måndag 1 juni 2020

พรรคเพื่อไทยพูดไม่ออก เซ็นหนังสือรับรองให้ พินิจ จันทรสุรินทร์ ลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง แล้วเปลี่ยนใจถอนตัววันสุดท้าย แม้น่าเห็นใจเพิ่งสูญเสียบุตรชาย แต่ทำไมไม่บอกกันตั้งแต่ต้น ทำให้มีข่าวดีลสะพัด แม้ธรรมนัสปฏิเสธตามเคย

พรรคก้าวไกลก็ส่งไม่ได้ ผู้สมัครพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งเลือกตั้งใหญ่ได้ 2,466 คะแนน เลยกลายเป็นตัวแทนฝ่ายค้าน ซึ่งครั้งที่แล้วได้ 7 หมื่นคะแนน ชนะรัฐบาลครึ่งต่อครึ่ง แต่ครั้งนี้กลับเป็นรอง เพราะหนึ่ง ตัวบุคคลมีความสำคัญ สอง การเมืองถอยสู่ระบบอุปถัมภ์ โดยเฉพาะเลือกตั้งซ่อม พรรครัฐบาลยิ่งได้เปรียบ มิพักต้องพูดถึงเลือกตั้งระหว่างเคอร์ฟิว ห้าทุ่มถึงตีสาม

อย่าว่าแต่เลือกตั้งซ่อม อ.ชำนาญ จันทร์เรือง อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บอกว่าขณะนี้พรรคฝ่ายค้านทุกพรรคแตกแยกอ่อนแอ ถ้ายุบสภา รัฐบาลมีโอกาสชนะเลือกตั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านที่ฝากเลี้ยงไว้ ก็จะโผเข้าหา ในสภาพการเมืองแบบนี้ที่กุมทั้งอำนาจรัฐ องค์กรอิสระ 250 ส.ว. ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบแหงๆ อยู่แล้ว

แม้เชื่อว่ายังไม่ยุบสภาหรอก แต่เห็นด้วยกับ อ.ชำนาญว่า การเมืองระบอบรัฐสภาขณะนี้ ประยุทธ์คุมเบ็ดเสร็จ พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แกนนำถูกตัดสิทธิแถมจะติดคุก ภายใต้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ พรรคก้าวไกลไม่น่าสร้างปรากฏารณ์ในการเลือกตั้งได้อีก แม้มีพลังคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษาล้นหลาม แต่ก็ก่อม็อบไม่ได้ ไปรวมตัวกันในโลกออนไลน์เสียมากกว่า

พรรคเพื่อไทยมีปัญหาภายใน อย่างที่หมอเลี้ยบชี้ว่าต้องปรับตัว พลังมวลชนก็ไม่ได้กร้าวแกร่งเหมือนเสื้อแดงปี 53-54

เลวร้ายกว่านั้น เพื่อไทยยังเจอการเมืองถอยหลังสู่ระบบอุปถัมภ์ ครั้งที่แล้วประชาชนยังมีความหวัง เลือกเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล เศรษฐกิจน่าจะดี แต่ครั้งหน้า ประชาชนรู้แล้วว่า เลือกอย่างไรก็แพ้ 250 ส.ว. การหาเสียงด้วยนโยบายก็ทำไม่ได้ จึงถอยหลังสู่ระบบอุปถัมภ์ กลับสู่การเลือก ส.ส.เพื่อหวังพึ่งพิง ของบประมาณขอโครงการลงพื้นที่ ขอให้ช่วยประสานกับรัฐ ฯลฯ ฉะนั้น นักการเมืองฝ่ายที่รู้แหงๆ ว่าได้เป็นรัฐบาล จึงเป็นต่อตั้งแต่ในมุ้ง

มิพักต้องพูดถึงการเมืองเก่าเน่าสนิท ถามสิ ตอนนี้ ส.ส.ฝ่ายไหนกำเงินเป็นฟ่อนลงพื้นที่

การเมืองของจริงไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ นักการเมืองต้องตะลอนงานศพงานบวช ต้องรับเรื่องมาช่วยชาวบ้าน ต้องมีค่าใช้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อยจึงกลายเป็นงูเห่า หรือฝากเลี้ยง

ขณะที่ทักษิณ ก็เฟดตัวเองออกไป แม้โอ๊คไม่โดนคดีกรุงไทย แต่ครอบครัวชินวัตรคงไม่อยากเจ็บตัวอีก

ระบอบประยุทธ์ ยังไม่ใช่แค่พรรคพลังประชารัฐ แต่คือเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยม รัฐราชการ กองทัพ กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ซึ่งในวิกฤตโควิด รัฐราชการ ฝ่ายความมั่นคง ยิ่งขยายอำนาจ รัฐเป็นบิดา ทั้งการควบคุมและเยียวยา ในภาวะที่ประชาชนย่ำแย่ไปหมด

อำนาจรัฐเป็นใหญ่นี้ยากที่ใครจะสู้ได้ ไม่สามารถต่อสู้ผ่านการเลือกตั้ง เป็นอำนาจที่ขยายตัวมาตลอด 5 ปีรัฐประหาร สืบทอดผ่าน กติโกง ตั้ง 250 ส.ว. 6 ผบ.เหล่าทัพ มาโหวตตัวเอง ครั้นมีพรรคดาวรุ่งจะเป็นอันตราย ก็โดนองค์กรอิสระยุบพรรคตัดสิทธิ

หนึ่งปีผ่านไป การสืบทอดอำนาจเบ็ดเสร็จสัมบูรณ์ กลืนกินระบอบรัฐสภา ระบบเลือกตั้ง ให้เป็นการเมืองสามานย์ ไม่มีความหวังให้ประชาชนอีกต่อไป

ทั้งที่ประเทศอยู่ในภาวะวิบัติ โควิดทำให้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่ก่อนแล้วพังพินาศ วิธีคิดแบบรัฐทหาร ใช้ยาแรงปราบ ยิ่งทำให้ฟื้นตัวยาก ประชาชนจะลำบากแสนสาหัส แต่ไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้ มีแต่ยิ่งถูกบีบให้ต้องพึ่งพารัฐ นอบน้อมค้อมหัวอยู่ใต้รัฐซึ่งมีอำนาจมาก แต่ไร้ประสิทธิภาพ และจะพาล่มจม ทั้งโดยรัฐราชการล้าหลัง และการเมืองสามานย์

ตัวอย่างอันใกล้ คือการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับงบสมคิด กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมา 5 ปี ไม่มีผลงาน เพราะทำผ่านระบบราชการ ใช้จ่ายไม่มีเป้า ไม่มีหัวคิด ครั้งนี้ยังมีนักการเมืองช่วยรุมอีก

การทำงานแบบรัฐราชการไทย ที่จริงก็เห็นได้จากการเยียวยา ช่วยเหลือช้า ช่วยไม่ครบ ช่วยทีละขยัก ทั้งที่ช่วยถ้วนหน้าแต่แรกก็จบ นี่คือรัฐที่ถนัดในการควบคุมประชาชน ไม่เข้าใจงานบริการอำนวยความสะดวก

ส่วนภาคการเมือง ก็กัดกันกระทั่งพรรคแกนนำ แย่งเก้าอี้รัฐมนตรีตามโควตา แต่ประยุทธ์ไม่สนใจ เพราะฝ่ายค้านไม่มีทางสู้ และอยู่ด้วยโครงสร้างอำนาจที่ใหญ่โตกว่ารัฐสภา

เศรษฐกิจจะวิบัติยิ่งกว่ายุคต้มยำกุ้ง แต่ครั้งนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญ 2540 โครงสร้างการเมืองถอยหลังไปไกล ยิ่งประเทศพัง รัฐประยุทธ์ยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งไม่มีทางเปลี่ยนได้

จนกว่าจะพินาศถึงที่สุดโน่นมั้ง สังคมไทยจึงจะสามารถหาฉันทามติ (Consensus) ใหม่

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/newspaper-column/news_4223598

2020-05-29 12:50
ครม.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภายใต้ข้ออ้างของ ศบค. ว่าเมื่อจะผ่อนปรนเฟส 3 ก็ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด การ์ดอย่าตกๆ

พูดราวกับถ้าไม่ยอมให้ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะไม่ผ่อนปรนเฟส 3 ถ้าประชาชนอยากให้ผ่อน ก็ต้องยอมแลกกัน คล้ายกับยอมให้เปิดห้าง ต้องแลกด้วยสแกนไทยชนะ เข้าร้านสะดวกซื้อก็ต้องจดชื่อ ทั้งที่ก่อนนี้ไม่เคยจด

ยิ่งบอกว่าผ่อนคลาย ยิ่งเข้มงวดจุกจิกจู้จี้ขึ้นทุกที ยิ่งตัวเลขติดเชื้อลดลง ก็ยิ่งปลุกความกลัว “การ์ดอย่าตกๆๆ ระวังระบาดรอบสองๆๆ” แล้วใครมันจะมีอารมณ์จับจ่ายใช้สอย

ร้านอาหารในห้าง ถึงเปิดให้นั่งได้ ยอดขายก็แย่อยู่ดี ลำพังคนตกงาน ไม่มีกำลังซื้อ ลำพังความกลัว ทำให้บางคนไม่กล้าเข้า ยังเจอมาตรการบ้าจี้ มาด้วยกัน ครอบครัวเดียวกัน ให้นั่งแยกคนละโต๊ะ

ก็เหมือนห้ามตั้งวงกินเหล้า ถ้าเป็นผับบาร์เข้าใจได้ แต่คนเช่าบ้านเช่าคอนโดอยู่ด้วยกัน จะตั้งวงกินข้าวกินเหล้ากินน้ำมะตูม มันก็ติดได้หมด

โพล คนส. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการต่อท่ออำนาจฉุกเฉิน 87.6% ก็ชี้ว่า มาตรการไร้ประโยชน์ที่สุด 4 อันดับ ได้แก่ มาด้วยกันต้องนั่งแยกโต๊ะ, ห้ามเสนอข่าวทำให้ประชาชนตื่นตระหนก, เคอร์ฟิวห้าทุ่มถึงตีสี่ และลงทะเบียนไทยชนะ
พูดอย่างนี้ขอย้ำว่า ไม่ได้คัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพียงเพราะใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เช่นห้ามรำลึก 6 ปีรัฐประหาร ห้ามชุมนุมคัดค้านโครงการของรัฐ เพราะถึงไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐก็จะขัดขวางอยู่ดี และโดยจังหวะสถานการณ์ ยังไม่มีม็อบล้มรัฐบาลหรอก

ปัญหาสำคัญกว่า คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมาตรการจุกจิก คำขู่รายวัน มันทำให้ไม่สามารถผ่อนคลาย ไม่สามารถเปิดเศรษฐกิจได้จริง และจะยิ่งวิบัติกันหมด

เช่นเคอร์ฟิวห้าทุ่ม ทำให้ห้างบ่นอุบ ปิดสองทุ่ม คนเลิกงานยังไม่ทันจับจ่าย ร้านอาหารกลางคืน ก็เปิดได้แค่สามทุ่ม แท็กซี่ แม้มีช่วงทำเงิน คือคนเรียกไปส่งก่อนเคอร์ฟิว ก็ต้องคำนวณเวลากลับให้ทันไม่งั้นนอนโรงพัก
พอคนบ่นมาก ก็ขยายไปหกทุ่ม ทั้งที่ไม่มีประโยชน์เหมือนเดิม เดี๋ยวคงต่ออายุไปเรื่อยๆ แต่ลดเวลาให้เรื่อยๆ สุดท้าย เคอร์ฟิวชั่วโมงเดียวก็เอา พอเป็นสัญลักษณ์ว่าทหารตำรวจช่วยจับโควิด

การสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ทำเพื่ออะไรไม่ทราบ เพื่อต่ออำนาจฉุกเฉิน? งั้นหลังจากนี้ก็เลิกเถอะ ไม่ได้บอกให้ประมาท แต่ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่เจอคนป่วยหนัก ก็บอกว่าน่ากลัว วันนี้เจอคนติดเชื้อไม่มีอาการ ก็บอกว่ายิ่งน่ากลัว

แล้วจะมีชีวิตอย่างไรกัน ไม่ต้องทำมาหารับประทาน จนกว่าจะมีวัคซีน?

ทั้งรัฐทั้งหมอ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าเราต้องอยู่กับโควิด ถ้าเปิดเศรษฐกิจต้องพบคนติดเชื้อ วันละ 10-20-30 รายก็เป็นได้ แต่ระบบสาธารณสุขรับมือไหว อย่าให้เกิด Super spreader อีกเท่านั้น จึงอาจมีกิจการบางอย่าง เช่นผับบาร์ สนามมวย ที่ยังเปิดไม่ได้ แต่นอกจากนั้นก็ใช้ชีวิต New Normal ใส่หน้ากาก ล้างมือ ท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย ไปภูเขาไปทะเล กันได้เกือบเหมือนปกติ

เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะรักษาตัวเลข 0-1-2-3 ตลอดไป มีอะไรนิดอะไรหน่อยก็วิตกอกสั่น กลัวระบาดรอบสอง บังคับให้คนทำตามมาตรการเปล่าประโยชน์ คนจำนวนมากก็เลยแอนตี้ เช่นให้จดชื่อจดเบอร์ ก็เขียนลายมือยึกยือ ให้เลขเหมือนใบ้หวย

ที่สำคัญ ทั้งรัฐทั้งหมอนั่นแหละ ต้องทำความเข้าใจกับตัวเองก่อน ว่าถ้าใช้มาตรการแบบนี้ ปลุกความกลัวแบบนี้ เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งพัง เอาไว้ตอนนั้น จะห้ามม็อบก็ห้ามไม่อยู่

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/365285
 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar