tisdag 30 juni 2020

ใบตองแห้ง: ฉุกเฉินโหว่ท้ายครัว

2020-06-30 21:15
ศบค.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ผิดคาด การ์ดอย่าตก ๆ ไม่งั้นที่ทำมาจะเป็นศูนย์หมด ต้องรอให้ทั้งโลกมีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ 28 วัน จึงเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ เจ้าหน้าที่ไม่มีกฎหมาย ไม่สามารถควบคุมผับบาร์อาบอบนวดโรงเรียนอนุบาลให้รักษาระยะห่าง เดี๋ยวเด็กวิ่งไล่ปล้ำกันจะทำยังไง

ไม่ผิดคาดอีกเช่นกัน พล.อ.ประวิตร ประธานกรรมการสรรหาวุฒิสภา ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นการเข้ามาคุมพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ ของพี่ใหญ่ คสช. ซึ่งเปรียบเสมือน 2 หัวหน้าพรรคใหญ่
แต่ช่างเถอะ ยุคนี้ไม่มีใครแยแสความชอบธรรม สนใจเรื่องทำมาหากินมากกว่า เช่นถ้าปรับ ครม.ใครจะมาเป็นทีมเศรษฐกิจชุดใหม่

เพราะกรรมการบริหาร พปชร. ประกาศชัดเจน ตั้งทีมเศรษฐกิจใหม่ นำโดยทั่น ศ.ดร. “บิ๊กอาย” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ความเชื่อมั่นคงพุ่งปรี๊ด ยิ่งกว่าไปทำหน้ามาใหม่ ส่งสัญญาณต้องการปรับ ครม.ไล่ทีมอุตตม

แม้ประยุทธยังกั๊ก บอกว่าต้องมีโควตากลาง แต่สี่กุมารคงรอดยาก แม้ทีมสมคิด–อุตตม ล้มเหลวมามาก แต่จะเอาใคร ถ้านักการเมืองได้นั่งคลัง นักลงทุนคงหัวร่อก๊าก ต่อให้หากูรูคนใหม่ แต่จะมีเทคโนแครตคนไหน อยากเอามือไปซุกหีบกับประยุทธ์ประวิตรในสถานการณ์อย่างนี้

เศรษฐกิจก็วิบัติ ยังต้องเข้าไปอยู่ในระบบโควตาพรรคการเมือง ไม่เล่นด้วยก็ถูกดดัน จูบปากการเมืองก็ชาวบ้านยี้ ถ้าเข้าไปในโควตาประวิตร ให้ดูตัวอย่าง แค่ปลูกป่ายังพาไลฟ์โค้ชไปตาย

รัฐบาลประยุทธ์จึงเหมือนนุ่งกางเกงตูดขาด หลังบ้านโหว่ พรรคการเมืองวุ่นวาย ต้องการปรับ ครม.ต่างตอบแทน ตั้งแต่พรรคแกนนำ พรรคแมลง ไปจนพรรคแมงหวี่ ที่เสนอชื่อ “เต้ พระรามเจ็ด” ความเชื่อถือของประชาชนต่อพรรคการเมืองตกต่ำสุด

ในขณะที่เบื้องหน้ากลับเสริมอำนาจ รัฐราชการเข้มแข็งควบคุมจับกุมปราบปราม ฉวยความกลัวโควิดมาปั่น ให้ประชาชนอยู่ใต้คำสั่งรัฐเวชกรรมอำนาจนิยม โดยอ้าง New Normal ควบคุมวิถีชีวิต ความมีอิสระเสรี มาตรการหลายเรื่องคนส่วนใหญ่เห็นว่าไร้สาระ แต่ก็จะมีสื่อหรือประชาชนที่อยากเป็น “เด็กดี” ไล่จี้ขี้ฟ้องจ้องจับผิดช่วยราชการ

เช่น ร้านสะดวกซื้อวันนี้ แทบไม่มีใครจดชื่อแล้ว เพราะตัวเลขเป็นศูนย์เกิน 28 วัน แต่ก็จะมีคนหยิบมือเอาไปตำหนิออกสื่อ การ์ดตก ๆ จะพากันตายหมด

อำนาจฉุกเฉินเสริมรัฐเป็นใหญ่ ผนึกทหารตำรวจฝ่ายปกครองสาธารณสุข พลเมืองอาสา ควบคุมประชาชน ทั้งทางการเมืองและการใช้ชีวิตโดยอ้างสุขภาพ ในระบบบริหารก็ฟื้นระบอบพ่อเมือง สดุดีผู้ว่าฯ แทนที่จะมุ่งสู่เลือกตั้งท้องถิ่น ใช้อำนาจจัดระเบียบสังคม ทั้งที่ไม่เกี่ยวโควิด เช่น ไล่จับเด็กแว้น รถซิ่ง เล่นการพนัน แล้วแถมข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งดูเหมือนจะทำให้คนพอใจกับการใช้ยาแรง

ในภาพกว้างคือรัฐประยุทธ์ ปีกที่เป็นรัฐราชการ ภาคจับกุมควบคุมปราบปราม ทหารตำรวจ เข้มแข็งขึ้น ฟื้นความนิยมให้ประยุทธ์ แต่รัฐราชการภาคเศรษฐกิจ ย่ำเท้าหรือถอยหลัง ไม่มีหัวคิดสร้างสรรค์ ปรับตัวไม่ทัน ซ้ำมาตรการควบคุมขัดขวางการกลับสู่ภาวะปกติ เช่นเปิดโรงเรียนก็ต้องสลับกันอยู่บ้าน เรียนออนไลน์ เพิ่มภาระใช้จ่าย เปิดผับบาร์ก็ให้ไปนั่งพับเพียบ ได้ผลทางศีลธรรม

ส่วนปีกการเมือง มีแต่ลงเหวไปเรื่อย ๆ ยิ่งมายิ่งเสื่อม โดยประยุทธ์ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะไม่ว่า พปชร.จะใส่หน้ากากอุตตม หรือหน้ากากป้อม ก็คือพรรคที่ตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจ อย่าลอยตัวเป็นคนดีคนซื่อไม่เกี่ยวนักการเมือง
สถานะขัดกันอย่างน่าขันเช่นนี้ จะเอาอะไรมารับมือวิบัติเศรษฐกิจ “การระบาดรอบสอง” ของจริงที่ไม่ใช่ไวรัส ซึ่งจะระบาดเป็นโดมิโนในไตรมาส 3-4 ยาวถึงปีหน้า

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/372561

ใบตองแห้ง: กฎหมายมีไว้ให้ตู่

2020-06-28 16:06
ประยุทธ์เรียกร้องให้ประชาชนทำตามกฎหมาย อย่าขัดแย้ง อย่าสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ “รวมใจไทยสร้างชาติ” ไล่นักศึกษากลับไปเรียน ทำผิดกฎหมายแล้วอย่าโทษ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กฎหมายคืออะไร กฎหมายมีไว้เพื่อใคร

กฎหมายบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจมีอำนาจตั้งข้อหาหนักเบา อัยการมีดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ส่งศาลวินิจฉัย ผิดไม่ผิด ลงโทษหนักหรือเบา ลดโทษให้เพราะจำเลยมีเกียรติประวัติ เคยทำคุณงามความดีมาก่อน หรือเพิ่มโทษหนัก เพราะจำเลยมีเกียรติประวัติ ควรสำนึกผิดชอบชั่วดี ดันทำผิดเสียนี่

พูดอีกที กฎหมายคือการที่ตำรวจเดินรอบรถมอเตอร์ไซค์ แล้วเจอที่ผิดจนได้ โดยประชาชนเถียงไม่ได้ เพราะมันเป็นกฎหมายไง

กฎหมายก็คือใครต่อใครแปะป้ายรุงรังไปหมดในที่สาธารณะ แต่พอ สนนท.ไปผูกโบทวงความยุติธรรมให้วันเฉลิม กลับผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด
พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีไว้รักษาระยะห่าง อ้างความปรารถนาดีกลัวติดโควิด แต่งัดมาใช้กับนักกิจกรรมตามหาคนหาย ข่มขู่การเคลื่อนไหว 24 มิถุนา 2475 ทั้งที่ความเป็นจริงคนขึ้นรถเมล์รถไฟฟ้าซื้อของในห้าง แออัดกว่าถมไป
กฎหมายจึงไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย เพราะขึ้นกับใครมีอำนาจใช้ แล้วอำนาจนั้นประชาชนควบคุมได้หรือไม่ ไม่ต้องดูอื่นไกล กฎหมายอเมริกาเน้นสิทธิเสรีเสมอภาค ตำรวจยังเลือกปฏิบัติกับคนดำ เพียงแต่อเมริกา เมื่อสั่งสมความอยุติธรรมถึงจุด สามารถระเบิดออกมาเป็นม็อบ

ตรงข้ามกับประเทศนี้ ม็อบไม่ได้ “ชนชั้นใดร่างกฎหมาย” พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ให้ขออนุญาตตำรวจก่อนวิ่งไล่ลุง แล้วตำรวจที่ไหนจะอนุญาตในเมื่อตำรวจอยู่ใต้ลุง

กฎหมายวันนี้จึงล็อก 2 ชั้น ตั้งแต่การยึดอำนาจมาออกคำสั่งเป็นกฎหมาย ตั้ง สนช.มาปั๊มตราเห็นชอบกฎหมาย ตั้ง กรธ.มาเขียนกติกาสูงสุด เอื้อให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ พร้อมกับตั้งองค์กรตรวจสอบอำนาจที่มาจากพวกเดียวกัน

ทั้งออกกฎหมายเอง ทั้งมีอำนาจใช้กฎหมายแบบตู่ๆ แต่ยังอำพรางว่าประเทศนี้ปกครองด้วยกฎหมาย กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนต้องเคารพ

กฎหมายสามารถใช้ให้เกิด 2 มาตรฐานตั้งแต่ต้น เช่น ทำไม นปช.ม็อบหน้าบ้านพลเอกเปรม ติดคุก 2 ปี 8 เดือน ทำไม พธม.ยึดทำเนียบฯ ติดคุก 8 เดือน
ไม่พูดถึงคำพิพากษา ดูแค่การตั้งข้อหา ม็อบปิดถนนสี่เสาเทเวศร์ โดนส่งฟ้องฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ม็อบยึดทำเนียบ 193 วัน โดนข้อหาบุกรุก ทำให้สนามหญ้าไม้ประดับตาย สปริงเกลอร์ไฟสนามเสียหาย

ยกพวกเป็นหมื่นยึดทำเนียบรัฐบาล จงใจทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ ตั้งข้อหาแค่เนี้ย ลองยกพวกบุกคฤหาสน์เศรษฐีสิ ยังโดนหนักกว่าเยอะเลย

หรือคดีธเนตร อนันตวงษ์ ศาลให้ความยุติธรรม แต่ติดคุกฟรี 1,396 วัน ใครรับผิดชอบการตั้งข้อหาร้ายแรง แค่โพสต์เฟซบุ๊กและขึ้นรถไฟไปราชภักดิ์ โดนทหารบุกจับถึงโรงพยาบาล จะย้อนเอาผิดใครก็ไม่ได้ เพราะทหารทำตามหน้าที่ รัฐธรรมนูญนิรโทษให้แล้ว

เรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแค่ทางการเมือง คดีอาญาเยอะไปที่ศาลยกฟ้อง เพราะหลักฐานอ่อน แต่ตำรวจไม่ต้องรับผิด ทั้งที่จำเลยถูกขังฟรีหรือต้องวิ่งหาหลักทรัพย์ประกัน เสียค่าจ้างทนาย ถ้าฟ้องกลับ ก็มักจะลงท้ายว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน

เรื่องแบบนี้มีมากขึ้นๆ ในยุคอำนาจนิยม เจ้าหน้าที่รัฐเป็นใหญ่ ใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิด ยึดทรัพย์บังคับคดี หนี้หมื่นกว่าบาท ยึดบ้านหลายล้านขายสามหมื่น ไม่ต้องคำนึงถึงความสมเหตุสมผล อ้างได้ว่าทำถูกกฎหมาย

ยิ่งใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยิ่งซ้ำร้าย เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินเหตุก็ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องกลับ บางจังหวัดออกคำสั่งไร้เหตุผล ไม่ยอมให้ประชาชนของตัวเองกลับพื้นที่ ผลักภาระให้ตรวจโควิดก่อน ก็ฟ้องศาลปกครองไม่ได้
นับวันกฎหมายจึงยิ่งเป็นภัยกับประชาชน เพียงแต่เวลาใช้อำนาจก็รู้จักอำพรางตน เช่น ในเครื่องแบบท่าทีสุภาพ นอกเครื่องแบบไปขู่ถึงบ้าน หรือจะพาตัวไปเงียบๆ โดยอ้าง “นายขอพบ”

ในสังคมวงกว้าง กฎหมายก็เอาใจดราม่า คดีชาวบ้านออกสื่อ กระแสเฮโลสาระพาไปทางไหน กฎหมายก็ขึงขังเฉียบขาดไปทางนั้น เพื่ออำพรางความอยุติธรรมของระบบ

เราอยู่ในยุคกฎหมายวิบัติ เป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจใช้ “ตู่” ตั้งแต่กฎหมายสูงสุด ลงมาถึงกฎหมายชาวบ้าน รัฐและเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุได้ เลือกใช้ได้ โดยไม่ต้องรับผิด

รัฐบาลไม่ต้องรับผิด ไม่ว่าทำอะไรผิดกติกา เพราะอำนาจตรวจสอบเป็นเครือข่ายเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องรับผิด เพราะรัฐราชการเป็นใหญ่ สั่งอะไรต้องเชื่อฟัง

ภายใต้ “กฎหมาย” อย่างนี้ สิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมสำหรับประชาชน จะน้อยลงทุกวัน ไม่ใช่แค่ทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงวิถีชีวิต ใต้คำสั่ง ใต้การควบคุม New Normal อย่างไม่มีทางหวนกลับ

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_4391139 
 

Update เรื่องของ "เสี่ย" (และประยุทธ์)


เรื่องของ "เสี่ย" (และประยุทธ์)

ตอนนี้มีกระแสในหมู่ "ฝั่งประชาธิปไตย" "เสื้อแดง" ทำนองว่า ที่เกิดการ "หย่อน" ในแง่การปราบปรามของ คสช. เช่น มีการชุมนุม ไม่มีการจับ หรือมีการจับ ถึงศาล ก็ไม่โดนอะไรหนัก (ไม่มีการขัง ฯลฯ) เป็นเพราะ "เสี่ย ไม่เอา คสช. ไม่เอาประยุทธ์"

เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงหรอกครับ "เสี่ย" น่ะยังเอา คสช. เอาประยุทธ์ ชอบ คสช. ชอบประยุทธ์ด้วยซ้ำ
แต่เรื่องที่มีมีการ "หย่อน" นี่ เกี่ยวกับ "เสี่ย" ไหม? ก็มีส่วนเกี่ยวอยู่ แต่ไม่ใช่อย่างกระแสที่เข้าใจกันข้างต้น
คือต้องเข้าใจว่า

(ก) "เสี่ย" น่ะชอบประยุทธ์ ชอบ คสช. เพราะ "ขออะไรก็ได้หมดทุกอย่าง" อันที่จริง ถ้ามีวิธีว่า คสช.อยู่ยาว โดยไม่มีเลือกตั้งเลย โดยไม่มีคนมาโวยวาย หรือโดยไม่มีแรงกดดันให้ต้องเลือกตั้ง "เสี่ย" คงชอบ และคงเอา
ปัญหาคือ "เสี่ย" ก็คุมหรือห้ามไม่ให้มีกระแสดังกล่าวไม่ได้ และในระยะยาว ก็ห้ามไม่ให้มีเลือกตั้งเลยไม่ได้ - คสช.ก็ห้ามไม่ได้ ไม่มีใครห้ามได้

(ข) แต่ขณะเดียวกัน "เสี่ย" ก็ไม่ต้องการให้มีการปราบหนัก เพราะยิ่งจะทำให้เป็นเรื่องเป็นราว ปวดขมอง "เสี่ย" เหมือนกัน ดังนั้น "เสี่ย" ก็ไม่ต้องการให้มีการปราบหนักเหมือนกัน

สรุปคือ สำหรับ "เสี่ย" ถ้าไม่มีม็อบ ไม่มีเรื่องวุ่นวาย ก็จะชอบมากๆ แต่ถ้ามันมีม็อบ ก็อย่าให้มีการปราบหนัก ซึ่งจะมีความวุ่ยวายเหมือนกัน (นี่คือนัยยะที่ประยุทธ์ออกมาพูดวันก่อน)

ในระยะยาว "เสี่ย" ซึ่งถ้าสามารถให้ไม่มีเลือกตั้งเลย ให้ คสช.-ประยุทธ์ อยู่ยาวเลยได้ ก็ยิ่งดียิ่งชอบ แต่เขาก็ไม่สามารถให้เป็นแบบนั้นได้ ดังนั้น ในระยะยาวออกไป ใครจะเป็นนายกฯ จะเป็นประเด็นสำคัญมากสำหรับ "เสี่ย" คือ "เสี่ย" จะต้อง "เม็กชัวร์" ว่า นายกฯคนต่อไป จะต้องเป็นคนที่เขาไว้ใจได้ ขออะไรก็ได้อีก ถ้าประยุทธ์ไม่สามารถกลับเข้ามาหลังเลือกตั้ง "เสี่ย" ก็ต้องเม็กชัวร์ว่า คนจะมาแทนหลังเลือกตั้ง ต้องเป็นคนที่เขาไว้ใจได้แบบประยุทธ์ ขออะไรก็ได้แบบประยุทธ์อีก (วังมโหฬารกลางเมืองที่เขาต้องการให้สร้าง ยังไม่ได้สร้าง ถึงเวลายังต้องการเงินมหึมาจากนายกฯคนใหม่อีก)

ในแง่นึง ก็เลยเป็น "ไดเล็มม่า" สำหรับ "เสี่ย" และสำหรับประยุทธ์ด้วย "เสี่ย" อยากให้ประยุทธ์อยู่ต่อ อยากได้นายกฯแบบประยุทธ์ ก็อยาก แต่จะให้อยู่ไปเรื่อยๆไม่ต้องมีเลือกตั้ง ก็ทำไม่ได้ เพราะมีแรงบีบให้ต้องมีเลือกตั้ง มีคนออกมาเรียกร้อง แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการให้มีการปราบหนัก เพราะจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเครียดสำหรับ "เสี่ย" ซึ่งเขาไม่ต้องการ (เขาเป็นคน "เครียด" ง่าย และไม่ชอบไม่อยาก "เครียด") .... สถานการณ์รวมๆมันเลยออกมาก้ำๆกึ่งๆอย่างที่เห็นแหละ

Somsak Jeamteerasakul


ทุกคนคงได้เห็นข่าวที่ว่า "ไทม์" เปรียบเทียบประยุทธ์เป็นสฤษดิ์น้อย แต่ไม่มีสื่อไทยฉบับไหน ยอมรายงานว่าทำไม "ไทม์" จึงเปรียบเทียบเช่นนั้น และปัญหาการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ในไทย (แถมด้วยเรื่อง "อคม." และ "วันเกิด")
มติชน-ข่าวสด รายงานตรงกัน ด้วยประโยคนี้:

"นอกจากนี้นิตยสาร ไทม์ ยังเปรียบพล.อ.ประยุทธ์ เป็น ‘สฤษดิ์น้อย‘ (Little Sarit) เนื่องด้วยมีคุณลักษณะ ‘บางประการ’ ที่คล้ายกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย"
(https://goo.gl/swm8ZP และ https://goo.gl/HfVXHh)

ไทยรัฐ รายงานห้วนๆกว่า ด้วยประโยคนี้:
"นอกจากนี้ไทม์ยังเปรียบเทียบ พล.อ.ประยุทธ์กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย ให้เป็น “สฤษดิ์น้อย” (Little Sarit)"
(https://goo.gl/fvwu8B)

โพสต์ทูเดย์ รายงานห้วนๆเรื่องสฤษดิ์น้อยเหมือนกัน ด้วยประโยคนี้:
"นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบ พล.อ.ประยุทธ์กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย ให้เป็น "สฤษดิ์น้อย" รวมทั้งกล่าวถึงทักษะด้านการแต่งเพลงกับแต่งกลอน โดยพลเอกประยุทธ์ระบุว่าคนไทยชอบบทกวี
(https://goo.gl/a4oWva)

แม้แต่สื่อที่ได้ชื่อว่าเป็นของ "คนรุ่นใหม่" The Matter ก็เขียนเท่านี้:
"นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบ พล.อ.ประยุทธ์กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกฯ โดยยกให้เป็น ‘สฤษดิ์น้อย’ และพาดพิงถึงทักษะพิเศษด้านการแต่งเพลงกับแต่งกลอน"
(https://goo.gl/VKvi1J)
........................

ข้างล่างนี้ ผมแปลส่วนที่ไทม์เขียนถึงเรื่อง "สฤษดิ์น้อย" ทั้งหมดแบบคำต่อคำ (ต้นฉบับ https://goo.gl/y8cBKF)
ในประเทศไทย พระราชวงศ์ได้รับการปฏิบัติต่อด้วยการเคารพสักการะราวกับเทพเจ้า. ประยุทธ์ได้เสริมความสัมพันธ์กับราชวงศ์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และทำให้เขาได้รับชื่อเล่นว่าสฤษดิ์น้อย ตามชื่อของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ผู้ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2500 และได้ช่วยยกสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทสูงสุดในสังคมไทย. ทุกวันนี้ ทุกครัวเรือนไทยจะติดรูปกษัตริย์ไว้เป็นรูปสูงสุดในบ้าน. และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดที่สุดในโลก ซึ่งถูกใช้มากขึ้นๆเพื่อบดขยี้เสียงคัดค้าน.

หลายคนเชื่อว่าการรัฐประหารของประยุทธ์มีเป้าหมายเพื่อทำให้ชนชั้นนำประเทศไทยยังคงอยู่ในอำนาจควบคุมสถานการณ์ระหว่างช่วงการเปลี่ยนรัชกาลที่อ่อนไหว. วชิราลงกรณ์กษัตริย์ใหม่ของไทย มีไลฟ์สไตล์แบบไม่เป็นไปตามประเพณี และไม่ได้รับความเคารพแบบเดียวกับพ่อของเขา. ประยุทธ์เพียงแต่พูดว่า เขายึดอำนาจเพื่อฟื้นฟูความเป็นระเบียบเรียบร้อย "ผมไม่สามารถปล่อยให้ประเทศของผมได้รับความเสียหายมากไปกว่านั้น" ประยุทธ์กล่าวแบบดราม่าหน่อยๆ "ตอนนั้นประเทศกำลังอยู่ที่ขอบเหวของการถูกทำลายล้าง"
........................
ผมขอให้สังเกตและตั้งคำถามว่า สมมุติถ้าสื่อไทย จะลงคำอธิบายสั้นๆของไทม์ที่เรียกประยุทธ์ว่าสฤษดิ์น้อย โดยคัดแปลมาเฉพาะประโยคนี้

****"เขาได้รับชื่อเล่นว่าสฤษดิ์น้อย ตามชื่อของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ผู้ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2500 และได้ช่วยยกสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทสูงสุดในสังคมไทย."ทำได้ไหม?

ผมยืนยันว่าทำได้ล้านเปอร์เซนต์ ไม่มีอะไรผิดกฎหมายเลย และไม่ใช่การวิจารณ์ใดๆไปถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย เป็นเพียงการพูดถึงข้อเท็จจริงเท่านั้น ว่าสฤษดิ์ "ช่วยยกสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทสูงสุดในสังคมไทย" และนัยยะของการเปรียบเทียบประยุทธ์เป็นสฤษดิ์น้อย ก็เพราะเหตุนี้****

........................
ผมยกเรื่อง "เล็กๆ" นี้ขึ้นมา เพราะผมเห็นว่ามันสะท้อนปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไป ที่ว่า ความจริงเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น คนในไทยสามารถพูดถึงได้แบบตรงๆธรรมดาๆ มากกว่าที่ทำกัน โดยเฉพาะคนที่ "มีสถานะทางสังคม" (ผมเคยพูดไว้ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารถึงคน 3 กลุ่ม คือนักวิชาการ, สื่อ, นักการเมือง)
ผมจะหาโอกาสอภิปรายเรื่องนี้อีก ความจริง ประเด็นที่ไทม์พูดต่อมาว่า การยึดอำนาจของ คสช.ครั้งนี้เกี่ยวพันถึงเรื่องความกังวลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ก็เป็นประเด็นสำคัญ เรียกว่าเป็นหัวใจของปัญหาว่า ทำไมทหารจึงยึดอำนาจ หรือทำไมจึงยังดันทุรังอยู่ในอำนาจมานานขนาดนี้ (ซึ่งขัดกับสภาพการณ์ของโลกมากๆ และเห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่มีความสามารถจะบริหารประเทศด้วย แต่ทำไมจึงต้องดันทุรัง?) ตราบใดที่คนในไทยเองไม่หาทางพยายามที่จะผลักดันให้มีการอภิปรายปัญหานี้อย่างเป็นทางการ ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาเรื่องทหารได้ แน่นอน ในไทยไม่สามารถเขียนหรือพูดได้แบบที่ไทม์ทำข้างต้น แต่ผมยืนยันว่า สามารถและควรทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ (ซึ่งคือเท่ากับศูนย์) แน่

กรณีการ "ดร็อป" เรื่อง 112 -- ซึ่งความจริงเป็นเพียงประเด็นเล็กประเด็นเดียวเกี่ยวกับเรื่องสถานะสถาบันกษัตริย์ -- ของผู้นำ "อนาคตใหม่" จึงมีนัยยะสำคัญมากกว่าที่คนทั้งหลายเข้าใจกัน ในความเห็นผม เป็นการ "พลาดโอกาสทางประวัติศาสตร์" (historic opportunity) ที่สำคัญมากๆ (ครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่ "การเมืองทางการ" จะนำเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯมาพูด) เป็น irony หรือ "ตลกร้าย" ที่ว่า แม้แต่พวก "ใต้ดินล้มเจ้า" ก็ไม่มีใครเก็ตความสำคัญของเรื่องนี้อย่างเต็มที่ คนที่ออกมาดีเฟนด์การดร็อปครั้งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนลักษณะที่ผมเรียกว่า profoundly elitist ของวัฒนธรรมการเมืองไทย คือการที่คนตัวเล็กๆบ้านๆ มาคอยดีเฟนด์การที่คนระดับนำไม่ยอมทำเรื่องยากๆ ผลคือ เรื่องยากๆปล่อยให้กลายเป็นเรื่องที่คนระดับล่างๆบ้านๆทำกัน แล้วก็เดือดร้อนกันไป (คดีหมิ่นเกือบทั้งหมดในสิบกว่าปีนี้ เป็นเรื่องคนระดับบ้านๆที่ไม่รู้วิธีพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ว่าพูดอย่างใดจึงจะไม่ละเมิดกฎหมาย) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ตรงข้ามกับตะวันตก ที่เขาเรียกร้องระดับนำของเขามากกว่านี้เยอะ และอีกส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้ไม่เข้าใจว่า เรื่องสถาบันกษัตริย์สามารถพูดได้ในประเทศไทย มากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน (กรณี อคม.ที่ว่า ไม่เกี่ยวกับว่าจะมีอันตรายถ้าไม่ดร็อปเรื่อง 112 ไม่เกี่ยวกับว่าจะผิดกฎหมาย หรือไม่ใช่กระทั่งเรื่อง "การกดดัน" "แรงเสียดทาน" จากอำนาจรัฐหรือชนชั้นนำใดๆทั้งสิ้น อย่างที่นักวิชาการอย่างพิชิตหรือพวงทองจะอ้างแบบกระต่ายตื่นตูมและไม่มีความรับผิดชอบ เรื่องนี้ผมรู้ตั้งแต่แรก และได้รับการยืนยันในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะมันเหมือนกรณี "สฤษดิ์น้อย" ข้างต้นน่ะแหละ เขียนประโยคที่ไทม์พูดที่ผมยกมาในไทยได้แน่นอน) ผมจะหาโอกาสกลับมาพูดเรื่องนี้อีก
........................

ปล. กระทู้นี้ยาวมากแล้ว แต่ผมไม่อยากตั้งกระทู้ใหม่ที่เกี่ยวกับเรื่องตัวเอง จึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ พูดอะไร "ส่วนตัว" เล็กน้อย (แม้จะเกี่ยวกับการเมืองที่พูดถึงในกระทู้นี้ด้วย) ใครที่ไม่สนใจ อ่านมาถึงตรงนี้ ก็หยุดอ่านต่อได้ หรือไม่ก็ข้ามไปอ่าน 3-4 ย่อหน้าสุดท้าย ซึ่งไม่ได้พูดถึงเรื่องตัวผมเองโดยตรง
ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาส่งคำอวยพรวันเกิด 60 มาทางหลังไมค์ และในบางกระทู้ของคนอื่น เมื่อวานนี้ ผมไม่สามารถตอบขอบคุณเป็นรายคนได้ ขอขอบคุณรวมๆในที่นี้ ขอให้พรทั้งหลาย สนองคืนแก่ทุกท่าน

ผมต้องสารภาพว่า วันเกิดปีนี้ ผมอยู่ในอารมณ์ "บ่จอย" มากเป็นพิเศษ ปกติมี 2 วันทุกปี ที่ผมอารมณ์ไม่ค่อยดีทั้งวัน คือ 6 ตุลา กับวันเกิด เรื่องวันเกิด ไม่ใช่เพราะรู้สึกตัวว่า "แก่ขึ้น" ความจริงผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเอง "แก่ 60 แล้ว" ในแง่อายุหรือความคิดความรู้สึกเท่าไร แต่มันโยงกับความไม่สบอารมณ์กับตัวเองว่า ผ่านไปอีกปี อ่านหนังสือศึกษาได้ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น เป็นเวลานานทุกปีหลังจากผมเริ่มย่าง 50 ที่ผมเสียดายว่า "ถ้ากลับไปที่ 30 ได้คงดี" จะได้อ่านหนังสือศึกษาให้มากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ ยิ่งผ่านมาอีกจนถึง 60 ก็รู้สึกว่าเวลาจะทำแบบนั้นได้ ยิ่งน้อยลง (ผมเคยเล่าไว้นานแล้วว่า อยากศึกษาเช็คสเปียร์และงานศิลปะวรรณกรรมก่อนตาย สงสัยจะไม่ได้แน่แล้ว ยังมีเรื่องอื่นอีกเยอะที่อยากอ่านก่อน)
แต่ปีนี้ มีอารมณ์บ่จอยอีกเรื่องเพิ่มขึ้นมา (จะว่าไปคงมีส่วนมาจากความตระหนักว่า ตัวเองเวลาอยู่บนโลกมีอีกไม่มาก) และเป็นเรื่องการเมืองที่เกี่ยวกับเรื่องที่พูดในกระทู้

ผมพยายามพูดเขียนต่อสาธารณะถ้านับจากกลับจากเรียนเอกมาก็ร่วม 20-30 ปี เพื่อหาทางทำให้ประเด็นสถานะของสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่พูดได้ทางสาธารณะ (ในสังคมสมัยใหม่ ไม่มีทางจะเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญแบบนี้ได้ ด้วยการซุบซิบนินทา หรือพูดแบบใต้ดิน แบบแอบๆซ่อนๆ) สิ่งที่เป็นความหวังมากๆของผมตลอด 20-30 ปีนี้คือ "คนที่มีฐานะทางสังคม" (3 กลุ่มที่ผมพูดข้างต้น) จะหันมาพยายามผลักดันประเด็นนี้อย่างจริงจัง เพราะนี่เป็นเรื่องที่เป็นหัวใจของสังคมไทย ของ "ความเป็นไทย" หรือ "เอกลักษณ์" ของความเป็น "ชาติหนึ่ง สังคมหนึ่ง" แน่นอน (ในแง่นี้ ผม "เห็นด้วย" กับรัฐไทยในแง่ที่ว่า เรื่องสถาบันฯเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของไทย เพียงแต่แน่นอนว่า ผมอธิบายหรือมองความสำคัญคนละอย่าง)
พร้อมกับความตระหนักว่า หลังจากทำมา 20-30 ปี จนตัวเองถึงวัยที่นับถอยหลังเวลาอยู่บนโลกนี้ได้ พอใกล้และถึงวันเกิดปีนี้ ความรู้สึกที่ว่าตัวเอง "ล้มเหลว" ในการทำให้เกิดการพูดแบบทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเมืองไทย โดยเฉพาะทำให้ "คนมีฐานะทางสังคม" 3 กลุ่มดังกล่าวออกมาทำเรื่องนี้บ้าง จึงเป็นความรู้สึกที่ชวนหดหู่มากเป็นพิเศษ

กรณีอย่าง "อคม." จึงเป็นความผิดหวังสำหรับผม personally มากเป็นพิเศษ โอกาสมีอยู่ เป็นโอกาสทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกในรอบ 70 ปีด้วย สถานการณ์ก็ยากน้อยกว่าเมื่อ 20-30 ปีที่ผมเคยผ่านมาด้วย มิหนำซ้ำ นี่เป็นเรื่องของ "คนรุ่นใหม่" ด้วย.....

ความสำเร็จสำคัญที่สุดของสถาบันกษัตริย์ไทย ไม่ใช่เรื่องทำให้คนเชื่อคนเชียร์ เรื่องนั้นก็สำคัญ แต่ถึงที่สุด "ไม่แปลก" ในแง่ที่ว่า ถ้ามีอำนาจรัฐและระบบการอบรมบ่มเพาะตั้งแต่เด็กแบบที่เป็น

ความสำเร็จที่สำคัญทีสุด คือการทำให้คนที่มีปัญหา ไม่เห็นด้วย (เรียกรวมๆว่า critical) ต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ คนที่เชื่อว่าตัวเอง "เห็นปัญหา" ไม่ยอมทำอะไรเมื่อมีโอกาสที่จะทำ หรือไม่ยอมพยายามหาโอกาสที่จะทำ หรือถ้าไม่มีโอกาสก็พยายามสร้างโอกาสขึ้น คือการทำให้คนเหล่านี้ รู้สึกว่า "ทำอะไรไม่ได้" หรือ "ทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้" และลงเอยด้วยการบอกตัวเองว่า "มีเรื่องอื่นให้ทำก่อน" "รอไว้อนาคตเมื่อทำได้" (ซึ่่งตลอดหลายสิบปี "อนาคต" ที่ว่า ไม่เคยมาถึง เพราะไม่เคยมี "อนาคต" ที่ว่า ถ้าไม่ลงมือทำให้มี)

เพราะถ้าคุณทำให้คนที่ไม่ได้เชียร์สถาบันฯ หรือเห็นว่าสถานะที่เป็นอยู่มีปัญหา รู้สึกหรือคิดแบบนี้ได้ ก็ไม่ต้องห่วงเลยเรื่องจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้

("ความสำเร็จ" ที่ว่าในกรณีไทยเป็นอะไรที่ "ผิดปกติ" จากแทบทุกกรณีในโลกที่ผมรู้มาด้วย ที่ "คนที่
 เห็นปัญหา" มองโดยรวมแล้ว ทำอะไรน้อยกว่าสิ่งที่พวกเขาบอกตัวเองว่า "เห็นปัญหา" ขนาดนี้)

รัฐล้มเหลว..สังคมล่มสลาย (?) ความจริงที่คนในสังคมไทยปฎิเสธไม่ได้..




(ไอดอล คนดัง (หรือดับ)แฉเรื่องเงินช่วยบริจาคดับไฟป่าเชียงใหม่... ??? )








โตโน่ ก็โอนด้วย เงินแสนให้ ฌอน บูรณะหิรัญ ช่วยบริจาคดับไอดอลเชียงใหม่ ผู้จัดการส่วนตัวยืนยัน รู้เรื่องแล.....






"ธนาคารโลก" คาดจีดีพีไทยปีนี้หด 5% ชี้ควรเร่งวางมาตรการรับมือวิกฤตระยะยาว