söndag 24 oktober 2021

"ปฏิรูปสมัย ร.5 ไม่ใช่เพื่อเอกราช แต่เพื่อ 'การเมืองภายใน'"

 วันปิยมหาราช ขอให้เข้าใจ ร.5 ว่า "ปฏิรูปสมัย ร.5 ไม่ใช่เพื่อเอกราช แต่เพื่อ 'การเมืองภายใน'" คือ ยึดอำนาจเจ้าในอาณาจักรต่างๆ ทำให้กรุงเทพฯ มีอำนาจเหนือดินแดนต่างๆ ทั้งทางโลกและทางสงฆ์ สร้างอาณานิคมสยาม พวกเราต่างตกเป็นอาณานิคมของสยาม


ปฏิรูปสมัย ร.5 ไม่ใช่เพื่อเอกราช 'ธงชัย' ชำแหละตัวอย่างแต่ละด้าน ชี้เพื่อ 'การเมืองภายใน'

2021-06-17

ประชาไท

ปฏิรูปสมัย ร.5 ไม่ใช่เพื่อเอกราชของชาติ 'ธงชัย' ชำแหละตัวอย่างแต่ละด้าน - ชี้เพื่อการเมืองภายใน 3 ประการ - สร้าง 'ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์' และ 'ความเป็นศิวิไลซ์' ที่ไม่ยอมให้ 'เสื่อมเสียพระเกียรติ'

พล็อตหลักประวัติศาสตร์ตามขนบ - ปฏิรูป สมัย ร.5 ทั้งหมดเพื่อ 'เอกราช'

ชี้ผลประโยชน์เพื่อ 'การเมืองภายใน' 3 ประการ ไม่ใช่ปฏิรูปเพื่อรักษา 'เอกราช'

'ปฏิรูประบบภาษี' หยุดความกระจัดกระจายจัดเก็บแบบศักดินา เข้าสู่ศูนย์กลางที่เดียวคือ 'กษัตริย์'

'กองทัพสมัยใหม่' ที่เสริมพระเกียรติแต่ไม่เคยรบ - 'การศึกษา' เพื่อความเป็นปึกแผ่นสลายความแตกต่างหลากหลาย

'เลิกไพร่ทาส' ดีต่อเจ้านายและขุนนางโดยเฉพาะ 'วังหลวง' บริหารคน-สลายฐานกำลัง

'ปฏิรูปหัวเมือง' ส่งคนไปปกครอง จุดจบระบบบรรณาการ หนึ่งในกระบวนการสร้าง 'ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์'

เสื่อมเสียพระเกียรติไม่ได้ กระบวนการเป็น 'ฝรั่ง' ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่อง 'อธิปไตย' ในความหมายสมัยใหม่


17 มิ.ย.2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า ช่วงคำ่ของวานนี้ ( 16 มิถุนายน) คณะก้าวหน้า โดย คอมมอน สคูล (Common school) จัดกิจกรรม “ตลาดวิชาอนาคตใหม่” เปิดบรรยายหลักสูตร วิชา ประวัติศาสตร์นอกขนบ รายวิชาย่อย สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม ซึ่งเป็นการบรรยายครั้งที่ 3 แล้ว โดย ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ Wisconsin Madison สหรัฐอเมริกา บรรยายในหัวข้อ รัฐสมัยใหม่และการปฏิรูปเพื่อเอกราชหรือ? โดยมี คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ดำเนินรายการ

พล็อตหลักประวัติศาสตร์ตามขนบ - ปฏิรูป สมัย ร.5 ทั้งหมดเพื่อ 'เอกราช'

ธงชัย กล่าวว่า ประวัติศาสตร์การปฏิรูปประเทศสมัย ร.5 พล็อตหลักของประวัติศาสตร์ตามขนบจะบอกว่า เพราะลัทธิอาณานิคมคุกคาม จึงต้องปฏิรูปให้ทันสมัย เพื่อรักษาเอกราชของชาติไทย ส่วนรายละเอียดต่างกันไปว่าจะปฏิรูปอะไร เช่น การปฏิรูปหัวเมือง ก็จะบอกว่าเรามีดินแดนชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ขีดเส้นเพราะเทคโนโลยีแผนที่ยังไม่ทันสมัย ดังนั้น จึงเป็นการกระชับอำนาจซึ่งเคยมีแบบหลวมๆ สู่ศูนย์กลางเพื่อรักษาเอกราช ไม่ให้ถูกมหาอำนาจแย่งชิง หรือเรื่องการทูตของสยามกับประเทศต่างๆ ก็เพื่อรักษาเอกราชทั้งนั้น ขณะที่การปฏิรูประบบราชการ กรม กอง ต่างๆ ก็มีการพูดถึงมากมาย เช่นเดียวกับการศึกษาผลงานของชนชั้นนำสมัย ร.5 ที่ดูแลกิจการด้านนั้น ๆ และก็สรุปว่า ความเจริญนี้มีส่วนช่วยให้รักษาเอกราชไว้ได้อย่างไร นี่เป็นพล็อตหลัก

“ประวัติศาสตร์แบบนี้ โดยปริมาณก็สามารถคอบครองพื้นที่มหาศาลแล้วในความรู้ประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับสมัยนั้น จนกลายเป็นเรื่องเล่าหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ที่สามารถแตกหน่อไปได้หลายเรื่อง และยังครอบครองเป็นด้านหลักของความรู้ของคนไทยทั่วไป เกี่ยวกับการปฏิรูป การเข้าสู่สมัยใหม่ ว่ามีส่วนสร้างความเจริญที่ทันการ ช่วยรักษาเอกราชไว้ได้ ซึ่งความเชื่อแบบนี้ เอาเข้าจริงเป็นแค่การคาดคะเนตามตรรกะ ไม่ได้มีข้อเท็จจริงที่รองรับอย่างตรงไปตรงมา แต่ได้กลายเป็นสมติฐานว่า ทุกปฏิบัติการสำคัญในช่วงเวลานั้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ต้องการรักษาเอกราชไว้ทั้งนั้น” ธงชัย กล่าว

'ธงชัย' ชี้ 'ประวัติศาสตร์เสียดินแดน' วิธีวิทยาผิดฝาผิดตัว ผิดยุคสมัย และไม่เข้ากับข้อเท็จจริง

'ธงชัย' แนะ '3 แต่' ทลายกรอบประวัติศาสตร์กระแสหลัก - ชี้ชนนำสยามเปิดรับเจ้าอาณานิคมเหตุได้ประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง

ชี้ผลประโยชน์เพื่อ 'การเมืองภายใน' 3 ประการ ไม่ใช่ปฏิรูปเพื่อรักษา 'เอกราช'

ธงชัย กล่าวว่า ฐานความเข้าใจเบื้องต้นของประวัติศาสตร์ตามขนบที่แทบไม่ต้องพิสูจน์เกี่ยวกับการปฏิรูปคือว่า ชาติไทยดำรงอยู่มานานหลายร้อยปี แต่ยังด้วยพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านต่างๆ เท่านั้นเอง การปฏิรูปนอกจากทำให้รอดพ้น ยังนำพาชาติไทยทัดเทียมชาติพัฒนาด้วย ทั้งที่คำว่า ชาติ เราเพิ่งเป็นชาติมาไม่นาน แต่อย่างไรก็ตาม 30 ปีหลัง เริ่มมีการศึกษาที่หันเหออกจากแบบฉบับตามขนบ สู่ข้อถกเถียงคือ เพื่อรักษาเอกราชหรือ? หรือถ้าจะพูดให้เบาลงหน่อยคือ เพื่อรักษาเอกราชแค่นั้นหรือ? มีวัตถุประสงค์อื่นที่ประวัติศาสตร์ตามขนบพูดถึงน้อย หรือทำให้เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งสรุปได้ว่า การปฏิรูปสมัย ร.5 เพื่อผลประโยชน์การเมืองภายใน 3 ประการ คือ 1.การปฏิรูประบบราชการ และการพัฒนาวัตถุต่างๆ ให้ทันสมัย 2.การปฏิรูปการปกครองหัวเมือง และ 3.การปฏิรูปเพื่อความศิวิไลซ์ โดยในสองประการแรกคล้ายกับที่ประวัติศาสตร์ตามขนบกล่าว แต่วิพากษ์เพิ่มเข้าไปว่า เป็นกระบวนการทำให้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะที่ประกาศที่สามเป็นสิ่งที่ตนเองเสนอเพิ่มเติม

“ประการแรก การปฏิรูปบริหารราชการ เทคโนยีและสังคม เป็นด้านหนึ่งของการสร้างรัฐรวมศูนย์สมัยใหม่ และการปฏิรูปจิปาถะ ไม่ว่าจะเป็น การจัดเก็บภาษี, กองทัพสมัยใหม่, การต่างประเทศ, การศึกษา, การเลิกไพร่ทาส, การเกษตร , ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชน เป็นต้น หลายกรณีมาก เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ ของฝักฝ่ายในกลุ่มชนชั้นปกครองของสยาม ทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เรื่องของอำนาจ หรือแม้แต่สนองอุดมการณ์ความเชื่อของกลุ่มตัวเองที่อยากเห็นด้วย” ธงชัย กล่าว

'ปฏิรูประบบภาษี' หยุดความกระจัดกระจายจัดเก็บแบบศักดินา เข้าสู่ศูนย์กลางที่เดียวคือ 'กษัตริย์'

ธงชัย กล่าวว่า ในประการแรกนี้อยากยกตัวอย่างการปฏิรูปบางด้าน ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการรักษาเอกราชอย่างแน่นอน อาทิ การปฏิรูประบบจัดเก็บภาษี ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อรายได้จากภาษี เพราะที่เป็นอยู่ การจัดเก็บรายได้นั้นกระจายแบบระบบการปกครองแบบศักดินา ภาษีและรายได้จำนวนมากอยู่ในขุนนางระดับต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและหัวเมือง ที่สำคัญคือ ไปอยู่ในมือขุนนางใหญ่จนกระทั่งวังหลวงขาดแคลนรายได้ หรือเสียเปรียบขุนนางที่ร่ำรวยนั้น จึงปรับระบบการจัดเก็บ ประมวลรายได้ทั้งหมดรวมศูนย์วังหลวงหรือพระองค์เอง ซึ่งเป็นเรื่องแรกๆ ที่ทำหลังขึ้นหลัง ร.5 ครองราชย์ นี่เป็นเรื่องใหญ่ของรัฐ เพราะเหตุผลเรื่องรายได้ของตนขาดแคลนเมื่อเทียบกับของขุนนาง ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าภัยคุกคามกับฝรั่งเศส

“การจัดเก็บภาษี ไม่ได้มีผลโดยตรงกับการเสียเอกราช หรือต่อรองกับตะวันตกอะไรเลย ที่สำคัญ ยังนำไปสู่การขัดแย้งภายในราชสำนักที่รุนแรงขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่วิฤตการณ์วังหน้า ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 2 ปี หลังการจัดเก็บภาษีใหม่ วังหลวงกับวังหน้า ประจัญหน้าจนเกือบจะรบกัน กรณีนี้ชนชั้นนำสยามถึงกับเปิดทางให้ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่สิงคโปร์เป็นผู้ไกล่เกลี่ยด้วยซ้ำ ดังนั้น ชัดว่าการปฏิรูประบบภาษีซึ่งเป็นหัวใจรัฐสมัยใหม่ จึงไม่ใช่เพื่อรักษาเอกราชอย่างแน่นอน” ธงชัย กล่าว

แฟ้มภาพ

'กองทัพสมัยใหม่' ที่เสริมพระเกียรติแต่ไม่เคยรบ - 'การศึกษา' เพื่อความเป็นปึกแผ่นสลายความแตกต่างหลากหลาย

ธงชัย กล่าวต่อว่า การปฏิรูปต่อมาคือเรื่องกองทัพสมัยใหม่ มีงานศึกษาที่ชี้ชัดว่า กำเนิดกองทัพประจำการ แทนกองทัพไพร่ราบทหารเกณฑ์แบบศักดินา เริ่มต้นด้วยทหารราชองครักษ์ของพระมหากษัริย์เพื่อเป็นการเสริมพระเกียรติยศ กองทัพสมัยใหม่ที่เป็นทหารประจำการ ได้เงินเดือน ติดอาวุธทันสมัย เป็นทหารเพื่อเสริมพระเกียรติยศ ภารกิจของกองทัพสมัยใหม่ของไทย ณ จุดเริ่มต้น แยกไม่ออกจากเกียรติยศของชาติที่ตอนนั้นชาติหมายถึงกษัตริย์ แต่กลับแยกออกจากภารกิจการป้องกันประเทศ ซึ่งไม่แน่ใจว่านับแต่นั้นจนบัดนี้ กองทัพไทยทำการรบเพื่อป้องกันประเทศกี่ครั้ง เรามีทหารโดยเฉพาะจำนวนนายพลมหึมา ทุ่มกับงบประมาณมหาศาล ไม่ชัดว่ามีความสามารถแค่ไหน เพียงแค่พูดในข้อเท็จจริงว่าเราทำการรบป้องกันประเทศ หรือมีภารกิจจำเป็นที่ต้องมีขนาดกองทัพหรือขนาดอาวุธเพื่อป้องกันประเทศสมน้ำสมเนื้อกันหรือ?

“การปฏิรูปต่อมาคือ การศึกษา ที่ว่าช่วยให้ประเทศเป็นปึกแผ่นมีส่วนช่วยรักษาเอกราช ถูกอยู่ที่ว่ามีส่วนสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น แต่เป็นการรักษาเอกราชหรือ ? เราสามารถมองว่ากระบวนการเดียวกัน ผนึกความรู้ให้เป็นแบบเดียวกัน อาจจะเป็นไปเพื่อการเมืองภายในก็ได้ คือกระบวนการที่นักวิชาการเรียกว่า Russiafication หมายถึงสลายความต่างของภาษาและวัฒนธรรมที่หลากหลายมาก ให้คนเหล่านั้นรับอิทธิแบบที่กรุงเทพกำหนดขึ้นมา นี่คือหน้าที่ของระบบการศึกษาช่วงนั้น คือสลายความแตกต่าง ภาษา วัฒนธรรม ให้ภาษาวัฒนธรรมกรุงเทพขยายเข้าสู่ดินแดนต่างๆ และบริเวณต่างๆ ซึ่งเคยอยู่ภายใต้ภาษาวัฒนธรรมของเจ้าประเทศราช” ธงชัย กล่าว

'เลิกไพร่ทาส' ดีต่อเจ้านายและขุนนางโดยเฉพาะ 'วังหลวง' บริหารคน-สลายฐานกำลัง

ธงชัย กล่าวว่าต่อมาคือเรื่อง การเลิกไพร่ทาส ที่ดูเผินๆ เป็นเรื่องปลดปล่อยมนุษย์ให้เท่าเทียมกัน แต่มีผู้ศึกษาไว้มากพอควรแล้วว่า ที่จริงเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสยามที่อาจย้อนไปได้ตั้งแต่ปลายอยุธยาต่อเนื่องมาจนต้นรัตนโกสินทร์ที่มีแรงงานจีนหลั่งไหลเข้ามาในสยามจำนวนมาก จึงพบว่า แรงงานรับจ้างเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อควบคุมแรงงานไพร่ เป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการเกณฑ์ไพร่มาทำงานหลวง หมายความว่า ปล่อยให้ไพร่ไปทำการผลิตของตน ในที่นาตนเอง แล้วส่งเงินให้หลวงแทนการเกณฑ์แรงงาน เมื่อหลวงได้เงินก็เอาไปจ่ายแรงงานรับจ้างชาวจีนให้ทำงานหลวงแทน คนจีนที่เข้ามาก็ต้องการทำงานทำ วิธีนี้ดีกับทุกฝ่าย จึงมีผลให้การเกณฑ์แรงงานไพร่เริ่มเสื่อมสลายในทางปฏิบัติ

“ส่วนเรื่องทาส ที่มีความสำคัญคือ การครบครองทาสสมัยนั้นเป็นการซ่องสุมกำลังคนของขุนนางที่ร่ำรวยและเจ้าที่ร่ำรวย จนหลายครั้งมีอำนาจท้าทายต่อวังหลวง เป็นการคุกคามต่อวังหลวง และอีกอย่าง การมีทาสที่เยอะไปก็เสียค่าใช้จ่ายเยอะ ถ้าเจ้าทาสดูแลไม่ดี จัดการไม่ดีก็อาจเป็นภาระได้ ดังนั้น การเลิกไพร่ทาสดีสำหรับเจ้านายและขุนนางจำนวนหนึ่ง และที่สำคัญ ยังเป็นการสลายฐานกำลังขุนนาง สร้างระบบบริหารกำลังคน พูดแบบสมัยใหม่คือการจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้กลับมาอยู่ในวังหลวงแทน ซึ่งก็ชัดอีกว่าไม่เกี่ยวกับการรักษาเอกราช” ธงชัย กล่าว

 'ปฏิรูปหัวเมือง' ส่งคนไปปกครอง จุดจบระบบบรรณาการ หนึ่งในกระบวนการสร้าง 'ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์'

ธงชัย กล่าวอีกว่า ประการที่ 2 การปฏิรูปหัวเมือง คือการที่กรุงเทพส่งคนไปปกครอง ดูแลประเทศราชโดยตรง จากแต่เดิม ศูนย์กลางจักรวรรดิไม่เคยส่งคนปกครอง แต่เรียกส่วยบรรณาการ หรือเกณฑ์คนถ้าหากต้องการแรงงาน บรรณาการที่บ่อยครั้งเป็นสินค้าอย่างของป่าที่เอาไปขายต่อ บางอย่างเพื่อความมั่นคงเช่น ดินปืน กำมะถัน บางอย่างคือเพื่อส่งออก คือข้าว และเรื่องต้นไม้เงินต้นไม้ทอง หรือ บุหงามาศ ต้นแค่ฟุตเดียวนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ที่ว่ายอมสวามิภักดิ์ต่อองค์อธิราช คือราชาที่เหนือว่าราชา ที่แต่เดิมทำแค่นั้น แต่การปฏิรูปสมัย ร.5 คือ ส่งคนไปปกครองโดยตรง จนในที่สุดมีข้าหลวงปกครองโดยตรง แล้วตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นมา และสำเร็จในปี 2435

“ทั้งประการที่ 1 คือ การปฏิรูประบบราชการ การพัฒนาวัตถุต่างๆให้ทันสมัย และประการที่ 2 คือการปฏิรูปหัวเมือง ทั้งสองข้อนี้ จุดประสงค์สำคัญที่สุดคือการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไม่ใช่รัฐประชาชาติ” ธงชัย กล่าว

 เสื่อมเสียพระเกียรติไม่ได้ กระบวนการเป็น 'ฝรั่ง' ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่อง 'อธิปไตย' ในความหมายสมัยใหม่

ธงชัย กว่าวว่า ประการที่ 3 การปฏิรูปเพื่อความศิวิไลซ์ อาจเหมือนว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ ก็แค่ชนชั้นนำเห่อฝรั่ง แต่ตนเสนอว่า นี่ไม่ใชเรื่องเล็ก และเกี่ยวพันกับการปฏิรูปเพื่อความทันสมัยในสมัย ร. 5 อย่างยิ่ง เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมชนชั้นนำที่ไล่ตามความทันสมัย จนอาจระบาดมาถึงชนชั้นกลางรุ่นหลังอย่างเราด้วย เพราะการไขว่คว้าหาความศิวิไลซ์นั้น เป็นเรื่องของการสร้างสถานะของเจ้ากรุงเทพให้เทียบเคียงได้กับชนชั้นนำประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะตะวันตก และเพื่อให้ชนชั้นนำสยามอยู่ในสถานะที่สูงกว่าชนชั้นนำประเทศราชทั้งหลาย รวมถึงราษฎรอย่างพวกเรา เพราะสถานะเป็นเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคมที่อำนาจและอภิสิทธิ์ขึ้นอยู่กับความสูงต่ำของคน ตามความคิดฮินดู-พุทธแบบเดิมซึ่งกษัตริย์องค์ต่างๆ มีสถานะลดหลั่นกันตามแต่บุญบารมี

“การที่เป็นเจ้าจักรวรรดิ เป็นองค์อธิราชนั้น ถือว่ามีเอกราชและมีอิสรภาพ ซึ่งเอกราชในความหมายนี้คือ ราชาที่เป็นหนึ่ง ส่วน อิสรภาพ คือ สภาวะที่ราชาเปรียบเสมือนพระอิศวร ทั้งสองคำนี้ในความหมายดั้งเดิมไม่ได้หมายถึงอำนาจอธิปไตย ของประเทศหนึ่งที่ไม่เคยเป็นอาณานิคม ความหมายเพิ่งมาเริ่มเปลี่ยนในช่วงนี้เอง เจ้ากรุงเทพต้องสร้างสถานะให้ได้รับการยอมรับจากราชาผู้ยิ่งใหญ่ของศูนย์กลางโลกใหม่อย่างตะวันตก เป็นการสร้างความเจริญเพื่อไม่ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศจึง เต็มใจที่กลายเป็นฝรั่งด้วยวิธีการอันหลากหลาย รวมทั้งการบริโภคความเป็นฝรั่ง ความศิวิไลซ์มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อกษัตริย์ ไม่ใช่ต่อเอกราชของชาติต่อความหมายชาตินิยมที่เราไม่ตกเป็นอาณานิคมใคร แต่ในความหมายว่าพระเกียรติยศ“ ธงชัย กล่าว  

คลิกดูเพิ่ม-ปฏิรูปสมัย ร.5 ไม่ใช่เพื่อเอกราช 'ธงชัย' ชำแหละตัวอย่างแต่ละด้าน ชี้เพื่อ 'การเมืองภายใน'




.....

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar