fredag 22 januari 2021

หมายคดี ม.112 รวมแล้ว 55 ราย

ประชาไท

ออกหมายเรียก ม.112 รายที่ 55 เพนกวินชี้ตีความกว้าง ทำสถาบันตกต่ำ ชวนรณรงค์ยกเลิก

22 ม.ค. 2564 ตำรวจออกหมายเรียก 'ลูกเกด ชลธิชา' มาตรา 112 เป็นคนที่ 55 'ไมค์ ภาณุพงศ์' ได้เพิ่มเป็นหมายที่ 7 ด้าน 'เพนกวิน' ชี้มาตรา 112 ถูกใช้พร่ำเพรื่อ ตีความกว้างเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้กฎหมายไร้ความชอบธรรมและดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ตกต่ำลง ชวนรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112

ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด นักกิจกรรมรณรงค์ประชาธิปไตย โพสต์ภาพหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เมื่อ 20 ม.ค.2564 โดยผู้กล่าวหา คือ นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ทำให้ชลธิชาเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 รายล่าสุดและเป็นคนที่ 55 แล้ว

นอกจากชลธิชาแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังรายงานอีกว่า ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ มีหมายเรียกรับทราบข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จาก ปอท. ด้วยเช่นกัน โดยผู้กล่าวหา คือ แน่งน้อย อัศวกิติกร จาก ศชอ. เช่นเดียวกัน ทำให้คดีนี้เป็นคดีที่ 7 ของภาณุพงศ์แล้ว

ขณะนี้ มีคดีที่ผู้ที่ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีเป็นประชาชนด้วยกันเองรวมแล้วทั้งหมด 22 คดี โดยแบ่งเป็นผู้กล่าวหาจากกลุ่ม ศชอ. 4 คดี, กลุ่มไทยภักดี 4 คดี, พลังประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (พปปส.) 3 คดี, ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) 2 คดี, เครือข่ายภาคีปกป้องสถาบันฯ 2 คดี, ส่วนที่ไม่พบว่าสังกัดกลุ่มใดอีก 7 คดี


ด้านพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับทราบข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กล่าวหา ที่ ปอท. ว่า ทุกวันนี้มาตรา 112 ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ และขยายประเด็นเข้าใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ใช้เฉพาะที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ตรงๆ ก็ถูกขยายไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์การถือหุ้น วิพากษ์วิจารณ์บริษัทที่กษัตริย์ถือหุ้น ล่าสุดคือการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการผูกขาดวัคซีน จนไม่ทราบว่าเราจะเหลือเรื่องอะไรให้วิพากษ์วิจารณ์ได้บ้าง

"ทุกวันนี้เห็นชัดแล้วว่ามาตรา 112 ไม่ได้ใช้เพียงเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างเดียว แต่ใช้ในการปิดปากความคิดเห็นทางการเมืองแทบจะในทุกมิติ ต่อไปนี้ถ้าเรายังไม่รีบลุกขึ้นมาต่อต้านประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพดานเสรีภาพก็อาจจะต่ำลงในทางกฎหมายเรื่อยๆ แต่ถึงจะใช้กฎหมายนี้อย่างไรก็ถือว่าไร้ความชอบธรรมไปแล้ว และถ้าเกิดว่ายังไม่รีบยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะตกต่ำลงด้วย ผมขอรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ครับ” พริษฐ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่ต้องวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้หรือไม่ โดยเฉพาะการเจาะจงที่ตัวบุคคล พริษฐ์ตอบว่า เป็นไปได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสุดท้ายแล้วปัญหา ต้นตอของวิกฤติการเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2549 ล้วนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น อธิบายง่ายๆ ได้ว่า วิกฤติการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดการจากรัฐประหารปี 2549 ถ้าถามว่ารัฐประหารปี 2549 ใครเซ็น รัฐธรรมนูญเกิดจากการออกแบบของใคร ม็อบพันธมิตรทำเพื่อใคร ใครอยู่เบื้องหลัง เรื่องนี้คนทั้งสังคมทราบ

"ถ้าเราไม่พูดถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้นจนถึงราก จนถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันที่ตอนนี้พระราชอำนาจขยายเกินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีขอบเขต จนประเทศเราใกล้จะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าไปทุกวัน ถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องนี้ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิรูปการเมือง เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาการเมือง เพราะนี่คือต้นรากของปัญหา แต่คิดว่าต่อให้ยังมีมาตรา 112 อยู่ ประชาชนก็ไม่ได้เกรงกลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ เหลือแค่ต้องยกเลิกตัวกฎหมายนี้อย่างเป็นทางการ เพื่อให้เป็นไปตามเสรีภาพในสังคมไทย” พริษฐ์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ประวัติศาสตร์ของประเทศมีมานานหลายร้อยปี เช่น กรุงรัตนโกสินทร์ก่อตั้งมากว่า 200 ปี เหตุใดจึงเลือกที่จะกล่าวถึงเฉพาะช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พริษฐ์ตอบทิ้งท้ายก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนว่า 200 กว่าปี รวมถึงสมัยอยุธยาและสุโขทัยนั้น ล้วนแต่เป็นไพร่ที่สร้างชาติขึ้นมา สงครามแต่ละครั้งเมื่อชนะก็ยกความดีความชอบให้แก่กษัตริย์ แต่กษัตริย์ที่ออกรบมีจำนวนนับนิ้วมือข้างเดียวได้ กษัตริย์ที่รบแพ้ก็มีตั้งมากมาย ทั้งหมดนี้ ชัยชนะทั้งหมด ความสำเร็จทั้งหมดเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีไพร่ และถ้าศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วที่ประเทศไทยเราจะเริ่มเจริญก่อนหน้านี้ก็ได้ จะเจริญกว่าสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้ แต่ระบอบศักดินาคือสิ่งที่ฉุดรั้งไว้ทำให้การค้าไม่เจริญ

 
2021-01-22 19:08

ประชาชนช่วยกันเรียกร้องเยียวยาโควิด-19 ให้ทั่วถึงทั้งที่สภาและกระทรวงการคลัง กลุ่ม "ราษฎร" เสนอตัดงบสถาบันกษัตริย์และกองทัพมาเติมเพื่อเยียวยาประชาชน และเรียกร้องให้การเยียวยาต้องจ่ายเป็นเงินสด เพราะการใช้ผ่านแอพสร้างปัญหาให้กับประชาชน

22 ม.ค.2564 เวลา 13.00 น. ภาณุพงศ์ จาดนอก กลุ่มราษฎรพร้อมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังร้องเรียนให้เกิดการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 อย่างทั่วถึงและตัดงบกองทัพและสถาบันกษัตริย์มาเพิ่มในการเยียวยาให้กับประชาชน หลังจากมาตรการของรัฐที่ผ่านมาไม่เคยช่วยประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อภาณุพงศ์เดินทางมาถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกระทรวงการคลังได้ปิดประตูทางเข้าเพื่อไม่ให้เขาเข้าไปได้

ภาณุพงศ์จึงได้เรียกร้องให้เปิดประตูเพราะตนมาเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อนของประชาชนเท่านั้น และหากไม่เปิดให้จะให้มวลชนที่มาด้วยเปิดเอง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พญาไท มาเจรจาและแจ้งว่าจะมีคนออกมารับหนังสือ ทางฝ่ายผู้ชุมนุมระบุว่าผู้รับต้องเป็นระดับบริหารเท่านั้น

จากนั้นภาณุพงศ์ได้อ่านจดหมายร้องเรียนที่นำมาด้วย โดยในข้อเรียกร้องระบุว่ามีประชาชนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐและยังต้องแย่งกันลงทะเบียนเพื่อได้สิทธิจากโครงการสะท้อนความล้มเหลวของรัฐ และเสนอให้ตัดงบประมาณของกองทัพและงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มาใช้ในการเยียวยาเพิ่มเติม

ภาณุพงศ์กล่าวว่ามาตรการเยียวยาจ่ายเงิน 3,500 เพิ่มเป็น 3 เดือน โดยให้กับบุคคลตั้งแต่อายุ 18 ปี ขึ้นไป ซึ่งหากมีการตัดงบข้างต้นรวมกับงบประมาณคงเหลือจาก พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินก็จะเพียงพอ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคให้กับประชาชน 3 เดือนรวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์ด้วย และยังเรียกร้องให้มีการนำเข้าและกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและทันท่วงที

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน วิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐว่าที่ผ่านมาคนทำงานก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือรัฐบอกว่าให้ใช้ประกันสังคมทั้งที่เงินประกันสังคมเป็นเงินที่คนทำงานกับนายจ้างจ่ายเข้าไปเองแล้วยังต้องจ่ายภาษีด้วย แต่รัฐกลับไม่มีการเยียวยาให้

ธนพรกล่าวว่าทุกวันนี้คนที่ทำงานในโรงงานก็ยังอยู่กับมาตรา 33 แต่นายจ้างให้หยุดงานหรือให้ทำงานเพียง 2 วันหยุด 3 วัน จ่ายวันละ 300 กว่าบาทซึ่งไม่พอต่อการใช้ชีวิต รัฐบาลก็ประกาศศูนย์เลี้ยงเด็กทำให้ลูกหลานและค่าใช้จ่ายตกกลับมาที่ผู้ใช้แรงงาน

“กระทรวงการคลังมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณที่เป็นภาษีของพวกเราให้ถ้วนหน้า ไม่ใช่ว่าเวลาเก็บภาษีบังคับให้จ่าย แต่เวลาเยียวยาเหมือนต้องชิงโชคกัน เล่นเกมกัน แล้วพวกเราก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้” ธนพรกล่าวและเรียกร้องให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณที่ไม่จำเป็นในการใช้ตอนนี้ให้นำมาเยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้า

ธนพรยังวิจารณ์ที่รัฐให้ประชาชนจะรับเยียวยาต้องใช้ผ่านมือถือเท่านั้นว่า แสดงถึงความไม่เข้าใจของรัฐมนตรีที่พูด เพราะประชาชนจะไปหาซื้อได้อย่างไรเงินที่จะใช้ซื้อโทรศัพท์ก็ไม่มีการออกมาบอกให้ประชาชนต้องหาโทรศัพท์แสดงถึงความ ดังนั้นต้องจ่ายเงินเยียวยาเป็นเงินสดเท่านั้น

จากนั้นภาณุพงศ์ประกาศว่าจะให้เวลากระทรวงการคลังดำเนินการตามข้อเรียกร้องหากไม่มีอะไรคืบหน้าภายในศุกร์หน้า(29 ม.ค.2564) จะมาอีก

จดหมายเปิดผนึกจากราษฎรถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เรื่อง ขอให้ลดงบสถาบันกษัตริย์ และงบกองทัพเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามฉุกเฉิน

เนื่องด้วยปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระลอกสองในประเทศ ก่อให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้พี่น้องประชาชนต้องประสบความทุกข์ยากอย่าง ใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้ว่า มีพี่น้องประชาชนจํานวนมากเข้าไม่ถึงเงินเยียวยาจากโครงการคนละครึ่งเฟสสอง ทั้งจากที่ไม่มีอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และจากที่ประชาชนต้องแย่งชิงกันลงทะเบียนรับสิทธิจากโครงการดังกล่าวจนสิทธิเต็มในเวลา ไม่ถึงห้านาที เหตุเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อตอกย้ำว่ามาตรการเยียวยาประชาชนของรัฐบาลล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น ราษฎรจึงขอเสนอแนะให้ท่านพิจารณาตัดลดงบประมาณที่สูงเกินความจําเป็น ไม่เหมาะสมแก่เวลา หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ เช่น งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีจํานวน 37,228 ล้านบาท และงบประมาณของกองทัพ ซึ่งมีจํานวน 223,467.7 ล้านบาท และนํามาใช้ดําเนินมาตรการ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนดังต่อไปนี้

1. เยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียม โดยให้รัฐเยียวยาประชาชนผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปด้วยเงิน รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวจะใช้งบประมาณราว 525,000 ล้านบาท หากตัดลดและโยกย้ายงบที่ไม่จําเป็นข้างต้นรวมกับงบประมาณที่คงเหลือจาก พ.ร.ก.ให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ก็จะมีงบประมาณเพียงพอเยียวยาประชาชนได้อย่างถ้วนหน้า

2. นําเข้าและกระจายวัคซีนโควิด-19 แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และทันท่วงที และเป็นการ ควบคุมการแพร่กระจายของโรคและเสริมสร้างความมั่นใจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

3. ลดหรือช่วยอุดหนุนค่าครองชีพของประชาชน ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่า อินเทอร์เน็ต ค่าโดยสาร อย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน และสําหรับนักเรียน นักศึกษาจะต้องมีการลดค่าเล่าเรียน พร้อมทั้งช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ด้วย

ทั้งนี้ การบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนทั่วประเทศ ย่อมสําคัญกว่าการเทิดทูนพระเกียรติซึ่งไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการจัดซื้อซ่อมบํารุงอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงที่มิได้เกิดสงคราม จึงขอให้รัฐบาลตัดสินใจโดยยึดถือประโยชน์ของคนส่วนมากเป็นหลัก มิใช่เพื่อคนส่วนน้อยเพียงไม่กี่ตระกูล จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

ราษฎร

 นศ.รามฯ เลิกพิสูจน์ความจนเพื่อรับเยียวยา

ไอลอว์รายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มนักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยประมาณ 12 คน เดินทางมาถึงหน้ารัฐสภาเพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภา ตามสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้บริเวณหน้าประตูใหญ่ทางเข้ารัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมดูแลพื้นที่ประมาณ 40 นาย

นักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรช่วยส่งเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อมาตรการเยียวยาจากสถานการณ์โควิด-19 ถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีตัวแทนร่วมเล่าถึงปัญหาปากท้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการออกนโยบายของรัฐบาล เช่น ผลกระทบต่อร้านค้า ร้านอาหาร ผับบาร์ และสถานบันเทิง, การเยียวยาในโครงการคนละครึ่ง, และโครงการไทยชนะ ผ่านแอปพลิเคชั่นที่ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่ขาดแคลนอุปกรณ์และเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

ประมาณ 10.40 น. มีกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนปัญหานโยบายเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง โดยการโปรยกระดาษจากกล่อง “สวัสดิการชิงโชค” จากนั้นตัวแทนผู้ชุมนุมได้เริ่มอ่านแถลงการณ์โดยมี 6 ข้อเรียกร้องที่จะยื่นต่อประธานสภาดังนี้

1. ต้องยกเลิกการพิสูจน์ความจน เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากวิกฤตโควิด-19

2. ประชาชนทุกสาขาอาชีพจะต้องได้รับการเยียวยาอย่างเสมอภาค และมีความรวดเร็วในการดำเนินการช่วยเหลือประชาชน

3. การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนต้องเป็นเงินสด ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้จ่าย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของแต่ละคน

4. รัฐบาลต้องพักหนี้ให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อการดำรงอยู่ของ "SME" สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงธุรกิจร้านอาหารและสถานบันเทิง เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ นักดนตรี และคนที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง

5. รัฐบาลต้องมีมาตรการให้กลุ่มทุนใหญ่อย่างธนาคารเอกชนต่างๆ รวมถึงธนาคารของรัฐพักหนี้ ให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน

6. รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาจะต้องหยุดใช้งบประมาณของประเทศในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น  หยุดจัดซื้อจัดจ้างอาวุธ รถถัง รวมถึงการหยุดสร้างหนังรักชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้

หลังอ่านแถลงการณ์ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรออกมารับหนังสือจากกลุ่มนักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย โดยชี้แจงเหตุที่จัดสถานที่ให้ประชาชนมายื่นหนังสือด้านนอกบริเวณประตูทางเข้าแทนที่จะเป็นห้องรับรองด้านใน เนื่องจากต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกล่าวว่า ประธานสภาเข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อน และขอบคุณผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนจะนำข้อเรียกร้องไปเสนอถึงประธานสภาได้รับทราบต่อไป

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar