lördag 30 januari 2021

ใบตองแห้ง: สู้รบไม่มีตรงกลาง

2021-01-30 10:32

พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี ครบ 3 พรรคใหญ่ ไม่ละเว้นใครให้กลับตัวกลับใจโหวตสวน

ซึ่งถือว่ามาถูกทาง เพราะเกือบ 2 ปีหลังเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย กลายร่างเป็นพรรคประยุทธ์ 1-2-3 หมดแล้ว

ไม่ใช่ 3 พรรคไม่มีความแตกต่าง ไม่ขัดแย้งกัน แต่การต่อสู้แหลมคมทำให้กลุ่มผลประโยชน์การเมืองไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม จำต้องผนึกเหนียวแน่นค้ำโครงสร้างอำนาจอนุรักษนิยม ไม่กล้าหือกับรัฐพันลึกที่กำกับอยู่เบื้องหลังประยุทธ์

โดยมีศัตรูร่วมกัน คือม็อบคนรุ่นใหม่ พลังแห่งความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เพียงท้าทายอำนาจอนุรักษนิยม แต่ยังเป็นภัยต่อการเมืองอุปถัมภ์ ระบบหาเสียงเก่าๆ ใช้เครือข่ายหัวคะแนนคอนเน็กชั่น ไปสู่การเลือกพรรคด้วยอุดมการณ์ นโยบาย เหมือนที่เคยเลือกอนาคตใหม่

พรรคภูมิใจไทยที่ 2 ปีก่อนยังปากปราศรัย มีน้ำใจกับฝ่ายประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ที่อภิสิทธิ์ประกาศไม่เอาประยุทธ์ จึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แสดงท่าทีหนุนสุดตัว ทั้งประยุทธ์และอำนาจอนุรักษ์ จนอนุทินกลายเป็นปรปักษ์เบอร์ต้นๆ ติดอันดับ # ของคนรุ่นใหม่ ปชป.ก็จะไล่เอาผิดคนทำมีมล้อ "เทพเจ้าชวนกดกาแฟ"

สภาพอย่างนี้ขัดแย้งแค่ไหนก็ไม่แตกจากรัฐบาล ต้องสุมหัวท้ายจมไปด้วยกัน เช่น พปชร.จะส่งเลือกซ่อม ส.ส.เมืองคอน ปชป.โวยวายยังไงถึงแพ้ก็ไม่กล้าถอนตัว

การเมืองแหลมคมบนท้องถนนก็ทำให้ฝ่ายค้านเจองานยากเช่นกัน พรรคเพื่อไทยไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเจอการเมือง Disrupt อย่างนี้ จนวางตัวไม่ถูก เพราะหวังแค่แก้กติกาให้เป็นประชาธิปไตยระดับหนึ่งแล้วขอใช้ฝีมือบริหาร ไม่คาดคิดว่าม็อบคนรุ่นใหม่จะไปไกล “ทะลุเพดาน” แม้กระทั่งพรรคก้าวไกลก็เจอ ส.ส.แหกมติ ไม่ลงชื่อแก้ 112 เช่นเดียวกับที่พรรคอนาคตใหม่เคยเจอครั้งโหวตร่าง พ.ร.บ.โอนกำลังพลฯ

คนรุ่นใหม่ไปถึงไหนแล้ว แม้พรรคการเมืองในสภาไม่สามารถไปถึง อย่างน้อยก็ต้องไต่ระดับขึ้นมาบ้าง ไม่อย่างนั้นไม่มีที่ยืน

พรรคฝ่ายค้านจึงกัดฟันยื่นญัตติอภิปรายประยุทธ์ “แอบอ้างสถาบัน“ จนถูกตีกลับ รับไปแก้ถ้อยคำ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะแก้แค่ไหน แก้แบบไร้ศักดิ์ศรีก็มีหวัง “ทัวร์ลง”

ภาพใหญ่ของการเมืองวันนี้ ออกนอกสภาไปเป็นการปะทะระหว่างอำนาจอนุรักษ์ที่ยืนหยัดกับประยุทธ์ และรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ปฏิรูปแม้แต่น้อย กับพลังประชาธิปไตยที่นำคนรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z แหลมคมหาญกล้าท้าทายจนปราบไม่ลง เป็นฝ่ายดันก้นพรรคฝ่ายค้านเสียเอง ขณะที่พรรครัฐบาลก็ผนึกกันแน่นสวามิภักดิ์ ทั้งด้วยอุดมการณ์อนุรักษ์ และด้วยความเป็นกลุ่มผลประโยชน์ไร้อุดมการณ์ทางการเมือง

โดยไม่มีที่ให้ใครยืนตรงกลาง ถดๆ ถอยๆ ไม่งั้นก็จบ กลางคือกลวง บางพรรคที่อ้างว่ากล้าจึงหายต๋อม แพ้หมอวรงค์ในซูเปอร์โพล

สถานการณ์อย่างนี้ไม่ได้บอกว่าดีหรอก แต่เป็นไฟต์บังคับ เมื่อไม่สามารถ compromise ฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจรัฐไว้หมด รัฐราชการทหารตำรวจ กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ส.ว.แต่งตั้ง อีกฝ่ายคือ “แผ่นดินไหวทางความคิด” ในเบื้องล่าง ซึ่งดูเหมือนจะเสียเปรียบทุกอย่าง แต่ปราบไม่ลง และจะยิ่งขยายตัวตามความเปลี่ยนแปลง “เวลาอยู่ข้างเรา” ความเสื่อมของอำนาจ ความไร้ฝีมือของรัฐบาล ที่ทำให้ปัญหาต่างๆ สุมทบเป็นกบต้ม

ถ้าแบ่งแยกประชาชนทุกวันนี้ ตามลำดับ พวกอนุรักษ์สุดโต่งน้อยที่สุด คะแนนเสียงพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากระบบอุปถัมภ์ ขณะที่พลังคนรุ่นใหม่ยิ่งมายิ่งร้อนแรง ยกตัวอย่าง คะแนนเสียง อบจ.คณะก้าวหน้า ถูกด่าถูกไล่ “หนักแผ่นดิน” ยังได้มา 2.6 ล้านใน 42 จังหวัด ยังไม่นับว่าบางจังหวัดคือแพ้เพื่อไทย

เพียงแต่เสียงข้างมากจริงๆ ในประเทศนี้ มัวสนใจลุงพล ไอ้ไข่ ไอ้ส้มฉุน ฯลฯ เท่านั้นเอง

ความพยายามบดขยี้ท่ามกลางโควิด ทั้งออกหมายเรียกหมายจับ ระดมตำรวจเป็นร้อยๆ ใช้กำลังจับคนเขียนป้าย ส่งอัยการสั่งฟ้อง ฯลฯ คือพยายาม “ปราบ” เพื่อ "ปราม" คิดว่าดำเนินคดีแกนนำแล้วคนที่เหลือจะกลัว ซึ่งไม่ได้ผล เดี๋ยวอาจทยอยโดน 112 ถึงร้อยคน

ในขณะที่รัฐสร้างปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโควิด วัคซีน เศรษฐกิจ เยียวยา ฝ่าย "ราษฎร" ก็ขยายงานมวลชนสัมพันธ์ ตั้งแต่วังสะพุง จะนะ #saveบางกลอย ซึ่งนักศึกษาถูกจับถูกผลักล้มเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ รุ้ง ทราย เอาของไปบริจาคนักโทษหญิงเรือนจำไม่ให้เข้า แบบเดียวกับ WeVo ช่วยเกษตรกรขายกุ้ง ถูกตำรวจตะลุมบอน

สถานการณ์เช่นนี้จะ “เหลา” ให้เกิดการเผชิญหน้ามากขึ้นๆ ทั้งในและนอกสภา ในทุกปริมณฑล ฝ่ายอำนาจ ฝ่ายห้อยโหนอำนาจ หาประโยชน์กับอำนาจ ก็จะผนึกกันยิ่งขึ้น ฝ่ายค้านฝ่ายประชาธิปไตย ใครพะวักพะวนก็ไม่มีที่ยืน หมดอนาคต ไม่มีคำว่ากลาง มีแต่กลวง

ฟังเหมือนฝ่ายประชาธิปไตยเสียเปรียบ แต่ก็ปราบไม่ลง ขณะที่ฝ่ายอำนาจมีจุดอ่อนทั้งความชอบธรรม ศีลธรรม การบริหารผิดพลาดล้มเหลว

ย้ำอีกที ภาพอย่างนี้ไม่ได้บอกว่าดี แต่เป็นไฟต์บังคับ ถ้ายังไม่สามารถหาทางออกได้

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/newspaper-column/news_5838311

 

ธนาธรถาม 5 ข้อ อนุทินตอบ 7 ข้อ น่าสนใจว่า รมว.สาธารณสุขเพิ่งเปิดเผยตรงไปตรงมาหลายประการ

เช่นอ้างว่ามีข้อจำกัดทั้งเงื่อนไขของผู้ผลิต งบประมาณ และกฎหมาย ยกตัวอย่าง ประเทศไทยจองซื้อวัคซีนตั้งแต่เริ่มทดลองไม่ได้ เพราะต้องยอมรับความเสี่ยง หากผลิตไม่สำเร็จไม่ได้เงินคืน กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้หน่วยงานรัฐเสี่ยง แม้การจองไว้ทำให้ได้วัคซีนเร็วกว่าราคาถูกกว่า

อนุทินยังยอมรับว่า รัฐบาลเลือก Astrazeneca เพราะเหมาะกับประเทศไทย ใช้งบคุ้มค่าที่สุด ข้อนี้ใช่ แอสตร้าฯ ถูกกว่ายี่ห้ออื่น ไม่ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำมาก (แต่ก็แปลว่ากะฝากชีวิตไว้กับแอสตร้าฯ ทั้งที่บอกว่าไม่มีนโยบายผูกขาด)

ข้อต่อมายังยืนยันว่า แอสตร้าฯ เลือก Siam Bioscience เอง (พูดให้ถูกคือ SCG ใช้คอนเนคชั่นดึงมาให้ SBS แล้วขอให้รัฐสนับสนุน ทั้งตกลงซื้อ 26 ล้านโดสและให้เงิน 595 ล้าน ที่เพิ่งบอกภายหลังว่าจะคืนให้เป็นวัคซีน)

ที่น่าสังเกตคือ รมว.สาธารณสุขอธิบายว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพิจารณาแล้วว่า วัคซีน 26 ล้านโดส ไซโนแวค 2 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยง เหมาะสมแล้วกับสถานการณ์ประเทศไทย ที่การระบาดไม่รุนแรง ไม่ได้มีผู้ป่วยผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ได้สั่งจองเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ซึ่งถือว่ามากพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทย

จำนวนวัคซีนที่จะทยอยส่งมอบก็ต้องให้เกิดคุณภาพการจัดการ การวางแผนจัดหาและฉีดวัคซีนต้องคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ยูนิเซฟก็คาดว่าปริมาณวัคซีนจะเพิ่มมากในครึ่งปีหลัง “มีแนวโน้มที่วัคซีนจะราคาถูกลงกว่าในขณะนี้ เราจะประหยัดงบประมาณไปได้อีกมาก”

ตรงนี้แปลว่าอะไร แปลว่ารัฐบาลปราบโควิดเก่งที่สุดในโลก วางใจว่าคนไทยไม่ต้องฉีดวัคซีนเร็วก็ได้ จึงทำสัญญาแค่ 26 ล้านโดสทอดเวลารอ SBS พัฒนาศักยภาพรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งมอบเดือนมิถุนายน แล้วค่อยทยอยฉีดอย่างใจเย็ลล์

รัฐบาลไม่คาดคิดว่าโควิดจะระบาดรอบใหม่ (จากความหละหลวมของหน่วยงานรัฐเอง) ติดไปแล้วหมื่นกว่าคน พอระบาดใหม่จึงตื่นตูม สั่งไซโนแวค 2 ล้านโดส แอสตร้าฯ เพิ่ม 35 ล้านโดส ซึ่งยังไม่มีใครรู้เลยว่าสั่งจากไหน ราคาเท่าไหร่

รู้แต่ว่าพอธนาธรออกมาไลฟ์สดจนโดน 112 ก็มีวัคซีนแอสตร้าฯ เหาะมาจากอิตาลี 5 หมื่นโดส ผ่าน อ.ย.ทันใด เพื่อฉีดเข็มแรกในวันแห่งความรัก

อนุทินจึงไม่โต้ธนาธร ที่โชว์เอกสารเจ้าหน้าที่ สธ.ชี้แจงกรรมาธิการสาธารณสุขเมื่อเดือนพฤศจิกายน ว่ากว่าจะฉีดวัคซีนได้ครึ่งประเทศ 32.5 ล้านคนต้องใช้เวลาถึงปี 2566 เพียงพูดรวมๆ ว่าคนที่ตำหนิวิจารณ์กระทรวงสาธารณสุข ต้องให้ความเป็นธรรมคนทำงาน (หมอพยาบาลทำงานหนัก)

คำตอบทั้งหมดเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลใจเย็น แผนเดิมคือเราคุมโควิดเก่ง ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ไหนๆ ก็สนับสนุน SBS แล้ว ก็รอฉีดมิถุนายน แถมปลายปีราคาจะถูกกว่านี้ ประหยัดงบ (ไม่ยักคิดว่าเศรษฐกิจฉิบหายเป็นแสนล้าน ค่าวัคซีนแค่เนียะ)

พอมันเกิดรอบใหม่ค่อยแตกตื่น สั่งเพิ่ม แต่สั่งทีหลังคนอื่น อินโดเริ่มฉีดแล้ว ลาวพม่าเริ่มฉีดแล้ว อินเดียผลิตเอง แอสตร้าฯ นี่แหละ แต่ไม่รู้เขาตกลงกับบริษัทแม่อย่างไร Serum Institute ขายแบบ “ไม่แสวงกำไร” ให้รัฐบาลอินเดีย 3 ดอลลาร์เศษๆ เท่านั้น

ประมาทอย่างเขาว่าไหม ให้ประชาชนตัดสินแล้วกัน แต่ที่อ้างว่าไม่สามารถเปิดเผยสัญญากับเอกชน ต้องได้รับความยินยอม ธนาธรเป็นนักธุรกิจน่าจะเข้าใจ

แหม ถ้าไทยซัมมิททำสัญญากับโตโยต้า ก็ไม่ต้องเปิดเผย แต่ถ้าทำสัญญากับรัฐ ก็ต้องเปิดเผย เหมือนชิโนไทยทำสัญญาสร้างรัฐสภา (ไม่เสร็จสักที)

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/418431

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar