torsdag 25 februari 2021

ส.ว. แพ้โหวตกลางรัฐสภา หลังชงยกพระราชอำนาจ 38 ม. ใส่ รธน. ใหม่

ส.ส. รังสิมันต์ : “พอเรามาไปบอกว่าหมวดนี้ห้ามยุ่ง มาตรานี้ห้ามแตะ ถามว่าเป็นผลดีต่อสถาบันฯ หรือไม่ ยิ่งเราห้าม ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันฯ จึงไม่เห็นด้วยกับการห้าม ส.ส.ร. แตะต้องหมวด 1 และ 2
.
ส.ว. กิตติศักดิ์ : “มากเกินไปแล้ว พอแล้ว แตะสถาบันฯ จนกระทั่งเลือกตั้งแพ้ทุกคราว ถ้าอยากทำเรื่องสถาบันฯ ให้ไปตอนหาเสียง จบไหม”


รัฐธรรมนูญ 2560: รัฐสภาถกร่างแก้ รธน. วาระ 2 ห้ามแตะหมวดกษัตริย์ ด้าน ส.ว. แพ้โหวต หลังชงยกพระราชอำนาจ 38 ม. ใส่ รธน. ใหม่

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องแพ้โหวตกลางสภา หลังพยายามผลักดันให้ยกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทั้งหมด ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จำนวน 38 มาตรา ไปไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเงื่อนไขห้ามแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ แต่ถูกเสียงส่วนใหญ่ของ 2 สภาตีตกไป

ในวันที่สองของการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 วาระ 2 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ส. พรรคก้าวไกลได้เปิดวิวาทะกับ ส.ว. ในระหว่างพิจารณามาตรา 256/13 กำหนดให้ ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน และห้ามแตะต้องเนื้อหาในหมวด 1 และ 2

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย อภิปรายว่าที่กังวลกันว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การล้มล้างสถาบันฯ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่แล้ว เพราะต้องทำตามข้อบังคับมาตรา 255 แต่พอไปเขียนห้ามเอาไว้ ประชาชนก็สงสัย เพราะแม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็สามารถแก้ไขได้ตามข้อสังเกตพระราชทาน หลังผ่านประชามติเมื่อปี 2559

"พอเรามาไปบอกว่าหมวดนี้ห้ามยุ่ง มาตรานี้ห้ามแตะ ถามว่าเป็นผลดีต่อสถาบันฯ หรือไม่ ยิ่งเราห้าม ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันฯ จึงไม่เห็นด้วยกับการห้าม ส.ส.ร. แตะต้องหมวด 1 และ 2 มันเป็นความประหลาด" นายรังสิมันต์กล่าวและยังตั้งคำถามต่อ ส.ส. รัฐบาล และส.ว. ที่ต้องการให้สถาบันฯ อยู่เหนือการเมือง แต่กลับไปล็อกอำนาจ ส.ส.ร.

นายรังสิมันต์ โรม

ทว่ายังไม่มันพูดจบประโยค นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ก็ลุกขึ้นประท้วงแกมอภิปรายเสียงดังว่า "มากเกินไปแล้ว พอแล้ว แตะสถาบันฯ จนกระทั่งเลือกตั้งแพ้ทุกคราว ถ้าอยากทำเรื่องสถาบันฯ ให้ไปตอนหาเสียง จบไหม" ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุม ต้องเอ่ยปากเตือน ส.ส.ก้าวไกล ให้หยุดพูดถึง "ประเด็นสำคัญ"

สำหรับมาตรา 256/13 เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในมาตรา 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน

ตีตกข้อเสนอ ส.ว. ให้ยกพระราชอำนาจ 38 ม. ไปไว้ใน รธน. ใหม่

แม้เนื้อหาโดยรวมของมาตรานี้แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่รัฐสภาลงมติรับหลักการในวาระแรก แต่สมาชิกสภาสูง นำโดย พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ก็เสนอแปรญัตติมาตรา 256/13 วรรคห้า เพื่อคงพระราชอำนาจในมาตราอื่น ๆ เอาไว้ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของ ส.ว. พบว่านอกจากหมวด 1 และ 2 มีบทบัญญัติไม่น้อยกว่า 38 มาตรา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

"ถ้าประธานให้โหวตเป็นวรรค ๆ จะดีมาก จะได้รู้ว่าใครจะเอาสถาบันฯ หรือไม่เอา กับปากอย่างใจอย่าง ผมไม่ได้ว่าใครนะครับ สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่รักและเทิดทูนสถาบันฯ" รองประธานวุฒิสภากล่าว

นอกจากนี้ยังมี ส.ว. อีกหลายคนอภิปรายสนับสนุน อย่างนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประกาศว่า "ส.ว. ต้องปกป้องสถาบันฯ" ในการพิจารณา พวกเขาไม่ได้มีมโนภาพไปเอง และต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นนอกห้องประชุม ซึ่งมีการเสนอความเห็นแล้วก่อเกิดความรู้สึกไม่ดีของคนในสังคม น่าห่วงใย และกังวล

"ถ้าเราจะเขียนรัฐธรรมนูญในสถานการณ์แบบที่เกิดขึ้นอยู่ เราไม่ไว้ใจ หากจะให้ ส.ส.ร. ไปเขียนทุกเรื่องแบบที่บางท่านอภิปราย" และ "ส.ว. ยืนยันจะทำหน้าที่ปกป้องสถาบันฯ อย่างเต็มที่ ไม่เปิดโอกาสให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ก่อให้เกิดปห. ต่อการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ

เช่นเดียวกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ย้ำว่าจำเป็นต้องเอาพระราชอำนาจที่กระจายอยู่ใน 38 มาตราไปใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แบบ copy and paste (คัดลอกและวาง) และจำเป็นต้องเติมเนื้อหาในส่วนนี้เข้าไป เป็นผลให้ ส.ส. พรรคก้าวไกลอีกคน นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ตั้งคำถามว่า ส.ว. ไม่ไว้ใจใคร เพราะ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้ง ก่อนที่ประธานจะตัดบทและขอให้งดตอบโต้กันไปมา

เมื่อ ส.ว. ยืนกรานจะเพิ่มเติมเนื้อหาในมาตรา 256/13 หน้าบัลลังก์ ทำให้ประธานสั่งพักการประชุมในเวลา 17.42 น. เพื่อให้ กมธ.เสียงข้างมาก และ ส.ว. ไปตกลงกัน

ท้ายที่สุดที่ประชุมรัฐสภาลงมติ "เห็นด้วย" กับการใช้ร่างเดิมของ กมธ. ด้วยคะแนนเสียง 349 ต่อ 200 งดออกเสียง 58 ไม่ลงคะแนน 2 ทำให้ข้อเสนอของ ส.ว. เรื่องการยกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ 38 มาตราไปใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกตีตกไป

ประชุมสภา

รอถกวิป 3 ฝ่ายหลังทราบคำวินิจฉัยศาล รธน.

แม้ยังไม่ทราบชะตากรรมของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่ชัด แต่สมาชิกสภาสูงและสภาล่างจำต้องเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ตามกระบวนการ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พปชร. และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ไว้พิจารณา

นายไพบูลย์เสนอ "ญัตติแทรกซ้อน" ขึ้นมากลางที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 9 ก.พ. โดยขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถูกฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" วิจารณ์ว่ารัฐบาล "ไม่จริงใจ" ในการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

ตามปฏิทินทางกฎหมาย รัฐสภาจะใช้เวลาระหว่างวันที่ 24-25 ก.พ. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 โดยมี กมธ. เสียงข้างน้อย 109 คนขอสงวนคำแปรญัตติไว้อภิปรายในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา จากนั้นจะกลับมาพิจารณาวาระ 3 ในวันที่ 17-18 มี.ค. ซึ่งต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ยอมรับว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อการพิจารณาวาระ 3 ว่าจะได้เดินหน้าต่อหรือต้องหยุด ส่วนถ้าศาลไม่ให้ตั้ง ส.ส.ร. จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทันทีหรือไม่นั้น ขอปรึกษากับประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และวิปวุฒิสภาก่อน

นายวิรัช รัตนเศรษฐ พูดในสภา
คำบรรยายภาพ,

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธาน กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำเสนอสาระสำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมรัฐสภา

เปิดสาระสำคัญร่างแก้ไข รธน. ฉบับวิรัชกับพวก

กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดนายวิรัช ใช้เวลา 3 เดือนในการจัดทำรายงานซึ่งมีเนื้อหา 131 หน้า ทำให้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากขึ้น พร้อมยืนยันหลักการว่าห้ามแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

สาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลที่รัฐสภาลงมติรับหลักการในวาระแรก เมื่อ 18 พ.ย. 2563 มีดังนี้

1) เพิ่มเสียงในสภา เปิดประตูรื้อ รธน.

การเปิดประตูสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ถูกกำหนดให้ใช้คะแนนเสียงของ ส.ส. และ ส.ว. มากขึ้น

ร่างเดิม: การผ่านวาระ 1 และวาระ 3 ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (หรือ 450 จากทั้งหมด 750 คน) ส่วนวาระ 2 ใช้เสียงข้างมาก

ร่างของ กมธ.: การผ่านวาระ 1 และวาระ 3 ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (หรือ 500 จากทั้งหมด 750 คน) วาระ 2 ใช้เสียงข้างมาก

2) ส.ส.ร. จากการเลือกตั้งล้วน

กำหนดให้ ส.ส.ร. มี 200 คน ทว่าการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ยอมปรับให้มาจากการ "เลือกตั้งล้วน" ตามข้อเสนอของฝ่ายค้าน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

ร่างเดิม: ให้ 150 คนมาจากการเลือกตั้ง และ 50 คนมาจากการคัดเลือก (ของรัฐสภา, ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, นักเรียนนิสิตนักศึกษา)

ร่างของ กมธ.: ให้ 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ประชุมสภา

3) ส.ส.ร. เลือกเอง มือยกร่าง รธน.

การยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. ในการแต่งตั้ง กมธ. ขึ้นมาเป็นมือยกร่าง แต่ กมธ. อื่นอาจแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกได้

ร่างเดิม: ให้นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาใช้แต่งตั้ง กมธ.

ร่างของ กมธ.: ให้ ส.ส.ร. เป็นผู้แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร. เท่านั้น

4) ทำประชามติทุกกรณี

ร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯ จัดทำเสร็จแล้วถูกกำหนดให้นำเสนอต่อรัฐสภา แต่มีการเปลี่ยนแปลงกติกาหลังจากนั้น

ร่างเดิม: ให้เสนอต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นของร่างทั้งฉบับ ซึ่งใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ทั้งสองสภา จากนั้นให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ในกรณีที่ร่างถูกคว่ำในรัฐสภา ให้นำไปทำประชามติถามว่าประชาชนเห็นชอบหรือไม่

ร่างของ กมธ.: ให้เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งกำหนดให้เปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติภายใน 30 วัน จากนั้นให้ประธานรัฐสภานำร่างส่งประธาน กกต. ภายใน 7 วันเพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

5) ร่าง รธน. ต้องผ่านประชามติเกินครึ่ง

ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ให้ กกต. ครม. และหน่วยงานของรัฐเผยแพร่เนื้อหาให้ประชาชนรับทราบ จากนั้นให้ กกต. ประกาศผลภายใน 15 วันหลังวันออกออกเสียง โดยมีการแก้ไขเสียงขั้นต่ำของผู้ลงคะแนนให้สูงขึ้น

ร่างเดิม: การผ่านร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง (หรือ 10.2 ล้านคน จากผู้มีสิทธิออกเสียงราว 51 ล้านคน)

ร่างของ กมธ.: การผ่านร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง (หรือ 25.5 ล้านคน จากผู้มีสิทธิออกเสียงราว 51 ล้านคน)

รัฐสภาตีตก ปมเพิ่มเสียงรัฐสภาโหวตปลดล็อกแก้ รธน.

ตลอดเวลา 2 วันที่เปิดให้ ส.ส. ส.ว. และ กมธ. ที่ขอสงวนคำแปรญัตติได้อภิปราย ไม่ว่าจะยกเหตุผลมาชี้แจงแสดงความคิดเห็นอย่างไร แต่เมื่อถึงเวลาลงมติ เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาก็ลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ. ชุดนายวิรัช

ถึงขณะนี้มีเพียงมาตราเดียวคือ มาตรา 3 ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกรัฐสภามีมติ "ไม่เห็นด้วย" กับร่างของ กมธ. ที่ให้ใช้เสียงไม่น้อย 2 ใน 3 ในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 และวาระ 3 โดยให้กลับไปยึดร่างเดิมที่ใช้เสียง 3 ใน 5 ในการลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 441 ต่อ 178 ซึ่งถือเป็นการ "ตีตก" ข้อเสนอของ กมธ. ชุดนายวิรัช เพราะมองว่าการใช้เสียงในสภามากขึ้น จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากขึ้น และทำให้เกิดวิกฤตมากกว่า

นายคำนูณ สิทธิสมาน
คำบรรยายภาพ,

นายคำนูณ สิทธิสมาน

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 737 คน แบ่งเป็น ส.ส. 487 คน และ ส.ว. 250 หากใช้เสียง 3 ใน 5 ตามร่างเดิม เท่ากับต้องใช้เสียง 443 คน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นใช้เสียง 2 ใน 3 เท่ากับต้องใช้เสียง 492 คน นั่นหมายความว่าต่อให้ ส.ส. ทั้งหมดจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถทำได้หาก ส.ว. ไม่เอาด้วย นี่คือตัวเลขจากความเป็นจริง

"ตอนรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรก เพราะต้องการปลดล็อกเสียง ส.ว. 1 ใน 3 (กำหนดใช้เสียง ส.ว. 84 คนในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ) แต่พอปลดล็อกนั้นได้ ก็เกิดล็อกใหม่ขึ้นมา หาก ส.ว. ไม่เห็นด้วย ต่อให้ ส.ส. และประธานสภาลงมติเห็นชอบ ก็จะไม่ผ่านตั้งแต่วาระ 1 แล้ว" นายคำนูณกล่าว

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar