onsdag 27 april 2022

ใบตองแห้ง: Me Too ยุคสามนิ้ว, เลือกผู้ว่าฝรั่งเศสมั้ย

2022-04-26 10:46

ใบตองแห้ง

Me Too ในแง่คดีความ หมายถึงการที่ผู้เสียหาย ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจอับอาย กลัวจะไม่ได้รับความยุติธรรม หรือเกรงจะยิ่งถูก “ข่มขืนซ้ำ” ในกระบวนการทางกฎหมาย หากพยายามดำเนินคดีกับผู้ล่วงละเมิดทางเพศที่มีสถานะเหนือกว่า เปลี่ยนใจกล้าออกมาต่อสู้ทวงความยุติธรรม หลังจากที่มีคนริเริ่มเปิดโปง ทำให้ตระหนักว่าไม่ใช่มีแค่ตัวเองคนเดียวเท่านั้น ยังมีคนอื่นร่วมชะตากรรม Me Too “ฉันก็ถูกกระทำด้วย”

ในทางสังคม Me Too กว้างกว่านั้นเพราะเป็นกระแส Empower ให้ผู้หญิงหรือผู้อ่อนแอกว่าลุกขึ้นมาต่อต้านการล่วงละเมิด ต่อสู้ให้เกิดการเคารพสิทธิ เคารพความเท่าเทียม ระหว่างหญิงชาย หรือระหว่างเพศสภาพที่หลากหลาย

ว่าที่จริง นี่ควรจะเป็นเรื่องที่สังคมไทยตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะที่ผ่านมา ดูเหมือนสังคมไทยเปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมสิทธิสตรี จนมีปลัดกระทรวง อธิบดี เป็นผู้หญิงมาแล้วหลายราย (แต่พอมีนายกฯ หญิงกลับถูกดูหมิ่นเสียๆ หายๆ)

พอเกิด Me Too จริงๆ กลับถูกความคิดชายเป็นใหญ่ตั้งแง่ ด้อยค่า แบบสมาคมสื่อจังหวัดหนึ่ง “ถูกข่มขืนหรือสมยอม ทำไมไม่แจ้งความตอนเกิดเหตุ” หรืออดีต ส.ส.อ้างว่า ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง ผู้หญิงบางคนไม่ใช่เหยื่อแต่เป็นนักล่า

ไม่ยอมเข้าใจเลยหรือว่า แม้แต่ในอเมริกา การที่ผู้หญิงออกมาร้องว่า “ถูกข่มขืน” ต้องอาศัยความกล้าหาญขนาดไหน ที่จะเปิดหน้าต่อสังคม เมื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ก็ต้องให้การในศาล ต้องถูกซักค้านโดยทนาย เปรียบเสมือนถูกข่มขืนซ้ำ โดยถ้าหลักฐานไม่มัดคอแบบมีกล้องมีบาดแผล ฯลฯ จำเลยก็หลุดได้ง่ายๆ

แม้ผู้ชายเป็นคนทั่วไป ผู้หญิงก็เสียเปรียบตั้งแต่ต้น ถ้าเป็นคนมีเงิน มีตำแหน่ง มีเกียรติ มีคอนเน็กชั่น มีเงินจ้างทนาย ยิ่งแล้วใหญ่ “ใครจะเชื่อคุณ”

เหมือนในอเมริกาที่ Bill Cosby พิธีกรคนดัง ที่มีภาพลักษณ์ “ดีงาม” ถูกผู้หญิง 60 กว่าคนร้องว่าล่วงละเมิด Harvey Weinstein ก่อนถูกแฉจนติดคุกคืออัจฉริยะนักสร้างหนังออสการ์

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่า ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ผิดแหงๆ เพราะทางกฎหมายยังเป็นแค่ถูกกล่าวหา เพียงแต่การที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ ในกลุ่มไลน์ แฉว่าอดีตหัวหน้ามาร์คเคยทักท้วง หัวหน้าใหม่กลับไม่ฟัง ก็เท่ากับปริญญ์จบแล้วทางการเมืองทางสังคม

ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศมี 2 ด้าน คือทางสังคม(+การเมือง) กับทางกฎหมาย ซึ่งเอาผิดได้ไม่ง่าย ขณะเดียวกันก็มี 2 มุม คืออาจเกิดการกล่าวหาด้วยความเข้าใจผิด ด้วยอคติ หรือแม้แต่หวังผลประโยชน์ จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยเช่นกัน

ทั้งสองด้านสองมุมเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง คือบางครั้งอาจเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้แต่ลงโทษด้วยมาตรการทางสังคม แต่บางราย มาตรการทางสังคมก็ฟังความข้างเดียวแล้วโหมกระหน่ำ

ปัญหาการเคารพสิทธิเท่าเทียมทางเพศ เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย หากย้อนมองว่าทำไม ม็อบคนรุ่นใหม่ชูสามนิ้วใน 2 ปีที่ผ่านมา จึงมี “แถวหน้า” เป็นเด็กผู้หญิง และ LGBTQ ร้อนแรงยิ่งกว่าผู้ชาย

นั่นเพราะทัศนะของคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับ “ศีลธรรมใหม่” ที่หากพูดเฉพาะหญิงชาย ก็ไม่ใช่แค่ “ผัวเดียวเมียเดียว” แต่ต้องเคารพให้เกียรติกันและกัน ไม่ใช่เห็นผู้หญิงเป็นแค่เครื่องบำเรอ (อันที่จริง ศีลธรรมเก่าก็ไม่ยอมรับเช่นกันแต่ดันรูดซิปปาก)

ศีลธรรมใหม่ของคนรุ่นใหม่ อยู่บนหลัก 2 ประการคือ เสรีภาพ และสิทธิเท่าเทียม หมายความว่าพวกเขาไม่ได้ยึดถือจารีตที่บีบผู้หญิง “รักนวลสงวนตัว” แต่ “รักนวลสงวนตัว” คือสิทธิเสรีภาพ

เหมือน “มิลลิ” ให้สัมภาษณ์วู้ดดี้ เซ็กซ์กับความรักมาคู่กัน แต่ต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจ ถ้าอีกฝ่ายไม่พร้อม ไม่อยาก ก็ต้องเคารพการตัดสินใจ การโดนข่มขืนจากคนที่ตัวเองรักไม่ใช่เรื่องที่ดี

ในขบวน “สามนิ้ว” ก็เคยมีกระแสวิพากษ์ “ข่มขืนในนักกิจกรรม” ซึ่งสลิ่มฟังคงเข้าใจว่าไอ้พวกม็อบทุบหัวผู้หญิงลากไปข่มขืนซอกตึก แต่กรณีที่เกิดคือ หนึ่ง ผู้ชายใช้อุบายขอไปพักด้วย แล้วตื๊อจนผู้หญิงยอม สอง เป็นแฟนเก่ากัน รบเร้าจนผู้หญิงรำคาญ สาม บอกให้ใส่ถุงไม่ใส่

ทั้งหมดนั้นขึ้นศาลไม่ผิด แต่คนรุ่นใหม่ถือว่า “ไม่เคารพสิทธิ = ข่มขืน” เป็นศีลธรรมใหม่ที่ไปไกลกว่ากฎหมายและมาตรฐานเดิมของสังคม (กรณีหลังที่จริงมีข้อโต้แย้งว่า รีบประณามแบบฟังความข้างเดียว ฝ่ายชายโดนรุมถล่มถึงพ่อแม่)

ทัศนะใหม่ขัดแย้งรุนแรงกับอำนาจจารีต ซึ่งกดทับสองชั้นทั้งเป็นเผด็จการ (ทหาร รัฐราชการเป็นใหญ่) และชายเป็นใหญ่ ในขณะที่ LGBTQ ก็เป็นอีกชั้นที่ยิ่งไม่ได้ความเท่าเทียม รัฐไม่เข้าใจว่าข้อเรียกร้อง “สมรสเท่าเทียม” ไม่ใช่แค่สิทธิประโยชน์ แต่หมายถึงเท่าเทียมทุกเพศในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กรอบจารีตนิยมไทยในเรื่องเพศ ยังล้าหลังเหมือนยุคกึ่งพุทธกาล ทั้งที่โลกไปถึงไหนแล้ว มันจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความขัดแย้งรุนแรง

