ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า จะแทนที่ระบอบ คสช หรือการเมืองแบบกษัตริย์นิยม-ทหารนิยม ด้วยอะไร? - "การเมืองแบบทักษิณ"?
ผู้ที่เรียกกันว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" คงตอบทำนองว่า ก็แทนที่ด้วย "ประชาธิปไตย"
แต่ "ประชาธิปไตย" ในหมู่คนที่คัดค้านรัฐประหาร คัดค้านระบอบ คสช มีความแตกต่างกันไม่น้อย และจริงๆแล้วก็เป็นอะไรที่นามธรรมเกินไป ปัญหายังอยู่ที่ว่าในทางรูปธรรม "ประชาธิปไตย" ที่ต้องการให้มาแทนที่ มีลักษณะหรือความหมายอย่างไรบ้าง?
หลายคนคงตอบเพิ่มเติมว่า ก็ให้มีการเลือกตั้ง และรัฐบาลเลือกตั้งมีอำนาจนำ
แต่อันนี้ ก็มีปัญหาต่อว่า - ยังไง? เหมือนก่อน 2549 ใช่หรือไม่? พูดอีกอย่างคือ เหมือนสมัยยุคทักษิณ นันคือแทนที่ด้วยการเมืองแบบสมัยทักษิณ?
แต่การเมืองแบบก่อน 2549 หรือ "การเมืองแบบทักษิณ" (ผมจงใจหลีกเลี่ยงใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" แต่ขณะเดียวกัน ผมเห็นว่า การเมืองช่วงนั้น มีลักษณะพิเศษบางอย่างที่กำลังจะกล่าว ที่มีคาแร็กเตอร์สำคัญบางอย่างเกี่ยวกับทักษิณ-ไทยรักไทย จริง)
มีลักษณะบางอย่างที่ควรตั้งคำถามว่า สมควรกลับไปจริงหรือ?
"การเมืองแบบทักษิณ-ไทยรักไทย ก่อน 2549" (ที่แม้แต่ช่วงยิ่งลักษณ์หรือปัจจุบัน ก็ยังมีลักษณะดังกล่าวบางอย่างอยู่) เป็นการเมืองแบบที่ฝ่ายบริหารสามารถควบคุมกลไกต่างๆได้ในระดับที่การถ่วงดุลย์-ตรวจสอบ ไม่อาจมีประสิทธิภาพอะไร (ทีสำคัญคือคุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง ... แม้แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง) ผลคือ ในทีสุด เมื่อระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์ ตามระบบมีปัญหา ฝ่ายที่ต่อต้านเลย "จุดชนวน" หรือ "เปิดสวิช" activate ให้กลไกส่วนอื่นๆ ออกมาทำการ "ควบคุม" หรือจริงๆคือ "ล้ม" เลย
(อันนี้ ยังไม่พูดถึงว่า เอาเข้าจริง การเมืองแบบทักษิณก่อน 2549 ไม่ได้แตะต้องหมวดกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ไม่แตะต้อง 112 ไม่แตะต้องเรื่องทรัพย์สินฯ เป็นต้น ไม่ได้แตะต้องบรรดาระบบการอบรมเรื่องสถาบันฯ ฯลฯ)
ปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือ กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐประหารใหญ่ทีสุด คือ พรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง ยังคงตั้งเป้าหมายอยู่ที่การแทนที่ระบอบ คสช ด้วย "การเมืองแบบทักษิณ ก่อน 2549" (เรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนลงไป ที่ไม่สามารถอภิปรายละเอียดในที่นี้ คือในหมู่ผู้สนับสนุน ทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง นั้น มีส่วนที่เพียงต้องการกลับไปที่ "การเมืองแบบทักษิณ ก่อน 2549" ที่ไม่แตะเรื่องสถาบันฯ - ที่ผมเขียนในวงเล็บย่อหน้าก่อน - กับพวกทีเรียกว่า "เปลี่ยนระบอบ" คือต้องการให้จัดการเรื่องสถาบันฯด้วย #แต่ทั้งสองฝ่ายมีจุดร่วม #ตรงที่ยังไงก็ไม่ได้คิดอะไรหรือเสนออะไรที่ไกลเกินกว่าการเมืองแบบทักษิณ คือการเมืองที่พรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาล คือพรรคทักษิณ ยังอยู่ในการควบคุมของทักษิณ-ครอบครัว ในลักษณะที่ผมเรียกว่า "บริษัทชินวัตรการเมืองจำกัด" อยู่ และในระดับกลไกรัฐส่วนกลาง ไม่มีการตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์ที่มีประสิทธิภาพ)
ในความเห็นผม ที่เคยเข้าไปเถียงกับพวก "ใต้ดิน" หลายครั้งว่า ตราบใดที่พวกเขาและผู้สนับสนุนทักษิณ-เพื่อไทย ("เสื้อแดง") ในวงกว้างออกไป ยังมีเป้าหมายเพียงแค่กลับไปสู่การเมืองแบบทักษิณ (ก) โอกาสที่จะ "ชนะ" เป็นไปได้ยากมากๆ และ (ข) สมมุติว่า เกิด "ชนะ" ขึ้นมาจริงๆ #ก็เป็นอะไรที่ไม่ดีต่อการเมืองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง
ปล. และถึงจุดนี้ ผมก็ยังมองไม่เห็นว่า ฝ่ายต้านระบอบ คสช ที่เรียกกันว่า "เสรีนิยม" หน่อย - คือไม่ใช่ฝ่ายที่เชียร์ทักษิณ-เพื่อไทยโดยตรง - ซึ่งเป็นกำลังรองมากๆในกำลังต่อต้าน คสช มีข้อเสนออะไรชัดเจนว่า ต้องการเอาอะไรมาแทนที่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากเหมือนกัน กลุ่มที่ว่านี้ ซึ่งมีนักวิชาการและแอ๊คติวิสต์ปัญญาชนหลายคน ควรจะสามารถ "ทำการบ้าน" หรือมีข้อเสนอเรื่องนี้ได้ดีกว่านี้
เรื่องของ "เสี่ย" (และประยุทธ์)
ตอนนี้มีกระแสในหมู่ "ฝั่งประชาธิปไตย" "เสื้อแดง" ทำนองว่า ที่เกิดการ "หย่อน" ในแง่การปราบปรามของ คสช. เช่น มีการชุมนุม ไม่มีการจับ หรือมีการจับ ถึงศาล ก็ไม่โดนอะไรหนัก (ไม่มีการขัง ฯลฯ) เป็นเพราะ "เสี่ย ไม่เอา คสช. ไม่เอาประยุทธ์"
เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงหรอกครับ "เสี่ย" น่ะยังเอา คสช. เอาประยุทธ์ ชอบ คสช. ชอบประยุทธ์ด้วยซ้ำ
แต่เรื่องที่มีมีการ "หย่อน" นี่ เกี่ยวกับ "เสี่ย" ไหม? ก็มีส่วนเกี่ยวอยู่ แต่ไม่ใช่อย่างกระแสที่เข้าใจกันข้างต้น
คือต้องเข้าใจว่า
(ก) "เสี่ย" น่ะชอบประยุทธ์ ชอบ คสช. เพราะ "ขออะไรก็ได้หมดทุกอย่าง" อันที่จริง ถ้ามีวิธีว่า คสช.อยู่ยาว โดยไม่มีเลือกตั้งเลย โดยไม่มีคนมาโวยวาย หรือโดยไม่มีแรงกดดันให้ต้องเลือกตั้ง "เสี่ย" คงชอบ และคงเอา
ปัญหาคือ "เสี่ย" ก็คุมหรือห้ามไม่ให้มีกระแสดังกล่าวไม่ได้ และในระยะยาว ก็ห้ามไม่ให้มีเลือกตั้งเลยไม่ได้ - คสช.ก็ห้ามไม่ได้ ไม่มีใครห้ามได้
(ข) แต่ขณะเดียวกัน "เสี่ย" ก็ไม่ต้องการให้มีการปราบหนัก เพราะยิ่งจะทำให้เป็นเรื่องเป็นราว ปวดขมอง "เสี่ย" เหมือนกัน ดังนั้น "เสี่ย" ก็ไม่ต้องการให้มีการปราบหนักเหมือนกัน
สรุปคือ สำหรับ "เสี่ย" ถ้าไม่มีม็อบ ไม่มีเรื่องวุ่นวาย ก็จะชอบมากๆ แต่ถ้ามันมีม็อบ ก็อย่าให้มีการปราบหนัก ซึ่งจะมีความวุ่ยวายเหมือนกัน (นี่คือนัยยะที่ประยุทธ์ออกมาพูดวันก่อน)
ในระยะยาว "เสี่ย" ซึ่งถ้าสามารถให้ไม่มีเลือกตั้งเลย ให้ คสช.-ประยุทธ์ อยู่ยาวเลยได้ ก็ยิ่งดียิ่งชอบ แต่เขาก็ไม่สามารถให้เป็นแบบนั้นได้ ดังนั้น ในระยะยาวออกไป ใครจะเป็นนายกฯ จะเป็นประเด็นสำคัญมากสำหรับ "เสี่ย" คือ "เสี่ย" จะต้อง "เม็กชัวร์" ว่า นายกฯคนต่อไป จะต้องเป็นคนที่เขาไว้ใจได้ ขออะไรก็ได้อีก ถ้าประยุทธ์ไม่สามารถกลับเข้ามาหลังเลือกตั้ง "เสี่ย" ก็ต้องเม็กชัวร์ว่า คนจะมาแทนหลังเลือกตั้ง ต้องเป็นคนที่เขาไว้ใจได้แบบประยุทธ์ ขออะไรก็ได้แบบประยุทธ์อีก (วังมโหฬารกลางเมืองที่เขาต้องการให้สร้าง ยังไม่ได้สร้าง ถึงเวลายังต้องการเงินมหึมาจากนายกฯคนใหม่อีก)
ในแง่นึง ก็เลยเป็น "ไดเล็มม่า" สำหรับ "เสี่ย" และสำหรับประยุทธ์ด้วย "เสี่ย" อยากให้ประยุทธ์อยู่ต่อ อยากได้นายกฯแบบประยุทธ์ ก็อยาก แต่จะให้อยู่ไปเรื่อยๆไม่ต้องมีเลือกตั้ง ก็ทำไม่ได้ เพราะมีแรงบีบให้ต้องมีเลือกตั้ง มีคนออกมาเรียกร้อง แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการให้มีการปราบหนัก เพราะจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเครียดสำหรับ "เสี่ย" ซึ่งเขาไม่ต้องการ (เขาเป็นคน "เครียด" ง่าย และไม่ชอบไม่อยาก "เครียด") .... สถานการณ์รวมๆมันเลยออกมาก้ำๆกึ่งๆอย่างที่เห็นแหละ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar