ทุกคนคงได้เห็นข่าวที่ว่า "ไทม์" เปรียบเทียบประยุทธ์เป็นสฤษดิ์น้อย แต่ไม่มีสื่อไทยฉบับไหน ยอมรายงานว่าทำไม "ไทม์" จึงเปรียบเทียบเช่นนั้น และปัญหาการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ในไทย (แถมด้วยเรื่อง "อคม." และ "วันเกิด")
มติชน-ข่าวสด รายงานตรงกัน ด้วยประโยคนี้:
"นอกจากนี้นิตยสาร ไทม์ ยังเปรียบพล.อ.ประยุทธ์ เป็น ‘สฤษดิ์น้อย‘ (Little Sarit) เนื่องด้วยมีคุณลักษณะ ‘บางประการ’ ที่คล้ายกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย"
(https://goo.gl/swm8ZP และ https://goo.gl/HfVXHh)
ไทยรัฐ รายงานห้วนๆกว่า ด้วยประโยคนี้:
"นอกจากนี้ไทม์ยังเปรียบเทียบ พล.อ.ประยุทธ์กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย ให้เป็น “สฤษดิ์น้อย” (Little Sarit)"
(https://goo.gl/fvwu8B)
โพสต์ทูเดย์ รายงานห้วนๆเรื่องสฤษดิ์น้อยเหมือนกัน ด้วยประโยคนี้:
"นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบ พล.อ.ประยุทธ์กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย ให้เป็น "สฤษดิ์น้อย" รวมทั้งกล่าวถึงทักษะด้านการแต่งเพลงกับแต่งกลอน โดยพลเอกประยุทธ์ระบุว่าคนไทยชอบบทกวี
(https://goo.gl/a4oWva)
แม้แต่สื่อที่ได้ชื่อว่าเป็นของ "คนรุ่นใหม่" The Matter ก็เขียนเท่านี้:
"นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบ พล.อ.ประยุทธ์กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกฯ โดยยกให้เป็น ‘สฤษดิ์น้อย’ และพาดพิงถึงทักษะพิเศษด้านการแต่งเพลงกับแต่งกลอน"
(https://goo.gl/VKvi1J)
........................
ข้างล่างนี้ ผมแปลส่วนที่ไทม์เขียนถึงเรื่อง "สฤษดิ์น้อย" ทั้งหมดแบบคำต่อคำ (ต้นฉบับ https://goo.gl/y8cBKF)
ในประเทศไทย พระราชวงศ์ได้รับการปฏิบัติต่อด้วยการเคารพสักการะราวกับเทพเจ้า. ประยุทธ์ได้เสริมความสัมพันธ์กับราชวงศ์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และทำให้เขาได้รับชื่อเล่นว่าสฤษดิ์น้อย ตามชื่อของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ผู้ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2500 และได้ช่วยยกสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทสูงสุดในสังคมไทย. ทุกวันนี้ ทุกครัวเรือนไทยจะติดรูปกษัตริย์ไว้เป็นรูปสูงสุดในบ้าน. และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดที่สุดในโลก ซึ่งถูกใช้มากขึ้นๆเพื่อบดขยี้เสียงคัดค้าน.
หลายคนเชื่อว่าการรัฐประหารของประยุทธ์มีเป้าหมายเพื่อทำให้ชนชั้นนำประเทศไทยยังคงอยู่ในอำนาจควบคุมสถานการณ์ระหว่างช่วงการเปลี่ยนรัชกาลที่อ่อนไหว. วชิราลงกรณ์กษัตริย์ใหม่ของไทย มีไลฟ์สไตล์แบบไม่เป็นไปตามประเพณี และไม่ได้รับความเคารพแบบเดียวกับพ่อของเขา. ประยุทธ์เพียงแต่พูดว่า เขายึดอำนาจเพื่อฟื้นฟูความเป็นระเบียบเรียบร้อย "ผมไม่สามารถปล่อยให้ประเทศของผมได้รับความเสียหายมากไปกว่านั้น" ประยุทธ์กล่าวแบบดราม่าหน่อยๆ "ตอนนั้นประเทศกำลังอยู่ที่ขอบเหวของการถูกทำลายล้าง"
........................
ผมขอให้สังเกตและตั้งคำถามว่า สมมุติถ้าสื่อไทย จะลงคำอธิบายสั้นๆของไทม์ที่เรียกประยุทธ์ว่าสฤษดิ์น้อย โดยคัดแปลมาเฉพาะประโยคนี้
"เขาได้รับชื่อเล่นว่าสฤษดิ์น้อย ตามชื่อของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ผู้ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2500 และได้ช่วยยกสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทสูงสุดในสังคมไทย."ทำได้ไหม?
ผมยืนยันว่าทำได้ล้านเปอร์เซนต์ ไม่มีอะไรผิดกฎหมายเลย และไม่ใช่การวิจารณ์ใดๆไปถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย เป็นเพียงการพูดถึงข้อเท็จจริงเท่านั้น ว่าสฤษดิ์ "ช่วยยกสถาบันกษัตริย์ให้มีบทบาทสูงสุดในสังคมไทย" และนัยยะของการเปรียบเทียบประยุทธ์เป็นสฤษดิ์น้อย ก็เพราะเหตุนี้
........................
ผมยกเรื่อง "เล็กๆ" นี้ขึ้นมา เพราะผมเห็นว่ามันสะท้อนปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไป ที่ว่า ความจริงเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น คนในไทยสามารถพูดถึงได้แบบตรงๆธรรมดาๆ มากกว่าที่ทำกัน โดยเฉพาะคนที่ "มีสถานะทางสังคม" (ผมเคยพูดไว้ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารถึงคน 3 กลุ่ม คือนักวิชาการ, สื่อ, นักการเมือง)
ผมจะหาโอกาสอภิปรายเรื่องนี้อีก ความจริง ประเด็นที่ไทม์พูดต่อมาว่า การยึดอำนาจของ คสช.ครั้งนี้เกี่ยวพันถึงเรื่องความกังวลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ก็เป็นประเด็นสำคัญ เรียกว่าเป็นหัวใจของปัญหาว่า ทำไมทหารจึงยึดอำนาจ หรือทำไมจึงยังดันทุรังอยู่ในอำนาจมานานขนาดนี้ (ซึ่งขัดกับสภาพการณ์ของโลกมากๆ และเห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่มีความสามารถจะบริหารประเทศด้วย แต่ทำไมจึงต้องดันทุรัง?) ตราบใดที่คนในไทยเองไม่หาทางพยายามที่จะผลักดันให้มีการอภิปรายปัญหานี้อย่างเป็นทางการ ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาเรื่องทหารได้ แน่นอน ในไทยไม่สามารถเขียนหรือพูดได้แบบที่ไทม์ทำข้างต้น แต่ผมยืนยันว่า สามารถและควรทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ (ซึ่งคือเท่ากับศูนย์) แน่
กรณีการ "ดร็อป" เรื่อง 112 -- ซึ่งความจริงเป็นเพียงประเด็นเล็กประเด็นเดียวเกี่ยวกับเรื่องสถานะสถาบันกษัตริย์ -- ของผู้นำ "อนาคตใหม่" จึงมีนัยยะสำคัญมากกว่าที่คนทั้งหลายเข้าใจกัน ในความเห็นผม เป็นการ "พลาดโอกาสทางประวัติศาสตร์" (historic opportunity) ที่สำคัญมากๆ (ครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่ "การเมืองทางการ" จะนำเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯมาพูด) เป็น irony หรือ "ตลกร้าย" ที่ว่า แม้แต่พวก "ใต้ดินล้มเจ้า" ก็ไม่มีใครเก็ตความสำคัญของเรื่องนี้อย่างเต็มที่ คนที่ออกมาดีเฟนด์การดร็อปครั้งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนลักษณะที่ผมเรียกว่า profoundly elitist ของวัฒนธรรมการเมืองไทย คือการที่คนตัวเล็กๆบ้านๆ มาคอยดีเฟนด์การที่คนระดับนำไม่ยอมทำเรื่องยากๆ ผลคือ เรื่องยากๆปล่อยให้กลายเป็นเรื่องที่คนระดับล่างๆบ้านๆทำกัน แล้วก็เดือดร้อนกันไป (คดีหมิ่นเกือบทั้งหมดในสิบกว่าปีนี้ เป็นเรื่องคนระดับบ้านๆที่ไม่รู้วิธีพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ว่าพูดอย่างใดจึงจะไม่ละเมิดกฎหมาย) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ตรงข้ามกับตะวันตก ที่เขาเรียกร้องระดับนำของเขามากกว่านี้เยอะ และอีกส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้ไม่เข้าใจว่า เรื่องสถาบันกษัตริย์สามารถพูดได้ในประเทศไทย มากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน (กรณี อคม.ที่ว่า ไม่เกี่ยวกับว่าจะมีอันตรายถ้าไม่ดร็อปเรื่อง 112 ไม่เกี่ยวกับว่าจะผิดกฎหมาย หรือไม่ใช่กระทั่งเรื่อง "การกดดัน" "แรงเสียดทาน" จากอำนาจรัฐหรือชนชั้นนำใดๆทั้งสิ้น อย่างที่นักวิชาการอย่างพิชิตหรือพวงทองจะอ้างแบบกระต่ายตื่นตูมและไม่มีความรับผิดชอบ เรื่องนี้ผมรู้ตั้งแต่แรก และได้รับการยืนยันในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะมันเหมือนกรณี "สฤษดิ์น้อย" ข้างต้นน่ะแหละ เขียนประโยคที่ไทม์พูดที่ผมยกมาในไทยได้แน่นอน) ผมจะหาโอกาสกลับมาพูดเรื่องนี้อีก
........................
ปล. กระทู้นี้ยาวมากแล้ว แต่ผมไม่อยากตั้งกระทู้ใหม่ที่เกี่ยวกับเรื่องตัวเอง จึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ พูดอะไร "ส่วนตัว" เล็กน้อย (แม้จะเกี่ยวกับการเมืองที่พูดถึงในกระทู้นี้ด้วย) ใครที่ไม่สนใจ อ่านมาถึงตรงนี้ ก็หยุดอ่านต่อได้ หรือไม่ก็ข้ามไปอ่าน 3-4 ย่อหน้าสุดท้าย ซึ่งไม่ได้พูดถึงเรื่องตัวผมเองโดยตรง
ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาส่งคำอวยพรวันเกิด 60 มาทางหลังไมค์ และในบางกระทู้ของคนอื่น เมื่อวานนี้ ผมไม่สามารถตอบขอบคุณเป็นรายคนได้ ขอขอบคุณรวมๆในที่นี้ ขอให้พรทั้งหลาย สนองคืนแก่ทุกท่าน
ผมต้องสารภาพว่า วันเกิดปีนี้ ผมอยู่ในอารมณ์ "บ่จอย" มากเป็นพิเศษ ปกติมี 2 วันทุกปี ที่ผมอารมณ์ไม่ค่อยดีทั้งวัน คือ 6 ตุลา กับวันเกิด เรื่องวันเกิด ไม่ใช่เพราะรู้สึกตัวว่า "แก่ขึ้น" ความจริงผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเอง "แก่ 60 แล้ว" ในแง่อายุหรือความคิดความรู้สึกเท่าไร แต่มันโยงกับความไม่สบอารมณ์กับตัวเองว่า ผ่านไปอีกปี อ่านหนังสือศึกษาได้ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น เป็นเวลานานทุกปีหลังจากผมเริ่มย่าง 50 ที่ผมเสียดายว่า "ถ้ากลับไปที่ 30 ได้คงดี" จะได้อ่านหนังสือศึกษาให้มากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ ยิ่งผ่านมาอีกจนถึง 60 ก็รู้สึกว่าเวลาจะทำแบบนั้นได้ ยิ่งน้อยลง (ผมเคยเล่าไว้นานแล้วว่า อยากศึกษาเช็คสเปียร์และงานศิลปะวรรณกรรมก่อนตาย สงสัยจะไม่ได้แน่แล้ว ยังมีเรื่องอื่นอีกเยอะที่อยากอ่านก่อน)
แต่ปีนี้ มีอารมณ์บ่จอยอีกเรื่องเพิ่มขึ้นมา (จะว่าไปคงมีส่วนมาจากความตระหนักว่า ตัวเองเวลาอยู่บนโลกมีอีกไม่มาก) และเป็นเรื่องการเมืองที่เกี่ยวกับเรื่องที่พูดในกระทู้
ผมพยายามพูดเขียนต่อสาธารณะถ้านับจากกลับจากเรียนเอกมาก็ร่วม 20-30 ปี เพื่อหาทางทำให้ประเด็นสถานะของสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่พูดได้ทางสาธารณะ (ในสังคมสมัยใหม่ ไม่มีทางจะเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญแบบนี้ได้ ด้วยการซุบซิบนินทา หรือพูดแบบใต้ดิน แบบแอบๆซ่อนๆ) สิ่งที่เป็นความหวังมากๆของผมตลอด 20-30 ปีนี้คือ "คนที่มีฐานะทางสังคม" (3 กลุ่มที่ผมพูดข้างต้น) จะหันมาพยายามผลักดันประเด็นนี้อย่างจริงจัง เพราะนี่เป็นเรื่องที่เป็นหัวใจของสังคมไทย ของ "ความเป็นไทย" หรือ "เอกลักษณ์" ของความเป็น "ชาติหนึ่ง สังคมหนึ่ง" แน่นอน (ในแง่นี้ ผม "เห็นด้วย" กับรัฐไทยในแง่ที่ว่า เรื่องสถาบันฯเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของไทย เพียงแต่แน่นอนว่า ผมอธิบายหรือมองความสำคัญคนละอย่าง)
พร้อมกับความตระหนักว่า หลังจากทำมา 20-30 ปี จนตัวเองถึงวัยที่นับถอยหลังเวลาอยู่บนโลกนี้ได้ พอใกล้และถึงวันเกิดปีนี้ ความรู้สึกที่ว่าตัวเอง "ล้มเหลว" ในการทำให้เกิดการพูดแบบทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเมืองไทย โดยเฉพาะทำให้ "คนมีฐานะทางสังคม" 3 กลุ่มดังกล่าวออกมาทำเรื่องนี้บ้าง จึงเป็นความรู้สึกที่ชวนหดหู่มากเป็นพิเศษ
กรณีอย่าง "อคม." จึงเป็นความผิดหวังสำหรับผม personally มากเป็นพิเศษ โอกาสมีอยู่ เป็นโอกาสทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกในรอบ 70 ปีด้วย สถานการณ์ก็ยากน้อยกว่าเมื่อ 20-30 ปีที่ผมเคยผ่านมาด้วย มิหนำซ้ำ นี่เป็นเรื่องของ "คนรุ่นใหม่" ด้วย.....
ความสำเร็จสำคัญที่สุดของสถาบันกษัตริย์ไทย ไม่ใช่เรื่องทำให้คนเชื่อคนเชียร์ เรื่องนั้นก็สำคัญ แต่ถึงที่สุด "ไม่แปลก" ในแง่ที่ว่า ถ้ามีอำนาจรัฐและระบบการอบรมบ่มเพาะตั้งแต่เด็กแบบที่เป็น
ความสำเร็จที่สำคัญทีสุด คือการทำให้คนที่มีปัญหา ไม่เห็นด้วย (เรียกรวมๆว่า critical) ต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ คนที่เชื่อว่าตัวเอง "เห็นปัญหา" ไม่ยอมทำอะไรเมื่อมีโอกาสที่จะทำ หรือไม่ยอมพยายามหาโอกาสที่จะทำ หรือถ้าไม่มีโอกาสก็พยายามสร้างโอกาสขึ้น คือการทำให้คนเหล่านี้ รู้สึกว่า "ทำอะไรไม่ได้" หรือ "ทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้" และลงเอยด้วยการบอกตัวเองว่า "มีเรื่องอื่นให้ทำก่อน" "รอไว้อนาคตเมื่อทำได้" (ซึ่่งตลอดหลายสิบปี "อนาคต" ที่ว่า ไม่เคยมาถึง เพราะไม่เคยมี "อนาคต" ที่ว่า ถ้าไม่ลงมือทำให้มี)
เพราะถ้าคุณทำให้คนที่ไม่ได้เชียร์สถาบันฯ หรือเห็นว่าสถานะที่เป็นอยู่มีปัญหา รู้สึกหรือคิดแบบนี้ได้ ก็ไม่ต้องห่วงเลยเรื่องจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้
("ความสำเร็จ" ที่ว่าในกรณีไทยเป็นอะไรที่ "ผิดปกติ" จากแทบทุกกรณีในโลกที่ผมรู้มาด้วย ที่ "คนที่เห็นปัญหา" มองโดยรวมแล้ว ทำอะไรน้อยกว่าสิ่งที่พวกเขาบอกตัวเองว่า "เห็นปัญหา" ขนาดนี้)