วันวิสาขบูชา: บัตรอวยพรของในหลวง ร. 10 กับความสนพระทัยในพระพุทธศาสนา

หน่วยราชการในพระองค์

ที่มาของภาพ, หน่วยราชการในพระองค์

หนึ่งวันก่อนวันวิสาขบูชา หน่วยราชการในพระองค์เผยแพร่ ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรม หัวข้อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน "บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสำคัญสากลของโลก พ.ศ. 2564 พระราชทาน"

เป็นวันเดียวกับที่ข่าวพระราชสำนักทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่องเผยแพร่ภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี นำนายเกษม จันทร์แก้ว องคมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พร้อมกับภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย และทรงเจิมเทียนรุ่งที่ทรงพระราชอุทิศถวายพระอารามหลวง 6 พระอาราม เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

ข่าวที่ออกมา สร้างความปลื้มปิติให้พสกนิกรชาวไทยจำนวนมาก ภายหลังข่าวลือที่ไม่เป็นมงคลแพร่กระจายไปทั่วในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมาจากนักวิชาการ-นักกิจกรรมที่ลี้ภัยในต่างแดน แล้วลือกันในประเทศ

Palace handout

ที่มาของภาพ, Palace handout

ระหว่าง 2 สัปดาห์แห่งการลือ เราได้เห็นการออกมาของภาครัฐ ด้วยคำสั่งให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อผู้เผยแพร่ข่าวลือ พร้อมกับ การออกมาปฏิเสธข่าวลือ โดย พล.อ. หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล นายทหารราชองครักษ์พิเศษ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของเขา เมื่อ 21 พ.ค. โดยอ้างถึงคำกล่าวของพระวชิรญาณโกศล (คม อภิวโร) แห่งวัดป่าธรรมคีรี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่พูดถึงความสนพระทัยในพระพุทธศาสนาและพระพลานามัยของในหลวง รัชกาลที่ 10

Palace handout

ที่มาของภาพ, Palace handout

Presentational grey line

โพสต์ของ มจ. จุลเจิมว่าอย่างไร

ม.จ. จุลเจิม ยกข้อความข้างล่าง โดยไม่ได้บอกว่าเขียนเอง หรือ นำมาจากที่ใด แต่บีบีซีไทยพบว่า ข้อความเดียวกัน ถูกอ้างโดยผู้ใช่บัญชีเฟซบุ๊กชื่อว่า Rungchai Viriyapanditkul เมื่อ 21 พ.ค. เช่นกัน

"วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม 2564

พระวชิรญาณโกศล (คม อภิวโร) เดินทางกลับจากพระบรมมหาราชวัง เมตตาเล่าให้คณะศิษย์ฟังว่า

"เมื่อวันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2564 ตรงกับวันพระ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จำนวน 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ประจำวันพระ ในหลวงทรงนำข้าราชบริพารสวดมนต์ ทรงถวายสังฆทาน หลังจากทรงส่งพระสงฆ์กลับวัดเรียบร้อยแล้ว ทรงอาราธนาอาตมาภาพเจริญกัมมัฏฐานเป็นการส่วนพระองค์

อาตมาภาพถวายธรรมบรรยายเรื่อง "การฝึกจิตให้เกิดจิตตานุภาพและวิธีพิจารณารูปนามลงสู่ไตรลักษณ์" ทรงสนพระราชหฤทัยในการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง ทรงเจริญกัมมัฏฐานเป็นเวลานาน ทั้งยังทรงมีพระราชปุจฉาถึงเรื่องประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาต่างๆ อาทิ ความยากลำบากในการประดิษฐานพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในประเทศไทย พระวินัยปิฎก ข้อสิกขาบทอันเนื่องด้วยการตัดเย็บย้อมผ้าจีวร สบง สังฆาฏิ บาตร ขาบาตร สลกบาตร ผ้าคลุมบาตร การฉันภัตตาหาร ฯลฯ

ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้อาตมาภาพเข้าเฝ้าฯ ที่วังอัมพร เพื่อถวายงานสนองพระเดชพระคุณในวาระต่างๆ อาตมาภาพเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ทรงอาราธนาให้พำนักในพระบรมมหาราชวัง เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติบูชาถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายงานส่วนพระองค์ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 วัน ต่อมาทรงพระกรุณาให้ถวายงานทุกวันพระ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาตมาภาพถวายวิสัชนาเรื่องพระกัมมัฏฐานทั้ง 40 กอง ที่พระบรมศาสดาทรงแสดงไว้ เมื่อพระจิตมีกำลังสมาธิดีแล้วให้ทรงออกก้าวเดินทางด้านปัญญา ถวายกุศโลบายวิธีภาวนาพิจารณาขันธ์ห้า สติปัฏฐานสี่ ความรู้เท่าทันกาย ความรู้เท่าทันผัสสะ ความรู้เท่าทันสมุทัย ความรู้เท่าทันจิต

ในเรื่องพื้นฐานทั้งปวงจนถึงเรื่องที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิในอริยมรรค ปฏิจจสมุปบาท และอวิชชา ก็ล้วนแต่ได้เคยถวายวิสัชนามาทั้งสิ้น

ทรงมีพระวิริยะในการเจริญพระกัมมัฏฐานทุกวัน รับสั่งว่า "ทั้งสมถะและวิปัสสนานี้เป็นของดีมาก ช่วยผมได้มาก ผมนั่งสมาธิทุกวัน ท่านแสดงธรรมผมก็น้อมใจพิจารณาธรรม เหมือนท่านส่องแสงสว่างให้ผมก็เดินตามไป ผมไม่เผลอเลย จะรู้อยู่ในวงกายวงจิตตลอด อย่างนั่งอยู่ตรงนี้ สติก็ชัดเจนตรงนี้ จะไม่ส่งออกไปนอกจากนี้ จิตพิจารณาธรรมตามที่ท่านสอน ผมนั่งทุกวันจนรู้สึกว่าถ้าวันไหนไม่ได้นั่งเหมือนว่ามันขาดอะไรไป"

ทรงเคยอาราธนาอาตมาภาพให้อยู่นำข้าราชบริพาธสวดมนต์วันพระกับพระองค์ท่าน ทรงสวดมนต์จำนวน 38 บทเต็ม ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง 55 นาที หลังจากสวดมนต์เสร็จแล้ว ทรงอาราธนาให้อาตมาภาพนำปฏิบัติกัมมัฏฐานต่ออีกด้วย

ทรงนั่งภาวนาคราวละ 1 ชั่วโมง บางครั้งถึง 2 ชั่วโมง เป็นเรื่องปกติ

หากทรงมีพระราชกรณียกิจ มีหมายไปข้างนอก จะได้ยินรับสั่งในวันรุ่งขึ้นว่า "เมื่อวานผมมีกิจครับเลยไม่ได้นั่ง วันนี้ขอนั่งนานหน่อยนะครับ ต้องชดเชยของเมื่อวานด้วย"

อาตมาภาพถวายพระพรว่า "วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือต้องทำให้ธรรมะเบิกบานในใจ เมื่อก่อนเป็นสงครามกู้ชาติกู้แผ่นดินแบบเสียเลือดเสียเนื้อ ตอนนี้เป็นสงครามระหว่างกิเลสกับธรรม กู้ธรรมะกลับคืนมาได้ทุกอย่างก็ร่มเย็นเป็นสุข ทางรอดมีทางเดียวคือการเดินไปตามทางธรรม"

หลังจากทรงเจริญกัมมัฏฐานแล้ว อาตมาภาพทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเล่าเรื่องในหลวงทรงปฏิบัติธรรมทุกวัน ให้คณะศิษย์และพี่น้องทั้งหลายได้ทราบ ในหลวงรับสั่งว่า "ก็สุดแต่ท่านอาจารย์ครับ แต่สำหรับผมไม่เป็นไร ผมไม่อยากเป็นพระเอก ผมชอบทำงานอยู่เบื้องหลัง คอยช่วยเขาอย่างเงียบๆ ดีกว่า"

อาตมาภาพจึงทูลว่า "ทรงทำความดีเพื่อสละอัตตาตัวตน เป็นยอดของกุศล เป็นความดีที่สะอาด เพราะไม่ติดดี สิ่งที่ทรงบำเพ็ญมาตลอดจะต้องเป็นผลสำเร็จ ขอให้ทรงอดทนและทรงวิริยะอย่างต่อเนื่อง ผลของความดีจะประกาศคุณค่าในตัวของมันเองแน่นอน"

ทรงศึกษาภาษาบาลีเพื่อเป็นกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก ทรงพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีพร้อมทั้งคำแปล พระราชทานเป็นคติธรรมนำปฏิบัติแก่ข้าราชบริพาร และคติธรรมกำกับเจลแอลกอฮอล์พระราชทาน ถวายการสอนโดย ดร.พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.9) วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร

ทรงศึกษาอักษรอริยกะ (ภาษาโบราณที่เคยรุ่งเรืองในสมัย รัชกาลที่ 4) พระสุตตันตปิฎก และจิตตนคร ถวายการสอนโดย ดร.พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) วัดบวรนิเวศวิหาร

อีกทั้งทรงศึกษาธรรมะจากพระอาจารย์รูปสำคัญของประเทศ สลับกันเข้ามาถวายงานทุกวัน

นอกจากเรื่องทรงมีพระราชศรัทธามั่นในพระรัตนตรัยดังกล่าวมาแล้ว อาตมาภาพยังได้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยในศาสตร์ต่างๆ ทรงเชิญท่านผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งดิน น้ำ เขื่อน การเกษตร การชลประทาน มาถวายงานและให้ความรู้ข้าราชบริพาร เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานช่วยเหลือราษฎรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ทรงติดตามข่าวสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือให้ทันท่วงที โดยเฉพาะวิกฤต COVID-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญชะตากรรมร่วมกันในขณะนี้

อาตมาภาพได้พบพระราชาผู้ดูแลทุกอย่าง มีปัญหาเข้ามาให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา คอยทำงานอยู่เบื้องหลังด้วยความรักและห่วงใยพสกนิกรของพระองค์

ทรงมีพระราชดำริเชิงปรัชญา เรื่องเส้นทางการฟื้นฟูและปฏิรูป "บัวใต้โคลนก้นบึง" ให้สามารถผลิดอกออกใบชูช่อใหม่ ตื่นรู้ เบิกบาน ทำให้บรรยากาศของวังอัมพรในปัจจุบัน เป็นทั้งบ้าน มหาวิทยาลัย ศาลากลาง โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ แปลงทดลอง สนามกีฬา ค่ายฝึกอบรม และวัด

ในบางทัศนะเรารักใครชอบใครไม่จำเป็นต้องประกาศให้โลกรู้ แต่สำหรับอาตมามีความเห็นว่า เราต้องช่วยกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อปกป้องคนที่เรารัก ยิ่งหากความรักนั้นเป็นความรักชาติรักแผ่นดินด้วยแล้ว เราคงไม่ยอมปล่อยให้ใครมาทำลายเป็นแน่"

Presentational grey line

บทสัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ต่อมาเมื่อ 22 พ.ค. พระวชิรญาณโกศล ให้สัมภาษณ์ในรายการ "บันทึกสถานการณ์" ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และออกอากาศทางเฟซบุ๊กไลฟ์ มีเนื้อหาที่คล้ายกับโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ได้ย้ำถึงพระพลานามัยของในหลวงรัชกาลที่ 10 ไว้ว่า

"คิดง่าย ๆ ว่า หากว่า พระพลานามัยไม่แข็งแรง การที่ทรงสวดมนต์ร่วม 2 ชั่วโมงแล้วต่อด้วยนั่งสมาธิเป็นชั่วโมง สนทนาธรรมเกี่ยวกับธรรมะต่าง ๆ ที่ทรงมีประราชปุจฉาอีกเป็นชั่วโมง ถ้าหากคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง ไม่สามารถทำได้ขนาดนั้น และทรงประทับในพระอิริยาบถเดียวนาน ๆ ... แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะ กำลังพระทัยที่เด็ดเดี่ยว ตั้งมั่นมาก"

เพจของ มจ. จุลเจิม ยุคล ระบุว่า ภาพพระวชิร​ญาณ​โกศล​ พร้อมพัดยศนี้​ ถ่ายที่พระบรมมหาราชวัง​ คืนวันที่​ 19​ พ.ค.2564

ที่มาของภาพ, Facebook/จุลเจิม ยุคล

คำบรรยายภาพ,

เพจของ มจ. จุลเจิม ยุคล ระบุว่า ภาพพระวชิร​ญาณ​โกศล​ พร้อมพัดยศนี้​ ถ่ายที่พระบรมมหาราชวัง​ คืนวันที่​ 19​ พ.ค.2564

บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา

นอกจากความสนพระทัยในพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ยังทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2463 ที่พระราชทานบัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชา ทำนองเดียวกับการอวยพรในวันสมโภชพระคริสตสมภพ ให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการส่งบัตรอวยพรแก่กัน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ผ่านไป 1 ศตวรรษ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน "บัตรอวยพรวิสาขบุรณมีบูชา วันสำคัญสากลของโลก พ.ศ. 2564 พระราชทาน" ซึ่งเป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่ทรงอธิบายถึง พระราชมรดกทางปัญญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ก็คือ แนวพระราชดำริเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง

เอกสารข่าวของหน่วยราชการในพระองค์ ยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เมื่อแปลตามหลักนิรุกติศาสตร์จะได้ความว่า "ความพอเพียง เป็นกิจอันประเสริฐ" ซึ่งเป็นหลักใจที่เป็นกลาง ๆ ในการดำเนินชีวิตที่ทุกคนปฏิบัติได้ ปฏิบัติถึง และปฏิบัติให้เป็นผลได้ โดยคุณสมบัติของหลักการเศรษฐกิจพอเพียงที่ประกอบด้วยความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และความมีเหตุผล ก็คือหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า ไตรสิกขานั่นเอง

บัตรอวยพรวันวิสาขบูชา ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่อ พ.ศ. 2463

ที่มาของภาพ, มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

คำบรรยายภาพ,

บัตรอวยพรวันวิสาขบูชา ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เมื่อ พ.ศ. 2463

ไตรสิกขา

เอกสารข่าวของหน่วยราชการในพระองค์ระบุด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่า หลักไตรสิกขา ได้แก่

  • "ศีล" ที่แปลว่า ปกติ เป็นการดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนและสังคม มีชีวิตที่เป็นปกติ เรียกว่า รู้จักดำเนินชีวิตอย่าง "พอประมาณ" คือมีกายวาจาที่สมดุล ไม่ใช้กายวาจาของตนสร้างความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและสังคม
  • การเจริญสติที่ต่อเนื่องจนเป็น "สมาธิ" คือ ความตั้งใจมั่น จะก่อให้เกิดผล "มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี"
  • การตื่นรู้ ที่นำไปสู่การพัฒนา ก่อให้เกิด "มีเหตุผล" เรียกอีกอย่างว่า "ปัญญา"

"ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง ในการปฏิบัติการที่แท้จริงก็คือ พัฒนาพฤติกรรมทางกายวาจาให้มีความพอประมาณ หรือความปกติ พัฒนาสติต่อเนื่องจนมีจิตที่ตั้งมั่นเรียกว่า "สมาธิ" มีผลทำให้มีภูมิคุ้มกัน และปฏิบัติเรียนรู้จนเกิดการตื่นรู้ เห็นทุกอย่างตามเหตุปัจจัย ทำให้กระบวนการคิดประกอบด้วยหลักการของเหตุและผล"

เว็บไซต์ของหน่วยราชการในพระองค์ระบุว่า บัตรอวยพรวันวิสาขบูชา สะท้อนให้เห็นถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชปรารถนาให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา พร้อมส่งความปรารถนาดี ด้วยภาพและข้อความอันเป็นมงคล ทำให้ผู้ได้รับเกิดความปีติยินดี ก่อให้เกิดสามัคคีธรรม และน้อมนำใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นสรณะนำทางชีวิต