lördag 28 maj 2011

วิธีมองการเมืองไทยอีกด้านหนึ่งสำหรับผู้ที่คิดว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง คนละเกม
โดย กาหลิบ

พร้อมกับที่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อการเลือกตั้งครั้งนี้และตั้งความหวังไว้เสียสูงลิ่วว่าเศรษฐกิจของชาติจะดีขึ้นและการเมืองคงวุ่นวายน้อยลง คนกลุ่มเล็กๆ ที่มีอำนาจล้นพ้นในสังคมไทยกลับเล่นเกมที่แตกต่างจากมวลชนไทยโดยสิ้นเชิง
นั่นคือเขากำลังเดินเกมลดคุณค่าและความหมายของการเลือกตั้ง และหวังบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวเพื่อการรักษาระบอบของเขา
เลือกตั้งครั้งนี้จึงแปรปรวนไปมาเหมือนใบไม้ในลมหมุน
เริ่มต้นมาจากการลุ้นระทึกว่าจะได้เลือกตั้งหรือไม่ได้เลือกตั้ง ซึ่งเป็นการท้าทายอำนาจของคนไทยเป็นล้านๆ คนที่แสดงความต้องการชัดเจนว่าต้องการเลือกตั้ง ตามด้วยการให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับต่ำอย่างกรรมการการเลือกตั้งออกมาส่งสัญญาณบ้าๆ บอๆ เสมือนจะล้มเลือกตั้งครั้งนี้ได้ทุกเมื่อ โดยอ้างเหตุผลแบบข้างๆ คูๆ
ให้สายพันธุ์พรรคประชาธิปัตย์ออกมาทำลายหลักการทางการเมืองของระบบรัฐสภา ด้วยการบอกว่าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ได้รับเลือกตั้ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทันที ไม่ต้องรอพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากสูงสุดพยายามจัดตั้งก่อนอย่างที่ทั่วโลกเขาทำกัน
ส่งสัญญาณผ่านกระบวนการ ปรองดองจนอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างคุณทักษิณฯ ออกมาพูดปรารภทำนองที่ว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอาจจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงจะเป็นหมายเลขหนึ่งของพรรคที่ได้รับเสียงอันดับหนึ่งก็ตาม คล้ายจะเป็นการยืมมือฝ่ายประชาธิปไตยมาช่วยกวนกระแสบางอย่างให้มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยเกิดความไขว้เขว
ตรงกันอย่างประหลาดกับคุณเนวิน ชิดชอบ ที่ออกมาแหย่ว่าคุณยิ่งลักษณ์ฯ และคุณอภิสิทธิ์ฯ อาจไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งด้วยกันทั้งคู่
สมาชิกพรรคเพื่อไทยก็เรียงหน้าออกมาโต้ตอบคุณเนวินฯ เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ส่งทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคออกมาสวนหมัด
หลายคนในพรรคเพื่อไทยคงลืมไปว่า ประโยคที่คุณเนวินฯ พูดในเชิงพยากรณ์นั้นเป็นข้อความเดียวกับที่ออกจากปากของคุณทักษิณฯ มาหมาดๆ ถึงภาษาที่ใช้จะต่างกัน แต่ความหมายเหมือนกันอย่างชัดเจน
น่าสนใจที่สื่อมวลชนทั้งหลายที่ไป รับงานช่วยระบอบเก่าก็ออกมาช่วยตีข่าวขี้ปากของคุณเนวินฯ จนเป็นข่าวใหญ่ข่าวโตเหมือนชีวิตทั้งชีวิตขึ้นกับเรื่องนี้
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ
ก็เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากสัมมาทิฐิหรือความตั้งใจอันดีของศักดินาไทย ไม่ใช่แม้แต่ความโอนอ่อนผ่อนตามความแข็งแกร่งของฝ่ายประชาชนอย่างที่หลายคนในฝ่ายเราคิด และมิใช่ความอ่อนแอของเขาในช่วงใกล้เปลี่ยนแปลงอย่างที่บางคนเข้าใจ
แต่เป็นกลศึกของฝ่ายเขา
จำได้ไหมว่า เมื่อขบวนประชาธิปไตยในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๒ ทำท่าจะยกระดับขึ้นถึงระดับระบอบ ก็เกิดความแตกร้าวในฝ่ายประชาธิปไตยจนถึงขั้นประณามขับไล่กันกลางเวที แล้วคนที่เหลือบนเวทีนั้นก็นำขบวนไปสู่เป้าหมายที่เล็กลงเรื่อยๆ
เคยประกาศจะรุทำลายรังเผด็จการ ก็ลดลงมาเป็นการขอร้องให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่
จากการเลือกตั้งที่ตั้งใจล้างอิทธิพลของฝ่ายอำนาจเก่าให้สิ้น ก็ลดลงมาเพียงได้เป็นรัฐบาลเสียก่อน อำนาจรัฐจะได้จริงหรือไม่ได้จริงก็ช่าง
ตอนนี้ดูเหมือนจะลดเป้าหมายลงไปอีก ขอเป็นแค่ร่วมรัฐบาลก็อาจจะเอา และอ้างเหตุผล แบบเดิมว่าเอาอำนาจรัฐไว้เสี้ยวหนึ่งก่อน ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ทั้งที่คนพูดก็รู้ว่าอำนาจรัฐนั้นมีเพียง ๒ ทางคือได้กับไม่ได้ ไอ้เรื่องแบ่งอำนาจกับเขาอย่างลงตัวชื่นมื่น ไม่เคยปรากฎในสารบบการเมืองไทย
สุดท้ายเขาก็ยอมให้เลือกตั้ง แล้วเล่นเกมตอดนิดตอดหน่อยว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีและใครจะไม่ได้เป็น พรรคไหนจะได้เป็นเบี้ยของเขาในฝั่งรัฐบาลและใครต้องไปเป็นเบี้ยในฝั่งฝ่ายค้าน
ผู้เล่นเกมก็ต้องวิ่งตามเสียงเคาะกะลาไปตลอดทาง จนบางทีก็ลืมว่าเป็นคน
เป้าหมายสุดท้ายของเขาคือสูบความรักใคร่ นับถือ และศรัทธาจากมวลชนไปจนหมด พอเหลือแต่ซากแล้วเขาก็เสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายพลากร สุวรรณรัฐ หรือคนชนิดเดียวกันนี้ มานั่งแทนรัฐบาลเลือกตั้งที่ประชาชนเคยรักและเคยหวัง
เห็นไหมว่าคนละเกมแท้ๆ ทีเดียว.
-------------------------------------------------------------------------------

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar