โควิด-19: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แถลงพบ "สายพันธุ์ย่อย" ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาในไทย ติดเชื้อแล้ว 7 ราย

An artistic impression of virus sequencing

ที่มาของภาพ, Getty Images

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานการพบสายพันธุ์ย่อยของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทยจำนวน 4 ชนิด และมีผู้ติดเชื้อเดลตาสายพันธุ์ย่อยนี้แล้วอย่างน้อย 7 คน โดยอธิบายว่าการพบสายพันธุ์ย่อยของไวรัสเป็นเรื่องปกติเมื่อมีการระบาดในวงกว้าง แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง และยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจะส่งผลต่อการดื้อต่อวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์หลักหรือไม่

นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยในการแถลงข่าวเพื่อรายงานผลการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 วันนี้ (24 ส.ค.) ว่าขณะนี้พบเชื้อสายพันธุ์เดลตาในทุกจังหวัดของไทยแล้ว ดังนั้นถือว่าเดลตาเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ

จากการตรวจสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาจำนวน 2,295 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 24-20 ส.ค. โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า 92.9% เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ส่วนสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) พบเพียง 5.8% และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 1.3%

นพ. ศุภกิจกล่าวว่าการติดเชื้อสายพันธุ์เบตายังจำกัดพื้นที่อยู่เฉพาะในภาคใต้ส่วนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดกับประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 14-20 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้เกือบ 30 ราย ได้แก่ นราธิวาส 15 ราย กระบี่ 5 ราย ปัตตานี 4 ราย สงขลา 3 ราย ภูเก็ต 2 ราย

อธิบดีกรมการแพทย์ระบุว่าเนื่องจากสายพันธุ์เบตาไม่ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากสามารถควบคุมโรคได้ดีก็มีความเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์นี้อาจจะหายไปจากประเทศไทยได้

คำบรรยายวิดีโอ,

โควิด-19 : เชื้อกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร วัคซีนจะป้องกันได้ไหม

พบ 4 สายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย

นพ. ศุภกิจเปิดเผยว่าล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบสายพันธุ์ย่อย (subtype) ของสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย ซึ่งการพบสายพันธุ์ย่อยเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่น ๆ ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในวงกว้าง

"บอกให้เรารู้ว่าสายพันธุ์เดลตาในบ้านเรา มีลูกมีหลานขึ้นมา ซึ่งเราก็ต้องตามดูต่อไป...ยังไม่เป็นปัญหาอะไรกับรระบบทั้งสิ้น" นพ. ศุภกิจกล่าว

ศ. เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่า จากฐานข้อมูลของ GISIAD ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัสโคโรนาของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก พบว่าเชื้อสายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์กว่า 60 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีการแพร่จากคนสู่คนออกไปจำนวนมาก

สำหรับเชื้อเดลตาสายพันธุ์หลักนั้นมีชื่อรหัสว่า B1.617.2 และมีสายพันธุ์ย่อยเรียกสั้น ๆ ว่า AY.1-AY.22

ในประเทศไทยพบทั้งสายพันธุ์เดลตาหลักและสายพันธุ์ย่อย 4 สายพันธุ์ ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ "เป็นลูกหลานของสายพันธุ์ซึ่งมีอยู่แล้วในประเทศไทย" ดังนี้

  • สายพันธุ์หลัก B1.617.2 พบ 71%
  • สายพันธุ์ย่อย AY.4 หรือ B1.617.2.4 พบ 3 % คือ 4 คน ใน จ.ปทุมธานี
  • สายพันธุ์ย่อย AY.6 หรือ B1.617.2.6 พบ 1 คน
  • สายพันธุ์ย่อย AY.10 หรือ B1.617.2.10 พบ 1 คน
  • สายพันธุ์ย่อย AY.12 หรือ B1.617.2.12 พบ 1 คน

ดร. วสันต์ระบุว่าประเทศไทยต้องเฝ้าระวังเดลตาสายพันธุ์ย่อย AY.4 มากที่สุดเนื่องจากพบค่อนข้างมากคือ 4 ราย

"ถ้าเรามีสายพันธุ์ลักษณะแบบนี้ ซึ่งเพิ่มจำนวนอยู่ในท้องถิ่นแล้วอันนี้ก็ต้องระมัดระวัง ว่าถ้ามันขยายตัวไปมาก ๆ จะเกิดอะไรขึ้น" ดร. วสันต์ให้ความเห็นและระบุว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมากพอที่จะสรุปว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ส่งผลต่อการดื้อต่อวัคซีนมากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์หลักหรือไม่

ตารางเปรียบเทียบสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีข้อมูลสำคัญดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 17,165 ราย ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 นับตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. เป็นต้นมา เป็นการติดเชื้อในประเทศ 16,970 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ 192 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,083,951 ราย หากนับเฉพาะการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 1,055,088 ราย
  • การตรวจเชิงรุกด้วยชุดตรวจแอนติเจนแบบรู้ผลเร็วหรือ ATK เป็นวิธีการสำคัญในการค้นหาผู้ติดเชื้อในขณะนี้ โดยเมื่อ ATK ให้ผลเป็นบวกจะต้องยืนยันผลซ้ำด้วยการตรวจแบบ RT-PCR ในรอบ 7 วันที่ผ่านมาการตรวจด้วย ATK ทำให้พบผู้ติดเชื้อมากถึงกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 192,334 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 5,229 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,095 ราย
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (4,025 ราย) สมุทรปราการ (1,731 ราย) สมุทรสาคร (1,288 ราย) ชลบุรี (816 ราย) และราชบุรี (558 ราย)
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 226 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ คือ 68 ราย และ 66% เป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 อยู่ที่ 9,788 ราย คิดเป็น 0.90% และหากนับเฉพาะระลอกเดือน เม.ย. อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 0.92%
  • ข้อมูลการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 23 ส.ค. พบว่าตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีการให้บริการสะสมไปแล้ว 27,612,445 โดส ซึ่งเป็นการฉีดเข็มแรกในประชาชน 20,830,673 ราย และมีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 สะสมแล้ว 551,261 ราย

ถอดเรื่อง "มาตรฐาน WHO" ออกจากข้อสั่งการนายกฯ เรื่อง ATK

วันนี้ (24 ส.ค.) มีความคืบหน้าเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการจัดซื้อชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 แบบรู้ผลเร็วหรือ ATK โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องการขอปรับปรุงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการประชุม ศบค. 12/2564 เมื่อวันที่ 17 ส.ค. โดยขอให้ลบข้อความที่ระบุว่าให้จัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 "ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก" ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวจะส่งผลให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถจัดซื้อชุดตรวจ ATK ของบริษัทเลอปู เมดิคอล เทคโนโลยี ซึ่งไม่ผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลกได้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบการแก้ไขข้อสั่งการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ ผอ. ศบค. จากเดิมที่ระบุในสรุปผลการประชุม ศบค. ว่า " การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน(Antigen Test Kit : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก(WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด" เป็นข้อความว่า "ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้สธ.เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด"

น.ส. ไตรศุลีกล่าวว่า การแก้ไขข้อสั่งการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการพิจารณาทบทวนสรุปผลการประชุมดังกล่าว และตรวจสอบจากบันทึกการประชุม ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุมมีข้อความดังนี้คือ "ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้สธ.เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด"