onsdag 31 oktober 2018

Chaturon Chaisang.....จะให้รธน.ผ่านต้องปิดปากคนเห็นต่าง

จะให้รธน.ผ่านต้องปิดปากคนเห็นต่าง
เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม 2558
# ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ถึงเวลาที่ประชาชนไทยต้องมาพูดกันทุกฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลและ คสช.ด้วย ควรพูดกันว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร และต้องยุติการที่คสช.เป็นผู้กำหนดได้แล้ว
# ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของบรรดาพรรคการเมืองโดยเฉพาะคอการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับเรือแป๊ะ”จนนำมาซึ่งการโจมตีปมร้อนสายล่อฟ้า โดยเฉพาะเรื่องที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. หรือการเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระ ที่ส่อแววว่าจะไปไม่ถึงปลายทางการทำประชามติ จึงถึงเวลาจับเข่าคุย“จาตุรนต์ ฉายแสง”อดีต รมว.ศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทย ถึงเหตุผลการคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้
เดลินิวส์ - มองการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้เป็นอย่างไร
จาตุรนต์ - เท่าที่ดูคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดประเด็นและข้อสรุปแบบคร่าวๆ ไม่ละเอียดชัดเจน ไม่เปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฉะนั้นทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างกึ่งปิดกึ่งเปิด คนอาจเห็นปัญหาไม่เต็มที่ และจากสาระสำคัญ ๆ ก็พบว่ามีปัญหามาก และเมื่อเปิดเผยรายละเอียดชัดเจนขั้นสุดท้ายแล้ว อาจจะมีปัญหามากยิ่งขึ้น
การนำอำนาจถอดถอนของส.ว. ไปยกให้ศาลรัฐธรรมนูญ การให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจถอดถอน มีอำนาจตีความมาตรา7 หรือมีอำนาจตัดสินว่าบ้านเมืองอยู่ในสภาพวิกฤติเมื่อใด การให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินการดำรงอยู่ของรัฐบาลและการที่จะให้มีรัฐบาลที่มาจากนอกระบบนั้น จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนได้ รวมทั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งก็จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน โอกาสที่จะมีคนนอกมาเป็นนายกฯก็มีได้มาก เนื่องจากมีการปูทางไว้ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญแบบนี้การเลือกตั้งจะไม่มีความหมาย
เดลินิวส์ - มองว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงในการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. คืออะไร ?
จาตุรนต์ – คาดการณ์ได้ 2 อย่าง คือ 1. ต้องการให้ได้รัฐธรรมนูญออกมาจริงๆ และมีผลทำให้อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือขององค์กรและบุคคลที่ไม่มีการเชื่อมโยงกับประชาชน ส่วนองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจน้อยมากเป็นการเปลี่ยนระบบการถ่วงดุลอำนาจครั้งใหญ่ ซึ่งจะทำให้องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และฝ่ายตุลาการมีบทบาทสำคัญในการกำหนดที่มาขององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ประชาชนไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองหรือการบริหาร การออกกฎหมายของประเทศได้
2. การร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้มีเนื้อหาที่คนรับไม่ได้ โดยมีความตั้งใจให้ร่างนี้ตกไป เมื่อตกไปแล้ว ก็จะขึ้นกับคสช. ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งอาจจะเอาร่างอื่นหรืออาจจะยืดเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญออกไปอีกก็จะมีผลกระทบต่อโรดแม็พ อย่างไรก็ตามหากร่างรัฐธรรมนูญนี้นำมาใช้ได้จริงก็จะเท่ากับเป็นการสืบทอดอำนาจของคสช. และองค์กรต่างๆที่เชื่อมโยงกับ คสช. ต่อไปอีกนาน

เดลินิวส์ – การออกแบบร่างรัฐธรรมนูญที่ทำอยู่ทำเพื่อตัดตอนพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ?
จาตุรนต์ - ก่อนนี้มีการมองกันอย่างนั้น แต่ขณะนี้ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการขัดขวางพรรคเพื่อไทยให้กลับมาสู่อำนาจ แต่เป็นการต้องการทำให้พรรคการเมืองและผู้ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลายไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศ และต้องการให้อำนาจอยู่ในมือขององค์กรและบุคคลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง และองค์กรจำนวนมากซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคสช.นี่เอง แบบนี้เป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองโดยรวม เป็นการทำลายกระบวนการที่พรรคการเมืองจะต้องรวบรวมความต้องการของประชาชนและพัฒนาสร้างนโยบายขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนกำหนดอนาคตของประเทศผ่านการเลือกตั้ง ผ่านระบบรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญสิ่งเหล่านี้ถูกทำลายลงไป ไม่ใช่เฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่ง ทั้งหมดจะกลายเป็นระบบราชการที่บวกด้วยอดีตข้าราชการที่มีกำลังสำคัญอยู่ที่องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้การกำกับของฝ่ายตุลาการ โดยที่หลายส่วนมีความเชื่อมโยงเนื่องจากมีการแต่งตั้งโดย คสช. จะเป็นระบบที่เอื้อต่อองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน
เดลินิวส์ - มองอย่างไรกับการตัดสิทธินักการเมืองที่ทำทุจริตตลอดชีวิต มองว่ายุติธรรมกับนักการเมืองหรือเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่
จาตุรนต์ - บางทีเรามักจะเลือกใช้วิธีทำอะไรที่ดูหวือหวา มองผิวเผินก็นึกว่าดี แต่จริง ๆ ไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานและที่สำคัญกว่านั้นคือไม่ได้จะแก้ปัญหาการทุจริตอย่างเป็นระบบได้เลย หมายถึงว่าเวลานี้ยังไม่ปรากฏว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ชุดที่แล้วจนถึงชุดนี้มีความพยายามจะแก้ปัญหาป้องกันปราบปรามการทุจริตให้ได้ผลอย่างจริงจัง นอกจากจะบอกให้เพิ่มโทษเกี่ยวกับการทุจริต หากเพิ่มโทษ แต่ ป.ป.ช. เอาเรื่องส่วนใหญ่ไปดองไว้ เลือกปฏิบัติ กกต. ให้ใบเหลืองไม่กี่ราย มันก็จะไม่แก้ปัญหาเรื่องการทุจริต สุดท้ายเราจะได้ระบบการปกครองที่ประชาชนไม่มีอำนาจ เลือกตั้งไม่มีความหมาย ผู้มีอำนาจเป็นองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน และสุดท้ายเราอาจได้รัฐบาลที่มีคนนอกเป็นนายกฯ
แล้วประชาชนก็ตรวจสอบไม่ได้เพราะว่าองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็เป็นพวกเดียวกันกับนายกฯ คนนอก

เดลินิวส์ - มองว่าโจทย์ไหนที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีอันเป็นไปหรือไม่ผ่านประชามติมากที่สุด เพราะตอนนี้เหมือนจะไม่นำคปป.มาแล้ว
จาตุรนต์ - เขารู้ว่า คปป. เป็นจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.ยกร่างฯ ชุดที่แล้ว เขาไม่อยากซ้ำรอย แต่ด้วยกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยแนวทางที่คสช.กำหนด ด้วยแนวคิดของกรธ. ที่กำลังทำกันอยู่ สุดท้ายน่าจะเลวร้ายไม่แพ้ร่างของ กมธ. ยกร่างฯชุดที่แล้ว โดยยังมีกลไกต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกับคปป. มาทำหน้าที่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ การกำหนดแนวทางปฏิรูปนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส.ว.ลากตั้ง เมื่อวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและชี้แจงให้ประชาชนทั้งหลายเข้าใจ
“ผมเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านประชามติ ถ้าผ่านได้ก็หมายถึงต้องรวบรัดปิดปากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าให้ประชาชนได้ข้อมูลข่าวสาร ได้รับรู้ข้อเท็จจริงและเหตุผลอย่างเต็มที่ ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้จะไม่ผ่านประชามติ ซึ่งก็จะดีกว่าให้ผ่านไป เพราะถ้าผ่านประชามติไป มีการเลือกตั้ง แต่วิกฤติของประเทศจะไม่ได้รับการแก้ไขเลย และจะทำให้ประเทศเสียโอกาสไปอีกยาวนาน จึงต้องมาพูดกันว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไรให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและให้มีการเลือกตั้งที่มีความหมายจริงๆ”
ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ ก็จะต้องให้มีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้น โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ใช่มาจาก คสช. แต่ต้องมาจากประชาชน ในระหว่างนั้นถ้าประชาชนจำนวนมากต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ก็สามารถใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งก็ได้ และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นชั่วคราวไปจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการร่างที่เป็นประชาธิปไตย หากมีข้อเสนอหลากหลายง่ายนิดเดียวให้นำเรื่องนี้ไปถามตอนลงประชามติ เพิ่มคำถามเข้าไปในการลงประชามติว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านท่านคิดว่าควรจะร่างรัฐธรรมนูญโดยวิธีใด และควรจะมีการเลือกตั้งโดยเร็วหรือไม่ภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใด เป็นต้น
เดลินิวส์ – สิ่งที่อยากเห็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
จาตุรนต์ - ผมคิดว่าประเทศไทยต้องการรัฐธรรมนูญที่มีการถ่วงดุลอย่างเหมาะสม ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้ง3 และต้องให้ประชาชนตรวจสอบอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ได้ ต้องให้การเลือกตั้งมีความหมายเพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซง ต้องปิดทางไม่ให้คนนอกมาเป็นนายกฯต้องปิดประตูนี้ไปเลย องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด องค์กรอิสระต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน ทั้งในเรื่องที่มา การดำรงอยู่ และการตรวจสอบได้โดยประชาชน ต้องส่งเสริมให้พรรคการเมือง ตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยมีการตรวจสอบควบคุมที่ดี รัฐธรรมนูญต้องสร้างระบบยุติธรรมและยืนยันหลักนิติธรรมที่ชัดเจน กลไกที่จะป้องกันบ้านเมืองสู่วิกฤติหรือการล้มล้างรัฐธรรมนูญควรจะมีในความหมายที่ว่าต้องให้ระบบการบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรม ทำหน้าที่ได้จริงๆ รักษากฎหมายได้จริงๆ นอกจากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมแล้วต้องอาศัยเสียงประชาชนตัดสินปัญหาต่าง ๆ ให้มากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้ใช้การลงประชามติตัดสินปัญหาต่างๆให้มากขึ้นด้วยกติกาหรือเงื่อนไขที่เป็นธรรมและเป็นไปได้
เดลินิวส์ - มองว่าอนาคตรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่จะเป็นอย่างไร ?
จาตุรนต์ - รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ จะมีเนื้อหาที่เลวร้ายไม่แพ้ร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านแล้วนำมาใช้ จะทำให้ประเทศนอกจากไม่หลุดพ้นจากวิกฤติความขัดแย้งและไม่มีเสถียรภาพแล้ว ประเทศไทยจะยิ่งถลำลึกสู่วิกฤติที่หนักหน่วงยืดเยื้อยิ่งขึ้น ทางที่ดี คือ ต้องให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านในขั้นลงประชามติ ยอมที่จะยังไม่มีการเลือกตั้งดีกว่าให้มีการเลือกตั้งแบบไม่มีความหมาย และถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ถึงเวลาที่ประชาชนไทยต้องมาพูดกันทุกฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลและ คสช.ด้วย ควรพูดกันว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร และต้องยุติการที่ คสช.เป็นผู้กำหนดได้แล้ว.
---------
อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/article/366335
‪#‎ร่างรัฐธรรมนูญ‬ ‪#‎การเลือกตั้ง‬ ‪#‎ประชาชน‬


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar