lördag 27 juni 2020

ไปบ้านพลเอกเปรมทำไม?

Bilden kan innehålla: 6 personer, personer som står
ไปบ้านพลเอกเปรมทำไม?
โดย จักรภพ เพ็ญแข

มวลชนที่ไปด้วยกันเป็นจำนวนนับหมื่นเอง ก็อาจจะจำไม่ได้แล้วว่า เราเคลื่อนขบวนมวลชนฝ่าด่านตำรวจ-ทหารแถวเทเวศร์ ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ไปจนถึงบ้านหลวงของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นประธานองคมนตรีของรัชกาลที่ 9 กันทำไม? ยิ่งมวลชนรุ่นหลังที่เพิ่งโตทัน ก็อาจจะยิ่งไม่รู้ว่า ความหมายแท้จริงของเหตุการณ์ในครั้งนี้คืออะไร ตัวผมซึ่งอยู่ในเหตุการณ์และได้ร่วมตัดสินใจกระทำการครั้งนี้ด้วย ขอเล่าให้ท่านทั้งหลายได้ฟัง เพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ไว้ดังนี้

1. ขอให้สังเกตว่า ทุกคนในขบวนประท้วงสวมเสื้อสีเหลือง ซึ่งเป็นสีเสื้อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ที่รัฐบาลเลือกตั้งของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2549 การสวมเสื้อเหลืองไปประท้วงพลเอกเปรมฯ เป็นวิธีการสื่อสารว่า คนของหลวงกำลังทำร้ายประชาชน พลเอกเปรมฯ ซึ่งครั้งหนึ่งมีความสำคัญและเป็นหลักเสาหนึ่งของแผ่นดิน ได้กลับเหลิงลอยตัวและใช้เสาหลักนั้นกลับมาเฆี่ยนตีทำร้ายประชาชน เมื่อเกิดการรัฐประหาร คมช. พ.ศ. 2549 บุคคลในห้องเล็กๆ นั้นมีเพียงรัชกาลที่ 9, ราชินีสิริกิติ์, คณะรัฐประหาร และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทุกคนก็รู้ในบัดนั้นว่าพลเอกเปรมฯ คือ project manager หรือหัวหน้าโครงการรัฐประหาร การยกขบวนมวลชนไปหาพลเอกเปรมฯ ถึงบ้าน จึงเป็นวิธีการสื่อสารไปสู่ระดับสูงว่า เราประชาชนกำลังมีความทุกข์ เหมือนมาสั่นกระดิ่งไปจนถึงพ่อขุนรามคำแหงในสมัยสุโขทัยตามหลักศิลาจารึก (ซึ่งนักประวัติศาสตร์ต่างสรุปกันแล้วว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ในยุคหลัง) เสื้อเหลืองในวันนั้นเป็นภาษาที่บอกว่าเรามาอย่างสงบและพร้อมยอมรับเงื่อนไขที่เป็นอยู่ ขอให้เร่งถอดชนวนระเบิดเสียเถิด อย่าใช้งานคนชั่ว อย่าร่วมมือกับคนชั่ว และอย่าเอาพิมเสนประชาชนไปแลกกับเกลืออำมาตย์เพียงไม่กี่คนเลย แต่แล้วการณ์ก็ปรากฎชัดในบัดนั้นว่า ไม่มีใครต้องเข้าข้างใคร ไม่มีใครเอาอะไรมาแลกกับใคร ทุกอย่างคือเนื้อเดียวกันและเป็นสิ่งเดียวกันมาตั้งแต่ต้น อาจจะแนบแน่นกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2325 หรือย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนที่รับลัทธิไศเลนทร์มาเลยก็ได้ การไปชุมนุมหน้าบ้านพลเอกเปรมฯ และถูกทำร้ายในเสื้อเหลือง เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดเสื้อแดงขึ้น คนเสื้อแดงเป็นเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นกลางสนามรบ เกิดจากเลือดของการถูกทำร้ายและน้ำตาจากความผิดหวังคั่งแค้น รวมทั้งการถูกกดขี่เหยียดหยามให้ต่ำกว่าคน

2. พลเอกเปรมฯ เป็นตัวแทนของอัตตาอันรุนแรง จนเกิดความหลงว่าไม่มีระบอบไหนจะยิ่งใหญ่เท่าของตน ล้างสมองจนมวลชนจำนวนมากกลายเป็นนกที่ติดยาบ้า ปล่อยจากกรงไปแล้วยังถลากลับมาร้องขอเข้ากรงอีก มวลชนในระบอบที่พลเอกเปรมฯ ทำหน้าที่หลงจู๊ จึงไม่มีความมั่นใจในตัวเอง นึกว่าต้องถลาเข้าไปเกาะขาคนใหญ่คนโตอยู่ร่ำไป คนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง จะลามต่อไปถึงการวิ่งเต้นเส้นสาย การฝากลูกหลานกับคนใหญ่คนโต ความรู้สึกหมั่นไส้คนดีคนตรง และกลายเป็นมนุษย์ขี้อิจฉาริษยา จนทำให้สังคมไทยกลาดเกลื่อนและโสโครกไปด้วยคนชนิดนี้ การจับประเด็นที่ตัวพลเอกเปรมฯ จึงเป็นความตั้งใจจะเหนี่ยวต้นไม้ที่กลางลำต้น หวังให้พัฒนาขึ้นบนหรือลงล่างก็ได้ เราจะได้ไม่ต้องโกรธกันไปจนตายและหาทางแก้ไขปัญหาได้ แต่เราก็คิดผิด เขาเห็นว่าเราเป็นเพียงสัตว์ชั้นต่ำที่ทะลึ่งโผมาเกาะต้นไม้อันศักดิ์สิทธิ์ ที่แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่รอบเขาพระสุเมรุเท่านั้น

3. ผมปราศรัยในวันนั้นอย่างเด็กที่ผิดหวังในผู้ใหญ่ของบ้านเมือง คุณทักษิณเขาไม่ใช่คนวิเศษวิโส เขาไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เขาทำประโยชน์ให้กับพวกประชาชนอย่างผม ให้เขาทำงานต่อไปเพื่อให้ชีวิตติดดินของเราดีขึ้นสักนิดไม่ได้เชียวหรือ อิจฉาริษยาอะไรกันนักหนา จะเอาเหรียญตราและสายสะพายกันอีกกี่เส้นจึงจะพอ ผมจะได้เอาหัวหน้าไพร่เข้ามาทำงานแบบชั่วคราวได้ พลเอกเปรมฯ ในวันนั้นก็สวมสายสีเหลืองสวยงาม จนคนเดินดินกินข้าวแกงจะมานั่งโซฟาตัวเดียวกันก็ไม่ได้แล้วไม่ใช่หรือ? ผมถึงถามเข้าไปบ้านของพลเอกเปรมในวันนั้นว่า เมื่อไหร่ท่านจะพอ ให้ลูกชาวบ้านเขาโงหัวขึ้นบ้างไม่ได้เลยหรือในบ้านเมิองนี้?

การไปบ้านพลเอกเปรมฯ เมื่อ พ.ศ. 2550 จึงเป็นการเสนอไมตรีและอาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายในการรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติ คดีที่จับเข้าคุกกันล่าสุดนี้ จึงมีเป็นคำปฏิเสธมิตรไมตรี และไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าความโง่ซ้ำซากของฝ่ายผู้กระทำ เหตุที่ว่าโง่ก็เพราะเป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์โภชน์ผล มีแต่โทษรออยู่ทั้งนั้น

ผมรู้ดีว่ามวลชนมากมายกำลังรู้สึกหดหู่ ปลอบท่านได้อย่างเดียวว่า คดีนี้ส่อแสดงอาการของศูนย์อำนาจที่กำลังรวมสังขารไม่ติด ไม่ใช่อาการที่แสดงความแข็งแรงเลยแม้แต่น้อย ขอให้พวกเราทุกๆ ท่านที่ต้องเดินเข้าไปข้างใน จงอยู่รอดปลอดภัย รักษาสุขภาพให้ดี แล้วเราจะพบกันอีก
ทำร้ายกันอยู่ข้างเดียวแบบนี้ นึกหรือว่ากำแพงเมืองจีนมีประตูเข้าออกอยู่ด้านเดียว?

จักรภพ เพ็ญแข
26 มิถุนายน พ.ศ. 2563
Bilden kan innehålla: 1 person, sitter och inomhus

สรุปบทเรียนจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475
โดย จักรภพ เพ็ญแข
 
1. ภายหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ต้องเตรียมความพร้อมในการรักษาอำนาจอย่างจริงจังและอย่างเป็นระบบ อาจใช้วิธีการสมมติสถานการณ์วิกฤติ (crisis simulation) เข้ามาประกอบ คณะราษฎรใช้เวลาวุ่นวายกับการบริหารจัดการอำนาจอยู่เกือบ 25 ปี แล้วก็พ่าย แทบจะไม่มีเวลาทำงานรับใช้ชาติและประชาชนตามที่ตั้งใจไว้

2. ผู้มาด้วยอุดมการณ์ มักเสียเปรียบผู้ที่ครองอำนาจอยู่เดิมที่ไม่ยอมเสียเวลากับอุดมการณ์ เพราะเขาเป็นคิดแบบสัตว์มากกว่าคิดแบบคน คนที่มาใหม่จึงต้องคิดรับมือกับสัตว์และคนไปพร้อมๆ กัน

3. คนบางชนชั้นถูกอบรมจนมีความเชี่ยวชาญอย่างสูงในการหว่านล้อมหลอกล่อ โปรดอย่าโง่หลงลม คณะราษฎรดีใจที่เขาพูดดีด้วยและไม่มีทีท่าจะต่อต้าน จึงตายใจ และต่อมาก็ตายจริง

4. ในขบวนประชาธิปไตย มักจะมีผู้ทรยศปนอยู่ด้วยเสมอ คนแบบนี้เลวกว่าศัตรู เพราะแสร้งว่าเป็นมิตรแต่คอยทำลายจากภายใน เราต้องมีวิธีที่จะรับมือกับคนเยี่ยงนี้อย่างเหมาะสม

5. เมื่อ พ.ศ. 2475 คณะราษฎรไม่มีมวลชน แต่ในยุคนี้มีมวลชน

6. คณะราษฎรยกคนแบบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ช้าเกินไป ทำให้เกิดขัดแย้งแย่งชิงกันเสียก่อน ตัว จอมพล ป. ไม่ใช่นักประชาธิปไตยแท้ แต่เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยในระยะตั้งไข่

7. อย่าลืมการปฏิวัติทางวัฒนธรรม มิฉะนั้นเชื้อชั่วไม่มีวันยอมตาย แต่กรุณาศึกษาตัวอย่างในด้านที่ไม่ดีของระบอบเหมาในเมืองจีนประกอบด้วย

8. ความอิจฉาริษยากันเอง ทำลายขบวนการทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย

9. คำว่า ประชาชนไม่พร้อม ไม่มีจริง เป็นเพียงข้ออ้างของชนชั้นปกครองที่ต้องการผูกขาดอำนาจ ประชาชนรู้ดีว่าอะไรดีอะไรเลว

10. ปฎิบัติเสมือนว่า จากนี้ไปเป็นวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือเป็นรุ่งขึ้นของวันปฏิวัติสยามเสมอไป จะได้เลิกเสียเวลาของบ้านเมืองเสียที

ด้วยความเคารพในเจตนารมณ์ของคณะราษฎรและของมวลชนปัจจุบัน

จักรภพ เพ็ญแข
24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar