อภ. เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนโมเดอร์นาแล้ว หน่วยงานรัฐเล็ง "ขอรับการสนับสนุน" จากสภากาชาดฯ

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัทโมเดอร์นาจำนวน 5 ล้านโดสแล้ววันนี้ (23 ก.ค.) ขณะที่ความต้องการวัคซีนชนิดนี้ล้นหลาม ไม่เพียงแต่ประชาชนที่พากันจ่ายเงินหลักพันจองวัคซีนกับโรงพยาบาลเอกชน แต่ยังมีรายงานว่าหน่วยงานรัฐบางแห่งเริ่มส่งจดหมาย "ขอรับการสนับสนุน" วัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นา

วัคซีนของโมเดอร์นาเป็นวัคซีนโควิด-19 ลำดับที่ 4 ที่องค์การอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ โดยมีบริษัทซิลลิคฟาร์มาเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเป็นวัคซีน "ทางเลือก" สำหรับประชาชนที่พร้อมเสียค่าใช้จ่ายในการฉีด

แต่เนื่องจากบริษัทโมเดอร์นามีข้อกำหนดว่าจะขายวัคซีนให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น อภ. จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานที่เซ็นสัญญาซื้อขายวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่ง อภ. ได้เซ็นสัญญากับ บริษัทซิลลิคฯ แล้ววันนี้ (23 ก.ค.)

นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวภายหลังพิธีเซ็นสัญญาว่า อภ. และ บริษัทซิลลิคฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายอย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดส โดยวัคซีนทั้งหมดจะทยอยนำเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นไปตามช่วงเวลาเดิมที่กำหนดไว้

เซ็นสัญญาซื้อวัคซีน

ที่มาของภาพ, องค์การเภสัชกรรม

คำบรรยายภาพ,

องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด ในนามบริษัท แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย โดยมีนายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขาย อย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดส วันนี้ (23 ก.ค.)

"องค์การเภสัชกรรมได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ในการเป็นหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา เพื่อให้ประชาชนได้มีวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น" นพ. วิฑูรย์กล่าว

ผอ.อภ. ชี้แจงเพิ่มเติมว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งสภากาชาดไทยได้ทำการชำระเงินค่าวัคซีนครบถ้วนตามที่ได้รับการจัดสรรแล้ว หลังจากนี้ อภ. จะชำระเงินให้แก่บริษัทซิลลิค ฟาร์มา จํากัด เพื่อให้ความมั่นใจว่าวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดสนี้ จะเข้ามาประเทศไทยอย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้ อภ. ชี้แจงว่าวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 5 ล้านโดสนี้จะส่งให้ รพ. เอกชนจำนวน 277 แห่งทั่วประเทศจำนวน 3.9 ล้านโดส ส่วนอีก 1.1 ล้านโดสจะจัดสรรให้สภากาชาดไทย รพ. รามาธิบดีและ รพ.ศิริราช

สำหรับประชาชนที่จองวัคซีนโมเดอร์นากับ รพ.เอกชนไปนั้นจะเสียค่าใช้จ่าย 1,500-1,700 บาทต่อเข็ม หรือ 3,000-3,400 บาทสำหรับ 2 โดส แต่ในส่วนของวัคซีนโมเดอร์นาที่อยู่ภายใต้การจัดการของสภากาชาดไทยนั้น สภากาชาดไทยระบุว่าได้จัดสรรโควตาส่วนหนึ่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า อบจ. ที่ได้รับจัดสรรต้องดำเนินการฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และแผนการฉีดวัคซีนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด

"ขอรับการสนับสนุน"

เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) ในโลกออกไลน์ได้มีการเผยแพร่เอกสารคล้ายจดหมายของราชการฉบับหนึ่ง พร้อมตราประทับว่า "ด่วนมาก" ข้อความในเอกสารดังกล่าวระบุว่าเป็นหนังสือจากกองพิธีการ กรมสารบรรณทหาร ถึง สภากาชาดไทย เรื่อง "ขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 Moderna" พร้อมกับแนบบัญชีรายชื่อกำลังพลและครอบครัวที่ขอรับการสนับสนุนวัคซีนมาด้วย

หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 19 ก.ค. ปรากฏชื่อ พ.อ. ยุทธศักด์ พรหมทา เป็นผู้ลงนาม สรุปใจความได้ว่าเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากการระบาดของโควิด-19 กองพิธีการ กรมสารบรรณทหาร ซึ่งปฏิบัติงานในกรุงเทพฯ จึงขอรับการสนับสนุนวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทยเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กำลังพลและครอบครัว

หลังมีการเผยแพร่จดหมายดังกล่าว สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ซึ่งเป็นสื่อของกองทัพบก รายงานว่าพล.ต. ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเป็นต้นสังกัดของกรมสารบรรณทหารระบุว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้วและให้สอบสวนข้อเท็จจริงโดยทันที และจะรายงานผลการสอบสวนให้ทราบต่อไป

พล.ต. ธีรพงศ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหนังสือราชการดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะหนังสือราชการที่ส่งไปหน่วยงานภายนอก

คำบรรยายวิดีโอ,

วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ อันตรายจริงหรือ

อบจ.สกลนครสำรวจรายชื่อสั่งจองโมเดอร์นา

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โลกออนไลน์ได้เผยแพร่เอกสารอีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นเอกสารที่กองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สกลนครส่งถึงผู้บริหารฝ่ายต่าง ๆ ของอบจ. สกลนคร เมื่อ 19 ก.ค. ขอให้สำรวจรายชื่อบุคลากรในสังกัดที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน เพื่อดำเนินการจองวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทยมาให้ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการและบุคคลในครอบครัวโดยไม่คิดมูลค่า

หนังสือดังกล่าวทำให้ อบจ. สกลนครถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าส่อเจตนาที่จะจองวัคซีนโมเดอร์นาให้ผู้บริหาร บุคลากรและครอบครัว ทั้งที่สภากาชาดไทยกำหนดเงื่อนไขว่าจะจัดสรรควัคซีนให้ อบจ.เพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ จนกระทั่งวานนี้ (22 ก.ค.) นายชูพงษ์ คำจวง นายกฯ อบจ. สกลนคร ต้องเผยแพร่คลิปวิดีโอชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริง ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลบุคลากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและความประสงค์ที่จะฉีดวัคซีน และเป็นธรรมดาที่ผู้บริหารมีความห่วงใยบุคลากรซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ต้องใกล้ชิดประชาชน

นายชูพงษ์ยืนยันว่าผู้บริหาร อบจ. ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ และได้รับวัคซีนชนิดเดียวกับประชาชน เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงการสำรวจความประสงค์เท่านั้น