lördag 18 september 2021

ทะลุแก๊ส : สุรชาติ บำรุงสุข ชวนพินิจ “ม็อบโควิด” ที่ดินแดง ไร้แกนนำ ไร้จุดจบ

บีบีซีไทย - BBC Thai
9 tim

ทะลุแก๊ส : สุรชาติ บำรุงสุข ชวนพินิจ “ม็อบโควิด” ที่ดินแดง ไร้แกนนำ ไร้จุดจบ

  • เรื่องโดย กุลธิดา สามะพุทธิ, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ
dindeng

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่แยกดินแดงมีแนวโน้ม "ไม่จบ" เสนอให้ผู้มีอำนาจลองตั้งโจทย์ใหม่ด้วยการมองกลุ่ม "ทะลุแก๊ส" ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุร้าย

เศษขวดแก้วแตกเกลื่อนกลาด ร่องรอยกองเพลิงบนผิวถนน ซากป้อมตำรวจที่ถูกทุบทิ้งหลังมีคนจุดไฟเผา ข้อความระบายความโกรธแค้นรัฐบาลและตำรวจบนตอม่อทางด่วน... สามเหลี่ยมดินแดงวันนี้ไม่ได้เป็นแค่แยกจราจร แต่กลายเป็นสมรภูมิที่ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) มาปะทะกันแทบทุกค่ำคืน นับจาก 7 ส.ค. เป็นต้นมา

ช่วงแรก ๆ ความรุนแรงที่สามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพักของนายกรัฐมนตรี ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมหลักที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษาประชาชน เช่น กลุ่ม "ราษฎร" "เยาวชนปลดแอก" "ทะลุฟ้า" และ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" แต่หลังจากแกนนำของกลุ่มเหล่านี้ถูกจับกุมคุมขังในหลายคดี เมื่อต้นเดือน ส.ค. การชุมนุมเริ่มห่างหาย แต่การรวมตัวที่แยกดินแดงเพื่อขับไล่รัฐบาลยังเกิดขึ้นแทบทุกวันแบบไร้แกนนำ ไร้การปราศรัย ไร้กิจกรรมที่ชัดเจน และมักจบลงด้วยการถูก คฝ. สลายการชุมนุมด้วยน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และการล้อมจับ

การเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐแบบไม่หวั่นแก๊สน้ำตา กลายเป็นที่มาของชื่อกลุ่ม "ทะลุแก๊ส/แก๊ซ" ซึ่งไม่ปรากฏแน่ชัดว่าใครคือผู้ขนานนามนี้เป็นคนแรก หลายคนมองว่าเป็นกลุ่มวัยรุ่นหัวร้อนที่ "พร้อมบวก" กับ คฝ. เป็น "ม็อบรอระบาย" แต่แท้จริงแล้วพวกเขาคือใครกันแน่

บันทึกจากสามเหลี่ยมดินแดง

บีบีซีไทยเดินทางไปที่แยกดินแดงราว 5 โมงเย็นของวันที่ 16 ก.ย. มีเพียงรถพยาบาลและหน่วยกู้ชีพจอดอยู่ 2-3 คัน เราสาวเท้าต่อไปยังแฟลตดินแดงซึ่งอยู่ห่างจากแยกราว 200 เมตร ที่ใต้ถุนแฟลต มีเด็กวัยรุ่นชายหญิง 6-7 คนจับกลุ่มคุยเล่นกันอยู่ คนหนึ่งมีธงชาติคลุมไหล่ อีกคนนั่งเคาะโล่พลาสติกที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ เมื่อเดินเข้าไปถามว่ามาชุมนุมไล่รัฐบาลหรือเปล่า เขาและเธอตอบพร้อมกันแบบไม่ลังเลว่าใช่

คำบรรยายวิดีโอ,

เสียงจากผู้ชุมนุม “ทะลุแก๊ส”

สอบถามได้ข้อมูลว่าพวกเขาอายุ 16-18 ปี บางคนเพิ่งรู้จักกันในม็อบ บางคนเป็นนักเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) บางคนอยู่นอกระบบการศึกษา บางคนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป บางคนตกงาน พวกเขามากันจากหลายพื้นที่ทั้งสมุทรปราการ นนทบุรี ย่านอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ และบางคนพักอยู่ในแฟลตดินแดง พวกเขามาเจอกันที่นี่ทุกวัน ไม่ว่าจะมีประกาศนัดหมายชุมนุมหรือไม่

เมื่อถามว่าทำไมถึงมาชุมนุม พวกเขาแย่งกันตอบ "เพราะเกลียดตู่" "อะไรก็แย่ไปหมด" "โรงเรียนก็ไม่ได้ไป" "แล้วผมก็ตกงาน" "ถ้าไม่มีรัฐบาลนี้ก็ไม่มีม็อบ"

เสียงประทัดดังขึ้นใกล้ ๆ ทำให้บทสนทนาชะงักไปนิดหนึ่ง

"พวกเราไม่ได้มาเพื่อปะทะกับตำรวจ เรามาเพื่อแค่ให้ตู่ (ชื่อเล่นของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ออก" วัยรุ่นหญิงในกลุ่มพูด ก่อนที่เพื่อนชายของเธอจะเสริมว่าพอมาชุมนุมแล้วตำรวจใช้ความรุนแรงสลาย พวกเขาจึงต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตัวเอง "ไม่อย่างนั้นเราก็ถูกทำอยู่ฝ่ายเดียว"

คนหนึ่งในกลุ่มชื่อ "ต้อม" อายุ 18 ปี บอกว่าเขามาที่นี่ทุกวัน ถ้าไม่มีอะไรก็กลับที่พักย่านลาดพร้าว แต่ถ้า คฝ. เข้ามาสลายการชุมนุมก็ออกไปสู้ ถ้าดึกมากก็นอนที่ใต้ถุนแฟลตดินแดงนั่นเอง

ต้อมเล่าว่าเขาเป็นคน จ.สุรินทร์ เข้ามาทำงานรับจ้างขนของในกรุงเทพฯ หลายปีแล้ว เขามาชุมนุมกับกลุ่มทะลุแก๊สหลังได้ยินข่าวว่าเพื่อนรุ่นน้องถูก คฝ. ถีบรถมอเตอร์ไซค์ล้มจนได้รับบาดเจ็บ

คนเทน้ำใส่อีกคน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมล้างหน้าตา หลังถูกแก๊สน้ำตาเมื่อ 10 ส.ค.

เขารู้ว่าชาวแฟลตดินแดงเดือดร้อนจากการชุมนุม

"ผมก็ต้องขอโทษนะครับที่สร้างความเดือดร้อนให้ แต่ว่ามันไม่ไหวกันจริง ๆ ครับ... ถ้าเป็นลูกหลานของคุณถูก คฝ. ถีบ ถูกพวกตำรวจชนแล้วหนีอย่างนั้น คุณทนได้หรือเปล่า เป็นน้องของคุณ พวกคุณทนได้หรือเปล่า"

ใกล้ทางขึ้นแฟลต "เด่น" กำลังนั่งรอเพื่อนรุ่นพี่เอาประทัดยักษ์มาให้ เขายืนยันว่าตัวเองอายุ 18 ปี แต่เพิ่งอยู่มัธยมต้นเพราะเรียนซ้ำชั้น เขาบอกว่ามาร่วมชุมนุมเพราะต้องการให้นายกฯ ลาออก

"ตอนที่ไม่มีนายกฯ คนนี้ เศรษฐกิจมันก็ดีอยู่ พอนายกฯ คนนี้มาเศรษฐกิจมันก็ไม่ดีเลย ตอนแรกพ่อมีงานทำ แต่ตอนนี้ไม่มี ต้องมาขับรถส่งอาหาร"

เด่นเป็นหนึ่งในนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยเหตุผลที่ว่า "บ้านผมไม่มีเงินซื้อโทรศัพท์ให้ ก็เลยไม่มีอะไรให้เรียนออนไลน์เลยครับ"

เราเดินกลับไปที่แยกดินแดง ราว 6 โมงเย็น ผู้คนหนาตาขึ้น มีการตั้งเต็นท์ปฐมพยาบาล มีรถกระบะขนน้ำดื่มมาบริการ บางคนเดินแจกขนมให้คนที่เริ่มมารวมตัวกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวจนถึงวัยผู้ใหญ่ รวมทั้ง "ขาประจำ" อย่างนางวรวรรณ แซ่อั้ง หรือ "ป้าเป้า" ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยวัย 67 ปี

เตนท์พยาบาลมาเตรียมพร้อมรองรับกรณีมีผู้บาดเจ็บในระหว่างชุมนุม แม้วันที่ 16 ก.ย. จะอยู่ในช่วงที่เพจ "ทะลุแก๊ซ" ประกาศพักการชุมนุมก็ตาม แต่ก็มีวัยรุ่นเดินทางมารวมตัวกัน

ที่มาของภาพ, Kultida Samabuddhi/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

เตนท์พยาบาลมาเตรียมพร้อมรองรับกรณีมีผู้บาดเจ็บในระหว่างชุมนุม แม้วันที่ 16 ก.ย. จะอยู่ในช่วงที่เพจ "ทะลุแก๊ซ" ประกาศพักการชุมนุมก็ตาม แต่ก็มีวัยรุ่นเดินทางมารวมตัวกัน

"เอก" ชายหนุ่มวัย 28 นั่งผูกริบบิ้นสีแดงที่สกรีนข้อความว่า "อย่าเพิ่งยิง... กูเพิ่งมา" ที่แขนเสื้อ พร้อมกับทักทายเพื่อน ๆ ที่เดินผ่านไปมา

เอกบอกว่าเขาเป็นสมาชิกกลุ่ม "ทะลุแก๊ส" เคยทำงานเป็นเด็กปั๊ม แต่เพิ่งตกงานช่วงโควิดระบาด คนในครอบครัวก็ติดเชื้อ ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ เขาโทษว่าเป็นเพราะรัฐบาลบริหารงานล้มเหลว จัดหาวัคซีนล่าช้า จึงออกมาประท้วง แต่กลับถูกสลายการชุมนุม

"เรามาเรียกร้องในสิทธิของเรา แล้วเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลัง เพื่อน ๆ โดนจับอย่างงี้ ใช้ความรุนแรงอย่างงี้ (ตำรวจ) ขับรถชนเขาอย่างงี้ แล้วเขาบอกไม่เห็นได้ไง" เขาระบายความอัดอั้นที่มีต่อ คฝ. และบอกว่าแม้วันนี้คนออกมาชุมนุมอย่างประปราย ไม่เป็นขบวนใหญ่ แต่เขาเชื่อว่าคนที่ไม่พอใจรัฐบาลไม่ได้มีแค่กลุ่มทะลุแก๊ส และสักวันจะออกมารวมตัวกันประท้วงใหญ่

เราเดินจากแยกดินแดงมาทาง ถ. วิภาวดีรังสิตขาออก ใกล้ รพ. ทหารผ่านศึกมี คฝ. ชุดหนึ่งเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ อีกชุดหนึ่งปักหลักบนสะพานลอยข้าม ถ. วิภาวดีฯ เวลาประมาณ 21.30 น. วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันบริเวณแยกมิตรไมตรี มีการยิงหนังสติ๊กและปาระเบิดขวดไปในทิศทางที่ คฝ. ประจำการอยู่ แต่ไม่นานนักก็สลายตัวไปโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง

"ทะลุแก๊ส" ภาพสะท้อนชนชั้นกลางระดับล่าง

ไม่เพียงสื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง ที่ตั้งคำถามว่าผู้ประท้วงที่แยกดินแดงคือใคร นี่เป็นโจทย์ของคนสอนหนังสืออย่าง ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเช่นกัน ทว่านอกจากการหาคำตอบในเชิงตัวบุคคลว่าเป็นใครมาจากไหน สิ่งที่นักวิชาการผู้ปวารณาตัวเองเป็น "นักเรียนรัฐศาสตร์" ตลอดชีวิต ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือคนเหล่านั้นเป็นตัวแทนของชนชั้นใด

ทฤษฎีพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ถูกอาจารย์สุรชาติหยิบยกขึ้นมาอธิบายความหมายของชนชั้นกลางในฐานะพลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย หากปราศจากชนชั้นกลาง พูดประชาธิปไตยให้ตายก็ไม่มีความหมาย เพราะมีช่องว่างทางชนชั้น มีแค่ชนชั้นบนกับชนชั้นล่าง ในสภาวะเช่นนั้นสุดท้ายมันจะจบลงด้วยการปฏิวัติทางสังคม

จำเลย

ที่มาของภาพ, โครงการบันทึก 6 ตุลา

คำบรรยายภาพ,

สุรชาติ บำรุงสุข อดีตแกนนำนักศึกษาปี 2519 (คนที่ 2 จากทางขวา) กับเพื่อนรวม 18 คน ถูกฝากขังระหว่างต่อสู้คดีคอมมิวนิสต์และอื่น ๆ 11 ข้อหา โดยมีอัยการศาลทหารกรุงเทพนำทีมฟ้องคดี เมื่อ 25 ส.ค. 2520 ก่อนมี พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

จากนั้น ศ.ดร. สุรชาติได้ไล่เรียงเส้นเวลาในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นำความเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางไปทาบทับ พบว่าชนชั้นกลางเป็นแกนกลางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง แต่ก็พลิกผันสลับขั้วทางอุดมการณ์ไปมาตลอดเวลากว่า 4 ทศวรรษ

  • 14 ตุลา 2516 ชนะด้วยชนชั้นกลางที่ปรากฏตัวในรูปแบบขบวนการนิสิตนักศึกษา
  • 6 ตุลา 2519 ชนชั้นกลางสวิงขวา เพราะกลัวคอมมิวนิสต์ "ก่อนปราบ ชนชั้นกลางสนับสนุนกระแสขวา แต่พอเห็น 6 ตุลา ตกใจ ถ้าปราบขนาดนี้ ไทยเป็นโดมิโนตัวที่ 4 แน่ ก็เลยสวิงอีก"
  • พฤษภา 2535 ชัยชนะของชนชั้นกลางที่โค่นล้มเผด็จการลงได้ และทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540
  • 2548-2549 ชนชั้นกลางในเมืองสวิงขวาอีกครั้ง หลังถูกปลุกด้วยวาทกรรมรัฐบาลเป็นต้นเหตุแห่งการคอร์รัปชัน ก่อนจบลงด้วยรัฐประหาร 2549 แม้ชนชั้นกลางบางส่วนตัดสินใจอยู่กับกระแสประชาธิปไตย แต่ก็ถูกชนชั้นกลางปีกอนุรักษนิยมบดบังเอาไว้
  • 2556-2557 ชนชั้นกลางกลับไปอยู่ฝ่ายอำนาจนิยม และสนับสนุนรัฐประหาร 2557 แต่ครั้งนี้มีชนชั้นกลางอีกส่วนกล้าประกาศตัวสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย
  • 2563 เกิดกระแสประชาธิปไตยสูง ทำให้ชนชั้นกลางตื่นรู้ ก่อนกลับมาปรากฏการณ์ตัวในรูปแบบขบวนการนักเรียน นักศึกษา ประชาชน อีกครั้งแบบยุค 14 ตุลา
  • 2564 การประท้วงที่กรุงเทพฯ เคลื่อนตัวลงไปสู่ชนชั้นกลางในระดับล่าง สะท้อนผ่านกลุ่ม "ทะลุแก๊ส/แก๊ซ"

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข เมื่อ 16 ก.ย. 2564

"มันมีการแข่งขันระหว่างชนชั้นกลางสายอำนาจนิยมกับสายประชาธิปไตยมาโดยตลอด" และ "ชนชั้นกลางไทยเป็นคนเจ้าอารมณ์ ถูกอารมณ์เมื่อไร ฉันพร้อมจะไปด้วย ไม่ถูกอารมณ์เมื่อไร ฉันก็เท ฉันก็แกง แต่ถ้าถูกอารมณ์ก็เต็มที่ด้วย ก็คือเหตุการณ์พฤษภา 2535" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์สรุปอย่างย่นยอ

รถจักรยานยนต์คือพาหนะที่เห็นได้ทั่วไปในระหว่างการรวมตัวของกลุ่มทะลุแก๊ส

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

รถจักรยานยนต์คือพาหนะที่เห็นได้ทั่วไปในระหว่างการรวมตัวของกลุ่มทะลุแก๊ส

ภาพรถจักรยานยนต์ที่พาเยาวชนและคนหนุ่มสาวมุ่งสู่แยกดินแดง เสียงให้สัมภาษณ์ของ "เยาวรุ่นทะลุแก๊ส" ที่ปรากฏในสื่อหลายแขนงบ่งบอกระดับอายุ พื้นฐานทางการศึกษา และการขาดไร้สถานะทางสังคม คือหลักฐานที่ ศ.ดร. สุรชาติ ใช้สนับสนุนข้อสังเกตที่ว่ากลุ่มทะลุแก๊สคือชนชั้นกลางในระดับล่าง

"ม็อบทะลุแก๊สสะท้อนความต้องการของชีวิต และเป็นความต้องการของชีวิตที่ไม่ใช่แค่เรื่องของประชาธิปไตย แต่คือชีวิตของชนชั้นกลางระดับล่างที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ต้องตกงานยุคโควิด โดยที่รัฐไม่มีคำตอบให้แก่พวกเขาเลย"

ข้อเรียกร้องจากนักวิชาการรายนี้ถึงผู้มีอำนาจรัฐคือ "อยากให้เห็นรายละเอียดของชีวิตคนบ้าง อย่ารู้สึกว่าม็อบต่อต้านรัฐบาลมีนัยเดียว เป็นเหมือนกบฏ เหมือนผู้ก่อเหตุร้าย ถ้าคิดอย่างนี้ มันจะนำไปสู่การเมืองที่สุดโต่งขึ้นเรื่อย ๆ"

ข้อเรียกร้องหลังควันไฟ-ไอแก๊สน้ำตา

ท่ามกลางควันไฟและไอแก๊สน้ำตา ผู้คนในสังคมบางส่วนอาจกังขาและคลางแคลงใจต่อ "ปฏิบัติการทางการเมือง" ที่สามเหลี่ยมดินแดง

บางคำถาม อาจารย์สุรชาติแนะให้ "เลิกคิด" เช่น จะทำให้เสียขบวนของฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ พร้อมชี้ชวนให้มองอีกมุมว่า "ม็อบก็ถูก disrupt (ดิสรัปต์ - ได้รับผลกระทบจากปัจจัยผันผวน) เหมือนกัน" ทั้งจากสถานการณ์ไวรัสโควิด และกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้สังคมแตกออกเป็นส่วนย่อย คนรุ่นใหม่จึงไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตแบบมีการรวมศูนย์ เกาะกลุ่มใหญ่ โอกาสเกิดการชุมนุมขนาดใหญ่จึงเป็นเรื่องยาก

ตำรวจเปิดฉากใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางยาวนานหลาย ชม. เพื่อสกัดกั้นแนวร่วม "เยาวชนปลดแอก" ที่เคลื่อนพลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังบ้านพักนายกฯ เมื่อ 7 ส.ค. ก่อนกลายเป็นมาตรการประจำที่ตำรวจใช้จัดการกับผู้ประท้วงที่แยกดินแดง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจเปิดฉากใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางยาวนานหลาย ชม. เพื่อสกัดกั้นแนวร่วม "เยาวชนปลดแอก" ที่เคลื่อนพลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังบ้านพักนายกฯ เมื่อ 7 ส.ค. ก่อนกลายเป็นมาตรการประจำที่ตำรวจใช้จัดการกับผู้ประท้วงที่แยกดินแดง

เช่นเดียวกับความสงสัยที่ว่าการไปยึดพื้นที่ดินแดงทุกวันได้อะไรในทางการเมือง ซึ่งอดีตผู้นำขบวนการนักศึกษาปี 2519 อย่างสุรชาติบอกว่าเวลาคนตัดสินใจลงถนน ไม่มีคำถามนี้ เพราะเขาตัดสินใจสู้ และไม่ถอยกลับ

"มันไม่ใช่เรื่องของการแพ้-ชนะ แต่เขาออกมาเพื่อสื่อสารถึงรัฐบาล สำหรับผมการประท้วงคือ direct communication (การสื่อสารทางตรง) ระหว่างคนที่ประสบปัญหากับรัฐ พวกเขากำลังเรียกร้องให้รัฐหันมาสนใจกับข้อเรียกร้อง"

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสังคมอาจไม่เห็น "เนื้อหา" ที่กลุ่มทะลุแก๊สนำเสนออย่างชัดเจนนัก แต่รับรู้-จดจำ "รูปแบบ" ได้จากการเปิดฉากปะทะกับ คฝ. รายวัน จึงน่าสนใจว่าทั้งรัฐและคนวงนอก "สมรภูมิดินแดง" จะเข้าใจข้อเรียกร้องได้อย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักเรียนรัฐศาสตร์รุ่นอาวุโสยอมรับว่าการประท้วงที่ไม่มีแกนนำชัดเจน ทำให้ไม่รู้ว่าใครจะเป็นตัวแทนบอกกล่าวกับสังคมว่าเรียกร้องอะไร แต่หนึ่งในสิ่งที่เขาสดับตรับฟังและจับใจความได้คือผู้ประท้วงอยากเห็นการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนผู้นำ เพราะเชื่อว่าถ้ามีรัฐบาลใหม่ มีนโยบายที่ดีกว่านี้ จะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

"อย่ามองข้ามดินแดงโดยเราไม่เห็นอะไรเลย หรือมองเห็นดินแดงเป็นความรุนแรงอย่างเดียวเท่านั้น"

ปรากฏการณ์ใหม่ทั่วโลก กับการประท้วงไม่มีวันจบที่ดินแดง

ในขณะที่ขบวนการ "ราษฎร" ประกาศแนวทางการเคลื่อนไหวแบบ "ทุกคนคือแกนนำ" เมื่อปลายปีก่อน การเกิดขึ้นของชุมนุม "อิสระ-นิรนาม" ที่แยกดินแดงดูจะใกล้เคียงกับแนวทางดังกล่าวมากที่สุด ทว่าเมื่อภาวะไร้แกนนำเกิดขึ้นจริง ความรับผิดชอบทางการเมืองคล้ายเป็นสิ่งที่หายไป

คฝ. เข้าระงับเหตุวัยรุ่นขว้างปาวัตถุเข้าใส่กรมดุริยางค์ทหารบก ถ.วิภาวดี เมื่อ 13 ก.ย. ซึ่งต่อมาตำรวจระบุว่าเป็นระเบิดเพลิง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

คฝ. เข้าระงับเหตุวัยรุ่นขว้างปาวัตถุเข้าใส่กรมดุริยางค์ทหารบก ถ.วิภาวดี เมื่อ 13 ก.ย. ซึ่งต่อมาตำรวจระบุว่าเป็นระเบิดเพลิง

ศ.ดร. สุรชาติกล่าวว่า เมื่อการชุมนุมอยู่ในสถานะที่ไม่มีแกนนำชัดเจน มีนัยว่าผู้ร่วมชุมนุมทุกคนกลายเป็นแกนนำด้วยตัวเอง แล้วตกลงใครรับผิดชอบ คำตอบคือไม่มี ทว่าสภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยเป็นครั้งแรก แต่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการประท้วงในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประท้วงเสื้อแจ็กเก็ตสีเหลืองที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี 2561 หรือผู้ประท้วงที่ฮ่องกง ปี 2562 ที่ไม่มีแกนนำชัดเจนแบบในช่วง "ขบวนการร่ม" แต่ดึงคนออกไปชุมนุมด้วยประเด็นและความรู้สึกร่วม

"จากปารีสสู่ฮ่องกง จากฮ่องกงสู่บางกอก เรากำลังเห็นปรากฏการณ์การชุมนุมในอีกแบบหนึ่ง ในอนาคตคนอาจมีความต้องการผู้นำม็อบน้อยลง เพราะสุดท้ายคำตอบมันอยู่บนหน้าจอมือถือของเรา ข้อเรียกร้องถูกส่งผ่านมือถือ คนออกมาบนเงื่อนไขอันนั้น ไม่ใช่ออกมาเพราะผู้นำ"

แม้โดยทฤษฎี "การประท้วงคือความรุนแรงในตัวของมันเอง" แต่ในทัศนะของ ศ.ดร. สุรชาติ นี่อาจไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยยอมรับได้ เพราะมีการผลิตวาทกรรมแบบโลกสวยจำนวนมากและนำไปปิดวาทกรรมรัฐศาสตร์ แต่ถ้ามองเหตุการณ์ในเวทีโลกแล้วย้อนกลับมาดูไทย เขายืนยันว่าการประท้วงในบ้านเราไม่รุนแรงเท่าเวทีโลก แต่บังเอิญเราอยู่กับชีวิตที่ไม่ค่อยเผชิญ แล้วพอเผชิญก็ไม่ค่อยมีคำตอบ จึงตอบแบบเดิมว่าออกไปก็เจอแรงกดดันของตำรวจ เพราะรัฐมีอำนาจตามกฎหมาย มีทรัพยากร มีตำรวจไว้ปราบปรามการชุมนุมของฝูงชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดในทุกประเทศ แล้วก็ตอบคำถามแบบเดียวกันโดยที่ผู้ประท้วงส่วนหนึ่งก็ไม่ถอยกลับ

"วันนี้ตอบได้เลย เอาดินแดงเป็นตัวตั้ง นับจากวันนี้ยังไงดินแดงก็ไม่จบ เพียงแต่จะหาวิธีทำอย่างไรทำให้ทุกอย่างเบาบางลง"

เหตุที่ ศ.ดร. สุรชาติฟันธงเช่นนั้น เพราะเขาอธิบายมันผ่านประสบการณ์ชีวิตตัวเองในฐานะนักเคลื่อนไหวการเมืองในยุคก่อน ยิ่งผู้ชุมนุมถูกกระทำ ยิ่งรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มก้อน เมื่อเห็นผู้ชุมนุมด้วยกันโดนกระสุนยาง มันก็เกิดความคับแค้นทางจิตใจ

"เมื่อไรที่คนเกิดความรู้สึกความคับแค้นทางจิตใจ ผมว่าคือโจทย์ที่น่ากลัวที่สุด เพราะความคับแค้นชุดนี้สามารถพาอารมณ์ทางการเมืองของคนไปสู่อะไรก็ได้"

 การเผายางรถยนต์เป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระหว่างการชุมนุมของแนวร่วมทะลุแก๊ส ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 12 ก.ย.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

การเผายางรถยนต์เป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระหว่างการชุมนุมของแนวร่วมทะลุแก๊ส ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 12 ก.ย.

ในขณะที่ "เยาวรุ่น" ไม่กังวลต่อการพาตัวเองเข้าสู่แดนอันตราย นักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ที่เฝ้าอยู่หน้าจอโทรทัศน์รู้สึก "กลัวแทนน้อง ๆ" การผ่านประสบการณ์ 6 ตุลา 2519 ทำให้สุรชาติไม่ต้องการเห็นชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องเสียไป เพราะคนกลุ่มหนึ่ง/รัฐเชื่อว่าผู้เรียกร้องเหล่านั้นเป็นเหมือนกบฏ ผู้ก่อจลาจล

"ไม่ใช่ม็อบ" vs "ม็อบชนม็อบ"

แอดมินเพจ "ทะลุก๊าซ" เคยให้คำจำกัดความไว้ว่าอาวุธเดียวที่ผู้ชุมนุมใช้ตอบโต้รัฐคือ "สันติวิธีเชิงตอบโต้" แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกมันว่า "สิ่งประดิษฐ์เทียมอาวุธ" และระบุว่ามีการใช้อาวุธจริงในกลุ่มผู้ประท้วงด้วย สามารถยึดของกลางได้หลายรายการ

หลังเหตุปะทะที่แยกดินแดงทุกครั้ง พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. มักเปิดแถลงข่าวชี้แจงปฏิบัติการควบคุมฝูงชน มีเนื้อหาคล้ายกันคือตำรวจจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนที่ "ไม่ใช่ม็อบ" แต่เป็น "ผู้ใช้ความรุนแรง" และ "ผู้ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง" เนื่องจากมีการก่อความไม่สงบ ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ

"ที่สามแยกดินแดง ยังคงมีการก่อเหตุความไม่สงบเรียบร้อยอยู่เช่นเดิม โดยกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่าทะลุแก๊ส และอื่น ๆ มีการขว้างปาสิ่งของ จุดพลุเพลิง พลุไฟ มีการปาระเบิดแสวงเครื่อง ไปป์บอมบ์ ใส่สถานที่ราชการและสถานที่อื่น ๆ รวมทั้ง รพ.ทหารผ่านศึกและสถานศึกษาอื่น ๆ ในบริเวณนั้น มีการทุบทำลายสิ่งของที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อสาธารณะและทรัพย์สินของเอกชน และมีการก่อความเดือดร้อนให้ประชาชนด้วยประการอื่น ๆ เช่น การกีดขวางการจราจร จุดไฟ เพื่อขัดขวางการจราจร มีการโรยตะปูเรือใบในพื้นที่ต่าง ๆ" พล.ต.ต. ปิยะสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.ย.

บช.น. สรุปภาพรวมล่าสุดว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค.-15 ก.ย. มีคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม 207 คดี มีผู้ต้องหา 770 คน จับกุมแล้ว 525 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างติดตามตัว

ตำรวจแสดงของกลางที่ยึดได้ หลังจับกุมผู้ชุมนุมที่ดินแดง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจแสดงของกลางที่ยึดได้ หลังจับกุมผู้ชุมนุมที่ดินแดง

นอกจากนี้ยังมีคำยืนยันหลายกรรมหลายวาระว่าปฏิบัติการของตำรวจเป็นไปตามหลักสากล พล.ต.ท. ภัคพงศ์บอกว่า "เจ้าหน้าที่ใช้เพียงเครื่องมือที่ได้รับการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี มีขั้นตอนการปฏิบัติ และไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต"

แต่ถึงกระนั้นได้เกิดบางเหตุการณ์ที่เรียกเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากกรณีผู้ชุมนุมกล่าวหาว่า คฝ. ไล่ถีบมอเตอร์ไซค์ของผู้ชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บ และกรณีตำรวจขับรถควบคุมผู้ต้องหาพุ่งชนผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์คันหนึ่งที่คาดว่าเป็นแนวร่วมทะลุแก๊สเมื่อ 12 ก.ย.

กรณีแรก พล.ต.ต. ปิยะปฏิเสธว่าเป็น "ข่าวปลอม" ส่วนกรณีหลัง ยอมรับว่าเป็นรถของตำรวจจริง แต่เหตุเกิดจากขณะที่ขับผ่านจุดเกิดเหตุ ได้มีกลุ่มคนวิ่งเข้ามาทุบตีรถ ตำรวจจึงต้องรีบขับหนี แล้วไปชนรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับมา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้ถูกชนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

เมื่อย้อนกลับไปมองผ่านสายตาของนักวิชาการด้านความมั่นคง ศ.ดร. สุรชาติเห็นว่ายุทธวิธีที่ฝ่ายความมั่นคงใช้จัดการพื้นที่ดินแดง "มีอารมณ์" เจืออยู่ ลักษณะการปราบมีทั้งการใช้รถพุ่งชน และเริ่มปรากฎชัดเจนว่าไม่ใช่ขั้นตอนปกติ ไม่ใช่มาตรการการควบคุมฝูงชนตามหลักวิชาการ

"สำหรับผมที่ดินแดงคือ 'ม็อบชนม็อบ' ระหว่างม็อบ คฝ. กับม็อบน้อง ๆ ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่อีกฝ่ายมีเครื่องแบบ อีกฝ่ายมีมากที่สุดคือประทัดกับพลุ"

แอดมินเพจ "ทะลุแก๊ซ" กระบอกเสียงของผู้ชุมนุมรุ่นเยาว์เคยระบุว่า พวกเขาเป็นกลุ่มใหม่กลุ่มย่อยที่รวมกันเฉพาะกิจ แต่นักวิชาการเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดินแดงมีแนวโน้มยืดเยื้อและไม่มีวันจบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

แอดมินเพจ "ทะลุแก๊ซ" กระบอกเสียงของผู้ชุมนุมรุ่นเยาว์เคยระบุว่า พวกเขาเป็นกลุ่มใหม่กลุ่มย่อยที่รวมกันเฉพาะกิจ แต่นักวิชาการเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดินแดงมีแนวโน้มยืดเยื้อและไม่มีวันจบ

เขาเรียกร้องให้รัฐเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และต้องคิดเสมอว่าคนมีอำนาจต้องเป็นผู้ริเริ่มแก้ปัญหา อย่าเรียกร้องให้คนไม่มีอำนาจเริ่มแก้ปัญหา เพราะคนไม่มีอำนาจเริ่มแก้ปัญหาไม่ได้

"ผมอยากเห็นผู้ใหญ่เดินออกจากโลกเก่า แล้วทำความเข้าใจกับโลกใหม่ของคนรุ่นใหม่ โดยไม่ต้องมี คฝ. ตามมา"

"ห้องสอบของ พล.อ. ประยุทธ์"

สำหรับ ศ.ดร. สุรชาติ "ดินแดงคือห้องสอบของ พล.อ. ประยุทธ์" รัฐบาลจะทำข้อสอบชุดนี้อย่างไร

"เรายังไม่เคยตีความว่าม็อบดินแดงเป็นม็อบโควิด สำหรับผมม็อบดินแดงเป็นภาพสะท้อนชุดหนึ่งของการประท้วงในยุคโควิดที่เกิดในหลายสังคม แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่ต้องไม่ลืมว่าเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ยืนหรือเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19"

"มองอีกมุมได้ไหมว่าม็อบดินแดงก็แค่ม็อบโควิด คุณไม่ตีไม่ได้หรือ ไม่ยิงไม่ได้หรือ ในเมื่อเป็นม็อบโควิด คุณแก้ปัญหาโควิดสิ"

ในความเห็นของผู้เรียน-ผู้สอนหนังสือสาขาสังคมศาสตร์มาทั้งชีวิต "ทางชนะของรัฐบาล" คือแก้ไขปัญหาโควิดได้ เปิดประเทศได้ เศรษฐกิจกลับมาฟื้น คนกลับมามีงานทำ ซึ่งจะทำให้ข้อเรียกร้องบนท้องถนนตกไปโดยปริยาย

"รัฐบาลไม่ได้ชนะม็อบ แต่รัฐบาลชนะเพราะสามารถพาชีวิตคนกลับไปมีงานทำได้ น้อง ๆ เหล่านี้ก็มีงานทำ มันก็ตอบโจทย์ของพวกเขา แปลว่าโจทย์ของจริงที่ดินแดงคืออยากเห็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในการบริหารรัฐ รัฐบาลที่สามารถฟื้นชีวิตทางสังคมของคนไทยได้"

การชูนิ้วมือเป็นอักษรรูปตัว "วี" อันหมายถึงการฉีดวัคซีน และชัยชนะ กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำของนายกรัฐมนตรีไทย

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ,

การชูนิ้วมือเป็นอักษรรูปตัว "วี" อันหมายถึงการฉีดวัคซีน และชัยชนะ กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำของนายกรัฐมนตรีไทย

ท้ายที่สุดหากรัฐบาลทำข้อสอบได้ โจทย์ที่ตามมาคือจะจัดการกับความโกรธแค้นที่อุบัติขึ้นในใจของแนวร่วมทะลุแก๊สอย่างไร

ศ.ดร. สุรชาติเสนอให้ใช้กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง (truth commission) อย่างที่เกิดในหลายประเทศ ทว่าปัญหาของไทยคือไม่มีวัฒนธรรมของการไต่สวนทางการเมือง และเป็นสังคมหน้าตา จึงไม่มีใครเคยเห็นรายงานการไต่สวนเหตุการณ์พฤษภา 2535 แม้ผ่านมา 30 ปีแล้วก็ตาม ทำให้เสียโอกาสในการสร้างกติกา ดังนั้นหากฝ่ายประชาธิปไตยชนะ อาจต้องคิดถึงการสร้างกติกาการประท้วงใหม่ทั้ง 2 ฝั่ง

"รัฐต้องรู้ว่าไม่มีสิทธิใช้ความโกรธแค้นในการปราบ เพราะเมื่อใดที่ใช้ความโกรธแค้นควบคุมฝูงชน จะทำให้สถานการณ์ไม่จบด้วยตัวของมันเอง" เขากล่าวทิ้งท้าย

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar