ใบตองแห้ง: ทางตันประยุทธ์นิยม
2020-06-14 05:20
อ้าว แล้วยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ทำไม ก็เพื่อให้ประชาชนอยู่ในคำสั่ง เพราะเพิ่งอนุญาตให้ร้านอาหารขายเหล้าเบียร์ได้ เพิ่งอนุญาตให้จัดคอนเสิร์ตได้ แต่ห้ามกรี๊ด เดี๋ยวเดือน ก.ค.เปิดเทอม ก็ยังต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ต่อไป เพื่อควบคุมเด็กอนุบาล ให้รักษาระยะห่าง
พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำเป็นต้องคงไว้เพื่อรักษา “บรรยากาศแห่งความกลัว” ไม่ใช่กลัวไวรัส เพราะทุกวันนี้ไม่ค่อยมีคนกลัว ในประเทศมีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์มาเกือบ 20 วัน ที่ให้สแกนไทยชนะ ให้จดชื่อ ตามร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หลายแห่งก็ทำพอเป็นพิธี
แต่ที่ต้องการให้คนกลัว คือกลัวคำสั่ง กลัวการใช้อำนาจคลุมเครือ ร้านอาหาร กิจการต่างๆ กลัวถูกสั่งปิด สั่งปรับ โดยไม่สามารถโต้แย้งได้เพราะเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจฉุกเฉิน
ผลของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมา 3 เดือน หลายคนมองว่าประยุทธ์ได้คะแนนนิยม เพราะจัดการโควิดได้ผล ก็น่าจะใช่ ถ้าไม่ใช่คนที่ต่อต้านโดยหลักการ
เพราะสังคมไทยมีแนวโน้มนิยม “ยาแรง” ไม่เชื่อมั่นกระบวนการปกติ มีพื้นฐานเชื่อฟังคำสั่งรัฐ เชื่อฟังคำสั่งหมอ พอตกอยู่ใต้บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ก็ยอมรับคำสั่ง “รัฐประหารโดยมีใบรับรองแพทย์” และยกย่องให้เป็นผลงาน โดยไม่แยกแยะว่ามาตรการใด มีเหตุผลความจำเป็นทางการแพทย์เพียงไร
เช่น ห้ามออกจากบ้านสี่ทุ่มถึงตีสี่ ทั้งที่โควิดไม่ได้หากินกลางคืน หรือห้ามขายเหล้าเบียร์ ทั้งที่ไม่ใช่พาหะ ที่ต้องปิดผับเพราะคนแออัดที่คับแคบ จะขายเหล้าขายน้ำมะเน็ด ก็เสร็จโควิดเหมือนกัน
ท่ามกลางกระแสนิยม “ยาแรง” ระบอบประยุทธ์ สังคมไทยจึงยอมรับคำสั่งหรือมาตรการไร้สาระ ย้อนแย้งสถานการณ์ เช่นครอบครัวเดียวกันต้องแยกนั่งในร้านอาหาร (ซึ่งพอชาวบ้านตลกขบขันก็ยกเลิกไป) โควิดเป็นร้อยเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตได้ โควิดเป็นศูนย์บังคับให้จดชื่อ “ประยุทธ์ 0888888888” หรือคลายล็อกมาถึงวันนี้ คนจนขึ้นรถเมล์กลับต้องสแกนไทยชนะ
ถามว่ายอมรับจริงไหม ก็ไม่หรอก มันก็มี “ดื้อเงียบ” เพราะประชาชนรู้แก่ใจว่าไร้สาระ ซึ่งว่าที่จริงในมุมกลับ มาตรการพร่ำเพรื่อเป็นอันตราย ทำให้คนไม่เห็นความสำคัญ ถ้าเกิดการระบาดรอบใหม่จริงๆ จะควบคุมยาก
ปัญหาใหญ่ที่ต้องมองไปข้างหน้าคือ ตราบใดที่รัฐกับหมอยังขู่ให้ประชาชนตกอยู่ในความกลัว เศรษฐกิจซึ่งย่ำแย่อยู่แล้ว จะยิ่งหายนะ ภายใต้สถานการณ์โควิดโลกที่กว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา ก็คงปีกว่า เศรษฐกิจโลกที่กว่าการค้าการส่งออกจะเท่าเดิม ก็อาจ 3 ปี
ขณะที่ในทางการเมือง ระบบโลกก็สั่นคลอน สหรัฐ รัสเซีย เสียหายหนัก ความขัดแย้งเรื่องเหยียดผิว การจัดการโควิด จะทำให้เลือกตั้งสหรัฐยิ่งร้อนแรง แต่ที่เพ้อฝันกันว่าจีนจะครองโลก ก็ยังห่างไกล เพราะเศรษฐกิจจีนมีปัญหาภายในอยู่เยอะ
โลกกำลังป่วน เช่นเดียวกับประเทศไทยในหม้อต้ม ประยุทธ์เหมือนได้คะแนนนิยม แต่นักการเมืองพรรคพลังประชารัฐโดนด่าขรม เศรษฐกิจก็ทำท่าจะลงเหว
สถานการณ์เช่นนี้ พูดกันตรงๆ ว่าหาทางออกได้ยากมาก ไม่ว่ามาตรการทางเศรษฐกิจหรือทางการเมือง
ในทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างที่กลุ่ม CARE กำลังจะจัดเสวนา “150 วันอันตราย” ซึ่งหลายคนคิดมาก โดยเฉพาะบางคนในพรรคเพื่อไทยมองข้ามช็อตไปว่าอดีตแกนนำจะตั้งพรรคแข่ง แย่งตัว ส.ส.
แต่เอาเฉพาะ “150 วันอันตราย” สิ่งที่วิตกกัน คือถึงเดือนตุลาคมจะครบกำหนดพักชำระหนี้ ที่ผ่อนผันให้ตั้งแต่มีโควิด ซึ่งจนบัดนี้ ไม่น่ามีวี่แววว่าลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้
แน่ละ กลุ่ม CARE มีเป้าหมายทางการเมือง แต่ไม่ใช่คิดสั้นแค่ตั้งพรรค ดูเหมือนจะไม่ตั้งด้วยซ้ำ หากต้องการระดมสมองอย่างกว้างขวาง เขย่าประยุทธ์ด้วยการสร้างฉันทมติในสังคมว่า จะหาทางออกให้ประเทศพ้นกับดักอย่างไร
พูดอย่างนี้ไม่ใช่มาเชียร์ CARE แต่ชวนคิดแทนประยุทธ์ว่า จะผ่าทางตันในสถานการณ์นี้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะใช้มาตรการเศรษฐกิจอย่างไรก็คงพยุงไม่อยู่ ขณะที่ในทางการเมือง แม้ตัวเองจะได้คะแนนนิยม แต่ประชาชนไม่ไว้วางใจนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ไม่ไว้วางใจการใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ไม่ไว้วางใจประสิทธิภาพรัฐราชการ
ปรับ ครม. ก็ไม่น่าจะมีอะไรดีขึ้น ยิ่งปรับตามนักการเมือง ยิ่งแย่ไปใหญ่ ยุบสภา? การเมืองยิ่งกระจัดกระจาย แม้ฝ่ายค้านสู้ไม่ได้ แต่พลังต้านนอกสภายิ่งร้อนแรง
รัฐประหารตัวเอง? หัวร่อตาย ถอยกลับไปขี่หลังเสือ
ลองคิดแทนประยุทธ์ แล้วจะรู้ว่านี่คือทางตัน ซึ่งไม่เห็นทางไหนดีขึ้น มีแต่ถูไถอยู่ไป ฝ่ายอนุรักษนิยมบางคนจึงมองว่าจะต้องพลิกกระดานใหม่หมด แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำได้อย่างไร
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_4308148
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar