söndag 28 februari 2021

กลุ่ม "รีเด็ม" นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ-เดินขบวนไปบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์

เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุ่งหน้าไปกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภารักษาพระองค์ ถ. วิภาวดีรังสิต

ชุมนุม 28 ก.พ.: กลุ่ม "รีเด็ม" เรียกร้อง พล.อ. ประยุทธ์คืนบ้านพักหลวง-คืนค่ายทหารให้ประชาชน

ผู้ชุมนุมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "Restart Democracy - ประชาชนสร้างตัว" หรือ "รีเด็ม" (REDEM) รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก่อนจะเคลื่อนขบวนไปกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านพัก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ คืน "บ้านพักหลวง" เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าเป็นการใช้ภาษีประชาชนอย่างไม่เหมาะสมและสิ้นเปลือง

การชุมนุมในวันนี้ (28 ก.พ.) นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกของกลุ่มรีเด็มที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ผ่านหน้าเฟซบุ๊ก "เยาวชนปลดแอก" ซึ่งทำหน้าที่นัดหมายและประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกลุ่ม

ผู้ชุมนุมนัดรวมตัวกันในเวลา 15.00 น. และเคลื่อนขบวนในเวลา 17.00 น. เข้าสู่ ถ.ดินแดง แล้วเลี้ยวเข้าสู่ ถ.วิภาวดีรังสิต

กลุ่มรีเด็มระบุว่าเป้าหมายของการเดินขบวนเป็นระยะทาง 3.1 กม. จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์เพื่อ"ทวงคืนสมบัติ" ของประชาชน เนื่องจากที่นี่ "มีบ้านพักหลวงที่ประยุทธ์พักอาศัยอยู่ฟรี ๆ โดยประชาชนเป็นผู้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ" และยังเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารที่ถูกโอนไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

กลุ่มรีเด็มจึงต้องการให้ "คืนค่ายทหาร พร้อมจ่ายค่าเสียหายและค่าน้ำค่าไฟให้ประชาชน" รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะแกนนำกลุ่ม "ราษฎร" 4 คนที่ตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทำให้ต้องอยู่ในเรือนจำมา 20 วันแล้ว

ผู้ชุมนุมถือธงบนอนุสาวรีย์

ตั้งแต่ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามหีบเพลงมาติดตั้งด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และบนสะพานลอย ถ. วิภาวดีรังสิต เพื่อป้องกันผู้ชุมนุมเข้ามาใกล้เขตทหาร

พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแถลงข่าวเมื่อเวลา 11.00 น. ว่าพื้นที่การชุมนุมและเดินขบวนของกลุ่มรีเด็มอยู่ในความรับผิดชอบของ สน.พญาไท สน.ดินแดง สน.บางซื่อ และ สน.วิภาวดี พร้อมกับเตือนว่าขณะนี้กรุงเทพฯ ถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นการชักชวนกันมาร่วมชุมนุมหรือมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค

"การชุมนุมในขณะนี้เป็นความผิดตามกฎหมาย ผู้ที่จะมีส่วนร่วมกระทำผิดกฎหมายมีตั้งแต่ผู้โพสต์ชักชวนหรือการชักชวนด้วยประการใดให้มาร่วมชุนนุม แกนนำ และผู้ชุมนุมทุกคนที่มาร่วมชุมนุม"

เจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามหีบเพลงมาติดตั้งด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 ถ.วิภาวดี
คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามหีบเพลงมาติดตั้งด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และบนสะพานลอย ถ. วิภาวดีรังสิต เพื่อป้องกันผู้ชุมนุมเข้ามาใกล้เขตทหาร

สำหรับการใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาเป็นเครื่องกีดขวางนั้น รอง ผบช.น.อธิบายว่าตำรวจพิจารณาตามความเหมาะสมจากพฤติกรรมของผู้ชุมนุม การข่าว และบริเวณที่มีการนัดชุมนุม

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่าระยะหลังผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่การชุมนุมที่แยกเกียกกายช่วงปลายปี 2563 เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และการชุมนุมที่หน้าศาลฎีกาเมื่อวันที่ 13 ก.พ.

รอง ผบช.น. ระบุว่าผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธปืน ระเบิดเพลิง ระเบิดควัน และวัตถุไวไฟมากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ สถานที่ราชการและบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง

"วันนี้มีการนัดหมายว่าจะเคลื่อนขบวนมาที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นบริเวณของค่ายทหาร เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่ง...จึงมีความจำเป็นต้องตั้งเครื่องกีดขวางในบางสถานที่ แต่จะระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด"

ผู้ชุมนุมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อมุ่งหน้าไปกรมทหารราบที่ 1
คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อมุ่งหน้าไปกรมทหารราบที่ 1

รู้จัก "รีเด็ม"

กลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" เปิดตัว "รีเด็ม" เมื่อวันที่ 24 ก.พ. โดยอธิบายว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ "มวลชนร่วมกันเป็นเจ้าของ" และ "ไม่มีแกนนำ ไม่มีการ์ด ไม่มี STAFF ไม่มีรถเวทีที่จะรวมศูนย์ความสนใจ มีเพียงมวลชนที่จะดูแลกันและกัน สามารถร่วมกันลุกขึ้นมาต่อสู้ได้ด้วยการร่วมกันตัดสินใจ"

กลุ่มรีเด็มประกาศ "ธง" ที่พวกเขาเชื่อว่าจะนำเราไปสู่การเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง 3 ข้อ คือ

  • จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์
  • ปลดแอกประชาธิปไตยขับไล่ทหารออกจากการเมือง
  • ลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

ทั้งนี้กลุ่มเยาวชนปลดแอกจะเป็นฝ่ายสนับสนุนและประชาสัมพันธ์การเคลื่อนไหวที่มวลชนเห็นร่วมกัน

ย้อนรอยประเด็นพักบ้านหลวง-พ.ร.บ. โอนอัตรากำลังฯ

ประเด็นเรื่อง "พักบ้านหลวง" ของ พล.อ. ประยุทธ์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ศึกซักฟอกรัฐบาลเมื่อต้นปี 2563 เมื่อพรรคฝ่ายค้านกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ เนื่องจากยัง "พักในบ้านพักทหารโดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่เกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557" ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม

หลังจากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งศาลมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก ศาลยังชี้ด้วยว่ารัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ เพื่อ "สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม"

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กลุ่ม "ราษฎร" ได้จัดการชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว แกนนำหลายคนปราศรัยโจมตีมติศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ กรณีพักบ้านหลวง

ประเด็นนี้ถูกพรรคฝ่ายค้านมาพูดอีกครั้งในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 16-19 ก.พ. ที่ผ่านมา

กราฟิค

สำหรับการคัดค้าน พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 นั้น เป็นประเด็นที่กลุ่ม "ราษฎร" หยิบมาเคลื่อนไหวเป็นระยะ ๆ ตลอดการเคลื่อนไหวในปี 2563 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการที่สถาบันกษัตริย์มีกองกำลังส่วนตัว

การชุมนุมครั้งล่าสุดที่กลุ่ม "ราษฎร" ชูประเด็นนี้ในการเคลื่อนไหวคือการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 โดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" หนึ่งแกนนำผู้ชุมนุมได้อ่านประกาศให้ยกเลิก พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ ของกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ซึ่งถูกโอนไปเป็นส่วนราชการในพระองค์เมื่อปี 2562 คืนสู่ต้นสังกัดเดิมของกองทัพ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ ไม่มีส่วนก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล

"ยกเลิกหน่วยราชการในพระองค์ซึ่งไม่มีความจำเป็น เป็นหนึ่งใน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันของเรา" พริษฐ์กล่าวในการชุมนุมวันนั้น ซึ่งต่อมาได้มีแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar