måndag 19 november 2018

อัพเดท.. คอลัมน์ใบตองแห้ง : อยากเลือกตั้งไปทำไม


อยากเลือกตั้งไปทำไม รำคาญพวกเรียกร้องเลือกตั้งสร้างความวุ่นวาย อยากเลือกตั้งทั้งที่ยังไม่รู้จะเลือกอะไร หรือมีเป้าหมายเลือกใครอยู่แล้วแบบเดิมๆ

ก็แปลกดี คนที่บ่นอย่างนี้ไม่ยักโทษ สนช. เลื่อนเลือกตั้งทำไม ให้ทวงสัญญากันวุ่นวาย นี่ยังคว่ำรายชื่อ กกต. ให้สมชัยอยู่ต่อ 4-5 เดือน ระวังนะ ถ้าเลื่อนไปเลื่อนมา ปี 62 อาจไม่เป็นตามสัญญา ใครที่หลุดปากไว้ว่าจะเรียกร้องเลือกตั้งด้วยคน คงต้องกลืนน้ำลาย

อยากเลือกตั้งเพื่ออะไร เพื่อเลือกทักษิณ? ปัดโธ่ สมอง…ปัญญา… คนอย่างรังสิมันต์ โรม ซึ่งอ่านรัฐธรรมนูญทะลุปรุโปร่ง ทำไมจะไม่เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ 2560 วางกลไกไปสู่นายกฯ คนนอก ทั้ง ส.ว.แต่งตั้ง ทั้งอำนาจ กกต. ข้อห้ามหาเสียงด้วยนโยบาย กลไกรัฐ กลไกไทยนิยม ฯลฯ ต่อให้เก่งเหนือเทวดา พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีทางกลับมาเป็นรัฐบาล อย่าว่าแต่ 375 เสียง 250 เสียง ได้ถึง 150 ยังต้องกรวดน้ำทำบุญ

งั้นอยากเลือกตั้งไปทำไม ในแง่นักศึกษาประชาชน ก็เพื่อให้มีรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ซึ่งต่อให้เป็นนายกฯ คนนอก เป็นคนหน้าเดิม ระบอบ คสช.ม.44 ก็ต้องพ้นไป เข้าสู่ระบอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้จะแย่กว่าปี 40 ปี 50 แต่ก็ยังดีกว่าระบอบกฎหมายใต้ ม.44 ยังมีเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ถูกปรับทัศนคติ ยังมีสิทธิเรียกร้องเรื่องต่างๆ โดยไม่โดนข้อหาขัดคำสั่ง คสช.

พูดอย่างนี้เดี๋ยวก็ว่าจ้องล้ม โธ่ถัง ถ้าไม่ใช่ขาลง ถ้าอำนาจระดับบนไม่ขัดแย้งกัน ประชาชนล้มท่านไม่ได้หรอก ตรงกันข้าม มีเลือกตั้งแล้วกลับมาเป็นนายกฯ คนนอก กองหนุนน่าจะภูมิใจ จะได้ลงนามการค้ากับอียู ดัชนีความโปร่งใสของ TI จะสูงขึ้น ที่ตกต่ำอยู่ตอนนี้ก็เพราะปิดกั้นเสรีภาพ ไม่เป็นประชาธิปไตย

พูดในภาพรวม การเลือกตั้งจะพิสูจน์ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าใช้ได้จริงหรือไม่ สามารถเคลื่อนย้ายอำนาจไปอยู่ในระบอบใหม่ได้หรือไม่
ยกตัวอย่าง หนึ่ง ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนพร้อมยกมือให้คนที่คุณก็รู้ว่าใครกลับมาเป็นนายกฯ คนนอก แต่จะหาฐาน ส.ส.จากไหน ถ้า 2 พรรคใหญ่ไม่เอาด้วย จะเกิดพรรคใหม่? จะกวาดต้อนพรรคกลางพรรคเล็ก? จะดีลกับนักการเมืองอย่างไร แล้วกองหนุนดัดจริตจะกลืนลงคอไหม ถ้าหน้าตาไม่ต่างจากพรรคสามัคคีธรรม

นี่ยังย้อนกลับมาถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง หลังตั้ง 6 คำถามว่า หนุนพรรคการเมืองได้ไหม
สอง เมื่อหมด ม.44 รัฐบาลจะไม่มีอำนาจแก้ปัญหาทันใจแบบรถไฟจีน เชื่อมรถไฟฟ้า ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามายึดอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระก็จะมีอำนาจของใครของมัน ระวังเน้อ กับดักที่วางไว้สกัดนักการเมืองจะภิวัฒน์ขัดขากันเอง

ขณะที่ชาวบ้านซึ่งอัดอั้น ก็จะออกมาเรียกร้องเรื่องต่างๆ เช่นที่ทำกิน ป่าไม้ที่ดิน ราคาพืชผล หรือต่อต้านโครงการรัฐ อย่างม็อบเทพา

ย้อนถามสิว่า ทำไมไม่รีบเลือกตั้งทั้งที่พรรคการเมืองไม่มีทางสู้ ยิ่งยืดเวลายิ่งเสี่ยงขาลง คนยิ่งเบื่อ อย่างที่ ผบ.ทบ.ชี้ว่าเป็นธรรมชาติของคน อยู่นานก็รู้สึกเบื่อ อยากหาสิ่งที่ดีกว่า เพียงแต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าคืออะไร

ท่านพูดแทงใจ คนอยากหาสิ่งที่ดีกว่า แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าคืออะไร นี่คือประเด็นร่วมของสังคมไทย เบื่อรัฐบาลทหาร เบื่อพรรคการเมือง แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าคืออะไร



นี่คือทางตัน ที่ยังไม่เห็นทางออก คนส่วนหนึ่งก็เลยกอดขาทหารไว้ ไม่อยากเลือกตั้ง เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็ไม่วุ่นวาย หารู้ไม่ว่าทหารเองก็มึนตึ้บ ไม่อยากไปสู่เลือกตั้ง แต่ก็รู้ว่าอยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ คนจะเบื่อมากขึ้นๆ อำนาจต่างๆ ก็เริ่มขัดขากันวุ่นวาย (อยู่ๆ ล้มโต๊ะ กกต.ได้ไงหว่า)
รัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ ต้องสามารถร่างรัฐธรรมนูญ เคลื่อนย้ายอำนาจไปไว้ในรูปแบบเลือกตั้ง รัฐประหาร 2534 ล้มเหลว รัฐประหาร 2549 ครึ่งๆ กลางๆ กลายเป็นวางระเบิดเวลา โมเดลที่คนถวิลหาคือยุคป๋า 8 ปี แต่ลืมไปว่าหลัง 6 ตุลาก็เป็นเผด็จการขวาจัด เมื่อรู้ตัวว่าสวิงสุดโต่ง จึงล้มรัฐบาลหอย กลับมาประนีประนอมสร้างฉันทมติในสังคมด้วย “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”
แต่วันนี้ไม่มีฉันทมติ สังคมไทยแตกแยกสับสนเกินมีฉันทมติ เราอยู่ในสภาพที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ว่าเป็นประชาธิปไตยก็ยาก เป็นเผด็จการก็ยาก ครึ่งใบค่อนใบก็ไม่สามารถย้อนไปได้แล้ว แล้วจะเป็นอะไรล่ะ นั่นไง ทางตัน

ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ยิ่งลักลั่น ยิ่งไม่ใช่คำตอบ แต่ไหนๆ ประกาศใช้แล้วก็ลองสิครับ ไปสู่เลือกตั้ง มีนายกฯ คนนอก แล้วดูซิจะใช่ทางออกไหม หรือยิ่งเข้าทางตัน

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar