ที่ประชุม ครม. วันนี้ (14 ก.ย.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนใหม่
.
นับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา
มีนายทหารจากกองทัพถูกส่งมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. อย่างต่อเนื่อง
จนมีเสียงวิจารณ์ว่าตำแหน่งเลขาธิการ สมช.
กลายเป็นเก้าอี้ที่ใช้ผ่องถ่ายนายทหารที่มีฝีมือ
แต่ไม่มีโอกาสขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
และผู้บัญชาการทหารบก
สุพจน์ มาลานิยม : "วีรบุรุษในสมรภูมิบ้านร่มเกล้า" สู่ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ที่มาของภาพ, กองบัญชาการกองทัพไทย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (14 ก.ย.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเมื่อ 27 ส.ค. แต่งตั้ง พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เสนาธิการทหาร ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช. คนใหม่ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นต้นไป
เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ. สุพจน์ จะขึ้นเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนที่ 23 แต่ เป็นลำดับที่ 24 (เนื่องจากนายถวิล เปลี่ยนศรี ดำรงตำแหน่งสองวาระ) ต่อจาก พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่จะเกษียณอายุราชการ และหลังจากนั้น พล.อ. สุพจน์จะย้ายสถานที่ทำงานจากกองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ มานั่งที่ตึกแดง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล ถนนราชดำเนินนอก เหลืออายุราชการอีก 2 ปี เกษียณในเดือน ก.ย. 2566
นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีนายทหารจากกองทัพ ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และ กองทัพบก ถูกส่งมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พล.อ. ทวีป เนตรนิยม, พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ, พล.อ. สมศักดิ์ รุ่งสิตา มาถึง พล.อ. ณัฐพล จนมีเสียงวิจารณ์ว่าตำแหน่งเลขาธิการ สมช. กลายเป็นเก้าอี้ที่ใช้ผ่องถ่ายนายทหารที่มีฝีมือ แต่ไม่มีโอกาสขึ้นเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก
"ต้องขอโทษด้วยกับคนที่ไม่ได้ขึ้น เดี๋ยวผมจะตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เทียบเท่าซี 11 ให้" แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาลอ้างคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ในที่ประชุม สมช. เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ส่งไปถึงนางศิริวรรณ สุคนธมาน รองเลขาธิการ สมช. ที่มีความอาวุโสสูงสุด แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นเป็นเลขาธิการ
ที่มาของภาพ, Facebook/Army PR Center
เพื่อนร่วมรุ่น ผบ. ทบ.
พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เกิดเมื่อ 10 เม.ย. 2506 ที่ จ. ชลบุรี จบ ม.ศ. 3 จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และสอบเข้าเป็นนักเรียน เตรียมทหารรุ่นที่ 22 เข้ารับการศึกษาต่อเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 33 มีเพื่อนร่วมรุ่น เช่น พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ. ธรรมนูญ วิถี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ. สันติพงศ์ ธรรมะปิยะ รองเสนาธิการทหารบก และโฆษกกองทัพบก
หลังจบโรงเรียนนายร้อย เขาเข้ารับราชการเป็นนายทหารเหล่าทหารม้า และได้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรเพิ่มเติมระหว่างรับราชการ เช่น หลักสูตรชั้นนายร้อย และชั้นนายพันเหล่าทหารม้า โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 73, ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, หลักสูตรนายทหารประชาสัมพันธ์ รุ่นที่ 21 กรมกิจการพลเรือนทหารบก วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐ เมืองฟอร์ตลีเวนเวิร์ธ รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา
ทหารม้า สู่ หน่วยต่อต้านการก่อการร้าย
หลังจบการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขาเลือกไปอยู่เหล่าทหารม้าประจำการในหน่วยพื้นที่ชายแดน เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวด และ ผู้บังคับกองร้อยทหารม้า ม.พัน 18 จ. เพชรบูรณ์ จากนั้นไปเป็นผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบา ม.พัน 14 ซึ่งขณะนั้นอยู่ จ. เพชรบูรณ์ (ปัจจุบันอยู่ จ.ขอนแก่น) ได้รับการแต่งตั้งขึ้นผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล (ร้อย ลว.ไกล) กองพลทหารม้าที่ 1 จนได้เป็น ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 28 (ม.พัน 28) ตามลำดับขั้น
จากนั้น เขาก็เปลี่ยนเส้นทางเดินจากทหารม้านักรบชายแดน มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) กองบัญชาการกองทัพไทย จากนั้นมาเป็นผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 (นพค. 32) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่
เขาติดยศพลตรีในตำแหน่งเสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (ศตก.) ขยับขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการ ศตก. และ หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำเสนาธิการทหาร, เจ้ากรมยุทธการทหาร และดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหาร อัตรา พล.อ.พิเศษ ในปัจจุบัน
วิเคราะห์: สมช. หน่วยงานพลเรือนภายใต้การนำของทหาร
บีบีซีไทยสัมภาษณ์ ผศ.ดร. พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ สมช. วิเคราะห์บทบาทของ สมช. และสิ่งที่สะท้อนจากการแต่งตั้งนายทหารมาเป็นเลขาธิการคนล่าสุด เรียบเรียงเป็นบทวิเคราะห์ได้ดังนี้
จุดประสงค์ในการก่อตั้ง สมช. คือเพื่อให้เป็นหน่วยงานพลเรือนที่เน้นการทำงานเชิงนโยบายเป็นหลัก คือเป็นผู้เสนอแนะนโยบาย แนวทาง ยุทธศาสตร์ให้รัฐบาล และประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบายนั้น ๆ โครงสร้างของ สมช. ถอดแบบมาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council-NSC) ของสหรัฐฯ
ในยุคสงครามเย็น สมช. มีบทบาทค่อนข้างมากในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์การทหารรวมถึงนโยบายต่างประเทศ หลังยุคสงครามเย็น สมช. มีบทบาทลดลงเนื่องจากไทยมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ก่อนจะกลับมามีบทบาทอีกครั้งหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 โดยเป็นหน่วยงานที่ดูแลนโยบายด้านการต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งเป็นองค์กรหลักที่คอยประสานกับต่างประเทศในเรื่องของความมั่นคง
ระยะหลัง ๆ ปัญหาความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องของความขัดแย้งในประเทศและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมช. ก็มีบทบาทในการนิยามปัญหาความมั่นคงและเสนอแนะนโยบาย แต่ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่ทำงานเชิงนโยบายเช่นนี้นัก สมช. จึงกลายเป็นหน่วยงานที่ทำงานประจำไปวัน ๆ ซึ่งต่างจากสภาความมั่นคงแห่งชาติของประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อังกฤษ หรือญี่ปุ่น ที่เมื่อสภาความมั่นคงวิเคราะห์สถานการณ์หรือเผยแพร่เอกสารข้อเสนอแนะทางนโยบายมาแต่ละครั้ง ทุกหน่วยงานจะให้ความสำคัญ
ผศ.ดร. พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยเหตุนี้ ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. จึงเป็นตำแหน่งที่ไม่ค่อยน่าดึงดูด และเป็นการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนใน สมช. ขึ้นมาเป็นเลขาธิการตามลำดับขั้น บรรดาทหารก็ไม่ค่อยมีใครอยากมาเป็นเพราะต้องเปลี่ยนมาเป็นข้าราชการพลเรือนคุมหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจเต็มที่และไม่มีกำลังพลของตัวเอง เลขา สมช. จึงกลายเป็นตำแหน่งปลอบใจให้ทหารอาวุโสที่ไม่ได้ขึ้นตำแหน่งสูง ๆ ในกองทัพ
หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 รัฐบาลทหารได้ใช้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งตำรวจ ทหารและ สมช. มาเสริมอำนาจของรัฐบาล เป็นแขนขาเพื่อคุมนโยบายในปีกพลเรือน จึงเกิดปรากฏการณ์แต่งตั้งทหารข้ามห้วยมาเป็นเลขา สมช. อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลอาจเห็นว่าการเอาทหารมาเป็นเลขา สมช. มีประโยชน์ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีประเด็นความมั่นคงที่ค่อนข้างเข้มข้น เพราะถ้าเอาข้าราชการพลเรือนที่เป็นลูกหม้อ สมช. ขึ้นมาเป็นเลขาธิการ เขาอาจจะมีวิธีคิดวิธีการทำงานที่สวนทางกับทหาร
อันที่จริง การแต่งตั้งทหารมาเป็นเลขา สมช. ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าคน ๆ นั้นมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งและหน้าที่ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเอาพลเรือนเป็นเลขา สมช. เช่นเดียวกับต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างวิธีคิดเรื่องความมั่นคงในแบบพลเรือนกับแบบทหาร มีความสมดุลในการมองมิติความมั่นคงเป็นองค์รวมมากขึ้น
เราต้องยอมรับว่าทหารก็มีวิธีคิดวิธีปฏิบัติงานในแบบของเขา มียศ มีลำดับอาวุโส รุ่นพี่รุ่นน้อง เมื่อแต่งตั้งทหารมาเป็นหัวของ สมช. เขาก็อาจจะไม่กล้าขัดกับผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานอื่น ๆ ในกองทัพ แม้ว่าโดยตำแหน่ง เลขา สมช. จะสูงกว่าก็ตาม เนื่องจากระบบอาวุโสของทหารทำให้เลขา สมช. ต้องเกรงใจ จึงไม่สามารถผลักดันนโยบายด้านความมั่นคงตามที่ สมช. เห็นควรได้จริง ๆ
การแต่งตั้ง เลขา สมช. ครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกันที่ จริง ๆ แล้วคุณศิริวรรณ สุคนธมาน รองเลขาธิการ สมช. ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดควรจะได้ขึ้นเป็นเลขา สมช. เพราะโดยหลักการแล้ว สมช. ควรเป็นหน่วยงานพลเรือน ยิ่งมีเลขาธิการที่เป็นผู้หญิง ยิ่งน่าจะทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้มากขึ้น หรืออาจมีมุมมองบางอย่างที่น่าสนใจ และเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ สมช. ได้รับมอบหมายภารกิจที่ต้องประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ และทำงานที่กระทบกับประชาชนจำนวนมากอย่างเรื่องการระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อ ครม. ตั้งทหารมาเป็นเลขาธิการ สมช. อีก จึงคิดว่าแนวทางการทำงานก็คงไม่แตกต่างจากเลขา สมช. คนอื่น ๆ ที่เป็นทหารที่ได้รับการแต่งตั้งมาในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557
ที่มาของภาพ, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"นักรบเหรียญกล้าหาญ" สมรภูมิร่มเกล้า
ปี 2562 โรงเรียนเตรียมทหาร มอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น รางวัลเกียรติยศจักรดาว สาขาการทหาร ให้แก่ พล.อ. สุพจน์ โดยบันทึกเกียรติประวัติการทำงานในสนามรบของ พล.อ. สุพจน์ในฐานะ "วีรบุรุษในสมรภูมิบ้านร่มเกล้า" ไว้ในหนังสือแจกในงานว่า
"เมื่อปี พ.ศ. 2530 ได้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในพื้นที่ที่มีปัญหาเส้นเขตแดน บริเวณบ้านร่มเกล้า อ. ชาติตระการ จ. พิษณุโลก กองพันทหารม้าที่ 18 ซึ่งเป็นกองพันผสมเตรียมพร้อมของกองทัพภาคที่ 3 เข้าปฏิบัติภารกิจ ผลักดันกองกองกำลัง สปป.ลาว ที่รุกล้ำอธิปไตย บริเวณพื้นที่ดังกล่าว โดยได้เข้าปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2530 มีภารกิจเข้าตีผลักดันกองกำลัง สปป.ลาว ที่รุกล้ำอธิปไตยเข้ามาวางกำลังดัดแปลงที่มั่นแข็งแรง บนยอดเนินที่เป็นภูมิประเทศสำคัญบริเวณชายแดนในเขตไทยหลายแห่ง
"ในห้วงปลายเดือน ม.ค. 2531 ฝ่ายตรงข้ามได้ใช้ปืนใหญ่วิถีโค้งและวิถีราบยิงถล่มเพื่อกดดันและทำลายที่หมายวันละ 600 -1,000 นัด เป็นเวลา 4 วัน และในพลบค่ำของการยิงวันที่ 4 ได้ใช้กองกำลังทหารจำนวนกว่า 400 นายเข้าตีต่อที่หมาย พร้อมระดมยิงปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิดไปยังพื้นที่หน่วยอื่น ๆ ของฝ่ายเรา เพื่อเป็นการตัดขาดการสนับสนุน
"ร.ท. สุพจน์ ยศในขณะนั้น นำผู้ใต้บังคับบัญชายิงต่อสู้ ต้านทานการเข้าตะลุมบอนของฝ่ายตรงข้าม และพยายามรักษาที่หมายไว้จนพบว่า ลูกระเบิดขว้าง ลูกจรวดของเครื่องยิงจรวดหมด กระสุนปืนกลเอ็ม 60 เหลือน้อย และปืนกลเริ่มติดขัด ส่วนการร้องขอการยิง เครื่องยิงลูกระเบิดรวมทั้งปืนใหญ่ไม่สามารถหยุดยั้งการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้ามได้ เขาจึงได้ตัดสินใจร้องขอการยิงปืนใหญ่ด้วยกระสุนแตกอากาศมาลงยังที่หมายของตนเอง (ตามคำแนะนำของผู้ตรวจการณ์หน้าและผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่สนาม) ซึ่งหลังจากที่กองร้อยปืนใหญ่ยิงกระสุนแตกอากาศให้จำนวน 3 นัด ทำให้บรรยากาศในพื้นที่การสู้รบสงบเงียบลงทันที ฝ่ายข้าศึกหยุดการเคลื่อนไหว ส่งผลให้การปฏิบัติในครั้งนั้น ร.ท. สุพจน์ สามารถนำหน่วยทำการตั้งรับและรักษาที่หมายไว้ได้"
ที่มาของภาพ, โรงเรียนเตรียมทหาร
ภาพสมัยสมรภูมิร่มเกล้า จากหนังสือแจกในงาน "เกียรติยศจักรดาว"
บันทึกเกียรติประวัติชิ้นนี้เล่าเหตุการณ์สู้รับครั้งนั้นต่ออีกว่า ในวันที่ 1 ก.พ. 2531 ฝ่ายตรงข้ามได้ยิงตอบโต้อย่างหนัก ร.ท. สุพจน์ ได้ออกไปตรวจหน้าแนวเพื่อประเมินสถานการณ์และพบว่ามีทหารพลปืนเล็กที่ประจำอยู่หน้าแนวถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงได้เข้าช่วยเหลือเพื่อนำมาปฐมพยาบาลในที่กำบัง แต่ตัวเขาเองถูกสะเก็ดปืนใหญ่บริเวณอกด้านซ้าย ผู้บังคับหน่วยจึงได้สั่งการ ให้ส่งตัวเขาไปรักษาที่โรงพยาบาล
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ฝ่ายไทยสามารถรักษาที่หมายนี้ไว้ได้สำเร็จจนกระทั่งมีการเจรจาสงบศึกในวันที่ 18 ก.พ. 2531 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงว่าจะปักธงชาติของตนไว้ ณ พื้นที่ที่แต่ละฝ่ายยึดรักษาอยู่ สำหรับฝ่ายไทยได้ปักธงชาติเพื่อแสดงอธิปไตยไว้ตรงพื้นที่ที่ ร.ท. สุพจน์ยึดไว้ได้ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2530 ซึ่งอยู่ท่ามกลางแนวการวางกำลังของฝ่ายตรงข้าม และมีผลต่อการ เจรจาสงบศึกในครั้งนั้นด้วย เหตุการณ์ทำให้ ร.ท. สุพจน์ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ หลังจบภารกิจ
บทความชื่อ ต่างมุมมองของไทย-ลาวบน "สมรภูมิร่มเกล้า" สงครามที่ไทยใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาท ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม สรุปความสูญเสียจากเหตุปะทะบนสมรภูมิร่มเกล้าไว้ว่า ทหารไทยเสียชีวิต 147 คน บาดเจ็บ 166 คน ขณะที่กองทัพภาคที่ 3 รายงานจำนวนผู้บาดเจ็บต่างออกไปคือ บาดเจ็บสาหัส 167 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 550 คน และทุพพลภาพ 55 คน ไทยใช้งบประมาณในสมรภูมิร่มเกล้าไปราว 3,000 ล้านบาท
บทความนี้บอกด้วยว่า ตัวเลขความสูญเสียของลาวนั้นไม่แน่ชัด ประมาณว่าทหารลาวเสียชีวิตประมาณ 300-400 คน บาดเจ็บประมาณ 200-300 คน และเชื่อว่ามีทหารต่างชาติของโซเวียต เวียดนาม และคิวบา รวมอยู่ด้วย โดย ไทยเชื่อว่าฝ่ายลาวมีทหารต่างชาติมาช่วยรบและสนับสนุนแต่ลาวปฏิเสธเรื่องนี้
ที่มาของภาพ, โรงเรียนเตรียมทหาร
"ม้าดอย"ไปไม่ถึง"เสือป่า"
หากดูเส้นทางรับราชการของ พล.อ. สุพจน์ การขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับหน่วยในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ตามลำดับขั้น ก็น่าจะเดินเข้าสู่เส้นทางในระดับผู้บังคับการกรมและผู้บัญชาการกองพล ตามรอยแม่ทัพในอดีต แต่ปัญหาการปรับย้ายทหารในกองทัพภาคที่ 3 ค่อนข้างดุเดือด มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่าง "ทหารราบ จากกองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร. 4) กับทหารม้า กองพลทหารม้าที่ 1(พล.ม. 1) ถ้าสายไหนได้ขึ้นนั่งเก้าอี้แม่ทัพภาค ก็จะทำให้ทหารสายนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับในพื้นที่ภาคเหนือยังเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคการเมืองใหญ่ จึงมีเรื่องการเมืองเข้ามาผสมปนเป จนทำให้ทหารม้าภาคเหนือออกมาเติบโตนอกหน่วยกองทัพบก และข้ามไปวางฐานที่มั่นในกองบัญชาการกองทัพไทย
ในช่วงรอยต่อของเส้นทางชีวิต พล.อ. สุพจน์ได้ขอใช้สิทธิ์ของนายทหารที่ได้รับเหรียญกล้าหาญ ไปเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารสหรัฐ ช่วงปี 2545-2546 เมื่อจบหลักสูตรก็กลับมารับราชการต่อที่กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย 1 ปี จากนั้นย้ายไปอยู่ที่ กองกิจการพลเรือนหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 6 เดือน และกลับขึ้นภาคเหนือไปเป็นผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 (นพค. 32) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่
มีช่วงเวลาสั้น ๆ ถูกดึงไปนั่งหน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยุคที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีควบเก้าอี้ รมว. กลาโหม เป็นทีมงานเดียวกับ พล.อ. อุดมชัย องคสิงห อดีตแม่ทัพภาค 3 ผู้บังคับบัญชาเก่า ที่มานั่งเป็นเลขานุการ รมว. กลาโหม ในยุคนั้น
ในช่วงปี 2554 เป็นจังหวะที่ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้ก่อตั้งศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล (ศตก.) ขึ้นมา จึงเฟ้นหานายทหารในกองทัพไทยที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถ จนได้ไปเห็นประวัติของ พล.อ. สุพจน์ที่ได้รับเหรียญกล้าหาญจากสมรภูมิบ้านร่มเกล้า และเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล พล.ม. 1 ซึ่งถือเป็นทหารรบพิเศษหมวกแดง เช่นเดียวกับ พล.อ. ธนะศักดิ์ ที่เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ฉก. 90 มาก่อน จึงได้ดึง พล.อ. สุพจน์มาติดยศพลตรีในตำแหน่งเสนาธิการ ศตก. และขยับขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ศตก. จากนั้นมาเป็นหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำเสนาธิการทหาร จนกลายเป็นดาวเด่นที่ถูกวางตัวไว้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในอนาคต
ด้วยหลักคิดของ พล.อ. ธนะศักดิ์ในการวางรากฐานการสร้างบุคลากรในกองบัญชาการกองทัพไทยให้เติบโตขึ้นมารับไม้ต่อในตำแหน่งที่ใช้นามเรียกขานว่า "เสือป่า 1" (แม้กองบัญชาการกองทัพไทยจะย้ายมาอยู่ที่แจ้งวัฒนะ แต่นามเรียกขานยังใช้ชื่อเดิมคือ "เสือป่า" เนื่องจากที่ตั้งเดิมอยู่ที่ อาคารสนามเสือป่า ใกล้กับลานพระราชวังดุสิต)
แต่หลังจากการปรับย้ายนายทหารในช่วง 2 -3 ปีหลัง การส่ง พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ นายทหารประจำหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 จากกองทัพบก มาเติบโตที่กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อจ่อขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว ก็ทำให้ พล.อ. สุพจน์ยากที่ฝ่าฟันขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ เพราะเกษียณอายุราชการในปี 2566 เท่ากับ พล.อ. เฉลิมพล แม้จะเป็นเป็นรุ่นน้อง (เตรียมทหารรุ่น 22) พล.อ. เฉลิมพล (เตรียมทหารรุ่น 21) 1 ปีก็ตาม
การถูกส่งไปนั่งในตำแหน่งเลขาธิการ สมช. นอกจากเปิดทางให้ พล.อ. ณฐตพล บุญงาม ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานกระทรวงกลาโหม เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 21 ของ พล.อ. เฉลิมพล ให้กลับมาทำหน้าที่เสนาธิการทหารในการโยกย้ายประจำปีในรอบนี้ และยังเป็นการให้ พล.อ. สุพจน์มีตำแหน่งในระดับหัวหน้าหน่วยงาน ไม่ต้องอยู่ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ถูกมองว่าเป็นตำแหน่งทางผ่านเอกสาร แต่ในภาพรวมของทหารส่วนใหญ่ก็คงอยากอยู่ในกองทัพจนเกษียณมากกว่าไปเป็นข้าราชการพลเรือน
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar