lördag 23 januari 2021

ท่านอาสาเข้ามาก็ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้...

การออกแบบบ้านหลังใหญ่อย่างประเทศไทย หลังเผชิญสารพัดวิกฤตอย่างหนักหน่วงข้ามปีควรเป็นอย่างไร เพื่อให้คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ คนรวย-คนจน ผู้ปกครอง-เจ้าของบ้าน อยู่ร่วมกันได้?
.
คำตอบของเศรษฐาคือควรมี “พื้นที่ปลอดภัย” ให้แสดงความเห็นภายใต้กรอบของกฎหมาย และสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ท่านอาสาเข้ามาก็ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ผู้นำที่เด็ดขาด ผู้นำที่มีคุณภาพ ผมว่าเ.....

เศรษฐา ทวีสิน บอสใหญ่แสนสิริ เผยความหวังในวิกฤตโควิด และ “ปีแห่งการประท้วง”

  • เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ

นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง เศรษฐา ทวีสิน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้ "ภาวะผู้นำ" ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม พร้อมเตรียมมาตรการรับมือกับสารพัดม็อบใน "ปีแห่งการประท้วง" ตามการคาดการณ์ของนักวิชาการ

วิกฤตโควิด-19 ทุบเศรษฐกิจไทยข้ามปี ทำให้ที่อยู่อาศัยซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 กลายเป็นปัจจัยที่คนทั่วไปยากจะครอบครอง

ภายใน 1 ปี (2563) คนไทยจนเพิ่มอีก 1.5 ล้านคน ตามรายงานของธนาคารโลก

ภายใน 2 ปี (2563-2564) บัณฑิตจบใหม่ตกงานทันที 9 แสนคน ตามข้อมูลของสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ไม่กี่ชั่วโมงหลัง เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แถลงผลประกอบการและประกาศแผนธุรกิจปี 2564 ภายใต้แนวคิด "ปีแห่งความหวัง" เขาให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย โดยแจ้งทั้ง "ข่าวดี" และ "ข่าวร้าย" ขององค์กร

ข่าวดีคือแสนสิริคือได้รับการจัดอันดับโดย WorkVenture ให้เป็น 1 ใน 10 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย แต่ข่าวร้ายคือ "ผมจ้างคนไม่ได้ เพราะธุรกิจที่เข้ามา มันไม่เอื้อให้จ้างคนแล้ว"

"อสังหาริมทรัพย์เป็นภาคอุตสาหกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถ้าเศรษฐกิจไม่โต อสังหาฯ ก็ไม่โต... Rule of thumb (กฎทั่วไป/หลักการพื้นฐาน) เราคิดว่าตลาดอสังหาฯ จะโตประมาณ 1.5 เท่าของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ถ้าปีนี้บอกว่าจีดีพีโต 3% อย่างมากที่สุดอสังหาฯ ก็โต 5% แต่เราไม่ได้พิจารณาจากจีดีพีอย่างเดียว มันมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของโรคระบาดซึ่งยังไม่สามารถจำกัดวงได้" เศรษฐากล่าว

ความหวังเปิดเศรษฐกิจอยู่ที่วัคซีน

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประเมินว่าระหว่างปี 2563-2565 กำลังซื้อจะหายไป 9 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ของผู้ซื้อ สะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนที่พุ่งไป 86.6% ต่อจีดีพี ณ ไตรมาส 3 ของปี 2563

CG

แต่ถึงกระนั้น แสนสิริกลับโตสวนทางภาวะเศรษฐกิจติดลบ สามารถเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในรอบ 36 ปีขององค์กร ด้วยการปิดโอนทะลุเป้าที่ 45,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ทำให้มีกระแสเงินสดในมือ 15,000 ล้านบาทมาหมุนเวียนหล่อเลี้ยงธุรกิจเมื่อไวรัสมรณะหวนกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่

มาถึงปี 2564 แผนธุรกิจมูลค่า 26,000 ล้านบาทของบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้ ถูกจัดทำขึ้นภายใต้การคาดการณ์ฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจที่ว่า 1 ต.ค. ไทยจะเริ่มเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยวได้

แม้เอ่ยปากยอมรับว่าปีนี้ "ตลาดคงไม่โตไปกว่านี้" และ "เชื่อว่ากำลังซื้อจะยังไม่กลับมาใน 12-18 เดือนข้างหน้า" แต่ชายที่ถูกเรียกว่า "บอสใหญ่" ของแสนสิริ ก็ไม่หมดหวัง

"มันเป็นเรื่องของความมืดมนส่วนหนึ่ง แต่ว่าบนความมืดมนนั้น เราเองก็ต้องมีความหวังเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นจะตื่นขึ้นมาทำไม ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีความหวัง หรือตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้เลยว่ามีแสงสว่าง มันก็หดหู่ไปหน่อย ถามว่าความหวังนั้นคืออะไร หนึ่งในนั้นก็คือการมีวัคซีนที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพสูงสุด" ซีอีโอแสนสิริระบุ

ชี้กระแสต้านบริจาควัคซีนสัญชาติไทย สะท้อนความเปราะบางของการเมือง

เมื่อความหวังในการเปิดเศรษฐกิจอยู่ที่วัคซีน ข้อมูล ข่าวสาร งานวิจัยว่าด้วยการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทยาทั่วโลก จึงอยู่ในความสนใจใคร่รู้ของนักธุรกิจหมื่นล้าน

ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐายังเป็นผู้สนับสนุน-ผู้ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันบริจาคเงิน 500 บาท เพื่อผลิต "วัคซีนเพื่อคนไทย" โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะมองว่าการมีแหล่งผลิตและค้นคว้าวัคซีนในไทยจะส่งผลดีมากกว่าท่ามกลางภาวะกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019

ข้าม Twitter โพสต์ , 1

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 1

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการเรียกระดมรับเงินบริจาคตามโครงการนี้ ทำให้ผู้คนบางส่วนตั้งคำถามฟาดกลับไปยังรัฐบาลว่างบประมาณแผ่นดินมีไว้ทำไม ซึ่งเศรษฐาชี้ว่านี่เป็นการสะท้อนให้เห็นความเปราะบางของภาคการเมืองที่มี 2 ฝ่าย และมีความคิดสุดโต่ง

"ใครทำอะไรมาก็ไม่ดี มันแล้วแต่ว่าคุณอยู่ภาคไหน แต่ผมว่าเรื่องนี้เราต้องลืมว่าคุณชอบรัฐบาลหรือไม่ชอบรัฐบาล อันนี้มันเป็นเรื่องของการที่เราต้องมาสู้กับโรคระบาดครั้งใหญ่ ถ้าเกิดเขาทำมาดี คุณก็ต้องชื่นชม" นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทยแนะ

แม้เข้าใจว่าการค้นหาและจัดซื้อวัคซีนให้คนไทยเข้าถึงอย่างทั่วถึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่เขาตั้งคำถามชวนคิดว่าหากมีวัคซีนมากขึ้น และซื้อจากทุกฝ่าย ให้ทุกคนมีส่วนร่วมจะดีกว่าหรือไม่ และมองว่าโดยพื้นฐานจิตใจคนไทยก็ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามตกทุกข์ได้ยากอยู่แล้ว ไม่ว่าน้ำท่วม อัคคีภัย หรือกระทั่งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดในต่างแดน

จี้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก รัฐบาลออกคำสั่ง "ปิดบ้าน" ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) เวลากลางคืน และ "ปิดเมือง" (ล็อกดาวน์) นาน 6 สัปดาห์ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถูกปิดไปโดยปริยาย

เศรษฐาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจประเทศ และยังขอย้ำ "จุดยืนเดิม"

covid

มาถึงการระบาดระลอกนี้ แม้ยอดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่และพื้นที่การแพร่ระบาดกว้างขวางขึ้น แต่รัฐบาลเลือกใช้มาตรการผ่อนคลายลง โดยพิจารณาเป็นรายธุรกิจและบริหารจัดการตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเศรษฐาเห็นว่า "รัฐบาลมีความพร้อมมากขึ้น" ซึ่งถือเป็นอีกความหวัง ทว่ายังต้องการเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยอาศัยทั้งนโยบายและงบประมาณ

ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอจาก "บิ๊กบอส" แห่งอาณาจักรแสนสิริถึงรัฐบาล

  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน "บริษัทแสนสิริมีหนี้อยู่ 5 หมื่นล้าน ลดลงไป 50 สตางค์ ได้เงินมาประมาณ 250 ล้านมั้งต่อปี จ้างคนได้เท่าไร ผลิตงานได้เท่าไร เยอะนะครับ รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณเลย"
  • ยกเลิกมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) ของ ธปท. ที่อกอกมาเพื่อกำจัดการเก็งกำไรของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ "ตอนนี้ไม่มีกินไม่มีใช้อยู่แล้ว คงไม่มีใครเก็งกำไรอสังหาฯ ผมแนะนำให้ยกเลิกเถอะ ต้องยกเลิก เพราะอสังหาฯ เป็นธุรกิจที่มี Multiplier Effect (การทวีคูณทางเศรษฐกิจ) สูงมาก ถ้าคุณซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ ซื้อทาวน์เฮาส์ แน่นอนว่าธุรกิจสี ซีเมนต์ เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ แอร์ หรือเครื่องครัว ก็จะมาเพราะเป็นธุรกิจต่อเนื่องก็จะไปกันได้"
  • ยืดเวลาการถือครองอสังหาฯ ของชาวต่างชาติจาก 30 ปี เป็น 99 ปี เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ
  • อัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ผ่านโครงการจ้างงาน, โครงการประกัน/จำนำ/จ้างผลิตเกษตรกรรมหลักของประเทศ ทั้งข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, อ้อย และข้าวโพด, มาตรการชิมช็อปใช้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเงิน ซึ่งถ้าใช้งบให้ถูกทาง รัฐบาลก็จะมีรายได้จากภาษี

"ปัจจุบันวินัยการเงินการคลังประเทศเรายังถือว่าดีมาก ยังกู้ได้อีก ทั่วโลกเขาก็กู้กัน... แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็จะบอกว่าโอ๊ย กู้ไปใครจะมาใช้หนี้ อีกกี่ชั่วอายุคน เอาภาระมาให้เขา เกิดมาปุ๊บก็มีหนี้แล้ว อย่างน้อยคุณได้เกิดนะ เพราะว่าคุณยังอยู่ต่อไปได้ ถ้าเกิดว่าคุณไม่กู้วันนี้ ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้ มันจะอยู่กันไม่ได้" เศรษฐาให้ความเห็น

"เสียงข้างมากในสภา" กับ "ผู้นำที่มีคุณภาพ"

ในขณะที่ไวรัสโควิด-19 เข้าโจมตีเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ผู้คนไม่ปฏิสัมพันธ์กัน ประเทศไทยคล้ายถูกถล่มซ้ำด้วยวิกฤตการเมือง ทำให้การประนีประนอมนโยบายทางเศรษฐกิจคล้ายเป็นเรื่องยาก แต่เศรษฐามองต่าง

"รัฐบาลวันนี้ก็มีเสียงข้างมากนี่ครับ มี ส.ว. หนุนอีกตั้ง 250 เสียง ใช่ไหมครับ ยังไงก็เป็นเสียงข้างมาก ทำเถอะครับ ทำได้" เขากล่าวและว่า หากมั่นใจว่านโยบายที่ออกไปมันโดน และออกมาตรการป้องกันการคอร์รัปชัน เข้าถึงได้จริง เงินไหลออกได้จริง ไปถึงคนที่ต้องการจริง ๆ ในอีกไม่ช้ารัฐบาลก็คงตอบคำถามได้

pm

ผู้นำภาคธุรกิจสั่งสมประสบการณ์บริหารนานกว่า 3 ทศวรรษ มองเห็นภาวะผู้นำในตัวนายกรัฐมนตรี ผู้มีอายุงานการเมือง 7 ปี

"ท่านนายกฯ ประยุทธ์เอง ท่านก็มีความเป็นผู้นำสูงนะ อย่างวันก่อนที่ กทม. บอกว่าล็อกดาวน์ปิดร้านอาหารทุ่มนึง ตอนบ่าย ตอนเย็น ท่านออกมาเลย 3 ทุ่ม ชื่นชมครับ แต่ควรจะมีสัก 4 ทุ่ม แต่ผมว่าก็ดีอ่ะ เป็นอะไรที่แสดงว่าท่านก็มีภาวะผู้นำ เอาภาวะผู้นำตรงนี้ไปใช้ในการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเถอะ ทุกคนคอยอยู่ครับ"

เศรษฐายังเสนอให้ประมุขฝ่ายบริหารลืมคำว่า "ในเชิงการเมือง ในทางการเมือง ทำไม่ได้" โดยขอให้ลงมือทำ "ในแง่ความเป็นจริง ตามความต้องการของประชาชน"

"เขา (ประชาชน) ต้องการให้ท่านออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ท่านเป็นคนบอกเองว่าอาสาเข้ามาช่วยเหลือประเทศ กล้าหาญ ชื่นชม ท่านอาสาเข้ามาก็ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ผู้นำที่เด็ดขาด ผู้นำที่มีคุณภาพ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับ" เขาพูดด้วยน้ำเสียงขึงขังและแววตาเอาจริงเอาจัง

เห็นใจนายกฯ เผชิญสารพัดวิกฤต แต่ขออย่าเป็น "ลิงติดแห"

นอกจากเสียงสนับสนุนในสภา พล.อ. ประยุทธ์ต้องเผชิญกับเสียงขับไล่-แรงต่อต้านบนท้องถนน จากการชุมนุมของนักศึกษาประชาชนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ซึ่งลุกลามบานปลายกลายเป็นอีกสารพัดวิกฤต ทั้งวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตศรัทธาต่อตัวผู้นำ วิกฤตความเชื่อระหว่างฝ่ายจารีตนิยม-เสรีนิยม จึงไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเชื่อและเดินตามแนวทางของผู้นำคนที่ 29

ป้ายโจมตี พล.อ. ประยุทธ์ ถูกผู้ชุมนุม "ราษฎร" นำมาใช้ระหว่างการชุมนุมเมื่อ ต.ค. 2563 เพื่อกดดันให้นายกฯ ลาออก
คำบรรยายภาพ,

ป้ายโจมตี พล.อ. ประยุทธ์ ถูกผู้ชุมนุม "ราษฎร" นำมาใช้ระหว่างการชุมนุมเมื่อ ต.ค. 2563 เพื่อกดดันให้นายกฯ ลาออก

ผู้นำแสนสิริพยักหน้ารับ ก่อนปรารภว่า "ก็เห็นใจท่านนะเรื่องนี้ แต่เวลาแก้ไขมันต้องแยกแยะ ไม่ใช่ลิงติดแห ติดไปหมด แกะทีละเปลาะ เปลาะเศรษฐกิจก็แกะไป เปลาะการเมืองก็แกะไป จะรับฟัง จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เอาให้ถูก ถ้าเอาทุกปัญหามารวมกัน มันแก้ไม่ได้หรอกครับ ไม่มีทาง"

ในฐานะพันธมิตรขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) มากว่า 10 ปี ทำให้เศรษฐาติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการเยาวชนอย่างละเอียด

เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ต.ค. 2563 คือ "จุดต่ำสุดของรัฐบาล" ตามความเห็นของเขาที่เคยระบุไว้ทางทวิตเตอร์ พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ "หยุดทำลายอนาคตของชาติและกลับมาแก้ไขโดยสันติวิธี"

ผ่านมา 3 เดือน เขายังมีความหวังจะเห็นการ "ต่อสู้ด้วยหลักการ" และการหาทางออกจากวิกฤตการเมืองแบบ "จบด้วยดี" พร้อมปฏิเสธการใช้กำลังทุกวิธีและทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นปิดสนามบิน ปิดทำเนียบฯ หรือปิดแยกราชประสงค์

รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลังสลายการชุมนุมเมื่อ 16 ต.ค. 2563 เนื่องจากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มาในชุดนักเรียน
คำบรรยายภาพ,

รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลังสลายการชุมนุมเมื่อ 16 ต.ค. 2563 เนื่องจากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มาในชุดนักเรียน

หวัง รบ. ออกมาตรการรับสารพัดม็อบใน "ปีแห่งการประท้วง"

การหวนกลับมาของเชื้อโควิด ทำให้การชุมนุมบนท้องถนนกลายเป็น "กิจกรรมต้องห้าม" ทว่านักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ประเมินตรงกันว่าปีนี้จะเป็น "ปีแห่งการประท้วง" นอกจาก "ม็อบนักเรียนนักศึกษา" ยังส่อจะเกิด "ม็อบแรงงาน" "ม็อบคนหิว" หรือแม้กระทั่ง "ม็อบนักธุรกิจ"

เศรษฐาชี้ว่า คำว่าม็อบเป็นอะไรที่ฟังแล้วมันดูลบ ถ้าเป็นการเรียกร้องเชิงสร้างสรรค์ที่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ศีลธรรม ความเป็นไทย ความสุภาพ ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เขาเห็นว่าเป็นสิทธิที่คนไทยทำได้และควรทำ โดยคำนึงถึงหน้าที่ในการรักษาความสงบ เพราะบางคนอาจทำอะไรที่เกินเลยไป

"ผมว่าที่ทุกคนคาดเดาหรือหวาดกลัวว่าจะเกิดการเดินขบวนของม็อบนานาประเภท ก็เป็นความกลัวที่ถูกต้อง แต่รัฐบาลก็น่าจะมีมาตรการในการออกมาปกป้องไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น รู้อยู่แล้วว่าเขาเดือนร้อนก็ต้องออกมา"

นักธุรกิจด้านอสังหาฯ ยืนยันว่า การมีเงิน-มีหน้าตักเอาไว้ก่อนคือความจำเป็นของรัฐบาล เพื่อดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ "ในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน... อย่าลืมนะครับ ประชาชนคือคนที่เลือกคุณมา เพราะฉะนั้นคุณต้องดูแลเขา"

เผยโจทย์ออกแบบประเทศไทย สร้างพื้นที่ปลอดภัย-กติกาใหม่

เชื่อกันว่าแนวคิดในการออกแบบบ้านหลังยุคโควิด-19 จะคำนึงถึงการ "จัดสรรพื้นที่ใหม่" เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ของผู้คนในสังคม แต่ในทัศนะของเศรษฐามองเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในวิธีการนำเสนอ เพราะท้ายที่สุด "บ้านก็คือสถานที่ที่เรามาอยู่ร่วมกัน ให้มีชีวิต มีครอบครัว"

home

แล้วการออกแบบบ้านหลังใหญ่อย่างประเทศไทย หลังเผชิญสารพัดวิกฤตอย่างหนักหน่วงข้ามปีควรเป็นอย่างไร เพื่อให้คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ คนรวย-คนจน ผู้ปกครอง-เจ้าของบ้าน อยู่ร่วมกันได้

คำตอบของเขาคือควรมี "พื้นที่ปลอดภัย" ให้แสดงความเห็นและข้อเสนอแนะที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

เศรษฐาชี้ว่า ความเห็นต่างถือเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม และต้องอยู่ร่วมกันได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อเห็นต่างแล้ว "ควรพูดเรื่องความ อย่าพูดเรื่องคน" เช่น การบังคับใช้กฎหมาย ขอให้มีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ไม่ใช่มีอำนาจอยู่ ก็บังคับใช้กฎหมายกับอีกฝ่ายหนึ่ง พอเป็นพวกตัวเองไม่ผิด ขณะเดียวกันวิธีการประดิดประดอยเพื่อสื่อสารไม่ว่าการเขียนหรือคำพูด หากไม่ก้าวร้าวรุนแรงก็จะลดแรงกระทบกระทั่งลงได้

"ปัจจุบันสงครามไม่ได้ใช้ปืน ใช้อาวุธยิงกันหรอก เขาใช้คำพูด คำพูดเป็นอะไรที่บางทีมันเจ็บยิ่งกว่าการใช้อาวุธอีกนะ ดังนั้นเรื่องการเห็นต่างเห็นไม่ตรงกัน รักใครชอบใคร ทุกคนมีสิทธิทั้งนั้นล่ะ แต่มันต้องอยู่ด้วยกันได้... เราอยากมีความสุข เขาก็อยากมีความสุข เขาก็อาจมีความปรารถนาดีกับประเทศในมุมมองของเขา" เศรษฐาบอก

protest
คำบรรยายภาพ,

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นหมุดหมายในการเคลื่อนไหวของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กติกาสูงสุดในการอยู่ร่วมกันอย่างรัฐธรรมนูญ เป็นอีกสิ่งที่เศรษฐายืนกรานว่าต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยผ่านกลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

"ดีใจที่นายกฯ ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญนี้มีข้อที่ต้องแก้ไข และท่านก็ได้เดินทางมาตามขั้นตอนที่บอก อยากให้ท่านทำต่อไป ทำด้วยความจริงใจ ให้แก้ไขออกมา"

ราคาที่ต้องจ่าย เมื่อนักธุรกิจแสดงทัศนะการเมือง

โดยธรรมชาติของชนชั้นนำภาคธุรกิจมักไม่เปิดเผยทัศนะทางการเมืองต่อสาธารณะ เพราะเกรงกระทบต้นทุน-กำไรในทางธุรกิจ แต่นั่นไม่ใช่วัตรปฏิบัติของเศรษฐา ผู้กล้านำเสนอความคิดเห็นต่อปัญหาสาธารณะ

นี่เป็นอีกครั้งที่เขาย้ำคำว่า "หน้าที่" แม้มีราคาที่ต้องจ่าย และมีเสียงต่อว่าตามหลังมาบ้างก็ตาม

"ผมไม่ได้มีวาระทางการเมือง ผมไม่ได้ไม่ชอบ พล.อ. ประยุทธ์เป็นการส่วนตัว ผมอยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าได้" เขายืนยันเจตนา

เศรษฐา ทวีสิน

ในวัยย่างเข้าสู่ปีที่ 60 เศรษฐาเชื่อว่าตัวเองมีความพร้อมทั้งด้านฐานะ ประสบการณ์การทำงาน และมีความหวังดีกับประเทศ

"ถามว่าความหวังดีของผม วิธีการคิดของผมถูกหมดหรือไม่ ก็คงไม่ แต่ผมมีความตั้งใจ ผมเชื่อว่ามันมีเวลาและมีสถานที่ที่เราจะต้องแสดงออกบ้างภายใต้กฎหมายและศีลธรมของคนไทย ไม่อย่างนั้นถ้าคนที่มีต้นทุนสูงไม่ออกมาพูดเลย ผมว่ามันก็เป็นการเสียเปล่านะ" เศรษฐากล่าวทิ้งท้าย

3 tim

"ท่านเป็นคนบอกเองว่าอาสาเข้ามาช่วยเหลือประเทศ กล้าหาญ ชื่นชม ท่านอาสาเข้ามาก็ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้..."

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar