ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์: 3 สัปดาห์นักท่องเที่ยวมาเกือบหมื่นคน ภูเก็ตพร้อมไปต่อแม้เป็น “พื้นที่เฝ้าระวังสูง”

  • ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ขณะที่กรุงเทพฯ และอีกกว่า 10 จังหวัดที่โควิด-19 ระบาดหนักเงียบเหงาลงจากมาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดและเคอร์ฟิว จ.ภูเก็ต ซึ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. กลับคึกคักขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"ถึงแม้สถานการณ์โควิดในประเทศจะรุนแรง แต่ภูเก็ตรักษาป้อมค่ายได้เป็นอย่างดี" นายปิยพงษ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวกับบีบีซีไทย

ความสำเร็จในการ "รักษาป้อมค่าย" ที่รองผู้ว่าฯ พูดถึงนั้นเห็นเป็นรูปธรรมจากยอดจองห้องพักที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 240,000 รูมไนท์ในปัจจุบันกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาแล้วทั้งหมดเกือบหมื่นคน แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ได้เสียงตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังเป็นไปอย่างหนักหน่วงจึงทำให้เกิดการปรับระดับการเฝ้าระวังในหลายพื้นที่รวมถึง จ.ภูเก็ต ที่ถูกนิยามว่าเป็น "พื้นที่เฝ้าระวังสูง" ภายใต้คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ลงวันที่ 17 ก.ค. ก็ทำให้หลายคนกังวลว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเป็นอย่างไรต่อไป และชาวต่างชาติจะยังสนใจมาเที่ยวภูเก็ตอยู่หรือเปล่า

ป้ายใส่หน้ากากที่หาดป่าตอง

ที่มาของภาพ, Getty Images

หลังจาก ศบค. ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมโรคเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตก็ได้ยกระดับการเฝ้าระวังโดยการออกมาตรการให้ทุกคนที่เข้าพื้นที่ทั้งชาวไทยและต่างชาติต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ พร้อมหลักฐานยืนยันการฉีดวัคซีนถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าเมือง อีกทั้งยังประกาศหยุดให้บริการรถโดยสารข้ามจังหวัด รวมทั้งปรับเวลาปิดให้บริการของร้านค้าและกิจกรรมต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น

ส่วนเที่ยวบินนั้น แม้สำนักงานการบินพลเรือนจะประกาศห้ามสายการบินทำการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด แต่เที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นให้ทำการบินได้

สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงในจังหวัดอื่น ๆ และการยกระดับมาตรการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้นจะส่งผลต่อภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หรือไม่ อย่างไร

ภูเก็ตปลอดภัย

"ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง" นายปิยพงษ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนอื่นของประเทศไทยยังไม่มีผลกระทบต่อภูเก็ต

"การควบคุมผู้ติดเชื้อยังอยู่ใยระดับที่ยังไม่เข้าขีดอันตราย มีติดเชื้อ 3 รายบ้าง 10 รายบ้าง (ต่อวัน) แต่มันไม่ถึงกับแตะตัวเลข 90 รายต่อสัปดาห์ตามขีดที่เราเฝ้าระวังกัน พวกเราก็ดูแลกันอย่างดี"

รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ปิยพงษ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยังมองว่าภูเก็ตเป็นพื้นที่ปลอดภัยแม้มีการรระบาดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

ระหว่างวันที่ 1 - 21 ก.ค. จ.ภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั้งหมดประมาณ 130 ราย เป็นการติดเชื้อในพื้นที่ 111 ราย และการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 19 ราย

นายปิยพงษ์กล่าวว่าขณะนี้ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 200 - 800 คนต่อวัน ทำให้มีนักท่องเที่ยวของโครงการสะสมที่ 9,358 คน และมียอดจองโรงแรมก็อยู่ที่ 244,703 รูมไนท์ ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้ทางจังหวัดมั่นใจว่าภูเก็ตยังได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางอยู่

เขาบอกว่าแม้จะมีการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดทั่วประเทศ แต่พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดอย่างภูเก็ตก็ยังนับว่าผ่อนคลายมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล

"เช่นการรับประทานอาหารก็อนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ แต่ก็พยายามทำมาตรการให้เข้มกว่าปกติเพื่อที่จะไม่ให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ" นายปิยพงษ์อธิบาย

ถึงแม้ว่าตัวเลขด้านรายได้จากการท่องเที่ยวภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ภาคเอกชนคาดว่ารายได้ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 1 ก.ค. อยู่ที่วงเงิน 200 ล้านบาท

นักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

"ภาพที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องการสื่อสารไปสู่ประชาคมชาวโลกก็คือ ภูเก็ตปลอดภัย แม้ประเทศไทยในภาพรวมจะถูกถอดออกจากรายชื่อประเทศที่ปลอดภัยจากทางอียู แต่ภาพที่เราพยายามสื่อก็คือภูเก็ตแยกออกจากค่าเฉลี่ยรวมของประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวก็ยังมากันอยู่และให้ความมั่นใจ" รองผู้ว่าฯ ภูเก็ตกล่าว

นักท่องเที่ยวกลุ่ม "แซนด์บ็อกซ์" ไปไหนกันบ้าง

มาถึงวันนี้ที่โครงการดำเนินไปได้ 3 สัปดาห์ ซึ่งตามมาตรการที่กำหนดว่าหลังจากอยู่ในภูเก็ตครบ 14 วันและตรวจไม่พบเชื้อ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางออกนอกภูเก็ตได้ แต่จากการสอบถามผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ต พบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางไปเที่ยวต่อในจังหวัดอื่น ๆ อย่างที่คาด หลายคนเดินทางกลับประเทศแล้วเพราะมีแผนท่องเที่ยวแค่ใน จ.ภูเก็ต

แต่ก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนที่เดินทางไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หลังจากที่โครงการท่องเที่ยว "สมุยพลัส" ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.ค. และบางส่วนก็เดินทางไปที่จังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติอีกกลุ่มหนึ่งที่แต่งงานกับคนไทยหรือมีบ้านพักในจังหวัดอื่น ๆ ของไทย ที่เดินทางเข้ามาตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อใช้ จ.ภูเก็ต เป็นที่กักตัว 14 วันก่อนแทนที่จะกักตัวที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ก่อนจะเดินทางไปหาครอบครัวในจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน

"ผมได้คุยกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและได้รับรายงานมาว่านักท่องเที่ยวที่อยู่ครบ 14 วันแรกมีการเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ สูงสุด 5 อันดับแรก คือ จ.สุราษฎร์ธานี จ.พังงา จ.กระบี่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชลบุรี ตามลำดับ" นายปิยพงษ์ให้ข้อมูล

หาดป่าตอง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

หาดป่าตองมีนักท่องเที่ยวบางตาช่วงโควิด

"ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เดินทางต่อและกลับประเทศต้นทางเลยถือเป็นส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะอยู่ที่ จ.ภูเก็ตไม่เกิน 11 วัน"

โดยตัวเลขสะสมของนักท่องเที่ยวจากโครงการนี้อยู่ที่ 9,358 คน และยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่อีกประมาณ 5,700 คน โดยในจำนวนนี้ มีนักท่องเที่ยวที่อยู่ครบกำหนดแล้วเดินทางไปจังหวัดอื่นเพียงแค่ 200 - 300 คน และส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศต้นทางกันหมด

ภูเก็ตโฉมใหม่หลังโควิดคลี่คลาย

การขาดนักท่องเที่ยวไปมากกว่าหนึ่งปีในเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจของจังหวัด แต่ในช่วงที่ภูเก็ตไร้เงานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีให้ผู้บริหารจังหวัดได้มีเวลาคิดถึงแผนการปรับปรุงการท้องเที่ยวในพื้นที่ให้ยั่งยืนขึ้น

นายปิยพงษ์เปิดเผยว่าทางจังหวัดมีแผนจะชูภูเก็ตให้เป็น "ผู้นำด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี" ที่คนทั้งโลกเดินทางมาเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ภูเก็ตกำลังเดินหน้า เพราะเห็นว่าการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาลท่องเที่ยว

"ภูเก็ตเคยเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองแห่งแสงสี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะลดน้อยลงไปหรืออยู่เฉพาะในพื้นที่ที่ควบคุมเอาไว้ ไม่ใช่ให้ภูเก็ตเป็นแบบนั้นทั้งเมือง เราอาจจะให้นักท่องเที่ยวหันมาดูธรรมชาติมากขึ้น" นายปิยพงษ์อธิบาย

อาหารพื้นเมืองภูเก็ต

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

อาหารพื้นเมืองภูเก็ตเป็นหนึ่งในสิ่งที่นักท่องเที่ยวที่แวะมาเยี่ยมเยือนนิยมมาเลือกชิมกัน

นอกจากนี้ภูเก็ตยังมีแผนจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "GEMMS" หลังจากที่การท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง โดยทางจังหวัดได้นำยุทธศาสตร์เสนอต่อรัฐบาลไปแล้วเพื่อขอความเห็นชอบในการดำเนินการ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะประกอบไปด้วย

Gastronomy เมืองแห่งความยั่งยืนทางอาหารที่ยูเนสโกได้มอบตำแหน่งนี้ให้กับภูเก็ตมา เป็นการชูโรงอาหารอร่อยที่มีอยู่ทั่วภูเก็ต และมีศักยภาพในการเป็นจุดมุ่งหมายแห่งการมาชิมอาหารในภูเก็ต

Education การเป็นเมืองแห่งการศึกษา เพราะภูเก็ตเป็นศูนย์รวมของโรงเรียนนานาชาติที่ได้มาตรฐานโลก และยังมีการศึกษาในระดับอาชีวะศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เช่น สอนการซ่อมเรือยอตช์หรือทักษะด้านการบริการ

Marina ชูความเป็นเมืองแห่งท้องทะเลและการเดินเรือ

Medical Hub ทำให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ มีแผนจะตั้งศูนย์ส่งเสริมและดูแลสุขภาพหรือ Wellness Centre บนพื้นที่ 140 ไร่

Sport and Activities ผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางของการจัดกีฬาและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ไตรกีฬาหรือการแข่งขันเรือยอตช์ที่ภูเก็ตเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว

เรือยอร์ช

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ป่าตองจะไม่เหมือนเดิม

ถ้ากล่าวถึง จ.ภูเก็ต หนึ่งในสิ่งที่ถือว่าเป็นพระเอกของเกาะนี้ก็คือเมืองป่าตองที่เป็นศูนย์กลางแห่งโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจบันเทิงกลางคืน และชายหาดที่สวยงามที่นักท่องเที่ยวนิยมไปมากที่สุดในภูเก็ต

นายณัฐพงศ์ เก็บทรัพย์ ประธานสภาเทศบาลเมืองป่าตอง นักธุรกิจหนุ่มที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่ถูกเลือกขึ้นมาอยู่ในระดับผู้บริหารที่อายุน้อยที่สุดของป่าตอง อาศัยช่วงที่การท่องเที่ยวซบเซาเพราะโควิด-19 ปรับปรุงป่าตองให้น่าอยู่ขึ้น และพร้อมรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

"สิ่งที่ป่าตองมองว่าสำคัญที่สุดก็คือหน้าบ้านของเรา ซึ่งในที่นี้หมายถึงถนนเลียบชายหาด เรามีการปรับภูมิทัศน์ สร้างแลนด์มาร์คและจุดเช็คอินเพิ่มเติม และอีกอย่างที่สำคัญต่อการยกระดับการท่องเที่ยวของภูเก็ตก็คือการทำให้ป่าตองเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนผ่านโครงการป่าตอง MICE City ซึ่งจะทำให้ป่าตองนำนักท่องเที่ยวเข้าได้ตลอดทุกเดือน" นายณัฐพงศ์กล่าว

ณัฐพงศ์ เก็บทรัพย์ ประธานสภาเทศบาลเมืองป่าตอง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ณัฐพงศ์ เก็บทรัพย์ ประธานสภาเทศบาลเมืองป่าตองตั้งใจที่จะระดับการท่องเที่ยวโดยทำให้ป่าตองเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ส่วนหนึ่งของแผนการปรับทัศนียภาพของป่าตองคือการแบ่งพื้นที่ป่าตองออกเป็น 3 ส่วนคือ พื้นที่ทำกิจกรรม พื้นที่สำหรับครอบครัว และพื้นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้แบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวได้เป็นสัดเป็นส่วนขึ้นมากขึ้น

หนึ่งในสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของเมืองป่าตองในช่วงที่ไร้นักท่องเที่ยวก็คือการฟื้นฟูสภาพของชายหาดป่าตองและทะเลที่สะอาดมากขึ้น

ด้านรองผู้ว่าฯ ปิยพงษ์กล่าวว่าไม่เพียงป่าตองเท่านั้นที่หันกลับมาดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เพราะทางจังหวัดตระหนักว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญและจัดให้เป็นพันธกิจกันดับต้น ๆ ในการพัฒนาภูเก็ตหลังวิกฤตโควิด