โควิด-19: ผู้เสียชีวิตสะสมแตะหลักหมื่น ในเดือนที่ 19 ของการระบาดในไทย

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • บีบีซีไทย

เป็นเวลากว่า 542 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. ปีที่แล้ว ที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 คร่าชีวิตชายไทยวัย 35 ปีเป็นรายแรกของประเทศ ถึงวันนี้ไทยมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้แล้วมากกว่า 1 หมื่นราย นับเป็นความสูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจที่ประเมินค่าไม่ได้

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตรายใหม่จากโรคโควิด-19 ล่าสุดในช่วงเช้าที่ผ่านมาของวันนี้ (25 ส.ค.)297 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดนับตั้งแต่มีการระบาดมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 10,085 ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,417 ราย

เมื่อพิจารณาแนวโน้มยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่ ศบค. รายงาน พบว่าแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อระดับรุนแรง แม้ว่ากลุ่มที่ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงแล้วก็ตาม

บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลสถิติที่น่าสนใจ เพื่ออธิบายว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วจริงหรือ และการเปิดประเทศที่นายกฯ วางไว้คร่าว ๆ ในเดือน ต.ค. นี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

ไข้เลือดออกกับผู้เสียชีวิตโควิดรายแรก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยเป็นครั้งแรกผ่านการแถลงข่าวกรณีมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อในประเทศ (local transmission) ที่มีการสัมผัสกับบุคคลที่เสี่ยง คือ นักท่องเที่ยวชาวจีน

แต่สำหรับกรณีผู้ที่เสียชีวิตที่เป็นชายวัย 35 ปีรายนี้ มีความน่าสนใจคือ เขาป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกและได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมาตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 2563 ต่อมาได้ตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 เป็น "โรคที่สอง" จึงมีการส่งตัวมายังโรงพยาบาลสถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.

กระทรวงสาธารณสุข

ที่มาของภาพ, กระทรวงสาธารณสุข

คำบรรยายภาพ,

นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (กลาง) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2563 เกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในไทย

แม้ว่าทีมแพทย์ได้ใช้ความพยายามในการรักษาอย่างเต็มที่จนตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. แต่ผลกระทบจากการรักษาเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน สภาพปอดถูกทำลายเพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่หัวใจและอวัยวะภายในทำงานหนัก จึงทำให้อวัยวะภายในหลายระบบล้มเหลวจึงเป็นเหตุให้ชายคนดังกล่าวเสียชีวิตในที่สุด เมื่อวันที่ 29 ก.พ.

ผ่านมากกว่าหนึ่งปีแล้ว ประเด็นการติดเชื้อสองโรคในเวลาเดียวกันยังเป็นข้อกังวลจากกระทรวงสาธารณสุขออกมาเตือนเรื่องการป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออก ที่จะมีผลต่อการป่วยซ้ำซ้อนต่อกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยต่าง ๆ

กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและการป้องกันยุงกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยาและไวรัสซิก้า ที่มียุงเป็นพาหะ

ในวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อสื่อมวลชนถึงข้อกังวลนี้ เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้ยุงลายอาจจะมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ด้วยการที่ยุงลายเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกและโรคอื่น ๆ หากว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามถูกยุงลายกัดและได้รับเชื้อไข้เลือดออก หรือโรคอื่นที่นำโดยยุงลาย อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือทรุดลงอย่างรวดเร็ว การรักษาจะมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากยิ่งขึ้น และอาจเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในรอบ 5 เดือนแรกของปี 2564 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลง 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ การล็อกดาวน์ และปิดสถานที่สาธารณะ

นับจากการล็อกดาวน์ ยอดผู้เสียชีวิตยังพุ่ง

นับตั้งแต่การระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 รัฐบาลได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ส.ค. นี้เป็นอย่างน้อย แต่ว่ายอดผู้เสียชีวิตยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสร้างสถิติใหม่หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นับตั้งแต่มีมาตรการล็อกดาวน์. (17 ก.ค.-24 ส.ค. 2564).  .

จากตัวเลขที่ ศบค. รายงานมานับตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. ซึ่งถือเป็นวันแรกของการประกาศล็อกดาวน์หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความจำเป็นของการดำเนินมาตรการกับพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 10 จังหวัดสีแดงเข้ม แม้ว่ายอดผู้เสียชีวิตในแต่ละวันมีความผันผวนขึ้นลง แต่เมื่อพิจารณาแนวโน้มโดยภาพรวมแล้วพบว่ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยในวันที่ 18 ส.ค. ซึ่งครบหนึ่งเดือนหลังการประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรก มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 312 ราย แต่จนถึงวันนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายวันก็ยังไม่ต่ำกว่า 200 ราย

ตำรวจตั้งด่าน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจตั้งด่านตรวจผู้สัญจรไปมาหลังจากมีการประกาศเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 2564

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. อธิบายถึงฉากทัศน์จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่คาดการณ์แนวโน้มจนถึงเดือนธ.ค. ในการแถลงข่าวประจำวันที่ 23 ส.ค. ว่า ผลการล็อกดาวน์นับตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. เป็นต้นมานั้น แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงต่ำกว่า 20,000 รายต่อวัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ โดยจากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จริงยังสูงและไม่ได้เป็นฉากทัศน์ต่ำสุดที่ประเมินไว้ (เส้นสีเขียวในกราฟด้านล่าง)

ศบค. graphic

ที่มาของภาพ, ศบค.

สอดคล้องกับตัวเลขกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจยังมีแนวโน้มทรงตัว แต่จำนวนยังมากกว่า 1,000 ราย แต่เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มนี้ (ค่าปัจจุบัน) ณ วันที่ 24 ส.ค. อยู่ที่ 1,095 ราย ก็ถือว่ายังคงสูงกว่าวันแรกที่มีการล็อกดาวน์ (17 ก.ค.) ซึ่งอยู่ที่ 839 ราย

ยอดติดเชื้อรายวันเริ่มชะลอตัว

จากข้อมูลรายงานโดย ศบค. ยอดผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 13 ส.ค. คือ 23,418 ราย นับตั้งแต่นั้นมาจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจนถึงวันที่ 24 ส.ค. มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะ 4 วันที่ผ่านมา คือ วันที่ 21 ส.ค. มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,571 ราย ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 22 ส.ค. ลดลงเป็น 19,014 ราย ในวันที่ 23 ส.ค. ลดลงเป็น 17,491 ราย และวันที่ 24 ส.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 17,165 ราย แต่วันนี้ (25 ส.ค.) กลับมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 18,417 ราย

อย่างไรก็ตาม นพ. เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค อธิบายให้บีบีซีไทยว่า จากแนวโน้มดังกล่าวยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าประเทศไทยผ่านจุดสูงสุดของการระบาดระลอกที่ 3 แล้ว เนื่องจากอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ ได้

"เราหวังว่าแนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางลง ในใจก็คิดอยากจะให้ผ่านพ้น(จุดสูงสุดของการระบาด) แต่ยังไม่กล้ายืนยัน" นพ.เฉวตสรรกล่าว

หากพิจารณารายละเอียดข้อมูลของ ศบค. ในส่วนการติดเชื้อรายใหม่แยกตามพื้นที่การระบาดระหว่างกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และต่างจังหวัด พบว่าแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ มีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. เป็นต้นมา

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกทม.-ปริมณฑลและต่างจังหวัดเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง. (17 ก.ค.-24 ส.ค. 2564) .  .

นอกจากสัญญาณบวกจากยอดติดเชื้อรายวันลดลงแล้ว ยอดผู้ป่วยที่รักษาหายก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว มีจำนวนมากกว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องมาแล้ว 7 วัน โดยล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 24 ส.ค. มียอดผู้ที่รักษาหายแล้ว 20,059 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่มี 17,165 ราย

นพ.เฉวตสรรอธิบายว่ากลุ่มผู้ที่รักษาหายส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว ซึ่งเป็นไปตามรอบของการตรวจเชื้อในการเข้ารับการรักษาในระบบหลังตรวจค้นหาเชิงรุกพบว่าติดเชื้อ

การฉีดวัคซีน: ความจริงกับเป้าหมาย

อีกปัจจัยที่จะมีส่วนสำคัญในการควบคุมการระบาดคือ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งทางการไทยใช้ระยะเวลา 1 ปีเต็มในการจัดซื้อรับมอบและดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มแรก นับตั้งแต่มีผู้เสียชีวิตรายแรกจากโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2563

วัคซีนเข็มแรกที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการฉีดมีขึ้นในวันที่ 28 ก.พ. 2564 ตามข้อมูลของ ศบค. คนไทยรับวัคซีนไปแล้วทั้งหมด ณ วันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา มีจำนวน 27,612,445 โดส แบ่งเป็น การฉีดเข็มแรก 20,830,673 โดส เข็มที่สอง 6,230,511 โดส และเข็มที่สาม 551,261 โดส คิดเป็น 27.61% ของเป้าหมายทั้งหมด 100 ล้านโดส และเหลือระยะเวลาอีก 128 วันก่อนจะถึงเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 565,527 โดสต่อวัน จึงจะบรรลุเป้าหมาย

vaccine

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นพ.เฉวตสรร ยอมรับกับบีบีซีไทยว่า ปัญหาที่ผ่านมาคือ วัคซีนที่ได้รับมอบค่อนข้างจำกัด จึงทำให้การฉีดวัคซีนได้ไม่มากนัก แต่หากถามว่ากำลังการฉีดของบุคลากรทางแพทย์มีเพียงพอไหม คิดว่าสามารถดำเนินการได้จนสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในระยะเวลาที่เหลือ ส่วนหนึ่งมากจากการเจรจาของภาครัฐกับผู้ผลิตเริ่มเป็นไปในทิศทางสดในและคาดว่าจะมีการส่งมอบวัคซีนเข้ามาอีก

วานนี้ (24 ส.ค.) นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีที่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดฉีด 2 เข็มของบริษัทไฟเซอร์ผ่านการอนุมัติอย่างเต็มรูปแบบเป็นการถาวรจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี และ อย. พร้อมพิจารณาอนุมัติในลักษณะเดียวกันหากบริษัทไฟเซอร์ ยื่นขอขึ้นทะเบียนมา คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 30 วัน

REUTERS

ที่มาของภาพ, Reuters

หากว่าสามารถขึ้นทะเบียนแบบปกติแล้ว วัคซีนไฟเซอร์จะสามารถซื้อขายได้ทั่วไปโดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐ

ขณะที่ พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวในช่วงถามตอบในการแถลงข่าววันนี้ (25 ส.ค.) เกี่ยวกับแผนการฉีดวัคซีนว่า หลังจากนี้เป็นต้นไปจะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 15 ล้านโดสต่อเดือนหรือคิดเป็นไม่ต่ำกว่า 5 แสนโดสต่อวัน

"ถ้าทุกท่านติดตามการฉีดวัคซีนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราทำได้เกิน 5 แสนโดส ยังอยู่ในแผนการจัดการ" พญ. อภิสมัยกล่าว

สรุปไทม์ไลน์การจัดหาและกระจายวัคซีนจากถ้อยแถลงของผู้ช่วยโฆษก ศบค. มีดังนี้

  • เดือนส.ค. รวม 14.8 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นซิโนแวค 6.5 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 5.8 ล้านโดส ไฟเซอร์จากยอดบริจาค 1.5 ล้านโดส และซิโนฟาร์มอีก 1 ล้านโดส
  • เดือนก.ย. รวม 15 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7 ล้านโดส ไฟเซอร์ 2 ล้าน
  • เดือนต.ค. รวม 21 ล้านโดสแบ่งเป็น ซิโนแวค 6 ล้าน แอสตร้าเซนเนก้า 7 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้าน
  • เดือนพ.ย. รวม 17 ล้านโดส ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7 ล้าน
  • เดือนธ.ค. รวม 17 ล้านโดส ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7 ล้าน

ตัวเลขล่าสุดมีการปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่รัฐบาลเปิดเผยก่อนหน้านี้เมื่อวัน 23 ส.ค. หลังการประชุมหารือเรื่องความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมายในปีนี้ 100 ล้านโดส ซึ่งในวันนั้นพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าได้หารือนายปาสคาล โซริออต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ซึ่งยืนยันว่าจะเร่งส่งมอบวัคซีนที่เหลือให้ครบ 61 ล้านโดส ภายในเดือนธ.ค. นี้