tisdag 23 juli 2019

เกร็ดความรู้ ..ประเด็นกษัตริย์ "ขอ"(สั่ง)ให้แก้รัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ คือผิดกฎหมาย อย่างไร


Somsak Jeamteerasakul updated his status.

ผมขออธิบายอย่างชัดๆว่า ที่กษัตริย์ "ขอ"(สั่ง)ให้แก้รัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ คือผิดกฎหมาย อย่างไร
(และประเด็น "คลิป" ล่าสุดของคุณจอม เพ็ชรประดับ Jom Petchpradab สัมภาษณ์ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง Chamnan Chanruang และคลิปคุณสุนัย จุลพงศธร มีปัญหาอย่างไร - ดูตอนท้ายกระทู้)
..................
ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีอยู่ (จนวินาทีนี้ยังไม่แก้ คือที่ทำๆกันมา 2-3 วัน จนวินาทีนี้ ผิดกฎหมายอยู่) ให้อำนาจกษัตริย์ในการ "ไม่เซ็น" คือส่งคืนหรือเก็บไว้เกิน 90 วัน ทำให้รัฐธรรมนูญ "ตกไป" ได้
แต่ไม่ได้ให้อำนาจกษัตริย์ในการ "ขอ"ให้แก้ครับ คือถ้ากษัตริย์จะอ้างว่ามีบางอย่างในร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่พอใจ ก็มีทางเลือกทางเดียว คือไม่เซ็นไปเลย ไม่ใช่มา "ขอ"(สั่ง)ให้แก้แบบนี้
แต่ทางเลือกตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ว่า กษัตริย์ใหม่ก็ไม่คิดหรือไม่กล้าจะทำหรอก เพราะผลประโยชน์ร่วมกันกับ คสช คือถ้าไม่เซ็นแล้วร่างรัฐธรรมนูญตกไป จะมีผลเสียทางการเมืองต่อ คสช และต่อตัวกษัตริย์เองมากเกินไป คือภาพจะออกมาว่า กษัตริย์ "วีโต้" จนร่างรัฐธรรมนูญตกไป แล้วก็จะเป็นการ "วีโต้" ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องการเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง และทำให้ตัวเองไปๆมาๆเยอรมันได้สะดวก
กษัตริย์เลยเลือกทางที่ทำผิดรัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นอยู่ คือ "ขอ" (สั่ง)ให้แก้
นี่พูดในเชิงตัวบทรัฐธรรมนูญล้วนๆเลยว่า กษัตริย์ทำผิดอย่างไร ในแง่ "ประเพณี" การปกครองประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ ก็ไม่มีกษัตริย์ที่ไหนเขาทำกันครับ ยิ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน "ประชามติ" แล้ว ยิ่งไม่ทำกัน (ในกระทู้คุณ "ดี้" นิติพงษ์ ห่อนาค ที่มีการพูดๆกันไม่กี่วันนี้ มีตอนหนึ่งที่เขียนว่า "ในหลวงทุกรัชกาล...เกรงใจประชาชน" ผมสงสัยว่าคุณ "ดี้" จะกล้ายืนยันแบบนี้กับรัชกาลนี้หรือไม่)
จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ก็เหมือนกรณีกษัตริย์ไม่ยอมรับตำแหน่งทันที่ ซึ่งผิดเจนารมณ์รัฐธรรมนูญเช่นกัน - ผิดราชประเพณีตามกฎมณเฑียรบาลด้วย - รัชทายาทเป็นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ #มีพันธะหน้าที่ ที่จะต้องเป็นประมุขประเทศ ไม่ใช่ปล่อยให้ตำแหน่งว่างไว้เป็นเดือน ซึ่งสร้างปัญหาเชิงกฎหมายตามมามากมาย
..............
ในคลิปล่าสุดของคุณ Jom Petchpradab ที่สัมภาษณ์ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง Chamnan Chanruang มีอยู่ 2 ครั้งที่คุณจอมถามและ อ.ชำนาญตอบว่า การแก้ที่กำลังทำกันอยู่ "ทำได้"

ผมเข้าใจข้อจำกัดของคนอยู่เมืองไทยดีในการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน แต่ผมเห็นว่า หากเป็นปัญหาที่ไม่สามารถพูดได้ จะต้องพยายามหลีกเลี่ยง ไม่พูดในลักษณะที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในทางหลักการและกฎหมาย (คือเลี่ยงไม่พูดเสียเลย จะดีกว่าพูดในลักษณะที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆได้) การแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในขณะนี้ "ทำได้" ในความหมายที่ว่า คสช และกษัตริย์ ครอง
อำนาจอยู่ อยากจะทำอะไรก็ "ทำได้" แต่ที่กำลังทำ คือหันไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว #เพื่ออุดช่องการกระทำผิดรัฐธรรมนูญของกษัตริย์ที่กำลังทำอยู่ นั่นคือ การ "ทำได้" (แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว) ที่กำลังทำกันวันนี้นั้น #ทำขึ้นภายใต้ภาวะที่กษัตริย์กำลังทำผิดรัฐธรรมนูญอยู่ นี่คือประเด็นสำคัญที่ในคลิป ทำให้เข้าใจผิดได้
.............
ถ้ากรณีคุณจอม-อ.ชำนาญ มีปัญหาการพูดที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ในคลิปล่าสุดของคุณสุนัย จุลพงศธร เรียกว่าผิด และแย่มากๆเลย

คุณสุนัยอยู่ใน "สาย" (แนวคิด) แบบ "อวยพระบรมฯ" ภายใต้ "ทฤษฎี" "ศึกชิงบัลลังก์" แบบเดียวกับคุณพี่สุรชัยมานาน และจนขณะนี้ก็ยัง "อวย" อยู่ ครั้งนี้ คุณสุนัยพูดว่า การที่มี "ข่าว" ออกมาว่ากษัตริย์สั่งให้แก้รัฐธรรมนูญ เป็นอะไรที่เสียหายมาก เป็น "วิกฤติรัฐธรรมนูญ" เพราะเป็นเรื่อง "กษัตริย์แทรกแซงการเมือง และอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ" ซึ่งจริงมากๆ แต่แทนที่คุณสุนัยจะบอกว่า ที่มี "ข่าว" ออกมาเช่นนี้ ก็

เพราะ "กษัตริย์แทรกแซงการเมือง และทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ" อย่างโจ้งแจ้งจริงๆ คุณสุนัยกลับโยนความผิดไปให้ประยุทธ์ (และให้กับ นสพ ที่พาดหัวว่ากษัตริย์สั่งด้วย แม้คุณสุนัยจะพูด "ออกตัว" ทำนองว่า "ไม่โทษ นสพ ล่ะครับ โทษประยุทธ์") และพยายามปกป้องกษัตริย์ใหม่แบบถูๆไถๆ คือคุณสุนัยกล่าวว่า "คุณประยุทธ์ ควรต้องเก็บเรืองนี้ไว้ พระองค์ท่านไม่คาดคิดว่าคุณประยุทธ์จะมาเปิด" พูดอีกอย่างคือ #คุณสุนัยสนับสนุนการโกหกประชาชนเรื่องกษัตริย์เข้ามายุ่งการเมืองและอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ คือ

สำหรับคุณสุนัยแล้ว กษัตริย์จะทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญอย่างไร ก็ทำไป แต่ประยุทธ์และหนังสือพิมพ์ไม่ควรพูดออกมา ขอให้ช่วยกันโกหกเพื่อปกป้องการทำผิดของกษัตริย์ต่อไป
สำหรับใครที่ยังบอกว่าเรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นี่เป็นอะไรที่แย่มากๆครับ
Somsak Jeamteerasakul updated his status.

กษัตริย์องค์ใหม่ จะยังคงทำอะไร "ตามพระใจชอบ" หรือ "ตามพระสไตล์" โดยไม่คำนึงถึงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือแม้แต่ราชประเพณีแบบนี้ ไปได้อีกสักกี่ครั้งและอีกนานเท่าไร โดยไม่ alienate หรือ "ทำให้แปลกแยก" ต่อบรรดา "เครือข่าย" ที่ล้อมรอบอยู่ เช่นพวกขุนศึก หรือไปจนถึงบรรดา "ฐานมวลชน" เดิมของกษัตริย์องค์ก่อน (ชนชั้นกลางในเมือง) - นี่สองเรื่องใหญ่ซ้อนๆระดับรัฐธรรมนูญเลย คืนวันที่ 13 ตุลาน่ะ ประยุทธ์เตรียมการณ์ให้ครองราชย์แล้ว "ทรงพระเจริญ" ล่วงหน้าไปแล้ว ต้อง "งง" เป็นไก่ตาแตกที่ไม่ยอมรับทันที มาตอนนี้ เรื่องรัฐธรรมนูญที่ผ่าน "ประชามติ" ไปแล้ว และตามรัฐธรรมนูญ "แก้ไม่ได้แล้ว" ก็สั่งให้ประยุทธ์ไปหาทางแก้เอาเองอีก - อย่างที่ผมพูดไปหลายครั้ง ถ้าเป็นในต่างประเทศต้องเรียกว่าเป็น "วิกฤติเชิงรัฐธรรมนูญ" ที่ใหญ่มาก 2 ครั้งติดๆกันเลย
ในฐานะผู้ติดตามการเมืองไทย นับว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ดูด้วยอารมณ์บันเทิงไม่น้อยเลยครับ

ควรมีใครสักคน "กราบบังคมทูล" กษัตริย์ใหม่ว่า
- ควรหัดทรงทำอะไรให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผน
หรือ
- มิเช่นนั้น เวลาทำอะไรที่ผิดแบบแผน ก็หัดรับเอง ไม่ใช่คอยแต่ไปลงที่คนอื่น หรือให้คนอื่นออกรับหน้า หรือหาทางปิดปากสื่อไม่ให้เสนอความจริง
...............
ขอให้ลองอ่านรายงานข่าววันนี้ จากสำนักข่าว "นิวส์พลัส" ประยุทธ์พูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ (โดยเฉพาะดูที่ผมทำ #ตัวหนา ไว้) ประยุทธ์พยายามอธิบายแบบข้างๆคูๆว่า ไม่ใช่เป็นรับสั่งให้แก้ของกษัตริย์ใหม่
http://www.newsplus.co.th/121320
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตำหนิการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในประเด็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์ ว่า "เป็นเรื่องสำคัญ ขออย่าไปลงข่าวแบบนั้นผมเห็นข่าวมาแล้วไม่สบายใจ #ไปลงว่าทรงรับสั่งแก้ไข มีที่ไหน ใครไปลงแบบนั้น ผมพูดเหรอครับ เขียนข่าวแบบนี้มันเสียหาย เขียนเอามันส์ได้อย่างไร ไปเปิดดูเอาแล้วกัน ผมบอกว่าผมรับหนังสือลงมา #ไปเขียนยังไงว่าทรงรับสั่งให้แก้ไข มันไม่ใช่ การทำงานข้างล่างก็ทำงานแบบนี้ ข้างบนก็มีคณะทำงานส่วนพระองค์ของพระองค์ท่านอยู่ เมื่อมีการพิจารณาแล้วถวายพระองค์ท่าน แล้วส่งกลับลงมา ผมก็ดำเนินการตามนั้น พยายามนำมาเกี่ยวกันอยู่ได้ แล้วทำให้คนนำไปบิดเบือน ขอร้องก็แล้วกันให้รู้จักบ้างว่าอะไรตรงไหน"
ทั้งนี้ในช่วงท้ายในระหว่างเดินกลับขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า นายกรัฐมนตรี ได้หยุดอธิบายประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าว พร้อมชูโทรศัพท์มือถือที่เปิดภาพข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกล่าวว่า ไปเขียนได้อย่างไร #สำนักข่าวต่างประเทศนำประเด็นดังกล่าวไปเล่นมันจะทำให้เสียหาย"
..................
อันที่จริง "นิวส์พลัส" ยังลงไม่ครบ เท่าที่ผมได้ยินจากบรรดานักข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์ หลังจากนั้น นักข่าวแย้งว่า ท่านเป็นคนพูดเองว่ามีรับสั่งมา ซึ่งประยุทธ์ตอบว่า
"ผมพูดว่า ท่านทรงรับสั่ง #การรับสั่งดังกล่าวนั้นหมายถึงการรับสั่งผ่านองคมนตรี ไม่ใช่รับสั่งลงมา ไปลงข่าวได้อย่างไร มันเสียหาย”
(หุหุ "รับสั่งผ่านองคมนตรี" ไม่นับเป็นการ "รับสั่งลงมา" ให้แก้ไขหรือ? แหม)
...................
ผมคิดว่า เรื่องของเรื่องคือ หลังจากประยุทธ์และ รบ. ออกมาเปิดเรื่องที่กษัตริย์ใหม่ต้องการให้แก้บางมาตรา และสื่อทั้งหลายโดยเฉพาะสื่อต่างประเทศไปรายงาน (ซึ่งสื่อต่างประเทศทุกรายก็ยกประเด็นเรื่องกษัตริย์ใหม่จะยังไปๆมาๆเยอรมันน่ะแหละ)
#กษัตริย์ใหม่เลยไม่พอใจขึ้นมา เพราะทำให้เสียชื่อเสียงของพระองค์(มากขึ้นกว่าที่ไม่ดีอยู่แล้ว) แล้วก็เลยหาทางปิดข่าว ห้ามสื่อพูดถึง แล้วเลย "เอ็ด" มายังประยุทธ์ ประยุทธ์เลยต้องออกหน้ามาหาทางแก้ตัวแทนให้แบบข้างๆคูๆอย่างที่เห็น
[กรณีล่าสุดนี้ ก็เหมือนกับที่เคยเกิดมาในช่วง 3 เดือนนี้อย่างน้อย 2 หรือ 3 ครั้งแล้ว กรณีที่มีรายงานเรื่องเปรมเป็นผู้สำเร็จโดยอัตโนมัตบน "บัลลังก์ที่ว่างเปล่า" หรือกรณีที่มีการรายงานเรื่องคุณ "นุ้ย" ไปงานศพรัชกาลที่แล้ว ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องจริงจากผลการกระทำของกษัตริย์ใหม่เอง แต่พอรายงานออกไป ก็มีการพยายามสั่งห้าม]
อย่างที่ผมจั่วหัวไว้ข้างบนแหละครับ น่าจะมีใครกราบบังคมทูลกษัตริย์ใหม่ดังกล่าวเสียที...

Image may contain: 1 person, text
 
Somsak Jeamteerasakul updated his status.

อันนี้ พูดจริงๆนะ โดยส่วนตัว ผมยังคิดว่า หลังพระบรมฯขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็คงไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เห็น อย่างน้อยเป็นปีๆ ปีแรกนี่เป็นปีไว้อาลัย คงไม่มีอยู่แล้ว หลังจากนั้น ต่อให้จะมีความเปลี่ยนแปลง ก็ไม่น่าจะเห็นกันเร็ว คืออาจจะต้องเลย 2-3 ปีแล้ว ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้น
ทำไมคนจึงคาดกันว่า ถ้าพระบรมฯขึ้น มีโอกาสของการมีปัญหา ความไม่มีเสถียรภาพทางสังคม หรือการเมือง? การที่ คสช มาคุมสถานการณ์เข้มงวดในขณะนี้ เหตุหลักก็มาจากความกลัวเรื่องนี้
(มีคนถามกันว่า ทำไมหุ้นต้องผันผวน เวลามีข่าวทำนองในหลวงเจ็บหนัก อาจจะใกล้สวรรคตเต็มที ก็คือปัญหาที่กำลังจะพูดนี้)
ผมว่า ก่อนอื่นเลย ก็เริ่มมาจาก "พระสไตล์" ของพระบรมฯ คือทรงทำอะไรโดยไม่ค่อย "ทรงพระแคร์" ต่อระเบียบแบบแผน หรือสายตาคนนัก อันนี้ ตัวอย่างเมื่อเร็วๆนี้ก็คงเห็นแหละ เรื่องปลดวัชโรทัยนี่ ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอะไรทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องใส่ชุด "คร้อปท็อป" อะไรต่อหน้าเจ้าหน้าที่เป็นสิบๆที่มิวนิค ก็ไม่ทรงรู้สึกว่าต้องห่วงอะไร (เพราะถือว่า สำหรับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น พระองค์ทรง untouchable ไม่มีใครกล้าเอาไป "พูดต่อ" อยู่แล้ว - บังเอิญฝรั่งช่างภาพ มันไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกัน) ไม่ต้องพูดถึงกรณีเรื่อง เดี๋ยวถอดยศ เดี๋ยวคืนยศ เดี๋ยวเลื่อนยศ คนใกล้ชิด อย่างชนิดที่เรียกว่า "ชอบกลๆ" หรือยิ่งไปกว่านั้น กรณีหมอหยอง - อัครพงศ์ปรีชา ที่ก็เห็นกันว่า ลงเอยยังไง
คนเขาก็คาดกันว่า เมื่อพระองค์เป็นกษัตริย์ มีอำนาจมากขึ้นมหาศาลแล้ว จะยิ่งแสดงออกซึ่ง "พระสไตล์" ที่ว่านี้ใหญ่ แล้วก็เลยอาจจะถึงจุดที่มีหลายๆกรณีแบบที่ว่านี้ (ซึ่งเกิดในขณะที่ยังไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ด้วยซ้ำ) ขึ้นมาอีก และมากกว่าเดิม จนทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้
"มิตรสหาย" ในต่างประเทศของผมบางคน เชื่อซีเรียสจริงๆว่า ถึงเวลาพระบรมฯขึ้นครองราชย์ ลักษณะ "พระสไตล์" ในการใช้อำนาจที่ว่านี้ จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นสักวัน - ผมเองโดยส่วนตัว ไม่ถึงกับแน่ใจนักนะ
ประการต่อมา - ซึ่งมีส่วนต่อเนื่องจากประเด็นที่เพิ่งพูด - เป็นที่รู้กันว่า แม้แต่ในแวดวงชั้นสูง ก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไมได้ "ศรัทธา" พระองค์นัก ไม่ใช่เฉพาะกรณีองคมนตรีชุดเดิม (ซึ่งคงถูกให้ออก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่) แต่รวมถึงในอีกหลายแวดวง เช่น ธุรกิจ ศาล หมอ ฯลฯ (ที่ผมสนใจเคยโพสต์ไปว่า ใครบ้างจะเป็นคนมาคอย "ประสาน" กับวงการเหล่านี้ให้พระบรม แทนคนเดิมๆที่เคยทำงานให้ในหลวง)
ทีนี้ ความไม่ค่อย "ศรัทธา" ที่ว่านี้ ก็อาจจะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงในหมู่กลไกหรือแวดวงต่างๆได้ เช่น ศาล ที่ผ่านมา ผู้พิพากษา ทำ "ตุลาการภิวัฒน์" ก็เพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังตัดสินคดีแทนในหลวง "ในพระปรมาภิไธย" ของในหลวง ในอนาคต ถ้าเป็นรัชสมัยพระบรมฯ ความรู้สึกแบบนี้ จะยังคงเข้มข้นอยู่หรือไม่? มีนักวิชาการที่ผมรู้จักบางคน ถึงกับคิดว่า มีความเป็นไปได้ด้วยซ้ำที่แม้แต่ในกองทัพเอง ก็อาจจะเกิดการ "แข็งขืน" ต่อพระบรมฯได้
ในภาพที่กว้างออกไป เป็นที่รู้กันดีว่า ในหมู่ชนชั้นกลางกรุงเทพ (ซึ่งในหลายทศวรรษหลังนี้เป็น "ฐานมวลชน" สำคัญที่สุดของในหลวง) ก็อาจจะเกิดความไม่พอใจ จนถึงระดับที่ไม่สนับสนุน status quo หรือ"สถานภาพเดิม" ระบบสังคมการเมืองเดิมๆ ภายใต้พระบรมฯก็ได้
โดยส่วนตัว ผมยังรู้สึกว่านี่เป็นการประเมินแบบ "คาดหวังมากไป" (optimism) ในเรื่องความเปลี่ยนแปลง โดยธรรมชาติผมเป็นคนประเมินอะไรในทางร้าย (pessimism) ไว้ก่อน ดังนั้น ผมก็ไม่ถึงกับประเมินถึงระดับที่ว่านี้
อีกประการหนึ่ง ก็เป็นที่รู้กันว่า พระบรมฯทรงเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทักษิณ (แต่ไม่กี่ปีหลังนี้ ห่างกันออกไป ไม่ได้ติดต่ออะไรกันแล้ว - อันนี้ผมยืนยันได้ - แม้แต่ตัวทักษิณเอง ก็ยังเชื่อว่า ถึงเวลาในหลวงไม่อยู่ พระบรมฯขึ้น เขาสามารถหาทาง "ดีล" กับพระบรมฯได้ - อันนี้เป็นอะไรที่ผมยืนยันได้เช่นกัน) ซึ่งในแง่นี้ ก็มีความกังวลกันในหมู่คนที่ไม่ชอบทักษิณ (หรือคนที่กลัวความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ถ้าทักษิณกลับ) ว่าอาจจะนำไปสู่ปัญหาได้
..............
ผมยังเห็นว่า (ดังที่เคยเขียนไป) ยุทธศาสตร์ใหญ่สุดในเรื่อง "เปลี่ยนผ่าน" ของ คสช คือ ทำยังไง ที่จะสร้างสภาพ Monarchy without THE monarch หรือ "ระบอบกษัตริย์นิยม ที่ไม่มีในหลวง" (ซึ่งสำหรับพวกเขาและสังคมไทยอีกเยอะ ถือว่าเป็น THE monarch ไม่ใช่แค่ A monarch) คือพระบรมฯก็เป็นกษัตริย์แทนนั่นแหละ มีกษัตริย์องค์ใหม่ มีระบอบกษัตริย์นิยม แต่โดยที่ "ไม่มีกษัตริย์" คือไม่มีในหลวงอยู่สำหรับแสดงบทบาทแบบเดิมที่ผ่านๆมา ซึ่งพวกเขาก็หวังว่า จะใช้กลไกต่างๆที่มีอยู่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กองทัพ ฯลฯ เป็นตัว "ศูนย์กลาง" คอยแก้ปัญหาต่างๆแทน



Inga kommentarer:

Skicka en kommentar