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7010439

2022-04-26 10:32

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นำห่างในโพล แต่มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ชนะครั้งนี้จะได้คะแนนไม่ถึง 50% ของผู้มาใช้สิทธิ เพราะมีคู่แข่งหลากหลาย ทั้งขั้วตรงข้ามขั้วเดียวกัน “ตัดคะแนน” กันเอง เช่น ชัชชาติ-วิโรจน์-ศิธา อัศวิน-สุชัชวีร์-สกลธี โดยมีเพียงรสนาไม่เข้าพวก

หันไปดู ส.ก.ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่รู้ใครชิงใคร เพื่อไทย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย รักษ์กรุงเทพ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ แต่ละเขตอาจสูสีกัน 5-6 คน ชนะกันไม่กี่คะแนน

การมีผู้สมัครตัวเต็ง 6-7 ราย เป็นมิติใหม่ของการเมืองที่มีความเห็นต่างหลากหลาย ระดับชาติเห็นได้ว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” มีทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลแข่งกันเอง (แถมเกิดไทยสร้างไทย) ฝ่ายอนุรักษนิยม ก็ไม่ใช่มีแค่ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ อาจเกิดรวมไทยสร้างชาติ เหลือแต่พรรคภูมิใจไทย ชาติไทย เข้าได้ทุกขั้ว ขอแค่เป็นรัฐบาล

คนไทยเคยชินกับการเมืองอเมริกันหรืออังกฤษที่มีพรรค 2 ขั้ว แต่อันที่จริงตอนนี้อังกฤษมี 3 พรรคใหญ่ ในยุโรปมี 4-5 พรรคขึ้นไป มีตั้งแต่ฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา ขวากลาง กลางขวา ซ้ายกลาง กลางซ้าย ฯลฯ ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีความคิดต่างหลากหลาย

วิธีเลือกตั้งให้สะท้อนฉันทานุมัติประชาชน ก็แตกต่างกันตามระบอบ ว่าต้องการผลลัพธ์แบบไหน ถ้าเป็นระบอบรัฐสภา คือเลือก ส.ส.เข้ามาเลือกนายกฯ ก็มีทั้งแบบอังกฤษแบบเยอรมัน ถ้าเป็นระบอบประธานาธิบดี คือเลือกผู้นำเข้าไปใช้อำนาจบริหารโดยตรง แบบอเมริกันก็แข่งกัน 2 คน 2 พรรคใหญ่ แต่แบบฝรั่งเศสที่กำลังเลือกกันอยู่ ใช้ระบบเลือกตั้ง 2 รอบ เพราะมี ผู้สมัครหลายคน รอบแรกแข่งทุกคน ใครได้คะแนนเกินครึ่งชนะไปเลย ถ้าคะแนนกระจายไม่มีใครได้เกินครึ่ง ก็เอาที่หนึ่งที่สองมาแข่งกันใหม่ เพื่อให้ได้ผู้ชนะเด็ดขาด ได้ฉันทานุมัติจากประชาชน

ซึ่งผลรอบแรกออกมาแล้ว จากผู้สมัคร 12 คน ประธานาธิบดีมาครงได้ 27.8% ต้องแข่งใหม่กับ มารีน เลอเปน ตัวแทนชาตินิยมขวาจัด ที่ได้ 23.1% อันดับสาม ฌอง-ลุก เมลองชง ผู้นำฝ่ายซ้ายใหม่ ได้ 22% ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย

ครั้งที่แล้วก็เป็นแบบนี้ มาครงชนะเลอเปนในรอบสอง เพราะประชาชนอีกเกือบครึ่ง ที่เลือกคนอื่นในรอบแรก ส่วนใหญ่เทให้มาครงเพราะกลัวความสุดโต่งของเลอเปน “ไม่เลือกเราเขามาแน่”

ลองสมมติผลเลือกตั้ง กทม. 2 แบบ แบบที่หนึ่ง ชัชชาติได้ 33% อัศวินได้ 31% แบบที่สอง ล็อกถล่ม ชัชชาติได้ 33% อัศวินได้ 34% (สมมติคนจะเลือกสกลธี-สุชัชวีร์เทคะแนนให้) ไม่ว่าอยากได้ใคร อยู่ขั้วไหน คุณพอใจไหม อยากให้มีเลือกรอบ สองไหม

อ๊ะอ๊ะ พูดอย่างนี้จะเอาระบอบประธานาธิบดีมาใช้หรือ ในความเป็นจริง การเลือกตั้งท้องถิ่นของไทย ก็ใช้วิธีเลือก ผู้บริหารโดยตรง (นายกเทศมนตรี นายก อบจ. นายก อบต.) แยกจากการเลือกสมาชิกสภา คล้ายระบอบประธานาธิบดีอยู่แล้ว

ข้อดีของการเลือกตั้งระบบนี้คือ เมื่อต้องการเลือกตัวบุคคลเข้าไปมีอำนาจบริหารแบบเด็ดขาด ก็ควรจะได้ฉันทานุมัติแบบรู้ดำรู้แดงไปเลย ไม่ใช่ได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง หรือกลายเป็นตาอินกะตานาตัดคะแนนกัน ตาอยู่เอาพุงปลาไปกิน

หลายประเทศใช้ระบบนี้ เพราะแข่งกันหลายพรรค เช่น ประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครน รอบแรกได้ที่หนึ่ง 30% เพราะมีผู้สมัคร 30 กว่าคน รอบสองแข่งกับประธานาธิบดีคนก่อน ชนะ 70%

ประธานาธิบดีกาเบรียล บอริช แห่งชิลี ที่มาจากผู้นำม็อบนักศึกษา รอบแรกได้ที่สอง 25.82% แต่รอบสองชนะ 55.87% เพราะคู่แข่งเป็นฝ่ายขวาแบบทรัมป์ ทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวากลาง ช่วยกันเทคะแนนให้

ระบบเลือกตั้งอย่างนี้จึงน่าจะเหมาะกับการเลือกผู้ว่าฯ ผู้บริหารท้องถิ่น ที่ใช้วิธีเลือกตรงอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ไม่ได้บอกว่าระบบนี้เหมาะกับการเลือกนายกฯ เพราะระบบให้อำนาจเด็ดขาดกับผู้ชนะเลือกตั้ง อาจไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนประชาชนหลากหลาย เช่น มาครงชนะใจคน 27.8% ในรอบแรก สมมติชนะรอบสองเพราะเมลองชงที่ได้ 22% สนับสนุน แล้วมาครงได้อำนาจไปโดยเมลองชงไม่มีส่วนในอำนาจนั้นเลย ถ้าเทียบระบบเยอรมันซึ่งเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค นำโดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคกรีน ก็สะท้อนเสียงประชาชนได้ตรงกว่า

ระบบฝรั่งเศสใช้ที่เปรูก็มีปัญหาเหมือนกัน ประธานาธิบดีมาจากพรรคฝ่ายซ้าย แต่บอกว่าชนะรอบสองด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพราะพรรค โดนไล่โดนประท้วงจนปั่นป่วน

ระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับการเมืองไทยปัจจุบัน ยังยืนยันว่าควรเป็นระบบเยอรมัน บัตรสองใบ หรือ MMP ซึ่งให้ความเป็นธรรมทุกคะแนนเสียง กำหนดจำนวน ส.ส.ตามคะแนนพรรค แต่ให้เลือก ส.ส.เขตตามใจรักจากบัตรอีกใบ เหมาะกับสังคมไทยที่มีความซับซ้อนหลากหลาย ไม่ควรให้พรรคที่ชนะ ส.ส.เขตแล้วยังได้ปาร์ตี้ลิสต์ทบซ้ำ แบบรัฐธรรมนูญ 2540

สังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะ จนไม่เหมาะกับระบบพรรคใหญ่ได้เปรียบ หรือระบบการเมือง 2 ขั้ว 2 พรรค แบบประชาธิปไตยพรรคเดียว อนุรักษนิยมพรรคเดียว รัฐสภาต้องสะท้อนความแตกต่างหลากหลายตามสัดส่วนคะแนนนิยมที่แท้จริง เพื่อให้ถ่วงดุลกัน

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/analysis-today-politics/news_7000391

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar