torsdag 25 mars 2021

มายด์ ภัสราวลี ขึ้นเวทีปราศรัยราชประสงค์ กราบบังคมทูลขอ 3 เรื่อง

บีบีซีไทย - BBC Thai

ชุมนุม 24 มี.ค.: มายด์ ภัสราวลี ขึ้นเวทีปราศรัยราชประสงค์ กราบบังคมทูลขอ 3 เรื่อง

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ "มายด์"

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ "มายด์" กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ปรับปรุงแก้ไข 3 ข้อ

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ "มายด์" โผล่เวทีราชประสงค์ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ปราศรัยถึงประชาชน "เป็นการพูดครั้งสุดท้าย" ไม่มั่นใจว่าศาลจะให้ประกันตัวในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.)

ในเนื้อหาของการปราศรัย น.ส.ภัสราวลี ได้กราบบังคมทูลถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขอพระราชทาน 3 เรื่อง คือ การบริหารจัดการกองทัพ บทบาททางการเมือง และ ทรัพย์สินของประชาชน

การชุมนุมมีขึ้นเพื่อสานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของแกนนำกลุ่ม "ราษฎร" หลายคน ที่ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน และการพิจารณาคดีของศาลในหลายคดีจากการชุมนุม ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 18 กองร้อย ในขณะที่ตำรวจระบุการชุมนุมในเขตกรุงเทพมหานครยังผิดกฎหมาย เตือนผู้ร่วมชุมนุมอาจถูกดำเนินคดี

อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ขึ้นปราศรัย

ที่มาของภาพ, ธนพนธ์ องอาจตระกูล/Thai News Pix

เมื่อเวลาประมาณ 20.25 น. น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า การขึ้นเวทีปราศรัยถือเป็นการส่งสารถึงประชาชนโดยตรง "เป็นการพูดครั้งสุดท้าย" เพราะเธอไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และศาลอาจจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวเธอ หากอัยการนำตัวเธอส่งฟ้องศาลในวันที่ 25 มี.ค.

"ในฐานะเราประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ การพูดถึงสถาบันกษัตริย์นั้น เราควรจะต้องพูดถึงได้ทั้งในแง่ของการสรรเสริญและในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยตามระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ"

น.ส.ภัสราวลี กล่าวฝากถึงฝ่ายอนุรักษนิยมว่า ความรักความชื่นชมในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สั่งสมมาจากรัชกาลก่อน อาจจะหมดลง หากมีการขยายพระราชอำนาจออกไปจนเกินขอบเขต และออกห่างจากระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ เธอได้อ่านคำกราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใน 3 เรื่อง คือ การบริหารจัดการกองทัพ บทบาททางการเมือง และ ทรัพย์สินของประชาชน

"...หนึ่งประเทศมีได้แค่กองทัพเดียว" น.ส.ภัสราวลี กล่าวถึงเรื่องแรก

ผู้ประท้วงชูป้ายยกเลิก 112

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ข้อที่สองที่เธอกล่าวถึง คือ ความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันชั้นสูง และข้อสาม คือ ประเด็นโต้แย้งเรื่องกฏหมายโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนและผู้มีอำนาจ

การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นห่างจากการชุมนุมเมื่อ 20 ก.พ. ที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา

นอกจาก น.ส.ภัสราวลี จากกลุ่ม ROOT ยังมีผู้ปราศรัยหลักอีก 2 คนคือ นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ "ครูใหญ่"จากพรรคก้าวล่วง(กลุ่มราษฎรโขง ชี มูล) และ น.ส.เบนจา อะปัญ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทั้ง 3 คนคือส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เนื่องจากการไปชุมนุมและอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีจำนวน 13 คน

อัยการนัดหมายนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ฟังคำสั่งว่าจะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ในวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งหากอัยการไม่เลื่อนกำหนด หรือมีคำสั่งฟ้อง ทั้งหมดก็อาจจะไม่ได้รับการประกันตัวและถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเช่นเดียวกับจำเลยคดีมาตรา 112 ที่เป็นแกนนำและกลุ่มราษฎรอีก 7 รายที่อยู่ในเรือนจำขณะนี้

images

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

จดหมายจากเพนกวิน

ก่อนหน้านี้เมื่อ 18.00 น. นายอรรถพล และ น.ส.เบนจา ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที โดยนายอรรถพลได้กล่าวปราศรัยโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วน น.ส.เบนจา ได้อ่านจดหมายที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" เขียนถึงประชาชนว่า

"ถึง พ่อแม่พี่น้องผู้รักประชาธิปไตย

ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ด้วยหนึ่งสมองและสองมือของพี่น้องราษฎรทุกคน เราได้ทำลายหลังคาที่ปิดบังไม่ให้เราได้เห็นฟากฟ้าจนพังทลายและเมื่อเพดานหลังคาเปิดกว้างจนเราได้เห็นฟ้า เราจึงรู้ว่าแท้จริงแล้วฟ้าไม่ได้สูงอย่างที่เราคิด หากต่ำเสียจนคนบนดินต้องหมอบราบกราบก้มตลอดเวลาเพราะฟ้าไม่สูงพอจะมีที่ให้คนยืนหลังตรงได้

เมื่อแสงสว่างได้ส่องมาแล้ว ความมืดมิดก็ไม่อาจจะปิดตาคนได้อีก เมื่อความจริงถูกเปิดเผย เผด็จการศักดินาก็ไม่อาจจะยืนอยู่บนหัวคนได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเผด็จการศักดินารู้ตัวเองว่าเหลือวันเวลาไม่มากนัก จึงใช้ทุกวิถีทางเพื่อยืดอายุขัยของตัวเองไปให้ได้ยาวนานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรา 112 พร่ำเพรื่อ การใช้ศาลแบบไม่อายฟ้าอายดิน และการใช้ความรุนแรงกับประชาชนแบบไม่สนใจโลก ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นพิษร้ายที่กร่อนทำลายเผด็จการศักดินาให้สูญสิ้นลงไปภายหลัง เป็นเครื่องรับประกันว่าความล่มสลายของเผด็จการศักดินานั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และการต่อสู้ของประชาชนได้มาถึงจุดที่ไม่มีคำว่าแพ้เหลือแต่ชัยชนะที่เห็นอยู่เบื้องหน้าและจะต้องเดินไปให้ถึงเพียงเท่านั้น

ขอให้ทุกคนตั้งตามองตรงไปยังเป้าหมาย ไม่หลงเลือนอุดมการณ์ที่เรามีร่วมกัน จับมือและกอดคอกันให้มั่น ฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกันจนถึงวันที่ฝันของเรา ฝันที่วีรชนประชาธิปไตยหลายต่อหลายรุ่นได้ฝันมาอย่างต่อเนื่องจะเป็นจริง ผมยังคงต่อสู้อยู่ข้างในคู่ขนานไปกับพี่น้องที่ต่อสู้ข้างนอก เมื่อถึงวันนั้น วันที่ประเทศไทยไม่มีปรสิตสิงสูบเลือดประชาชน วันที่ประเทศไทยจะไม่มีการรัฐประหาร วันที่ประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายปิดปากประชาชน เราจะร่วมฉลองชัยชนะไปด้วยกัน หรือหากร่างกายผมไม่อาจอยู่ร่วมฉลองจิตวิญญาณของผมจะยังคงอยู่ยินดีเคียงข้างพี่น้องทุกคนตลอดกาล

ด้วยรักและภักดีต่อสถาบันประชาชน

ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ

พริษฐ์ ชิวารักษ์"

เวลาประมาณ 16:50 น. กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยลงบนพื้นผิวจราจรเตรียมตั้งเวทีปราศรัย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เวลาประมาณ 16:50 น. กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยลงบนพื้นผิวจราจรเตรียมตั้งเวทีปราศรัย

สานต่ออุดมการณ์เพื่อนในเรือนจำ

สาระสำคัญของการปราศรัยช่วงแรก ซึ่งเริ่มต้นประมาณ 17.30 น. มีนายธัชพงษ์ แกดำ จากกลุ่มเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยเป็นรายแรก เป็การสานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มแกนนำและผู้ชุมนุมที่ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ เช่น อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ภาณุพงศ์ จาดนอก จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และปิยรัฐ จงเทพ เป็นต้น พร้อมกับการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันและยกเลิก ม. 112

ต่อมา พ.ต.อ. จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับสถานีตำรวจลุมพินี มาอ่านประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อห้ามรวมกลุ่มลักษณะมั่วสุม อันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ตามพ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อ ต่อกลุ่มผู้ชุมนุม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ต่อมา พ.ต.อ. จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับสถานีตำรวจลุมพินี มาอ่านประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อห้ามรวมกลุ่มลักษณะมั่วสุม อันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ตามพ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อ ต่อกลุ่มผู้ชุมนุม

การชุมนุมในวันนี้ ผู้จัดได้เน้นที่เนื้อหาการปราศรัยและจัดระเบียบสถานที่ชุมนุม มีการเตรียมกลุ่มผู้ช่วยเหลือที่ติดแถบผ้าสีเทาสะท้อนแสงเป็นสัญลักษณ์ที่แขนเสื้อด้านซ้าย โดยแกนนำบนเวทีได้สื่อสารกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจนำไปสู่การสลายการชุมนุมอย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มี.ค.

"สิทธิการประกันตัว คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน"

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมาย หรือไอลอว์ (iLaw) ผู้ปราศรัยรายที่สองที่ขึ้นบนเวที กล่าวถึงผลกระทบต่อสังคมจากการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ โดยแบ่งเป็นผลกระทบ 3 ด้าน คือ 1 ทำให้เกิดความกลัวในสังคมไทย 2. กระทบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การบ้านเมือง และ 3. มีโทษรุนแรงจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

นายยิ่งชีพกล่าวย้ำว่า "สิทธิการประกันตัว คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน"

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นายยิ่งชีพกล่าวย้ำว่า "สิทธิการประกันตัว คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน"

นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่าในกรณี ผู้ต้องขัง 13 คนที่ยังคงถูกควบคุมตัวในเรือนจำทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีใครที่ศาลตัดสินว่ากระทำความผิดคดีเกี่ยวกับ ม. 112 และอีกหลายข้อหา แต่กลับถูกขังในเรือนจำและถูกปฏิเสธการขอประกันตัวหลายครั้ง พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกม. 112

นายยิ่งชีพกล่าวย้ำว่า "สิทธิการประกันตัว คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน"

images

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

นายยิ่งชีพยังได้รายงานสถานการณ์ของแกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรที่ถูกดำเนินคดีและคุมขังในที่ต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนอย่างน้อย 21 คน เช่น พริษฐ์ หรือ "เพนกวิน" ที่อดอาหารและดื่มแต่น้ำเปล่าเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวมาเป็นเวลา 10 วันแล้ว โดยเพนกวินนับเป็นบุคคลที่ถูกดำเนินคดี ม.112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 18 คดี ขณะที่นายอานนท์โดนข้อหา ม. 112 ไม่ต่ำกว่า 13 คดี

นอกจากนี้ยังมีนายพรหมศร วีระธรรมจารี แกนนำ "กลุ่มราษฎรมูเตลู" ที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเช่นกัน ซึงขณะนี้เขาได้ประกาศอดอาหารขณะที่ถูกคุมขังในเรือนจำธัญบุรี จ.ปทุมธานี

เวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันยืนชูสามนิ้วในระหว่างที่ยืนตรงเคารพธงชาติ แล้วตะโกนคำว่า "ยกเลิก 112" และปล่อยเพื่อนเรา ๆ"

images

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ตร. เตือนชุมนุมในกทม.ยังผิดกม. เตรียม คฝ. 18 กองร้อยรับมือ

เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และโฆษก บช.น. แถลงข่าวเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเย็นนี้ว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ประกาศห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 ซึ่งห้ามชุมนุมในทุก ๆ พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ห้ามจัดกิจกรรมที่มีลักษณะมั่วสุม อันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หากพบว่ามีการชุมนุมก็จะมีความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาตรา 9 และยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่ออีกด้วย

ปิดสกายวอล์กข้ามแยกราชประสงค์

ที่มาของภาพ, Kultida Samabuddhi/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่ปิดสกายวอล์กข้ามแยกราชประสงค์

ส่วนผู้ที่โพสต์ข้อความเชิญชวน รวมทั้งส่งต่อกระจายข้อความต่อ หรือชักชวนโดยประการหนึ่งประการใด ตลอดจนผู้เข้าร่วมการชุมนุม ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดทั้งหมดและอาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย

ตำรวจกระชับพื้นที่บริเวณสนามหลวง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจกระชับพื้นที่บริเวณสนามหลวง และทยอยจับกุมผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมกลับบ้าน เมื่อวันที่ 20 มี.ค.

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต. ปิยะกล่าวว่า ตามหน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อยและการรักษาทรัพย์สินสาธารณะ จะยังคงยึดถือหลักปฏิบัติสากล และเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 18 กองร้อยเพื่อรับมือสถานการณ์

ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ ฟ้องศาลสอบสวนตร. เหตุสลายการชุมนุม

การชุมนุมที่แยกราชประสงค์วันนี้มีขึ้น 3 วันหลังเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM คืนวันที่ 20 มี.ค. บริเวณสนามหลวง-ถนนราชดำเนิน ซึ่งตำรวจควบคุมฝูงชนภายใต้สังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตาและกระสุนยางในปฏิบัติการ เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย ทั้งตำรวจและประชาชน ซึ่งในวันนี้ นายศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท พร้อมกับทนายความจากกลุ่มภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเข้ายื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะ ไม่ปิดกั้นเส้นทางสัญจรต่าง ๆ ห้ามเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน

ตร.ยิงปืน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจใช้กระสุนอย่างอย่างเต็มรูปแบบในการจัดการกับผู้ชุมนุมในวันที่ 20 มี.ค.

คำฟ้องยังบรรยายด้วยว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ปิดกั้นเส้นทางไปรับการรักษาที่วชิรพยาบาลซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้พื้นที่เกิดเหตุที่สุด ทำให้นายศรายุทธ และประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการช่วยปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตคนได้อย่างรวดเร็วที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น

เดินสายทวงสัญญารัฐสวัสดิการ

ในช่วงเข้าและบ่ายโมงที่ผ่านมา ยังความเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคประชาชนที่ใช้ชื่อว่า "เครือข่าย We Fair" นำโดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แกนนำเครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมเดินสายเพื่อทวงสัญญารัฐสวัสดิการในโอกาสครบรอบ 2 ปี การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 และแสดงจุดยืนและติดตามทวงถามนโยบายดังกล่าว หลังจากเครือข่ายเคยยื่นชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ต่อพรรคการเมืองทุกพรรค

สำหรับกิจกรรมวันนี้ เครือข่าย We Fair ได้เดินทางไปยังพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้ได้เดินทางเข้าพบตัวแทนของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

ที่มาของภาพ, STR/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

สำหรับกิจกรรมวันนี้ เครือข่าย We Fair ได้เดินทางไปยังพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้ได้เดินทางเข้าพบตัวแทนของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

โดยประเด็นที่ทวงถาม ประกอบด้วย เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า การเรียนฟรีถึงมหาวิทยาลัย การยกระดับกองทุนหลักประกันสุขภาพ การเข้าถึงที่อยู่อาศัยและที่ดิน ประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า ค่าจ้างปรับตามอายุการทำงาน ลาคลอด 180 วัน บำนาญประชาขน พัฒนาเบี้ยความพิการ และการปฏิรูประบบภาษี

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar