lördag 27 februari 2021

สำรวจ กลการเมือง เกมการเมือง หลังศาลสั่งจำคุกสุเทพกับพวก -

เพนกวินกับพวก ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มานาน 19 วันแล้ว

 
(ต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย)

ราษฎร: เปิดเหตุผลศาล ทำไมถึงไม่ให้ประกันตัว เพนกวิน-อานนท์-สมยศ-หมอลำแบงค์ 4 ครั้ง

ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำการชุมนุมทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" โดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ในระหว่างพิจารณามาแล้ว อีกทั้งไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

"คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง" ศาลอุทธรณ์ระบุ

นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยคำสั่งศาลอุทธรณ์ผ่านทวิตเตอร์ของเขาช่วงเช้าวันนี้ (27 ก.พ.)

ถึงขณะนี้ 4 แกนนำ "ราษฎร" ประกอบด้วย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มานาน 19 วันแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. หลังตกเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116 และอีกหลายข้อหา จากกรณีจัดการชุมนุมทางการเมืองเมื่อ 19-20 ก.ย. 2563 และถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ปฏิเสธคำร้องขอให้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี

วานนี้ (26 ก.พ.) นายนรเศรษฐ์ ในฐานะทีมทนายความของผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" เข้ายื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน หลังพบว่าศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ กปปส. รวม 8 คน ตีราคาประกันรายละ 8 แสนบาท โดยที่คนกลุ่มหลังนี้ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี 8 เดือน ถึง 9 ปี 24 เดือน ในคดีชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2556-2557 และเข้าไปนอนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มา 2 คืน ก่อนได้รับการประกันตัวออกมา

ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอดีตแกนนำ กปปส. ในระหว่างอุทธรณ์ว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมาก่อน ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่มาศาลตามกำหนดนัด แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทงก็ไม่สูงนัก อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน

อดีตแกนนำ กปปส. ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อเที่ยงของวันที่ 26 ก.พ.
คำบรรยายภาพ,

นายสุเทพกับพวก ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อเที่ยงของวันที่ 26 ก.พ. โดยมีผู้สนับสนุนไปรอให้กำลังใจ

นอกจากกรณีเปรียบเทียบการให้ประกันตัวและไม่ให้กันตัวระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. กับ แกนนำ "ราษฎร" ยังมีคนบางฝ่ายตั้งคำถามว่าเหตุใดนายสุเทพและพวกถึงไม่โดนตัดผม ต่างจากช่วงที่ผ่านมาที่แกนนำกลุ่ม "ราษฎร" โดนตัดผมเกรียนทุกรายเมื่อเข้าเรือนจำ

วันนี้ (27 ก.พ.) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออกมาชี้แจงผ่านเอกสารว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. กว่านายสุเทพและพวกจะดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ได้แก่ ตรวจคัดกรองตามมาตรการป้องกันโควิด-19 พบทนายความ พบแพทย์ "จนดำเนินการแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 14.45 น. โดยเวลาดังกล่าวเป็นเวลากระชั้นชิดกับเวลาที่ผู้ต้องขังต้องเตรียมตัวขึ้นเรือนนอน จึงยังไม่ได้ดำเนินการตัดผมของนายสุเทพฯ พร้อมกับพวก"

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงต่อว่า เมื่อถึงเวลา 26 ก.พ. เวลา 8.30 น. ทางเรือนจำฯ ได้รับการประสานงานว่าให้นำตัวนายสุเทพฯ และแกนนำกลุ่ม กปปส. ทั้งหมดไปยังที่ทำการพัศดีเวร เพื่อรอการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นเวลาต่อเนื่องจึงเป็นเหตุที่นายสุเทพฯ พร้อมกับพวก ยังไม่ได้รับการตัดผมตามระเบียบกรมราชทัณฑ์

"ขอให้สังคมและประชาชนทุกฝ่ายเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นมาตรฐาน ตามหลักสิทธิมนุษยชน และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยยึดถือกฎ ระเบียบ และวินัยต่างๆ ที่ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ทุกคนพึงยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด" นายอายุตม์ ระบุ

ย้อนเหตุผลศาล "ยกคำร้อง" ขอประกันตัว 4 แกนนำ "ราษฎร"

ในห้วง 19 วันที่ผ่านมา ทีมทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพนกวิน-อานนท์-สมยศ-หมอลำแบงค์ แต่ศาลสั่งยกคำร้องทุกครั้ง

ครั้งแรก วันที่ 9 ก.พ. ทนายยื่นหลักทรัพย์ 2 แสนบาท/คน แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า..

  • พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง
  • การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำ ๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา
  • มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้งสี่อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก

รั้งที่ 2 วันที่ 15 ก.พ. ศาลอาญาอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า..

  • ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง
  • การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือวุ่นวายขี้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
  • จำเลยที่ 1, 2 และ 4 (นายพริษฐ์, นายอานนท์ และนายสมยศ) ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย
  • จำเลยที่ 1 และ 2 (นายพริษฐ์ และนายอานนท์) ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในความผิดลักษณะเดียวกันคดีอื่น ๆ อีก
  • จำเลยที่ 4 (นายสมยศ) เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน
  • มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยที่ 1, 2 และ 4 อาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และเชื่อว่าจำเลยอาจหลบหนี

ครั้งที่ 3 วันที่ 22 ก.พ. ทนายยื่นหลักทรัพย์เพิ่มเป็น 4 แสนบาท/คน และมี ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี ร่วมด้วย แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์ แสดงเหตุผลไว้อย่างชัดเเจ้งเเล้ว หากปล่อยตัวไปอาจจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับกรณีที่ถูกฟ้องอยู่ จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนเปลี่ยนคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง

ครั้งที่ 4 วันที่ 26 ก.พ. ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า..

  • พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี
  • ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ในระหว่างพิจารณามาแล้ว
  • ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
..............................................................................
 

2 เลขาฯ ไม่ฟันธง อดีตแกนนำ กปปส. ตกเก้าอี้ ส.ส. หรือยัง เล็งส่งศาล รธน. ตีความ
.
ผ่านมา 3 วัน หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุกอดีตแกนนำ กปปส. รวม 26 คน เป็นเวลาตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 9 ปี 24 เดือน ในคดีชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2556-2557 ในจำนวนนี้มี ส.ส. 5 คนตกเป็นจำเลยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และถูกคุมขัง 2 คืนในระหว่างรอศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่ทั้งหมดจะได้รับการประกันตัวเมื่อ 26 ก.พ. แต่จนถึงขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่กล้าฟันธงว่าพวกเขาขาดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. แล้วหรือยัง และเตรียมหาข้อสรุปที่ชัดเจนในวันที่ 1 มี.ค.
.
พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ส.ส. อยู่ภายใต้หน่วยงานของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นสภาจะเป็นผู้ประกาศเลื่อนลำดับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนตำแหน่งที่ว่างลง ส่วน กกต. จะรับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เขต แทนตำแหน่งที่ว่างลงต่อไป ซึ่งขณะนี้ กกต. อยู่ระหว่างประสานกับสภาว่ามีความเห็นกรณีนี้อย่างไร จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ คาดว่าจะเกิดความชัดเจนในวันที่ 1 มี.ค. นี้
.
ด้านนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาได้ทำความเห็นไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานสภา แล้วว่าอำนาจในการเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นของประธานสภา แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ชี้ขาดว่า ส.ส. ทั้ง 5 คนสิ้นสมาชิกภาพแล้วหรือยัง ดังนั้นอาจต้องทำความเห็นไปยัง กกต. ให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือให้ ส.ส. เข้าชื่อกันยื่นคำร้องผ่านประธานสภา ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยไม่ต้องผ่าน กกต. ซึ่งขณะนี้กำลังรอว่าจะมี ส.ส. เข้าชื่อมาหรือไม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในวันจันทร์ที่จะถึงนี้เช่นกัน
.
สำหรับนักการเมืองทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), นายพุทธิพงษ์ ปุณกัณต์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พปชร., นายอิสระ สมชัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร ปชป. และนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ปชป. ทั้งนี้ในส่วนของณัฏฐพล, นายอิสระ และนายชุมพล ถูกศาลสั่งตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีด้วย ทำขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. ตามมาตรา 98(5) ของรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายพุทธิพงษ์กับนายถาวร ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิ ทำให้สถานะความเป็น ส.ส. ของทั้งคู่ยังค่อนข้างคลุมเครือ
.
ดูฉากทัศน์ทางการเมืองและกฎหมาย หลังศาลอาญาสั่งจำคุกสุเทพกับพวก ได้ที่นี่
https://bbc.in/3aWHi86

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar