นายเคลมองต์ วูเล เป็นชาวโตโก ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ" (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association) มาตั้งแต่ปี 2018 ไม่ใช่ “ผู้สื่อข่าวพิเศษ” อย่างที่บางองค์กรในไทยเข้าใจ
ทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติของยูเอ็น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชื่อของนายเคลมองต์ วูเล ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN special rapporteur เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในไทย หลังจากเขาแสดงความ "ผิดหวังอย่างยิ่ง" ต่อคำวินิจัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่มองว่าการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มี "เจตนาซ่อนเร้นล้มล้างการปกครอง"
นายวูเล โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์เมื่อ19 พ.ย.ว่า "ผมรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจัยว่าการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นความพยายามที่จะล้มล้างการปกครอง ในการพิจารณาคดีต่อ 3 แกนนำการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ผมขอย้ำเตือนให้ประเทศไทยคำนึงถึงพันธกรณี ในการปกป้องสิทธิของผู้ประท้วงในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง"
ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นคืออะไร
นายวูเล เป็นชาวโตโก ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ" (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association) มาตั้งแต่ปี 2018
ในเว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า ตำแหน่งนี้มีหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้
- รวบรวมและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มและประเด็นปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการชุมนุมและรวมตัวอย่างสันติ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และในระดับโลก
- ให้คำแนะนำถึงวิธีการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเหล่านี้
- รายงานการละเมิด รวมถึงการเลือกปฏิบัติ การข่มขู่ หรือการใช้ความรุนแรง การคุกคาม การข่มเหง การสร้างความหวาดกลัว หรือการแก้แค้นโดยตรงต่อบุคคลที่ใช้สิทธิเหล่านี้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายวูเลแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทย โดยเมื่อ ต.ค. 2020 เขาพร้อมด้วย น.ส.ไอรีน ข่าน ผู้ตรวจการพิเศษด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และ น.ส.แมรี ลอว์เลอร์ ผู้ตรวจการพิเศษด้านสถานการณ์ของผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เคยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับประกันเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการชุมนุมอย่างสันติ และเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน พร้อมเรียกร้องให้หยุดการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงโดยสันติ หลังจากทางการใช้มาตรการที่รุนแรงในการปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติ
"การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นหนึ่งในมาตรการรุนแรงล่าสุดที่มีเป้าหมายเพื่อปราบปรามการชุมนุมโดยสันติ และทำให้การแสดงความเห็นต่างเป็นสิ่งผิดกฎหมาย" คณะผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นระบุในแถลงการณ์
"เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมให้นักเรียนนักศึกษา กลุ่มผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาชนกลุ่มอื่น ๆ สามารถจัดการชุมนุมประท้วงได้โดยสันติ ประชาชนไทยควรได้รับอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นและแบ่งปันความเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี ทั้งในโลกออนไลน์และในโลกแห่งความเป็นจริงโดยไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย"
ยูเอ็น : "เรายังมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง เรื่องการตั้งหลายข้อหาร้ายแรง"
โลกเป็นห่วงเสรีภาพในการแสดงออกของไทย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 10 พ.ย. เป็นวันเดียวกับที่คณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้ชี้แจงถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่อนานาชาติใน การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ (Universal Periodic Review หรือ UPR) ครั้งที่ 3 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ในเวทีนี้ ผู้แทนชาติประชาธิปไตยตะวันตก ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ได้เรียกร้องในที่ประชุมให้ไทยดำเนินการแก้ไขหรือทบทวนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่มักเรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยชี้ว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก
ขณะที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อ "การขยายขอบเขต" การใช้กฎหมายนี้ และผลกระทบที่มีต่อเสรีภาพในการแสดงออก
ที่มาของภาพ, Thai News Pix
คำบรรยายภาพ,
นานาชาติเป็นห่วงเรื่องที่ทางการใช้มาตรการรุนแรงจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง
อย่างไรก็ตาม นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 "สะท้อนถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักของชาติ ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงจากคนไทยส่วนใหญ่"
"การดำรงอยู่ของมัน (กฎหมายนี้) มีความเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการพิทักษ์สถาบันสำคัญต่าง ๆ ของชาติ และความมั่นคงของชาติ" เขากล่าว
รายงานของรัฐบาลไทยที่นำเสนอต่อที่ประชุม UPR ครั้งนี้ระบุว่า ไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไทยเป็นประเทศที่พระมหากษัตริย์ได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง โดยมาตรา 112 มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ใช่เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ส่วนในคดีมาตรา 112 ที่มีความกังวลจากหลายฝ่ายนั้น ก็มีการดำเนินคดีถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมาย (due process of law) และมีการใช้กลไกหลาย ๆ อย่างเพื่อกลั่นกรองคดีรวมถึงยังมีช่องทางในการขอพระราชทางอภัยโทษอีกด้วย
ในการแถลงด้วยวาจาโดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองว่า รัฐบาลไทยให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้เสรีภาพต้องเป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามแก้กฎหมายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ และได้มีความพยายามสร้างเวทีพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างวัย
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar