Lertchai Sirichai
แง่มมุหนึ่งของการอภิวัตน์ประชาธิปไตย
ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รู้จักครอบครัวของท่านปรีดี พนมยงค์ เพราะผมไม่มีทางจะเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรเลยไม่ว่าจะด้านใด ผมไม่ใช่นักศึกษาธรรมศาสตร์ ไม่ได้เรียนทางกฎหมายหรือการเมืองการปกครอง ไม่มีญาติหรือมีเพื่อนที่มีประวัติหรือลู่ทางที่จะเข้าไปรู้จักครอบครัวของท่านได้เลย
ผมเป็นเช่นเดียวกับคนอีกจำนวนมากที่สนใจศึกษาความเป็นมาของสังคมไทย คือ เคารพนับถือท่านปรีดีที่เสียสละเพื่อประเทศไทยอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็รู้สึกสะเทือนใจไปกับชะตากรรมที่ท่านและครอบครัวได้รับ
ผมเคยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์หลายปี เจ้าของมหาวิทยาลัยคืออาจารย์ไสว สุทธิพิทักษ์ ท่านเรียนที่ธรรมศาสตร์ในยุคที่ท่านปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การ และท่านเป็นคนหนึ่งที่ท่านปรีดีชวนร่วมขบวนการเสรีไทย เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยไม่ถูกนับว่าเป็นประเทศแพ้สงคราม ส่งผลให้ขบวนการเสรีไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เมื่อมีการเลือกตั้งพรรคที่สนับสนุนท่านปรีดีจึงได้รับการเลือกตั้งเข้ามามาก อาจารย์ไสวก็ไปลงเลือกตั้งที่นครศรีธรรมราชและได้รับเลือกตั้ง เมื่อจัดตั้งรัฐบาล อ.ไสวได้รับตำแหน่งลาขานุการนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2490 ท่านปรีดีต้องหนีออกนอกประเทศ และในปี 2492 ท่านได้กลับมานำขบวนการประชาธิปไตยยึดอำนาจคืน แต่ล้มเหลว ท่านปรีดีต้องหนีออกประเทศอีกครั้ง และไม่ได้กลับประเทศอีกเลย ท่านปรีดียอมรับภายหลังว่าการรัฐประหารปี 2490 และความล้มเหลวของการยึดอำนาจคืนดังกล่าว ทำให้ความพยายามของคณะราษฎรที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้นต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง
แต่ผลจากการยึดอำนาจไม่สำเร็จทำให้รัฐบาลเผด็จการสมัยนั้นดำเนินการกวาดล้างผู้ที่สนับสนุนท่านปรีดี มีบุคคลจำนวนมากถูกปลดจากราชการ จำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง และจำนวนมากถูกเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยม อาจารย์ไสวเห็นว่าตนเองจะไม่ปลอดภัยจึงหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ประเทศสิงคโปร์กว่า 10 ปี
เมื่ออาจารย์ไสวกลับมาประเทศไทยก็มาก่อตั้งวิทยาลัยลัยธุรกิจบัณฑิตย์ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ผมเข้าไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2529 ก็ได้เห็นชัดเจนว่าอาจารย์ไสวพยายามตอบแทนบุญคุณท่านปรีดี ทั้งในแง่การเผยแพร่ผลงานและเกียติคุณของท่าน และการช่วยเหลืองานต่างๆที่หลายฝ่ายร่วมกันจัดเพื่อรำลึกถึงท่านหรือเผยแพร่เกียรติคุณของท่าน
ในปี 2532 มีเพื่อนในมหาวิทยาลัยบอกว่ามีลูกสาวของท่านปรีดีมาเป็นหัวหน้าสาขาภาษาจีน ผมก็นึกออกได้ทันทีว่าอาจารย์ไสวคงเชิญมา ส่วนความรู้ของท่านคงไม่ต้องห่วงเพราะผมทราบดีอยู่ก่อนแล้วจากการติดตามชีวประวัติของท่านปรีดีว่าท่านและครอบครัวพำนักอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลานาน และลูกสาวของท่านคนหนึ่งได้ศึกษาภาษาจีนจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของจีนจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และผมยังทราบเพิ่มเติมภายหลังว่าท่านยังเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนอยู่ในสถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออกในประเทศฝรั่งเศสอยู่หลายปีด้วย เมื่อท่านผู้หญิง พูนศุขและลูกคนอื่นเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2530 ลูกสาวคนที่ผมกล่าวถึงนี้ยังเป็นอาจารย์อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอีกช่วงหนึ่งและเดินทางกลับมาสมทบในปี 2531
ผมทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าลูกสาวท่านปรีดีที่มาเป็นอาจารย์ชื่อ “วาณี” นามสกุล “พนมยงค์ - สายประดิษฐ์” ผมยิ่งสนใจมากขึ้นอีก เพราะผมทราบมาก่อนแล้วว่าลูกสาวของท่านปรีดีคนหนึ่งแต่งงานกับลูกชายของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอีกท่านหนึ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเคารพนับถือ เพราะเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่ต่อสู่เพื่อความเป็นธรรมและเสรีภาพของคนไทย ผลงานของท่านยังคงเป็นปากเสียงให้แก่คนจนและผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพมาจนถึงปัจจุบัน
ผมจึงรู้สึกว่าอาจารย์วาณีเป็นคนสำคัญสำหรับผม และผมอยากจะหาโอกาสเข้าไปแสดงความเคารพและขอความรู้จากท่าน แต่ว่าระยะแรกๆก็ยังไม่ได้พบ เนื่องจากท่านจะมาทำงานที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เพียงสัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของ อ.ไสว สุทธิพิทักษ์ เพราะขณะนั้นอาจารย์วาณีกำลังต่อสูกับโรคมะเร็งอยู่ คือมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ และผ่านการผ่าตัดมาแล้ว เสียงของท่านจึงแหบแห้งเวลาพูด เมื่อเห็นท่านจากภายนอกก็พอรู้ว่าร่างกายของท่านไม่สู้แข็งแรงนัก อาจารย์ไสวจึงขอให้ทำหน้าที่เป็นเพียงหัวหน้าสาขา มามหาวิทยาลัยสักสัปดาห์ละวันก็พอ ซึ่งก็พบว่าอาจารย์วาณีสามารถใช้ประสบการณ์ที่มีบริหารงานสาขาได้เป็นอย่างดี แต่ลึกกว่านั้นก็คืออาจารย์ไสวอยากจะใช้โอกาสนี้ได้ช่วยดูแลครอบครัวของท่านปรีดีบ้าง
โอกาสที่ผมรู้จักอาจารย์วาณีได้อย่างจริงจังก็มาถึง และนำผมไปรู้จักครอบครัวของท่านปรีดี ซึ่งรวมถึงท่านผู้หญิงพูนศุขและลูกๆของท่าน
โอกาสดังกล่าวนี้คือ ลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดีและผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ตกลงกันที่จะจัดงานรำลึกและเผยแพร่ผลงานของท่านปรีดีเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก โดยจะจัดที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผมไม่แน่ใจว่าก่อนหน้านี้มีการจัดต่อเนื่องกันมาหรือเปล่า ดูเหมือนจะจัดในวันที่ 24 มิถุนายน แต่ก็จำได้ไม่แม่นว่าจัดวันไหนแน่ ผมมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม 2 ปีต่อเนื่องกัน
ในวันงานในห้องประชุมใหญ่จะมีการปาฐกถา การอภิปราย และการแสดง หน้าห้องประชุมจะมีการจัดนิทรรศการ โดยอาจารย์ไสวรับผิดชอบในการจัดนิทรรศการ ตอนนั้นนอกจากสอนหนังสือแล้วผมยังมีหน้าที่ทำงานเผยแพร่วัฒนธรรม ซึ่งก็ผ่านการจัดนิทรรศการใหญ่ๆมาหลายครั้ง อาจารย์ไสวมอบหมายให้ผมช่วยจัดนิทรรศการ ซึ่งต้องรับผิดชอบทั้งหมดทั้งในส่วนเนื้อหาที่จะจัด และการออกแบบจัดทำ การออกแบบจัดทำคงไม่ยาก เพราะผมมีทีมงานอยู่แล้ว แต่ที่ยากคือเนื้อหาที่จะจัด เพราะผมไม่รู้เลยว่าประเด็นที่ควรจะจัดคืออะไร มีรายละเอียดอย่างไร จึงทำให้ผมและอาจารย์วาณีได้พบกัน ท่านสนับสนุนงานจัดนิทรรศการอย่างเต็มที่ โดยท่านพาผมไปที่บ้านเพื่อพูดคุยกับคุณแม่คือท่านผู้หญิงพูนศุขและพี่ๆของท่าน และติดต่อลูกศิษย์อาจารย์ปรีดีและเสรีไทยที่ยังเหลืออยู่ให้ผมสัมภาษณ์ด้วย ซึ่งทำให้ผมเบาใจไปได้มาก และสามารถจัดนิทรรศการได้เรียบร้อยทั้ง 2 ปี
เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์วาณีอย่างใกล้ชิด ผมเห็นอะไรหลายอย่างจากผู้หญิงคนนี้ ร่างกายภายนอกดูไม่แข็งแรงนัก เสียงที่พูดดูไม่แจ่มใส แต่พลังแรงใจของท่านสูงมาก เมื่อท่านพูดจะมีรอยยิ้มปนอยู่กับคำพูดตลอดเวลา ไม่เคยแสดงออกถึงความอ่อนแอที่ต้องต่อสู่กับโรคร้ายให้เห็นเลย ท่านไม่พูดน้อยจนน่าอึดอัดและไม่พูดมากจนน่ากลัว ที่จริงเนื้อเรื่องต่างๆที่จะใช้จัดนิทรรศการท่านจะชี้หรือบอกได้เลย เพราะท่านรู้เรื่องของท่านปรีดีดีมากอยู่แล้ว ทั้งเรื่องความคิดและงานต่างๆที่ท่านปรีดีได้ทำให้ประเทศไทย และที่ตั้งใจทำแต่ยังทำไม่สำเร็จ แต่ที่คนภายนอกจะรู้สู้ท่านไม่ได้ก็คือท่านปรีดีและครอบครัวผ่านวันเวลาที่ทุกข์ยากและเจ็บปวดมาได้อย่างไร โดยที่ยังรักษาความดีงามให้คนเคารพนับถือได้ตลอดมา ทว่าอาจารย์กลับไม่บอกอะไรเลย แต่ช่วยจัดประสบการณ์ให้ผมไปศึกษาข้อมูลเอง ต่อเมื่อถามเรื่องต่างๆแบบเจาะจงและเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ความเห็นท่านก็ยินดีตอบ ผมจำได้ว่าผมโทรศัพท์ถึงท่านหลายครั้ง แต่ไม่ค่อยได้คำตอบเกี่ยวกับเนื้อหา แต่มักได้คำตอบว่าอยากจะคุยกับใครไหม ถ้าท่านพอจะช่วยนัดให้ได้ท่านก็จะดำเนินการให้ ทำให้ผมพอรับรู้ได้ว่าที่อาจารย์วาณีใช้วิธีการเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เรื่องของอาจารย์ปรีดีออกมาจากคนอื่นมากที่สุด ไม่ใช่ออกมาจากครอบครัวของท่านปรีดีเองเป็นหลัก
อาจารย์วาณีทำตัวธรรมดามาก แต่งตัวง่ายๆ อยู่ง่ายๆ ไปไหนมาไหนง่ายๆ อาจารย์ในสาขาภาษาจีนถึงจะไม่ได้พบกับท่านมากนักแต่ก็ทำงานกับท่านด้วยความสบายใจ ซึ่งที่จริงท่านมีความรู้และประสบการณ์มาก ท่านควรจะมีเรื่องพูดให้ใครต่อใครฟังได้มากมาย ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับท่านปรีดี ที่เกี่ยวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ผู้เป็นบิดาของสามี และประสบการณ์อื่นๆ แต่ท่านกับทำตัวเป็นอาจารย์ที่เรียบงาย ไม่พูดในเชิงที่แสดงว่าตนรู้อะไรมากกว่าใคร ถ้าท่านจะคุยก็เป็นการถามสารทุกข์สุขดิบหรืองานเฉพาะหน้ามากกว่า แต่หากใครถามท่านถ้าเป็นความรู้ทั่วไปก็จะตอบแบบไม่ปิดบัง แต่ถ้าถามเกี่ยวกับเรื่องของท่านปรีดีท่านจะพูดน้อยมาก
ผมได้ไปสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุขและลูกๆที่บ้านซอยสวนพลู ซึ่งเป็นบ้านที่ท่านผู้หญิงและครอบใช้เป็นที่พำนักหลังจากกลับมาจากประเทศฝรั่งเศส ตัวบ้านเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น รูปทรงบ้านเป็นบ้านแบบยุโรปที่นิยมปลูกกันมากในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บ้านเก่ามากแล้ว แต่ยังดูแข็งแรกและสะอาดน่าอยู่ ในบ้านมีเครื่องเรือนและเครื่องใช้ในสไตล์เก่าๆเข้ากับตัวเรือน ไม่มีเครื่องประดับหรือเครื่องอำนวยความสะดวกอะไรมากนัก
ผมเข้าไปในบ้านด้วยความรู้สึกค่อนข้างเกร็ง เพราะดูเป็นเหมือนบ้านผู้ดีเก่า และเจ้าของบ้านเป็นคนที่มีเกียรติภูมิสูง มีประสบการณ์ชีวิตที่ยากจะหาใครเทียบเท่าได้ แต่เมื่อได้เข้าไปและได้นั่งแล้วก็ลดความตื่นเต้นได้เป็นลำดับ เพราะท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นคนใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดกับเราเหมือนย่ายาย ลูกของท่านที่ผมเห็นตอนนั้นและร่วมให้สัมภาษณ์ด้วยมี 3 คน คือ อาจารย์วาณีซึ่งเป็นลูกคนสุดท้อง คนที่เป็นพี่ขึ้นไปคืออาจารย์ดุษฎี ซึ่งก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่สังคมรู้จักดี เนื่องจากท่านปรากฏตัวในที่สาธารณะบ่อยๆ เพราะเป็นครูดนตรีที่มีความสามารถสูง จนได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ อีกคนหนึ่งเป็นพี่สาวคนถัดขึ้นไปอีกชื่อสุดา
ผมไปวันนั้นด้วยความเกรงใจอย่างมาก ตั้งใจว่าจะรีบสัมภาษณ์แล้วรีบกลับ แต่ปรากกฎว่าไปในช่วงเย็นซึ่งเป็นเวลาอาหารพอดี ทางเจ้าของบ้านได้ชวนผมทานข้าวด้วย ซึ่งผมปฏิเสธอย่างแข็งขัน เพราะไม่ต้องการสร้างความยุ่งยากใดๆให้แก่เจ้าของบ้าน แต่ไม่อาจปฏิเสธน้ำใจได้เลย ผมจึงได้ร่วมโต๊ะอาหารแบบนั่งตัวแข็ง เพราะไม่เคยรู้จักใครมาก่อนเลยยกเว้นอาจารย์วาณี ยิ่งมีท่านผู้หญิงร่วมรับประทานอยู่ด้วยยิ่งรู้สึกว่าเราเป็นเด็กรุ่นหลังมาก แต่เหตุการณ์ก็ผ่านไปได้ เพราะทุกคนใจดีและมีน้ำใจมาก
ผมสังเกตได้ว่าที่บ้านนี้เขาจะไม่พูดเรื่องการเมืองกันเลย คุยกันแต่เรื่องชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องอาหารการกิน การถามถึงสารทุกข์สุขดิบของคนที่รู้จัก และที่สำคัญคือไม่พูดถึงการเมืองในสมัยนั้นเลย อาจารย์วาณีก็เองไม่เคยเอ่ยถึงเหตุการณ์บ้านเมืองเช่นกัน ที่จริงผมเองก็อยากทราบเหมือนกันว่าลูกของท่านปรีดีที่ใช้ชีวิตอยู่กับท่านปรีดีในต่างประเทศมาตลอดนั้นมองการเมืองไทยอย่างไร แต่ไม่มีโอกาสได้ยินเลย และหากติดตามข่าวสารเกี่ยวกับคนในครอบครัวของท่านปรีดีก็คงไม่มีใครเคยได้ยินเช่นกันว่ามีใครออกมาแสดงความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง ตามทัศนะของผมน่าจะเป็นเพราะทั้งท่านผู้หญิงพูนศุขและลูกๆไม่อยากให้ตระกูลของท่านปรีดีต้องถูกนำไปเป็นประเด็นการเมืองขึ้นมาอีก เหมือนที่ท่านปรีดียอมใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนอย่างยากลำบาก และยอมที่จะสิ้นชีวิตอยู่ต่างแดน เพราะเกรงว่าหากท่านกลับมาประเทศไทยก็จะมีคนหยิบประเด็นปัญหาที่อ่อนไหวมาสร้างเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งก็จะสร้างความยุ่งยากให้แก่ประเทศชาติ ท่านยอมที่จะให้ความจริงตายไปกับตัวท่านดีกว่าที่จะเกิดปัญหายุ่งยากต่อบ้านเมือง มีหรือที่ภรรยาและลูกๆจะไม่เข้าใจการเสียสละของท่านปรีดี ดังนั้นท่านจึงกลับมาอยู่เมืองไทยแบบคนที่มีความหวังดีต่อประเทศชาติ ท่านจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเฉพาะเรื่องของท่านปรีดี และจะพูดเฉพาะเมื่อมีคนถาม และจะพูดเฉพาะในแง่มุมว่าท่านปรีดีทำอะไร มีเจตนาดีต่อบ้านเมืองอย่างไร และเป็นคนที่มือสะอาดไม่เคยหาผลประโยชน์ใส่ตัวอย่างไร ท่านไม่เคยพูดในลักษณะโจมตีตัวบุคคล หรือต้องการรื้อฟื้นเรื่องราวเลย และอีกเรื่องที่ตระกูลของท่านยอมไม่ได้ก็คือการกล่าวหาท่านปรีดีในทางที่เสียหาย ท่านจะฟ้องร้องทุกครั้งและท่านก็ชนะคดีทุกครั้ง
การสัมภาษณ์วันนั้นก็ยิ่งช่วยชี้ให้เห็นข้อสรุปที่ผมกล่าวไว้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนจะพูดอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะท่านผู้หญิงพูนศุขท่านเป็นผู้ใหญ่มาก ท่านไม่แพร่งพรายความรู้สึกนึกคิดของท่านต่อเหตุการณ์ต่างๆให้รับรู้ได้เลย ท่านตอบให้ทราบข้อเท็จจริงไม่มากนัก เหมือนท่านไม่อยากจะรื้อฟื้นเรื่องใดๆขึ้นมาอีก มีแต่ลูกๆที่จะช่วยกันตอบคำถามที่ผมถาม แต่จะตอบตามข้อเท็จจริง และไม่พูดอะไรที่ไม่ได้ถาม โดยเฉพาะไม่มีการพูดแบบกล่าวหาหรือโจมตีใคร ไม่พูดแบบโอ้อวด ไม่เรียกร้องความสำคัญ ไม่มีการตัดพ้อต่อว่าอะไรเลย
ผมขอกลับไปยังเรื่องที่คุยกับอาจารย์วาณีที่มหาวิทยาลัยอีกครั้ง ผมได้พูดคุยกับท่านถึงงานที่ท่านทำอยู่ขณะนั้น มีงานหนึ่งที่ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านทำด้วยความสุข และพยายามทำงานอย่างเต็มความสามารถ คือท่านได้ถวายงานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เป็นที่ปรึกษาด้านภาษาจีน ซึ่งอาจารย์วาณีเล่าให้ฟังว่าพระองค์สนใจภาษาจีนมาก และมีพระราชดำริที่จะทำโครงการเกี่ยวกับภาษีจีนหลายโครงการ ผมได้แสดงความคิดเห็นไปว่า น่าจะพอแสดงให้เห็นได้ว่าทางราชวงศ์ไม่มีข้อเคลือบแคลงแล้วว่าท่านปรีดีจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 อาจารย์วาณีพูดเพียงว่าขอบคุณอาจารย์มาก พร้อมด้วยรอยยิ้มกว้าง สะอาด สดใส ซึ่งผมพอรับรู้ความหมายได้ว่าเป็นรอยยิ้มที่แสดงออกถึงความสุขอีกครั้งของท่าน
สำหรับการไปสัมภาษณ์คนที่ใกล้ชิดหรือทำงานร่วมกับท่านปรีดี ผมขอยกตัวอย่างกรณีของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ภริยาของคุณจำกัด พลางกูร เสรีไทยคนสำคัญ โดยในคืนวันที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในปี 2484 มีคนไทยจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นชื่อว่า “เสรีไทย” มีท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า คุณจำกัด พลางกูร เป็นเลขาธิการ
ตอนที่ผมไปสัมภาษณ์นั้นครูฉลบชลัยย์ยังเปิดโรงเรียนดรุโณทยานสอนหนังสืออยู่ แต่ว่าได้ย้ายจากที่เดิมคือสะพานหัวช้างออกมาอยู่ในที่แห่งใหม่แล้ว คือ ริมคลองประปา ถนนประชาชื่น ใกล้ๆกับหมู่บ้านการเคหะท่าทราย ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่รอบนอกหรือชานเมือง โรงเรียนนี้ครูฉลบชลัยย์และสามีร่วมกันจัดตั้งตั้งมาตั้งแต่ปี 2483 หลังจากแต่งงานกันได้ 1 ปี
ที่จริงเมื่อผมเริ่มไปทำงานที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ในปี 2529 ผมก็เห็นโรงเรียนนี้แล้ว เพราะตั้งอยู่ใกล้ๆกับมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เพิ่งขยายสาขามาจากสามเสนไม่นานเช่นกัน โรงเรียนที่ผมเห็นเป็นโรงเรียนขนาดไม่ใหญ่นัก อาคารเรียนดูไม่โอ่โถง เห็นแล้วก็พอทราบได้ว่ามีการลงทุนไม่มากนัก แต่ก็ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะมีรั้วรอบขอบชิด ไม่เห็นนักเรียนออกมาเดินเกะกะนอกโรงเรียน แต่เดิมโรงเรียนดรุโณทยานเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา แต่เมื่อย้ายมาในที่แห่งใหม่คงจะเปิดสอนระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา เพราะผมเห็นมีแต่เด็กๆ แต่ก็มีจำนวนหลายร้อยคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคงเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ ผู้ปกครองถึงไว้ใจส่งลูกหลานมาเรียน ทั้งที่เป็นโรงเรียนราษฎร์และมีโรงเรียนการเคหะท่าทรายที่เปิดสอนในระดับเดียวกันอยู่ใกล้ๆ
แม้ผมจะเห็นโรงเรียนนี้เกือบทุกวัน แต่ก็ไม่เคยสนใจมาก่อนเลย นอกจากรู้สึกว่าชื่อโรงเรียนมีความหมายดี เพราะไม่เคยรู้เลยว่าโรงเรียนนี้เป็นของใคร ผมเข้าไปในโรงเรียน ได้พบกับครูฉลบชลัยย์ ท่านเป็นคนสูง ร่างท้วม ผิวคล้ำ หน้าตาเอาจริงเอาจัง เมื่อฟังเสียงที่ฉะฉาน เข้มแข็ง ก็พอรู้เลยว่าท่านคือนักสู้ ตอนนั้นท่านอายุ 70 กว่าปีแล้ว แต่ยังทั้งสอนหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง เป็นผู้บริหารโรงเรียน และดูแลทุกอย่างในโรงเรียนด้วยตัวเอง เมื่อได้ฟังเรื่องราวของท่านแล้ว ผมต้องอึ้งเลย เพราะเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการเสียสละ ชีวิตหลายสิบปีของท่านผ่านมาได้ก็ด้วยมีอุดมการณ์ที่สืบทอดมาจากสามีหล่อเลี้ยงเป็นกำลังใจ ทั้งครูฉลบชลัยย์และสามีต่างสำเร็จการศึกษามาจากประเทศอังกฤษ และได้พบกันขณะที่เรียนอยู่ที่อังกฤษนั่นเอง
ในปี 2486 ขบวนการเสรีไทยตกลงกันว่าให้ส่งคุณจำกัด พลางกูรไปประเทศจีนเพื่อเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรให้ยอมรับบทบาทของเสรีไทย ซึ่งในวันเวลาดังกล่าวท่านเพิ่งแต่งงานกับครูฉลบชลัยย์ได้เพียง 3 ปีเท่านั้น การเดินทางไปประเทศจีนสมัยนั้นยากลำบากมาก แต่คุณจำกัดก็ฝ่าอุปสรรคเดินทางไปจนถึง และสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายประสบผลสำเร็จ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้กลับมาพบกับครูฉลบชลัยย์อีกเลย เพราะท่านเสียชีวิตที่ประเทศจีน
ในวันที่ครูฉลบชลัยย์ให้สัมภาษณ์ท่านเน้นตรงนี้เป็นพิเศษว่าเพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นาน ผมตระหนักได้ทันทีถึงคำว่าไม่นาน เพราะครู ฉลบชลัยย์ต้องอยู่ตัวคนเดียวและทุ่มเทพลังใจและความสามารถเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ของสามี ถ้านับถึงวันที่ผมไปคุยด้วยก็ประมาณ 50 ปีแล้วที่ท่านยืนต่อสู้เพียงลำพัง หากนับจนถึงท่านสิ้นชีวิตเมื่อปี 2560 ก็รวมเวลาถึง 74 ปี
อุดมการณ์ของสามีที่ส่งต่อมายังครูฉลบชลัยย์ ก็คือ การดำเนินการโรงเรียนดรุโณทยานให้สามารถสร้างเด็กที่มีความรู้ดี และเป็นคนดีที่รักประชาธิปไตยและเป็นพลเมืองดีของสังคม และการช่วยสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตย โดยครูฉลบชลัยย์เอาอุดมการณ์ทั้ง 2 อย่างนี้รวบเข้าด้วยกันได้ โดยนอกจากท่านตั้งใจทำโรงเรียนที่ดำเนินการตามแนวทางที่ท่านและสามีร่วมกันวางไว้แต่ต้นแล้ว ท่านยังรับลูกหลานของนักประชาธิปไตยที่ถูกรังแกและยากลำบากมาดูแลและให้ได้รับการศึกษาอยู่ที่โรงเรียน นอกจากนี้ท่านคอยดูแลเอื้อเฟื้อต่อนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ได้รับความยากลำบากจากอำนาจเผด็จการ ตัวอย่างกรณีนี้อยากให้ผู้สนใจศึกษาเรื่องที่ครูฉลบฉลัยย์เป็นที่รู้จักและได้รับการเคารพนับถือจากนักศึกษาที่ถูกจับกุมคุมขังหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ดังที่มีผู้เขียนถึงท่านว่า “คุณป้า ผู้อยู่เบื้องหลังบริสุทธิ์คดี 6 ตุลา”
ครูฉลบชลัยย์ดำเนินงานโรงเรียนดรุโณทยานอย่างจริงจัง แม้จะไม่ง่ายเลยสำหรับการดำเนินการโรงเรียนราษฎร์ที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาประโยชน์แต่ยืนอยู่ด้วยอุดมการณ์อันดีงาม ครูฉลบชลัยย์จำต้องปิดโรงเรียนนี้ในปี 2549 ในวันที่ท่านมีอายุถึง 90 ปี เพราะท่านทำต่อไม่ไหวแล้ว และท่านก็ไม่มีทายาทที่จะรับภารกิจต่อ โรงเรียนดรุโณทยานจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ของคน 2 คนที่ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อแผ่นดินโดยแท้
สิ่งที่ผมประทับใจครูฉลบชลัยย์อย่างมากในวันที่ผมสัมภาษณ์ก็คือ ท่านไม่เคยมีความขุ่นข้องหมองใจใครเลยที่ส่งสามีท่านไปเสียชีวิต ท่านภูมิใจว่านั่นเป็นความต้องการของสามีของท่านเอง ท่านยังเคารพนับถือท่านปรีดีอย่างสูง กับครอบครัวท่านปรีดีก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ในขณะเดียวกันท่านก็ไม่เคยคุยโอ้อวดว่าท่านกับสามีเสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างไร ไม่มีการโจมตีใคร ไม่มีการตัดพ้อต่อว่าหรือเรียกร้องความสำคัญใดๆ ท่านทำทุกสิ่งด้วยใจของท่าน ด้วยอุดมการณ์ที่สืบต่อเนื่องมาจากสามี
ผมเห็นได้ชัดเจนเลยว่าความคิดและตัวตนของครูฉลบชลัยย์นั้นไปในทางเดียวกับท่านผู้หญิงพูนศุขและลูกๆ คือ ประการแรก มีความจริงใจต่อประเทศชาติอย่างสูง ชีวิตทั้งชีวิตผูกพันอยู่กับสิ่งนี้ แม้ชีวิตจะยากลำบากอย่างไรก็ไม่เคยปริปากบ่น และทำตัวเพื่อประโยชน์จนวาระสุดท้ายโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ลองดูจดหมายที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเขียนมอบลูกหลานไว้ให้ปฏิบัติเมื่อท่านเสียชีวิต ก็จะยิ่งซึ้งใจในเรื่องที่ผมกล่าวถึง ประการที่สอง ไม่เคยประกาศความเด่นดัง ไม่ทวงบุญคุณใคร ไม่เคยเรียกร้องผลตอบแทนจากสังคม ทั้งที่ผลการเสียสละมีผลต่อสังคมมากมายนัก ประการที่สาม ไม่นำเอางานที่เคยทำมาสร้างการเคลื่อนไหวใดๆที่จะเกิดผลกระทบต่อสังคม หากสังคมสนใจก็ให้เรียนรู้กันเอง หากจะทำอะไรก็คิดเฉพาะแง่มุมเชิงสร้างสรรค์ ไม่กระทบต่อใครหรือต่อสังคม ประการที่ 4 ไม่อาฆาตมาดร้ายใคร
ผมได้ไปสังเกตการณ์อยู่ในงานที่หอประชุมใหญ่ทั้ง 2 ปี สิ่งที่พบเห็นและประทับใจมากก็คือ ได้เห็นผู้สูงหลายท่านที่เคยมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆที่มีท่านปรีดีเป็นผู้นำ ได้พยายามมาร่วมงาน ทั้งที่เคลื่อนไหวไม่สะดวกแล้ว มีลูกหลานของผู้ร่วมประวัติศาสตร์หลายท่านมาร่วมงานแทนปู่ย่าตายายที่เสียชีวิตไปแล้ว
นอกจากการจัดนิทรรศการ 2 ปี ผมได้มีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมอื่นที่ระลึกถึงท่านปรีดีอีก จำได้ว่าเคยไปร่วมกิจกรรมที่ลานอนุสาวรีย์ท่านปรีดีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งหนึ่ง จำไม่ได้ว่างานอะไร ซึ่งก็ได้เห็นผู้คนกลุ่มดังกล่าวพยายามมาร่วมงานเช่นกัน
ผมตั้งคำถามอยู่ในใจว่าผู้สูงอายุที่พยายามมาร่วมงานนั้นล้วนแต่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจาการเข้าร่วมเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆที่มีท่านปรีดีเป็นผู้นำ คนรุ่นลูกหลานที่มาร่วมงานจำนวนไม่น้อยพ่อแม่ปูย่าตายายของพวกเขาล้วนเป็นผู้เสียสละเช่นกัน และทำให้คนรุ่นลูกหลานต้องยากลำบากเพราะการเสียสละนั้น แต่ทำไมทุกคนยังเคารพท่านปรีดีอย่างมาก ไม่มีใครต่อว่าหรือน้อยเนื้อต่ำใจจากชีวิตที่เปลี่ยนไป คำตอบที่ผมพอจะนึกได้ นอกจากทุกท่านตระหนักดีว่าสิ่งที่ตนทำหรือบรรพบุรุษทำนั้นเป็นการทำเพื่อประเทศชาติแล้ว สิ่งที่ผูกใจไม่ให้ทุกคนน้อยเนื้อต่ำใจในชีวิตของตน คือการเสียสละของทุกคน ซึ่งไม่ใช่การเสียสละเล็กๆน้อย แต่เป็นการเสียสละทั้งชีวิต และมีผลต่อลูกหลานต่อมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญคือท่านปรีดีและครอบครัวเป็นตัวอย่างของการเสียสละ ที่ทุกคนยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ก็เพราะใช้ความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ผูกร้อยกันไว้นั่นเอง
นอกจากนี้ในงานต่างๆดังกล่าวยังพบหลายท่านที่เคยไปศึกษาที่ยุโรปและมีโอกาสไปแวะเยี่ยมและพูดคุยกับท่านปรีดีที่ฝรั่งเศสก็มาร่วมงานกันมาก คนกลุ่มนี้ก็เคารพนับถือท่านปรีดีและครอบครัว เพราะเห็นว่าท่านปรีดีทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมากในขณะที่ท่านไม่ได้รับผลแห่งการทำความดีอย่างที่ควรจะเป็น คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มาร่วมกิจกรรมอย่างหนาตา คือนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ขณะนั้น ผมมีโอกาสพูดคุยด้วยหลายคน พบว่าที่นักศึกษามาร่วมกิจกรรมระลึกถึงท่านปรีดีก็เนื่องจากพวกเขาคิดว่าท่านปรีดีเป็นเหมือนพ่อของชาวธรรมศาสตร์ทุกคน เหมือนกับบทกลอนที่มีอดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์เขียนไว้ว่า “พ่อสร้างชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี.......” ต่อคำถามที่ว่าทำไมพวกเขาผูกพันเหมือนท่านปรีดีเป็นพ่อทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้าท่านเลย คำตอบที่ได้อาจจะมีรายละเอียดต่างกันไปบ้าง แต่มีคำตอบที่สอดคล้องกันทุกคนคือท่านปรีดีสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมาก รวมถึงสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย แต่ที่สิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่อาจลืมท่านปรีดีได้เลยเลยคือความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของท่านและครอบครัว รวมถึงท่านที่ร่วมต่อสู้กับท่านปรีดีทุกคน
เรื่องที่กล่าวถึงนี้ผมไม่เคยเล่าที่ไหนมาเลย เก็บไว้ในใจมาประมาณ 30 ปีแล้ว พอดีว่า 24 มิถุนายนปีนี้มีคนพูดถึงการอภิวัตน์ของคณะราษฎรกันมาก ผมจึงนำเรื่องนี้มาเล่าเพื่อจะฝากไปถึงผู้ปกครองและขุนศึกทั้งหลายว่าความพยายามบิดเบือนการอภิวัตน์ของคณะราษฎรอย่างน่าละอายเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง และทำลายฝ่ายตรงข้ามที่เรียกร้องประชาธิปไตยนั้น นอกจากพวกท่านกำลังนำประเทศชาติเข้าสู่ยุคทมิฬครั้งใหม่อย่างยากจะหาทางออกแล้ว พวกท่านกำลังพิสูจน์ให้เห็นอีกว่าไม่มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ เพราะกำลังเหยียบย่ำคนที่เขาเสียละอย่างยิ่งใหญ่เพื่อประเทศชาติ และด้วยความเสียสละของคนเหล่านี้มิใช่หรือพวกท่านจึงมีโอกาสเสวยอำนาจและกดหัวประชาชนอยู่ขณะนี้
การบิดเบือนประวัติศาสตร์คงมีวันที่พวกท่านต้องรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์ แต่การเป็นผู้ปกครองที่ปราศจากความเป็นมนุษย์ผมไม่ทราบว่าจะรับผิดชอบอย่างไร
เลิศชาย ศิริชัย
28 มิ.ย. 2563
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar