söndag 28 november 2021

ฟ้องเอาผิดมาตรา ๑๑๒ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

Thai E-News

ฟ้อง ม.๑๑๒ เอาผิดคนแต่งภาพพระแก้วมรกต มีคนสงสัยพระองค์ราชวงศ์ไร แล้วยังทรงเชื้อชาติล้านช้าง เข้าข่ายไหม


สามวันมาแล้วนี่ หลังจากที่ เดลินิวส์ ตีไข่ใส่โจ๊ก (แต่ไม่ใส่ขิง) ยังไม่ได้คืบ จากการที่พวก ศปปส.และ ศชอ. (หน่วยป้องสถาบันฯ กับกองสแกนเหยื่อบุลลี่ออนไลน์) พากันไปฟ้อง ปอท. หน่วยปราบฝ่ายต้านรัฐบาลทางไซเบอร์

ว่ามีการตัดต่อดัดแปลงภาพในหลวง ร.๑๐ ทรงเปลี่ยนเครื่องฤดูหนาวพระแก้วมรกต เปรียบเทียบมีสีต่างกันกับภาพสมัย ร.๙ ว่าเฟชบุ๊คใช้นาม Warunee Weerasak’ เอาไปโพสต์แล้วมีคนแชร์กันต่อๆ ไปอีกกว่า ๙๖๘ ครั้ง (ป่านนี้มากกว่านั้นอักโข)

เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินคดีตามความผิดมาตรา ๑๑๒ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” มีการไล้ฟ์สดกิจกรรมยื่นร้องเรียนเมื่อ ๒๕ พ.ย. แล้วปรากฏผู้ใช้นาม Warunee’ นั่นเองไปตอบโต้ว่า “๕๕๕๕๕ เอาเลยจ้าพวกว่าง” กระนั้นเจ้าพนักงานรับเรื่องไปดำเนินการ

หากแต่กระทั่งขณะนี้ก็ยังมีการผลัดกันชมแบ่งกันแชร์อยู่ไม่หยุด พร้อมคอมเม้นต์เพียบ ส่วนใหญ่ถามว่าพระพุทธรูปเข้าข่าย ม.๑๑๒ ด้วยหรือ รายหนึ่งแซวสั้นๆ ว่าพระแก้ว “ราชวงศ์อะไร” คงจะเคยเห็น ตลก.ไทยตีความพิลึกพิลั่น

ว่าบุรพกษัตริย์จากหลายศตวรรษเข้าข่ายกฎหมายครอบจักรวาลฉบับนี้ด้วย รอดูกันแต่ว่าเมื่อไรพวก ตลก.จะตีความข้ามช็อตไปถึงอนาคต ว่ามีผิดถ้ามุ่งหมายหมิ่นสถาบันอีก ๑๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปีข้างหน้าด้วย (ไม่ว่าผู้เสียหายจะอยู่ถึงหรือไม่)

ว่าไปถึงแม้พระแก้วมรกตจะมีราชวงศ์ของพระองค์ ก็ไม่ควรเข้าข่าย ม.๑๑๒ ของไทย เนื่องเพราะพระแก้วทรงมีเชื้อชาติล้านช้าง เจ้าไทยไปฉกชิงเอามาจากประเทดลาว ถึงแม้จะทรงประทับในไทยนานพอได้สัญชาติไปแล้วก็ตาม

(https://www.dailynews.co.th/news/511907/)

ยัน มาร์ชัล ดาว ‘ติ๊กต๊อก’ ล้อเลียนระบอบสลิ่มรักเจ้า ถูกเนรเทศกลับฝรั่งเศส แฟนคลับตั้งตารอดูบทบาทจากปารีส


ไปแล้ว คงไม่ลิบลับ ยัน มาร์ชัล (Yanne Eric Marchal) ดาว ติ๊กต๊อก’ (แฟนคลับ ๕ แสนครึ่ง) ล้อเลียนระบอบสลิ่มรักเจ้า และการสืบทอดอำนาจรัฐประหารไทย ขึ้นเครื่อง ทีจี ๙๓๐ รักคุณเท่าฟ้ากลับฝรั่งเศส ตามแรงผลักดันของตำรวจไทย ซึ่งตั้งข้อหา “เป็นภัยต่อสังคม”

Pravit Rojanaphruk โพสต์บนหน้าเฟชบุ๊คถึงเขาเมื่อคืน (๒๗ พ.ย.) ว่า “เขาได้ตัดสินใจจะขึ้นเครื่องกลับฝรั่งเศสคืนนี้ หลัง ตม.ไทยมีคำสั่งเนรเทศ และได้ปรึกษากับทนาย” Natalie Bergman ดีแล้ว “ถ้าอยู่ต่อเพื่ออุทธรณ์อาจเสี่ยงเจอ ม.๑๑๒”

ยันบอกกับประวิตรว่า “ผิดหวัง แม้จะรู้ดีถึงความเป็นไปได้” แรกทีเดียวได้ปรึกษาทนายว่าจะอุทธรณ์คำสั่ง ตม.ภายใน ๔๘ ชั่วโมงตามสิทธิดีไหม สุดท้ายลงความเห็นว่า จะไปต่อสู้เพื่อให้หลุดจากการถูกขึ้นบัญชีดำ (เป็น ‘persona non grata’) ในฝรั่งเศส

“และบอกว่าคงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่ฝรั่งเศสได้ หลังจากอยู่ไทยมา ๑๘ ปี แต่ห่วงธุรกิจในไทยที่มีพนักงาน ๓ คน” เขามีกิจการบรรณาธิการและตัดต่อทางอีเล็คโทรนิค พร้อมทั้งมีลูกขณะอยู่ในไทย เขาเพิ่งเดินทางกลับมาจากไปเยือนฝรั่งเศส

ยันได้รับหนังสือคำสั่งให้ออกนอกประเทศเมื่อเดินทางถึงสุวรรณภูมิ จากการถูกส่งตัวขึ้นเครื่องจากภูเก็ตเมื่อเขาเดินทางกลับจากปารีสไปถึงที่นั่น “เจ้าหน้าที่รายหนึ่งบอกว่าผมโจมตีกษัตริย์ สร้างปัญหาให้กับกษัตริย์” เขาบอกกับประวิตร

ที่สุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ ตม.ไทยจัดการจองตั๋วเครื่องบินของสายการบินไทย จากสนามบินสุวรรณภูมิถึงชาร์ลเดอโกลล์ อย่างเรียบร้อยในราคา ๑๒,๗๕๐ บาท และเช้าวันนี้มีการพูดคุยถึงกรณีของเขาทางคลับเฮ้าส์ ส่องทวิตยามเช้า (ตัวปลอม)

ผู้ร่วมสนทนาคนหนึ่งบอกว่า ตั้งตารอดูได้ว่าเขาจะต้องมีบทบาทล้อเลียนความเป็นสลิ่มของไทย ออกมาจากฝรั่งเศสไม่ขาดสายแน่นอน ขณะที่ในไทยสื่อสังคมพวก ปฏิกิริยารักสถาบันฯ เริ่มพ่นของเสียเป็นพิษกันแล้ว

โดยนำเอาภาพที่เขาถ่ายคู่กับ แยมมี่ ไฟเย็น ระหว่างไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ในกรุงปารีส มาโพสต์ว่าเพราะอย่างนั้นทำให้เขาถูกเนรเทศ

(https://www.facebook.com/pravit.rojanaphruk.5/posts/3235230773371418)

ของจริง กองปราบฯ กับ ‘ดีอีเอส’ ผลาญกว่า ๓๐ ล้าน ซื้ออุปกรณ์อีเล็คโทรนิคตรวจจับบัญชีโซเชียลประชาชน


ของจริงนะ ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็วเอามาแผ่ “ตร.ซื้ออุปกรณ์เจาะโซเชียลฯ ราคา ๑๗ ล้านบาท” เอกสารสัญญาซื้อยาวเหยียด ๙ รายการ “แต่ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของเทคโนโลยีเหล่านี้” แค่ระบุไว้อย่างสังเขป

เช่น “ถอดรหัสบนโทรศัพท์มือถือ ถอดรหัสลับ Whatsapp (แอปพลิเคชั่นแช้ท คล้าย LINE) เจาะข้อมูลในเฟชบุ๊ค ทวิตเตอร์ อีเมลของเป้าหมาย กู้คืนข้อมูลที่ถูกลบจากหน่วยเก็บความจำ...รวบรวมและค้นหาข้อมูลสาธารณะบนทวิตเตอร์ ยูทูบ และเว็บไซต์”

หลักฐานที่เอามาชี้ก็คือ มีผู้ใช้งานอุปกรณ์ของแอ้ปเปิ้ลในไทยที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรายหนึ่ง ได้รับอีเมลแจ้งเตือนว่า มีแฮ้คเกอร์ซึ่ง “สนับสนุนโดยรัฐ” อาจจะได้ทำการโจมตีทางดิจิทัลต่อบัญชีของผู้ใช้อุปกรณ์แอ้ปเปิ้ลคนนั้น

ไม่เท่านั้นหลักฐานระบุด้วยว่า กระทรวงดิจิทัล หรือ ดีอีเอสลงมาเล่นเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยอ้างว่าใช้เป็น “เครื่องมือสนับสนุนตรวจค้นและวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมคอมพิวเตอร์” มูลค่าถึง ๖.๗ ล้านบาท กับซื้อเครื่องมือทำการระบบสืบสวน อีก ๑๒ ล้านบาท


ลูกเกด จึงตั้งคำถามชวนให้ประชาชนคิดหนัก ด้วยความกังวล ว่า เทคโนโลยี่ที่รัฐซื้อมาเพิ่มเติมตอนนี้เหล่านี้ “จะนำไปใช้ในทางที่ละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว (privacy) ของพวกเราหรือไม่”

เธอเลือกใช้คำ พวกเรา น่าจะเจาะจงถึงบรรดาประชากรในภาคส่วนที่อิดหนาระอาต่อความไร้ประสิทธิภาพทางการบริหาร ก้าวร้าวทางการปกครอง และมูมมามทางการใช้จ่ายงบประมาณของชาติ ของรัฐบาลชุดสืบทอดอำนาจรัฐประหารนั่นเอง

(https://www.facebook.com/107039995116373/posts/120046850482354/)

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar