายเศรษฐาต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ดังนี้
สรุปแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ของ "รัฐบาลเศรษฐา"
แนวทางที่นายเศรษฐา ประกาศส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามกลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ กระทรวงการคลังจะรับผิดชอบดูแลกลุ่มที่เป็นลูกหนี้นอกระบบหลังจากที่มีการปรับโครงสร้าง และไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว ผ่านธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ที่มาของภาพ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
คำบรรยายภาพ,นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าววาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
ธนาคารออมสิน ซึ่งขณะนี้มีโครงการอยู่แล้ว เงื่อนไขการขอแก้ไขหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย
- วงเงินกู้ส่วนบุคคลไม่เกินรายละ 50,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี
- วงเงินกู้สำหรับผู้ที่มีอาชีพอิสระ วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ในระยะเวลาสูงสุด 8 ปี
สำหรับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะดูแลกลุ่มเกษตรกรที่นำที่ดินไปขายฝาก หรือติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบและได้มีการแก้ไขแล้ว
- วงเงินสำหรับเกษตรกรไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้กำกับ (สินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้กำกับดูแล เพื่อให้เป็นทางเลือกของประชาชนที่จะกู้ยืมเงินในระบบในยามฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยผู้ประกอบการที่สนใจต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5 ล้านบาท โดยจะเน้นการใช้เงินเพื่อเป็นเงินกู้เท่านั้น ไม่ใช่การรับฝากเงิน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามที่กระทรวงการคลังกำหนด คือไม่เกิน 36% ต่อปี
ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES
อย่างไรก็ตาม "สินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์" ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากกระทรวงการคลังได้เริ่มให้มีและส่งเสริมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2560
ส่วนในด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีเพียงคำสั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 ทำการเอกซเรย์พื้นที่ และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด และเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น
"ปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดว่า ตัวเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น" นายเศรษฐากล่าวระหว่างการแถลงข่าว
"รัฐบาลประยุทธ์" กับ 5 แนวทางแก้หนี้นอกระบบ
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยและเอกสารที่เผยแพร่สาธารณะว่าด้วย การแก้ไขปัญหา "หนี้นอกระบบ" พบว่า มีรัฐบาลอย่างน้อย 3 รัฐบาลที่ชูประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบขึ้นเป็นนโยบายสำคัญ พร้อมทั้งระบุถึงผลของการดำเนินการ แม้ว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่หมดไปก็ตาม
ที่มาของภาพ, EPA
คำบรรยายภาพ,พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี
ย้อยกลับไปในเดือน ก.ย. 2563 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเช่นกัน โดยสรุปเป็น 5 ด้าน ดังนี้
- พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ และเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบได้
- ลูกหนี้สามารถร้องทุกข์และขอคำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่ “จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา ซึ่งจะช่วยประสานคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด เพื่อช่วยเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้
- การจัดหาแหล่งเงินในระบบให้ เมื่อไกล่เกลี่ยจนมูลหนี้เป็นธรรมแล้ว โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (PICO Finance)
- ฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำเกินไป คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด จะช่วยฟื้นฟูอาชีพ ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน ฝึกอบรมอาชีพ หรือพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
- สร้างภูมิคุ้มกัน ภาครัฐจะพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ พร้อมกับให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนและจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ เพื่อใช้กำหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงเป้าหมายต่อไป
ส่วนผลการดำเนินงานระหว่าง ส.ค. 2561 - ก.พ. 2563 ช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับทรัพย์สินคืนแล้ว 25,044 ราย คิดเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 21,304 ฉบับ จับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายได้จำนวน 6,002 ราย และการให้แหล่งเงินในระบบพิโกไฟแนนซ์ มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 269,880 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 7,018.34 ล้านบาท
"รัฐบาลอภิสิทธิ์" กับ “การลงทะเบียนหนี้นอกระบบ”
ในงานวิจัย "หนี้นอกระบบกับความเป็นธรรมทางสังคม" โดย ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ในการประชุมวิชาการในปี 2557 ได้ระบุถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีโครงการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) ระหว่างปี 2552-2554 และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความคล้ายคลึงกับการลงทะเบียนคนจนในรัฐบาลชุดก่อน หรือ รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร
โครงการดังกล่าวมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตั้งเป้าหมายไปที่กลุ่มที่มีหนี้นอกระบบเท่านั้น
ที่มาของภาพ, Getty Images
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการครั้งนั้น ประกอบด้วย การรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบที่มียอดคงค้างไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. แล้วประมวลผล คัดกรองและจัดประเภทลูกหนี้ แล้วส่งไปสู่การเจรจาประนอมหนี้เพื่อนำเข้าสู่ระบบ หากลูกหนี้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารภายใต้โครงการนี้ ก็สามารถกู้เงินได้
แต่สำหรับกรณีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ จะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือต่อไป
ในครั้งนั้น กระทรวงการคลังได้เผยแพร่ผลการดำเนินการว่า ยอดลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบผ่าน ธ.ก.ส. และ ธนาคารออมสิน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ธ.ค. 2552 - ม.ค. 2553) มีจำนวน 1,183,355 ราย คิดเป็นจำนวนมูลหนี้ 122,672.19 ล้านบาท และมีการเจรจาประนอมหนี้สำเร็จ 602,803 ราย ไม่สำเร็จ 182,862 และขอยุติเรื่อง 397,690 ราย
"รัฐบาลทักษิณ" กับ "การลงทะเบียนคนจน"
ในยุครัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก และจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ หรือ ศตจ. ขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. 2546 เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนโดยบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ในระยะแรก กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยดำเนินการจดทะเบียนประชาชนที่ประสบปัญหาสังคมและความยากจนเพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งเริ่มจดทะเบียน ระหว่างวันที่ 6 ธ.ค. 2546 - 31 มี.ค. 2547 โดยมีผู้จดทะเบียนรวมกว่า 8 ล้านคน พบว่าในจำนวนผู้ลงทะเบียนมีปัญหามากกว่า 12.3 ล้านเรื่อง
ที่มาของภาพ, Getty Images
ในขณะนั้นมีผู้ระบุว่าเป็นหนี้นอกระบบจำนวน 1,765,033 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 136,750 ล้านบาท
รัฐบาลนายทักษิณดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านแนวทางสำคัญเบื้องต้น ดังนี้
- ลงทะเบียนผู้ประสบปัญหา
- การเจรจาและยุติเรื่อง โดยสามารถเจรจาและขอยุติเรื่องได้จำนวน 1,525,900 ราย คิดเป็น 86.5% ของลูกหนี้นอกระบบทั้งหมด
- โอนหนี้นอกระบบมาเข้าสู่ในระบบ ลูกหนี้ที่ผ่านการเจรจาและประสงค์ขอกู้จำนวน 218,000 ราย ในจำนวนนั้นได้รับการอนุมัติ คิดเป็น 48.4% ของจำนวนผู้ผ่านกระบวนการเจรจาทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยดังกล่าว ดร.สุรางค์รัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่การยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. มีการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไม่แตกต่างจากการดำเนินการในรัฐบาลก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน จากคำแถลงของนายเศรษฐา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ก็มีเนื้อหาไม่แตกต่างจาก 5 แนวทางของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของ "รัฐบาลประยุทธ์" ที่เคยแถลงไว้เมื่อเดือน ก.ย. 2563
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar