lördag 8 december 2018

updated..ความเสื่อมของ คสช. กับ (ความไม่มี)"บารมี" ของวชิราลงกรณ์

Image may contain: 4 people, people sitting
ภาพประกอบกระทู้ ผมไม่ได้ทำเองนะครับ ระหว่างที่ผมเสิร์ชหาเมื่อครู่ ไปเจอจากเว็บไซต์ "ทีนิวส์" (55) ก็ต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ https://goo.gl/FXKb36 เหมาะพอดีกับเรื่องที่ผมต้องการเขียน
Somsak Jeamteerasakul

ความเสื่อมของ คสช. กับ (ความไม่มี)"บารมี" ของวชิราลงกรณ์

ผมนั่งคิดเรื่องนี้มาหลายวัน การที่ คสช.เสื่อมลงในระยะใกล้ๆนี้ นอกจากเรื่องรูปธรรมความล้มเหลวของ คสช.เองแล้ว (จากเรื่องเศรษฐกิจ ถึงเรื่องนาฬิกา) ผมคิดว่า ในภาพกว้างออกไป ที่เป็น "ภูมิหลัง-ปริบททางประวัติศาสตร์" เรื่องนี้แยกไม่ออกจากการที่กษัตริย์องค์ใหม่เอง - วชิราลงกรณ์ - เป็นกษัตริย์ที่ไม่มีบารมีที่ได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้างด้วย
คือตราบใดที่ในหลวงภูมิพลยังอยู่ เผด็จการทหารใดๆขึ้นมามีอำนาจ ก็ยังสามารถอ้างอิงได้ว่า ครองอำนาจเพื่อปกป้องราชบัลลังก์ และด้วยบารมีของรัชกาลที่ 9 คำอ้างทำนองนี้ ไม่ใช่อะไรที่เลื่อนลอยในความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อย "อำนาจนำทางวัฒนธรรม" ของรัชกาลที่ 9 เป็น "แบ๊กกราวน์" อยู่ด้านหลังที่ทำให้เผด็จการทหารที่ครองอำนาจได้ประโยชน์ไปด้วย (เรื่องนี้เป็นอะไรในลักษณะ "แบ๊กกราวน์" ที่มองไม่เห็นเสียเยอะ เป็นในแง่ของความรู้สึก ความคิด เช่น ออกมาเป็นรูปธรรมความรู้สึกทำนอง ถ้าบ้านเมืองวุ่นวาย จะ "ระคายเคืองพระองค์ท่าน" หรือที่มีการพูดกันประมาณว่า "อย่าทำให้พ่อไม่สบายใจ ไม่มีความสุข" เป็นต้น)
ลองนึกย้อนกลับไปช่วงสองปีเศษหลังรัฐประหารที่ในหลวงภูมิพลยังมีพระชนม์ชีพอยู่ (22 พฤษภา 2557 - 13 ตุลาคม 2559 และช่วงที่ตามมาหลังจากนั้นอีกระยะหนึ่ง) กับช่วงหลังจากนั้นจนถึงขณะนี้ ผมคิดว่า บรรยากาศหรือความรู้สึกในสังคมต่างออกไป
การที่วชิราลงกรณ์ทำตัวเป็น "กษัตริย์ไซด์ไลน์" อยู่เมืองไทยไม่ถึงครึ่ง ยิ่งทำให้ "อำนาจบารมี" ของสถาบันกษัตริย์ เจือจางไปอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับรัชกาลก่อน
อันที่จริง เรื่องนี้ ในระยะยาวออกไป มีนัยยะสำคัญต่อสังคมไทยอย่างมาก (มากกว่าเรื่อง คสช.) สังคมไทยที่อาศัยบารมีีของกษัตริย์ในแง่ตัวบุคคล สำหรับผูกโยงสังคมเข้าด้วยกัน เป็นเหมือน "เอกลักษณ์" ของประเทศ ของความเป็น "คนไทย" กระทั่งเป็นเหมือนศาสนา-ศาดา ทดแทน (substitute religion / substitute Bhuddha) ... ในอนาคตจะอาศัยอะไรมาแทน (ไม่ว่าในแง่อุดมการณ์ สถาบัน หรือกระทั่งตัวบุคคล)...
..............
Somsak Jeamteerasakul
Q : ทำไมรัฐบาลถึงต้องการอยู่นาน ไม่ลงจากอำนาจ
ปัญหาของคนที่อยู่ในอำนาจ 1.กลัวโดนเช็กบิล เปิดโปงเรื่องไม่ชอบมาพากลจนคุมไม่ได้ 2.ต้องการจะแก้มือ 3.อยากจะทำต่อ เช่น ยุทธศาสตร์ 20 ปี 4.เหลิงอำนาจ หลงอำนาจจนยึดติดกับสิ่งที่พ่วงมากับการมีอำนาจ และ 5.พรรคพวก ลิ่วล้อ คนรอบกายทำให้อยู่ต่อ
...........
คำตอบของฐิตินันท์ อย่างมากก็พูดได้ว่า "ถูก" แบบกว้างๆ (generic)* แต่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ในการทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารครั้งนี้ และครั้งก่อน
*(อันที่จริง ดังที่ผมจะชี้ให้เห็นข้างล่าง คำตอบแบบนี้ คลาดเคลื่อนความจริงอยู่หลายอย่างด้วย ถ้าพิจารณาโดยละเอียด)
ที่ใจกลางของการรัฐประหารทั้งสองครั้ง คือความกลัวว่า พลังอำนาจแบบใหม่ ที่มาจากเล่นการเมืองแบบใหม่ (หาเสียงเลือกตั้ง สร้างฐานสนับสนุนจากประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด จาก "ประชานิยม") จะเป็นอันตรายต่อสถานะเดิมของสถาบันกษัตริย์ (หมายเหตุ: ผมจงใจไม่ใช้คำว่า "ประชาธิปไตย" ทำนองที่มีการพูดกันว่า "กลัวประชาธิปไตย" เพราะพลังอำนาจแบบใหม่ การได้มาซึ่งอำนาจแบบใหม่ ที่ทักษิณเป็นตัวแทนนี้ จะว่าเป็น "พลังประชาธิปไตย" เสียทีเดียวไม่ได้)
เกษียรเคยนิยามการรัฐประหารครั้งก่อนว่า "รัฐประหารเพื่อสถาบันกษัตริย์" ซึ่งเป็นคำนิยามที่ผมชอบมาก เพราะสั้น ตรงมากที่สุด
รัฐประหารครั้่งหลังก็เช่นกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นรัฐประหารที่เกิดขึ้นในภาวะที่ทุกคนรู้ว่า ใกล้ "เปลี่ยนผ่าน" คือใกล้เวลาที่ในหลวงภูมิพลจะสวรรคต วชิราลงกรณ์จะขึ้นแทน (รปห 57 สวรรคต 59) จึงต้องทำการควบคุมอย่างชนิดเข้มงวด ถึงขนาดวาง "ยุทธศาสตร์ 20 ปี"
ที่มีการพูดกันทำนองว่า "เพราะกลัวเสียของ" เอาเข้าจริง "เสียของ" หมายถึงอะไร? รูปธรรมของการ "เสียของ" คือ รัฐประหารแล้ว ก็ยังกำจัดทักษิณไม่ได้ ... มีเลือกตั้งอีก ทักษิณก็ยังจะชนะอีก (ขนาดวางรูปแบบสภาไว้แบบ รธน. 60 พรรคทักษิณก็ยังจะเข้าสภามาอันดับหนึ่งอย่างมากมายอีก)
แต่ทำไมจะต้องกำจัดให้ได้ ทำไมต้องทำให้ไม่มีโอกาสที่ทักษิณจะขึ้นสู่อำนาจด้วยฐานเลือกตั้งอีก?
ก็เพราะกลัวว่า อำนาจแบบใหม่นี้ จะสั่นคลอน บ่อนทำลายต่อ สถานะอำนาจนำแบบเดิม (hegemony) ของสถาบันกษัตริย์
ถ้าพิจารณาคำอธิบายของฐิตินันท์ดีๆ จะเห็นว่าคลาดเคลื่อนความจริงอยู่
"กลัวโดนเช็กบิล"? ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ นักการเมืองขึ้นมา เคยเช็กบิลทหารหรือ? ต่อให้ทักษิณขึ้นมา มีหรือจะทำ? โน-เวย์!
"ต้องการแก้มือ" - "อยากทำต่อ"? ลึกๆ ผมว่าแม้แต่แก๊งค์ คสช. ก็รู้ตัวดีว่าตัวเองบริหารงานไม่เป็น และอยู่โดยมีแต่จะเป็นที่เบื่อหน่าย
แต่ที่ต้องดันทุรัง ไม่ยอมลงสักที แม้จะวางโครงสร้างในทาง รธน. ไว้แน่นหนามากมายขนาดนั้นในการคอยควบคุมอำนาจแบบทักษิณ (มีวุฒิ มีศาล รธน. ที่มีอำนาจครอบจักรวาล มีกรรมการยุทธศาสตร์ ฯลฯ)
ก็เพราะดูท่า พรรคทักษิณยังไงก็ยังจะมาเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งอีกแน่ และตราบใดที่ยังเป็นเช่นนั้น สถานะอำนาจแบบเดิมของสถาบันกษัตริย์ (ทีกองทัพผูก-พึ่งพิงอยู่) - หรือในความเชื่อ (ideology) ของทหาร คือ "ความมั่นคงของชาติ" - ก็จะยังสั่นคลอน
การที่กษัตริย์องค์นี้ ไม่มีบารมี จึงเป็นปัจจัยหรือแบ๊กกราวน์สำคัญมาก เพราะในระยะยาวแล้ว กองทัพมองไม่เห็นว่า บารมีวชิราลงกรณ์จะสามารถรักษาสถานะของสถาบันไว้ให้มั่นคงแบบเดิม ไม่ถูกอำนาจแบบทักษิณสั่นคลอน ลดทอน และเข้าแทนที่ได้อย่างไร
irony (ตลกร้าย) ทางประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้คือ ถึงทีสุดแล้ว ผมไม่คิดว่า อำนาจแบบทักษิณ เป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ "โดยตรง" จริงๆ แน่นอนในระยะยาว อำนาจแบบนี้จะทำให้ "ป๊อบปูลาริตี้" ของสถาบันฯลดลงอย่างช้าๆแน่ โดยเฉพาะตราบใดถ้ายังมีวชิราลงกรณ์เป็นกษัตริย์ เป็น "หัว" ของสถาบันฯอยู่

***ทำไมต้องอยู่นาน ทำไมไม่ยอมลงสักที? : ทักษิณยังเข้มแข็ง - วชิราลงกรณ์อ่อนบารมี
สัมภาษณ์ ฐิตินันท์ (https://goo.gl/CwfSK2)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar