ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดของประเทศไทยมาจากระบอบกษัตริย์ เราเห็นด้วยกับข้อเสนอของ Dr.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เสนอให้มีการปรับปรุงระบอบกษัตริย์ ดังต่อไปนี้...
(คัดมาจากบทความของ Dr. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล )
วิธีการรักษาให้ประเทศไทยมีสถาบันกษัตริย์อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป คือการต้องปรับเปลี่ยนสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ ด้วยการ:
- ยกเลิกการอบรมในระบบการศึกษาและการประชาสัมพันธ์ทั้งหมดเกี่ยวกับเจ้า แบบที่ทำอยู่ในขณะนี้ ในลักษณะปลูกฝัง เผยแพร่ข้อมูลด้านเดียว ที่ไม่ให้ตรวจสอบ ไม่ให้โต้แย้ง
ความรักเจ้า ถ้าจะเกิดขึ้น จะต้องปล่อยให้เป็นความรักที่เกิดขึ้นเอง ตัดสินใจด้วยวิจารณาณของตนเอง เมื่อพลเมืองทุกคนโตขึ้นพอจะคิดใช้วิจารณาณได้เอง ในภาวะที่สามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลอย่างเสรี รอบด้าน ตรวจสอบได้ - เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆทุกเรื่อง และแน่นอน หากพลเมืองคนใดตัดสินใจจะไม่รัก จะไม่ชอบ จะเกลียด เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ก็ย่อมเป็นสิทธิ์ของพลเมืองแต่ละคน
- เพื่อการณ์นี้ จะต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
- ยกเลิกอำนาจควบคุมของเจ้าต่อทรัพย์สินสาธารณะที่เรียกว่า "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" โอนให้ทรัพย์สินดังกล่าว กลับมาเป็นทรัพย์สินสาธารณะโดยแท้จริง ที่อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของสาธารณะอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับทรัพย์สินสาธารณะส่วนอื่นๆ
การใช้จ่ายงบประมาณ และการเงินของเจ้าทั้งหมด เช่นเดียวกับพนักงานรัฐทุกตำแหน่ง จะต้องอยู่ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกัน ที่สามารถควบคุมตรวจสอบได้
- ยกเลิกอำนาจทางการเมืองของเจ้า ตำแหน่งพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ในลักษณะเป็นเชิงพิธีการ (ceremonial) อย่างเข้มงวด พระมหากษัตริย์จะต้องไม่มีอำนาจใดๆในการจัดการกิจการทางการเมือง ไม่ว่าโดยเปิดเผยหรือโดยลับ การ "แต่งตั้ง" พนักงานรัฐทุกตำแหน่งจากระดับสูงสุดถึงต่ำสุด (จากกองทัพ ถึงศาล ฯลฯ) ในนามพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นเพียงเรื่องในเชิง ceremonial (หรือ เป็นการแต่งตั้ง "โดย" พระมหากษัตริย์เพียงในนาม) ล้วนๆ
องค์กรและบุคคลากรจำนวนมากมาย ที่รายล้อมและขึ้นต่อเจ้าในปัจจุบัน ตั้งแต่องคมนตรี ถึง สน.พระราชวัง ถึงทหารรักษาพระองค์ จะต้องไม่อยู่ในการควบคุมของเจ้า คณะองคมนตรีต้องยกเลิก เพราะถ้าเลิกอำนาจทางการเมืองที่เพิ่งกล่าวข้างต้นแล้ว ความจำเป็นจะต้องมีคณะองคมนตรีก็หมดไป และที่ปรึกษาหรือการปรึกษาหารือราชการถ้าจะมีขึ้น (ซึ่งในทางปฏิบัติเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีแล้ว นึกถึงกรณีอังกฤษ เป็นต้น) ก็สามารถใช้รัฐบาลเป็นที่ปรึกษา
................
ผมขอยกคำของคุณกษิต ภิรมย์ Kasit Piromya เมื่อปี 2553 มาให้ดูอีกครั้ง ผมยังเห็นและยืนยันจนวินาทีนี้ว่า นี่เป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ที่มองการณ์ไกลและดีที่สุดในบรรดาคนที่อยู่ในวงการเมืองในรอบหลายๆสิบปีมานี้ น่าเสียดายที่คุณกษิต ขาดความพยายามและความกล้าหาญทางคุณธรรม ที่จะยืนยันสิ่งที่พูดนี้ ก็หวังว่าในอนาคต คุณกษิต และคนในวงการเมืองอื่นๆ จะหันกลับมาพยายามยืนยันในจุดยืนนี้อีกครั้ง
".... ผมคิดว่า เราต้องพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ [ว่า] สถาบันกษัตริย์จะต้องปฏิรูปตัวเองอย่างไรให้สอดคล้องกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์สมัยใหม่ เช่นเดียวกับที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษ, สถาบันกษัตริย์เนเธอแลนด์, เดนมาร์ค, ลิชเต็นสไตน์ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เพื่อปรับตัวเองเข้ากับโลกสมัยใหม่ ...."
".... ผมคิดว่า เราต้องกล้าพอที่จะผ่านสิ่งเหล่านี้ และพูดกันแม้แต่ในประเด็น 'ต้องห้าม' เรื่องสถาบันกษัตริย์. เราต้องทำให้เหมือน ลิชเก็นสไตน์ หรือ ลักเซ็มเบิร์ก ที่ต้องผ่านสิ่งเหล่านั้น. ทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง [ควร] จะกลายเป็นเรื่องเปิด เพื่อที่จะได้ไม่เป็นอะไรที่ถูกซ่อนไว้ใน 'ยาฮู' หรือ 'กูเกิ้ล' อะไรแบบนั้น ไม่จำกัดเป็นแค่เรื่องถกเถียงกันใต้ดิน ใต้โต๊ะ อะไรแบบนั้น เราต้องซื่อตรงต่อกันและกัน ขอให้เรามาอภิปรายกันในเรื่องเหล่านี้ ...."
.............................................
เราเห็นด้วยกับข้อเสนอของ อ.สมศักดิ์ เจียมฯ ที่เสนอในการแก้ปัญหาทางออกของประเทศไทย เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งของคนในชาติลงทำให้ไม่มีเสื้อเหลืองเสื้อแดง เพราะสถาบันกษัตริย์คือที่มาของปัญหาแห่งความขัดแย้งทั้งหมดของสังคมไทยนับได้จากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ .....
แสงตะวัน
7 ธ.ค. 59
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar