måndag 22 februari 2021

30 ปี รัฐประหารของ "บิ๊กจ๊อด" เทียบการยึดอำนาจ ไทย-เมียนมา

พรุ่งนี้ (23 ก.พ.) ครบรอบ 30 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนักวิชาการประจำคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกของ "น้าชาติ" เล่าเหตุการณ์ในเช้าวันเสาร์ของการรัฐประหารครั้งที่ 17 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และพยายามตอบคำถามว่าทำไมรัฐประหารจึงคงเกิดขึ้น ไม่ว่าในไทยหรือในเมียนมา

30 ปี รัฐประหาร รสช.: ย้อนรอยการยึดอำนาจในไทย-เทียบรัฐประหารเมียนมา ผ่านสายตาทีมงานบ้านพิษณุโลก

  • ธันยพร บัวทอง
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
getty images
คำบรรยายภาพ,

พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534

"เพื่อปกป้องเบื้องสูง-ขจัดเผด็จการรัฐสภา" เป็นข้ออ้างส่วนหนึ่งของการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) เมื่อ 23 ก.พ. 2534 ที่เวียนมาครบ 3 ทศวรรษในปีนี้เป็นข้ออ้างที่ไม่เคยร้างไปจาก "เหตุผล" ที่กองทัพไทยใช้ในการยึดอำนาจจากอดีตสู่ปัจจุบัน

ทว่าชนวนเหตุสำคัญในการก่อการล้มรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งด้วยกำลังทหาร ภายใต้การนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น คือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มทหาร อันมีฟางเส้นสุดท้าย คือ การแต่งตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) กระทรวงกลาโหม

ปฏิบัติการยึดอำนาจด้วยการจี้เครื่องบินซี-130 ที่สนามบินกองบิน 6 ดอนเมือง จึงเกิดขึ้นในเช้าวันเสาร์ที่ 23 ก.พ. ระหว่างที่ พล.อ.ชาติชายกำลังนำ พล.อ.อาทิตย์ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่

คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีหรือที่รู้จักกันในชื่อ "ทีมบ้านพิษณุโลก" ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายสาธารณะในยุคที่การเมืองไทยเพิ่งผ่านพ้นจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่การบริหารราชการแผ่นดินถูกกำหนดทิศทางจากข้าราชการประจำ กลายเป็น "แพะ" ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการสร้างความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรีและข้าราชการประจำ

"คุณไปทำงานกับนักการเมืองทำไม" เพื่อนพ้องในแวดวงวิชาการและภาคประชาสังคมหลายคนตั้งคำถามกับ ผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมา ซึ่งเมื่อ 30 ปีก่อน เป็นหนึ่งในนักวิจัยในคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก

ภาพเหตุการณ์วันรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534
คำบรรยายภาพ,

ภาพเหตุการณ์วันรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534

"แต่สำหรับเรา ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งควรมีที่ปรึกษาในเชิงนโยบาย แล้วในประเทศอื่น ๆ ก็มีทั้งนั้น แต่จะเปิดตัวไม่เปิดตัวเท่านั้นเอง นั่นคือสิ่งที่แตกต่าง" ผศ.ดร นฤมลกล่าวกับบีบีซีไทย

ด้วยความเชื่อนี้ นิสิตรัฐศาสตร์ปริญญาโท จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ.2533 จึงยอมรับคำชักชวนของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บุตรชายของ พล.อ.ชาติชาย มาเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

บีบีซีไทยพูดคุยกับ ผศ.ดร.นฤมล ถึงเบื้องหลังการทำงาน ฉากวันยึดอำนาจและชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากนั้น และวิเคราะห์รัฐประหารทหารไทยและเมียนมาครั้งล่าสุด ที่เธอเรียกว่า "พันธมิตรทหารพี่น้อง"

ในภาพคณะรัฐประหาร 2534 แถลงต่อสื่อมวลชน
คำบรรยายภาพ,

พล.อ. สุนทร เป็นหัวหน้า รสช. แต่การยึดอำนาจในครั้งนี้มี พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และรองหัวหน้า รสช. เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการ ในภาพคณะรัฐประหาร 2534 แถลงต่อสื่อมวลชน

กำเนิด "บ้านพิษฯ"

ปี 2531 ภายหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชายแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านนโยบาย 6 คน ล้วนเป็นนักวิชาการหนุ่ม ไฟแรง คอยให้คำปรึกษาด้านนโยบายการบริหารประเทศด้านต่าง ๆ ต่อนายกฯ โดยตรง ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลจากสมัย พล.อ.เปรม ที่ระบบราชการมีบทบาทสูง มาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดนโยบาย

คณะที่ปรึกษาในเบื้องต้นประกอบด้วย

1. พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา

2. ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ

3. ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

4. นายชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

5. ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

6. ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ

โดยมีนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บุตรชายของ พล.อ.ชาติชายเป็นนักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา และทำหน้าที่ชักชวนเพื่อนนักวิชาการคนอื่น ๆ มาช่วยงาน

ในเวลาต่อมา มีนักวิชาการอีกหลายคนผลัดเปลี่ยนมาช่วยงาน เช่น ศ. ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ดร. วิษณุ เครืองาม และ รศ. ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ โดยมี บ้านพิษณุโลก บ้านพักประจำตำแหน่งนายกฯ ที่ถนนพิษณุโลก เป็นที่ทำการ จนได้ชื่อว่าเป็น "ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ"

ผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
คำบรรยายภาพ,

ผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมา หนึ่งในอดีตนักวิจัยในคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก

"งานที่บ้านพิษณุโลกเปิดประเด็นมาจากทีมงานในแบบ think tank ที่สนับสนุนด้านนโยบาย ซึ่งแน่นอนว่าต่างกับสิ่งที่ทางราชการใช้ หลายอันไม่เห็นด้วยกับกฤษฎีกาหรือกระทรวงต้นสังกัด รัฐบาลก็ต้องไปชั่งน้ำหนักเอาเองว่าจะฟังข้างไหน ประนีประนอมยังไง" ผศ. ดร. นฤมล ย้อนประสบการณ์สมัยที่เธอช่วยงานนายไกรศักดิ์ ซึ่งดูงานทางด้านนโยบายสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ณ ตอนนั้น รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ถือเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดแรกหลัง 8 ปี 5 เดือน ของรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ทำให้ในหมู่วงวิชาการ เล็งเห็นถึงบทบาทในเชิงวิชาการที่สนับสนุนผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นที่มาของโครงการนำร่องที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และสมาคมสังคมศาสตร์ริเริ่มให้มีทีมงานผู้ช่วย ส.ส. ขึ้นมาครั้งแรก ซึ่งต่างจากหัวคะแนนในตอนนั้น เพื่อสนับสนุนงานวิชาการให้กับบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

7 นาที กับนายกฯ "น้าชาติ"

ตึกใหญ่ 3 ชั้นของบ้านพิษณุโลก ได้กลายมาเป็นสถานที่ที่นักวิชาการ-นักวิจัยในคณะที่ปรึกษานายกฯ ใช้ทำงาน อาจเรียกได้ว่า นโยบายรัฐบาลหลายต่อหลายเรื่องผ่านการขบคิดวิเคราะห์ภายในอาคารเก่าแก่หลังนี้

ชั้นหนึ่งของบ้านพิษณุโลก เป็นบริเวณทำงานของเสมียน มีคอมพิวเตอร์ที่เป็นของใหม่ในยุคนั้นตั้งเรียงรายไปจนถึงห้องประชุมของขุนพลที่ปรึกษา ส่วนชั้นสองเป็นที่ทำงานของนักวิจัย ขณะที่ชั้นสามถูกใช้เป็นสำนักงานของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศเป็นบางโอกาส

"เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" ในยุคของ พล.อ.ชาติชาย
คำบรรยายภาพ,

นโยบายที่โดดเด่นสมัย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ คือ นโยบายด้านการต่างประเทศ ซึ่งทีมบ้านพิษณุโลกมีส่วนในการผลักดันและประสานให้เกิดการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การเจรจาสันติภาพในกัมพูชา ในภาพนี้ พล.อ. ชาติชาย กำลังพูดคุยกับ สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ และฮุนเซน นายกรัฐมนตรีที่เวียดนามหนุนหลัง ในการเปิดเจรจาสันติภาพที่กรุงเทพฯ บทบาทนี้ของไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" ในยุคของ พล.อ.ชาติชาย

ผศ.ดร. นฤมลเล่าถึงการทำงานของทีมนักวิจัยว่าต้องออกไปเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ รวบรวมความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการออกนโยบาย รวมทั้งสืบค้นข้อมูลของราชการ กระทรวง ทบวง กรม จากนั้นนำมาเรียบเรียงสรุปเพื่อส่งให้คณะที่ปรึกษานำเสนอเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนายกฯ

"มีการประชุม ครม. กันทุกเช้าวันอังคาร วาระ ครม. จะออกมา 1 สัปดาห์ล่วงหน้า คณะที่ปรึกษาจะมีเวลาประมาณ 5 วัน เพราะว่าทุกเย็นวันจันทร์จะต้องบริฟ (บรรยายสรุป) ให้นายกฯ ชาติชาย ดังนั้นพอได้วาระ ครม. มา สมมติว่าออกวัน พุธ ทุกคนมีเวลาวันพฤหัสถึงอาทิตย์ ทำให้เสร็จแล้วเขียนสรุปสั้น ๆ ซึ่งอันนี้เป็นสมัยใหม่ของนักวิชาการที่แต่เดิมเขียนที 30-40 หน้า ในงานที่ปรึกษาให้เขียนหนึ่งหน้าครึ่ง และมีเวลา 7 นาที ที่ที่ปรึกษาแต่ละคนจะบริฟให้ข้อมูล "

แนวคิดของการทำงานของทีมที่ปรึกษา ผศ.ดร. นฤมลบอกว่า ยึดถือแนวทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นหลัก มีอุดมการณ์ในการสร้างประชาธิปไตยที่ลดการผูกขาดทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ข้อมูลที่ทีมที่ปรึกษานำเสนอจึงมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน

แต่เธอก็ยอมรับว่างานของทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ นั้นมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว

"เราไม่เห็นด้วยกับแนวทางนั้นจึงต้องสร้างและการลดการผูกขาดรายเดียว เทคโนโลยีต้องมีการแข่งขัน อย่างการบินไทย แทนที่จะเป็นเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์อย่างเดียว ก็ต้องมีบริษัทแพรทแอนด์วิทนีย์ ซึ่งคนก็วิจารณ์ว่ามีค่าคอมมิชชันหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ แต่ว่าลึก ๆ คนบ้านพิษณุโลกก็คิดว่ามันต้องมีการแข่งขัน"

สัมพันธ์รัฐบาลเลือกตั้งกับกองทัพ

ผศ.ดร.นฤมลบอกว่าด้วยสถานะในขณะนั้น เธอไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับประเด็นทางการทหาร แต่หากมองย้อนถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ เธอวิเคราะห์ว่า ชนวนการยึดอำนาจส่วนหนึ่งก็สัมพันธ์กับปัญหาภายในของกองทัพเอง

"ถ้ากองทัพมีเอกภาพเข้มแข็ง เราก็ไม่ค่อยมีปัญหากัน แต่พอกองทัพเริ่มมีปัญหาความขัดแย้งภายใน เราก็เริ่มมีปัญหา เพราะทีมบ้านพิษณุโลกก็เป็นแพะอยู่แล้ว"

เธอเล่าอีกว่า ตอนที่มีการคุยเรื่องตั้ง พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.สส. และ ผบ.ทบ. ในสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม เป็น รมช. กลาโหม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชื่อของ พล.อ. อาทิตย์ กลายเป็นชื่อต้องห้าม เพราะถูกจับตาว่าถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปลด พล.อ.สุนทร จากตำแหน่ง ผบ. สส.

getty images

เช้าวันเสาร์ที่ไม่ลืม

คืนวันที่ 22 ก.พ. 2534 ผศ.ดร.นฤมล และเพื่อนนักวิจัย 4-5 คน เลือกค้างที่บ้านพิษณุโลกเพื่อในวันรุ่งขึ้นจะเดินทางไปชมคอนเสิร์ต "เปิดโลกสลัม" แต่วันเสาร์ที่คิดว่าจะเป็นวันพักกลายเป็นวันแห่งความทรงจำที่เธอเล่าออกมาได้อย่างแจ่มชัด

เมื่อราวตีสามของ 23 ก.พ. เธอได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนที่เป็นนักข่าวว่ามีความเคลื่อนไหวของทหารที่เคลื่อนกำลังออกมาแล้ว

"สักประมาณเจ็ดโมง ก็มีคนบอกว่ามีรถถังมาแล้วอยู่ที่บ้านพิษณุโลก พวกที่ค้างอยู่บ้านพิษณุโลก ก็อ้าวแล้วยังไงก็รอสิบโมงก็มีทหารเข้ามาแล้วก็กึ่ง ๆ ควบคุมตัวเล็กน้อย"

getty images

ราวสิบโมงเช้า รถถังสองคันเคลื่อนเข้ามาจอดที่หน้าบ้านพิษณุโลก กำลังทหารผูกผ้าพันคอสีฟ้าที่แขน ทำให้เธอคิดว่านี่อาจเป็นการแสดงสัญลักษณ์เพราะยังไม่มั่นใจว่าจะมีกำลังที่ต่อต้านการยึดอำนาจหรือไม่ ทีมนักวิจัยทั้งหมดถูกสัมภาษณ์สอบประวัติ บันทึกเลขบัตรประจำตัวประชาชน

"ทุกคนก็พยายามโลว์โปรไฟล์ จากบรรดานักวิจัย นิสิต ป.โท ก็บอกเป็นเสมียนกันทั้งนั้น" ผศ.ดร. นฤมลเล่า

วันนั้นทั้งวัน ผศ.ดร. นฤมลบอกว่า ยังติดตามข่าวทางโทรทัศน์ได้ ทว่าสิ่งที่ไม่รู้เลยคือพวกเธอจะถูกคุมตัวในบ้านพิษณุโลกไว้นานแค่ไหน แต่ในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นราวหกโมงเย็น

กำลังทหารยังเข้ามายึดคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดไดรฟ์ หนังสือ และเอกสารจำนวนมาก "คงเอาไปตรวจดูว่ามีอะไรที่น่าสงสัยไหม" เป็นข้อสังเกตในตอนนั้น เนื่องจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจ โดยอ้างเหตุผลว่ามีคอร์รัปชัน และไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ

พล.อ. สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรัฐประหาร รสช. ที่กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง อันเป็นชวนเหตุนำไปสู่การชุมนุมประท้วงในเดือนพฤษภาคม 2535
คำบรรยายภาพ,

พล.อ. สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรัฐประหาร รสช. ที่กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง อันเป็นชวนเหตุนำไปสู่การชุมนุมประท้วงในเดือนพฤษภาคม 2535

สถานการณ์หลังรัฐประหารที่ยังคงมีบุคคลในรัฐบาลถูกเรียกตัวไปซักถามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นเพียงนักวิจัยของทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ แต่มิตรสหายในแวดวงวิชาการก็เป็นห่วงว่าเธออาจได้รับผลกระทบไปด้วย จึงแนะนำให้หาช่องทางไปเรียนต่อต่างประเทศ

ผศ.ดร.นฤมล ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

"ผลจากการรัฐประหารทำให้ตัดสินใจไปอยู่เมืองนอก... พวกเราก็แซวกันว่าเป็น asylum scholarship (ทุนเรียนเพื่อผู้ลี้ภัย)"

ทำไมบ้านพิษฯ ไม่สกัดทุจริต

รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ได้รับฉายาจากสื่อว่าเป็น "บุฟเฟต์คาบิเนต" เนื่องจากข้อสงสัยต่อการทุจริตในหลายโครงการของหลายกระทรวง เช่น คมนาคม อุตสาหกรรม พาณิชย์

ผศ.ดร. นฤมลกล่าวว่าคณะนักวิจัยอย่างเธอมีหน้าที่เสนอข้อมูลทางวิชาการเพื่อให้นายกฯ ตัดสินใจ ทว่าการต่อรองในทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ "นอกเหนือไปกว่าบ้านพิษณุโลก" แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทีมบ้านพิษณุโลกตกเป็น "แพะ" ทางการเมืองหลายครั้ง

"คนจะรู้สึกว่าเมื่อเห็นการทุจริตอยู่ตรงหน้าทำไม ไม่ลุกขึ้นมาส่งเสียง... มองว่าคณะที่ปรึกษาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เป็นปัญหา คนก็เลยรู้สึกว่าไม่ควรมี"

รัฐประหารไทย-เมียนมา

เมื่อผ่านประสบการณ์ตรงมาแล้ว เราขอให้ ผศ.ดร.นฤมล วิเคราะห์ความเหมือนและความต่างของการรรัฐประหารของไทยนับตั้งแต่เมื่อปี 2534, 2549 และ 2557 และ ของเมียนมา เมื่อ 1 ก.พ. 2564

เธอให้ภาพว่ารัฐประหารของไทยปี 2534, 2549 และ 2557 ล้วน "อ้างสถาบันนอกรัฐธรรมนูญมาเป็นยันต์เอาไว้แปะ" โดยปี 2534 มีความขัดแย้งภายในกองทัพอยู่ พร้อมกับความขัดแย้งกับรัฐบาล ส่วน ปี 2549 และ 2557 เป็นความขัดแย้งว่าระหว่างกองทัพและรัฐบาลพลเรือนโดยตรง โดยมีความรู้สึกว่ารัฐบาลพลเรือนมาสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนแข่งกับเขา ส่วนเมียนมา เพิ่งมีรัฐประหารเพียง 3 ครั้ง คือ 2505 ปลายปี 2531 และ 2564

REUTERS
คำบรรยายภาพ,

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย แถลงการณ์ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก หลังก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

ส่วนผลที่ตามมาหลังการรัฐประหาร แบ่งได้เป็น

รัฐประหารไทย 2534

  • พล.อ.ชาติชาย ลี้ภัยการเมืองที่อังกฤษ แต่กลับมาเล่นการเมืองในฐานะหัวหน้าพรรคชาติพัฒนาได้
  • กองทัพไม่มองว่าอดีตผู้นำรัฐบาลเป็นภัยคุกคาม
  • แทบไม่มีการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน บุคคลทั่วไป

รัฐประหารไทย 2549 และ 2557

  • นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินัตร ลี้ภัยทางการเมือง
  • สถานการณ์ก่อนรัฐประหารมีการชุมนุมของมวลชนสองฝ่าย ในลักษณะ "ม็อบชนม็อบ" ท่ามกลางการเติบโตของพรรคการเมืองแบบมีฐานมวลชนสนับสนุน

รัฐประหารเมียนมา 2564

  • กองทัพเมียนมาไม่มีผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญ" แต่ "อิงรัฐธรรมนูญตราบชั่วชีวิต" ดังที่มีคำอธิบายออกมาว่ากองทัพ "รัฐประหารตามรัฐธรรมนูญ"
  • ทั้งกองทัพเมียนมาและไทย "ชอบคิดว่าตัวเองเป็นอัศวิน คิดว่าจะมาปราบทุกข์เข็ญ" และเป็นผู้ควบคุมการเมือง ผู้พิทักษ์ของชาติ

ไทย-เมียนมา "พันธมิตรทหารพี่น้อง"

ผศ.ดร. นฤมลกล่าวว่าทหารไทยและเมียนมามีสัมพันธ์แบบพันธมิตรทหารพี่น้อง (military brotherhood) โดยเห็นได้ชัดเจนจากการเขียนกติกาทางการเมืองที่ล้อกันไปมา เช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 ของไทย มีสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง 250 คน มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2551 ของเมียนมา ตั้งทหาร 25% ไปนั่งในสภา ทุกระดับ ทั้งสภาสูง สภาล่าง และสภาท้องถิ่นในลักษณะสภาภูมิภาค

GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ,

กองทัพเมียนมาแถลงย้ำคำมั่นสัญญาที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ และคืนอำนาจให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลางการประท้วงที่ยังดำเนินไปทั่วไปประเทศ

"ไทยคงลอกเขามา...เพียงแต่ว่าไทยใจไม่ถึง ไม่ถึงว่าด้วยบทบัญญัติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พม่ามีอยู่ 12 มาตรา ตั้งแต่ 410-422 ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐ ไทยยังใจไม่ถึงขนาดนั้น ไม่ถึงขนาดมีสภากลาโหม มาบริหารประเทศแทน ไม่ถึงขนาดบอกว่า ถ้ามีสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ต้องทำ รัฐประหารสามารถให้อำนาจประธานาธิบดีอะไรอย่างนี้ ของเราก็คืนพระราชอำนาจที่ถูกวิจารณ์"

ผศ.ดร. นฤมลมองว่า ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งต่อไปของเมียนมา อาจมีการประกาศให้มีสัดส่วนในการแต่งตั้งสมาชิกสภาเพิ่มขึ้น ก็คือขอครึ่งหนึ่งเลย โดยที่ 25% เป็นกองทัพ อีก 25% เป็นชาติพันธุ์ ให้กองทัพมีอิทธิพลให้ได้ จะได้เป็นครึ่งหนึ่ง"

ประชาธิปไตยลูกผสมในอาเซียน ?

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเมียนมาบอกว่า ยังยากที่จะวิเคราะห์ว่าเมียนมาจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้แค่ไหน แต่เห็นว่าหนทางของไทยอาจมีโอกาสได้มากกว่า

"ทหารพม่าดุ รัฐประหารก็ฆ่ากันทีหลายพันคนซึ่งมันก็ยาก ขึ้นอยู่กับว่าจะยอมแค่ไหน" ผศ.ดร.นฤมล กล่าว และชี้ว่าที่ไทยมีโอกาสมากกว่า ไม่ใช่เพราะว่าขบวนการประชาชนก้าวหน้ากว่า หรือทหารดีกว่า แต่เพราะว่าระบบเศรษฐกิจ และความเป็นรัฐของไทย ไม่ได้มีปัญหาทับซ้อนเหมือนประเทศเมียนมา

ตำรวจเมียนมาขณะปราบปรามการชุมนุมในเมืองมัณฑะเลย์เมื่อวันที่ 20 ก.พ.
คำบรรยายภาพ,

ตำรวจเมียนมาขณะปราบปรามการชุมนุมในเมืองมัณฑะเลย์เมื่อวันที่ 20 ก.พ.

"ไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ ไม่ได้มีปัญหาข้อถกเถียงเรื่องความเป็นชาติ ถึงแม้ว่าความเป็นชาติของไทยจะไม่เคลียร์ก็ตาม แต่ของเราก็จะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะเป็นแบบลูกผสมนิด ๆ เป็นเผด็จการอย่างอ่อน (soft authoritarian) ส่วนพม่าเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ (hard authoritarian)"

ท้ายที่สุดแล้ว ผศ.ดร.นฤมล วิเคราะห์ว่า เหตุที่ทหารยังออกมายึดอำนาจเป็นเพราะข้อจำกัดของระบอบที่ไม่สามารถตรวจสอบกองทัพได้ ดังที่ ชาร์ล ทิลลี นักวิชาการสังคมศาสตร์ชาวตะวันตกชื่อดัง ตีพิมพ์งานวิชาการไว้เมื่อปี 2006 ว่าหนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยคือ "คุณไม่สามารถตรวจสอบคนที่ถืออาวุธ"

เช่นเดียวกับกรณีของไทยและเมียนมา นักวิชาการหญิงชี้ว่าจะแก้รัฐประหารได้สถาบันกองทัพควรจะมีความรับผิดต่อสังคมและยอมให้เกิดการปฏิรูป

"อำนาจของกองทัพมีความเป็นอิสระเกินไป ควรจะมีความรับผิดกับสังคม ไม่ใช่ประกาศว่าฉันทำเพื่อสังคม แล้วไม่ต้องรับผิดกับใคร อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนถึงจะแก้รัฐประหารได้ (กองทัพ) ต้องโชว์งบดุล ซื้อเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ กำลังประชากรเท่าไหร่ และก็คงต้องยอมให้มีการเลื่อน ลด ปลด ย้าย จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้"

แต่ ผศ.ดร.นฤมล เชื่อว่า คงยังไม่ใช่ในเร็ววัน ต้องรอไปอีก 30 ปี ไหม เธอไม่มีคำตอบ -- "อีก 11 ปีจะครบ 100 ปี 2475 ก็ต้องดูว่าประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหน"

ข้าม YouTube โพสต์ , 1
คำบรรยายวิดีโอ, คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar