5 ชีวิตต่อ 1 ร่าง เบื้องหลังการทำงานของทีมเก็บศพโควิดมูลนิธิร่วมกตัญญู

  • กุลธิดา สามะพุทธิ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เก็บศพผู้ป่วยโควิด

ที่มาของภาพ, มูลนิธิร่วมกตัญญู

คำบรรยายภาพ,

ทีมเคลื่อนย้ายศพของมูลนิธิร่วมกตัญญูนำร่างผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ออกมาจากชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ

เสื้อผ้าของพลไพศาล มากทรัพย์ ซึ่งอยู่ภายในชุดป้องกันการติดเชื้อแบบเต็มตัว เปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อขณะที่เขากับเพื่อนร่วมทีมรวม 4 คนช่วยกันนำศพผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ใส่ลงในถุงบรรจุศพถึง 3 ชั้น ก่อนจะยกออกจากบ้านมาที่รถของมูลนิธิร่วมกตัญญู โดยมีทีมงานคนที่ 5 คอยพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโดยรอบ

แค่ใส่เฉย ๆ ชุดพีพีอีนี้ก็ทำให้ร้อนและอึดอัดมากพออยู่แล้ว แต่พวกเขาต้องใส่มันขณะปฏิบัติภารกิจซึ่งหลายครั้งเกิดขึ้นในบ้านหรือห้องแคบ ๆ ที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือรถเข้าไม่ถึง ทำให้ต้องหิ้วเปลขนศพเดินมาไกลกว่าจะถึงรถ

"รู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก อยากได้อากาศ อยากถอดชุด แต่ต้องอดทน เพราะงานเรายังไม่เสร็จ" พลไพศาล เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูที่เพื่อนร่วมงานเรียกว่า "บังนนท์" บรรยายความรู้สึกขณะทำภารกิจเคลื่อนย้ายศพผู้ติดเชื้อหรือต้องสงสัยติดเชื้อโควิดให้บีบีซีไทยฟัง

กว่าที่เราจะได้คุยกับพลไพศาลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะช่วงนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้เขาต้องทำงานแทบไม่ได้หยุดพัก อย่างเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านไปไม่ถึงครึ่งวัน ชุดเก็บศพโควิดเฉพาะของมูลนิธิร่วมกตัญญูก็ถูกเรียกไปช่วยเคลื่อนย้ายถึง 8 ศพเข้าไปแล้ว

5 ชีวิตต่อ 1 ร่าง

พลไพศาล อายุ 54 ทำงานกู้ภัยมากว่า 20 ปีแล้ว เริ่มจากเป็นอาสาสมัครที่มาช่วยงานเป็นบางครั้งเมื่อมีเวลาว่าง แต่ด้วยใจรักในการช่วยเหลือผู้คน เขาจึงมาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิร่วมกตัญญู ผ่านภารกิจมามากหลากหลายรูปแบบ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขาต้องทำงานในภาวะโรคระบาด

เขาอธิบายการทำงานของชุดเก็บศพโควิด-19 ให้ฟังว่าเมื่อได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากญาติหรือเพื่อนบ้านว่าผู้ตายติดเชื้อโควิดหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อหรือไม่ หากมีเป็นผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งจะประสานชุดเก็บศพโควิด-19 ซึ่งมีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการเคลื่อนย้ายศพ นำไปส่งแพทย์นิติเวชเพื่อชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตหรือหากเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนและแพทย์ตรวจสอบแล้ว ก็จะนำไปส่งศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

พลไพศาล มากทรัพย์

ที่มาของภาพ, พลไพศาล มากทรัพย์

คำบรรยายภาพ,

พลไพศาล มากทรัพย์ เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยมานานกว่า 20 ปี

"หนึ่งทีมมี 5 คน 4 คนคือผู้ปฏิบัติงานเคลื่อนย้ายศพ อีก 1 คนคือคนขับรถและทำหน้าที่สเปรย์แมนหรือคนที่คอยพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ใน 5 คนนี้เราจะหมุนเวียนสลับหน้าที่กันไป เมื่อถึงที่เกิดเหตุเราจะสวมชุดป้องกันการติดเชื้อแบบคลุมทั้งตัวก่อนเข้าไปในตำแหน่งที่ศพอยู่ จากนั้นก็นำศพใส่ในถุงบรรจุศพ 3 ชั้น หลังจากใส่ถุงบรรจุแต่ละชั้นจะต้องพ่นยาฆ่าเชื้อก่อน เมื่อแพ็คศพเสร็จ ผู้ปฏิบัติงานทั้ง 4 คนก็จะเคลื่อนย้ายศพขึ้นมาบนรถเพื่อนำส่งสถาบันนิติเวชหรือศาสนสถาน"

15-20 ศพต่อวัน

เดือน ก.ค. เป็นช่วงที่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในแต่ละวันสูงเกินร้อยเกือบตลอดทั้งเดือน ซึ่งราวครึ่งหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ บางวันทีมกู้ภัยของมูลนิธิฯ ต้องปฏิบัติการเคลื่อนย้ายศพมากถึง 15-20 ศพต่อวัน แต่ไม่สามารถยืนยันว่าทั้งหมดเป็นศพของผู้ป่วยโควิด

ทีมงานกะกลางวันที่เข้างานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงสองทุ่ม และกะกลางคืนตั้งแต่สองทุ่มถึง 8 โมงเช้า ล้วนต้องทำงานแบบ "ลากยาว" เพื่อส่งศพสุดท้ายที่อยู่ในช่วงเวรของตัวเองให้ถึงปลายทาง

"เมื่อได้รับแจ้ง เราจะต้องเก็บงานให้หมดไม่ว่าจะเสร็จกี่โมงก็ตาม" เขาเล่าถึงการทำงานของทีม

ด้วยการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และขั้นตอนการเคลื่อนย้ายที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ทำให้แต่ละเคสต้องใช้เวลามากกว่าปกติคือราว 1 ชั่วโมง แต่หากพื้นที่ปฏิบัติงานยากลำบาก รถเข้าไม่ถึงก็ต้องใช้เวลานานกว่านั้น และความเหนื่อยล้าก็ยิ่งทบทวี

โดยปกติแล้ว ภารกิจของชุดเคลื่อนย้ายศพจะสิ้นสุดลงเมื่อนำศพขึ้นรถ พวกเขาจะถอดชุดพีพีอีทิ้งและได้เวลาพักสักเล็กน้อย แต่ช่วงหลัง ๆ วัดมักขาดแคลนคนช่วยยกศพ พวกเขาจึงต้องขึ้นรถตามไปด้วยเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายศพเมื่อถึงปลายทาง เช่น ขนศพขึ้นเมรุเผา

เสียงพูดคุยและให้กำลังใจของเพื่อน ๆ หน่วยกู้ภัยทางวิทยุสื่อสารเป็นสิ่งที่ช่วยให้พลไพศาลหรือชื่อรหัสวิทยุ "นคร 83" หายเหนื่อยและผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้บ้าง อย่างเช่นบางคนแนะนำให้เพื่อนกู้ภัยคิดเสียว่าเหงื่อที่ไหลพลั่ก ๆ ในชุดพีพีอีก็เหมือนกับได้ลดน้ำหนักโดยไม่ต้องงดอาหาร ซึ่งเขาเองก็น้ำหนักลดลงไปหลายกิโลจริง ๆ

เมรุเผาศพ

ที่มาของภาพ, มูลนิธิร่วมกตัญญู

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่ส่งศพถึงเมรุ

ตายอย่างโดดเดี่ยว

แม้จะเห็นศพมามาก ได้ยินเสียงร้องไห้คร่ำครวญของญาติผู้ตายมาหลายครั้ง แต่ศพที่ทำให้พลไพศาลสะเทือนใจมากที่สุดคือศพของชายชราที่เสียชีวิตอย่างเดียวดายในบ้านที่เงียบสงัด เพราะสมาชิกทุกคนในบ้านล้วนติดโควิดและถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามกันหมดแล้ว

ชายชราซึ่งน่าจะติดโควิดด้วยเช่นกัน นอนหมดลมหายใจไปอย่างเดียวดาย เพื่อนบ้านเป็นผู้ที่แจ้งมูลนิธิฯ ให้มาเก็บศพ เพราะเขาไม่สามารถติดต่อญาติได้เลย

"คนในบ้านก็ไม่รู้ว่าแกเสียชีวิตแล้วเพราะทุกคนป่วยอยู่...ถ้ามีใครสักคนอยู่ด้วยก็ยังพอจะบอกข่าวคราวกันได้"

โศกนาฏกรรมจากโควิดที่พลไพศาลได้พบเห็นจากหลายครอบครัว ทำให้เขาระมัดระวังและป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่แม้จะได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว และเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ห่างจากภรรยาและลูก ๆ ทั้ง 2 คนในช่วงนี้ เมื่อคิดถึงก็วิดีโอคอลคุยกันแทน

"กังวลอยู่ (ว่าจะติดเชื้อ) แต่เรามีวิธีป้องกัน เหมือนทหารที่ออกไปรบ กลัวแต่ต้องออกไปรบ สิ่งที่เราทำได้คือป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้...ถ้าเราทำงานที่สุ่มเสี่ยงมาก ๆ เราก็ต้องเรียนรู้และหาวิธีป้องกัน เพื่อให้เราทำงานได้เต็มที่และปลอดภัย"

ศพโควิด

ที่มาของภาพ, มูลนิธิร่วมกตัญญู

ภาวนาอยากให้จบ

ในฐานะคนที่พบเห็นภาพความสูญเสียจากโควิด-19 มากที่สุดคนหนึ่ง สิ่งที่พลไพศาลอยากบอกคนที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไม่ใช่ปรัชญาเกี่ยวกับการพลัดพรากหรือคำให้กำลังใจว่าสู้ ๆ แต่คือคำแนะนำพื้นฐานที่สุดที่เราได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งเขาเห็นว่ายังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้

"ป้องกันตัวเองให้ดี ล้างมือบ่อย ๆ อย่าเอามือจับใบหน้า ออกนอกบ้านให้น้อยที่สุดหรือเท่าที่จำเป็น เว้นระยะห่างระหว่างกัน เราต้องช่วยกันปิดช่องทางการแพร่เชื้อ"

เหตุที่พูดแบบนี้เพราะหลายครั้งที่เขาเข้าไปเก็บศพในบ้านหรือชุมชน ยังพบว่าคนไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เขาเองก็มีความหวังเหมือนกับคนอื่น ๆ ว่า "ภาวนาอยากให้ (โควิด) จบ"