onsdag 24 februari 2021

สุเทพปฏิญาณ “รับใช้กษัตริย์” และ “ขจัดระบอบทักษิณ” คือภารกิจ รปช.

สุเทพ : รปช. ไม่ใช่ “พรรคโหนเจ้า” แต่เป็น “ข้าแผ่นดิน”
.
สุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ บีบีซีไทย เมื่อ 3 ปีก่อน ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ จ.สุราษฎร์ธานี เล่าที่มาของการก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และประกาศผ่านบีบีซีไทยว่าการต่อสู้กับ "ระบอบทักษิณ" เป็นภารกิจภาคต่อ พร้อมกับภารกิจของพรรค รปช. ที่ประกาศในวันเปิดตัวว่าจะทำหน้าที่ "พรรคพลเมืองที่เป็นพสกนิกรปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์"
.
อ่านความคิดของเขา ทาง https://bbc.in/3uw5yFO

กปปส. : สุเทพ เทือกสุบรรณ ปฏิญาณ “รับใช้กษัตริย์” และ “ขจัดระบอบทักษิณ” คือภารกิจ รปช.

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ & วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

เวลาเกินกว่าสองในสามของชีวิตของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกใช้จ่ายไปในแวดวงการเมือง

ท่ามกลางมิตรมากหน้า และสายสัมพันธ์การเมืองแน่นหนากับบุคคลทุกระดับ นักการเมืองวัย 69 ปีเพิ่งพบ "มิตรแท้" ในยามถอดสูท ทิ้งสภา ไปเล่นการเมืองข้างถนน สถาปนามวลชนที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เมื่อปี 2556-2557

ประชาชน คือมิตรแท้ทางการเมืองตามทัศนะของเขา โดยมี "ระบอบทักษิณ" เป็น ศัตรูถาวร

ด้วย "สัญญาณพิเศษ" และ "เงื่อนไขที่ไม่อาจปฏิเสธ" ทำให้ชีวิตของเขา "หักเห" กลับมาที่การเมืองในระบบอีกครั้ง เปิดตัว เปิดหน้าเป็นผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และประกาศผ่านบีบีซีไทยว่าการต่อสู้กับ "ระบอบทักษิณ" เป็นภารกิจภาคต่อ พร้อมกับภารกิจของพรรค รปช. ที่ประกาศในวันเปิดตัวว่าจะทำหน้าที่ "พรรคพลเมืองที่เป็นพสกนิกรปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์"

สุเทพ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ บีบีซีไทย ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ จ.สุราษฎร์ธานี เล่าที่มาของแนวคิดนี้ว่ามาจากการแลกเปลี่ยนความคิดกับประชาชน "ผู้ตื่นรู้ทางการเมือง" ตั้งแต่ช่วงชุมนุม กปปส. เมื่อ 5 ปีก่อน จนเกิดความตระหนักร่วมกันว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องรับผิดชอบบ้านเมือง แม้ขณะนั้นยังไม่คิดถึงการตั้งพรรค คิดเพียงให้พลังของประชาชนไปสนับสนุนพรรคที่ยอมรับแนวคิดปฏิรูปประเทศก็ตาม แต่เมื่อสองพรรคใหญ่ คือ ประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในชั้นประชามติเมื่อปี 2559 ประชาชนจึงมองไม่เห็น "พรรคที่พึ่งหวังได้"

ชุมนุมกปปส.
คำบรรยายภาพ,

สุเทพนำมวลชน กปปส. ที่อยู่ระหว่างชุมนุม "ปิดกรุงเทพฯ" สวมเสื้อสีเหลืองเพื่อแสดงความจงรักภักดี เนื่องในวันฉัตรมงคล 5 พ.ค. 2557

"เราทั้งหลายเป็นข้าแผ่นดิน เป็นคนของพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นเราก็มีหน้าที่ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน รับใช้พระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นธงชัยของประเทศนี้" สุเทพแจกแจงเหตุผลความจำเป็นในการตั้งพรรคด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง พร้อมแววตาที่มุ่งมั่น

เห็นนักการเมืองบางกลุ่ม "ไม่เอาเจ้า"

แม้ประกาศตัวเป็น "พรรคพสกนิกร" แต่ผู้ก่อตั้งแถวหน้ายืนยันว่า รปช. ไม่ใช่ "พรรคโหนเจ้า"

"ตอนที่เราชุมนุมปี 2556-2557 เหตุผลหนึ่งเราก็เป็นห่วงสถาบันพระมหากษัตริย์นะ เพราะว่าตอนนั้นมีการลบหลู่ มีความพยายามที่จะใส่ร้ายสถาบันอยู่มาก แต่ถ้าสังเกตดูบนเวทีทุกคืนเราไม่เคยพูดเลย ผมไม่เคยพูดเลย คนของเราไม่เคยพูดเลย ประชาชนที่มาชุมนุมก็ไม่พูดเลย เก็บไว้ในใจ เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่จะโหนเจ้า แต่ว่าเมื่อจะทำการเมืองเราเริ่มเห็นว่ามีนักการเมืองบางกลุ่มบางพวกได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เอาเจ้า เราจึงได้กำหนดเป็นอุดมการณ์ข้อหนึ่งของเราเลยว่าเราเทิดทูนจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ว่าจะไม่เอาประเด็นเหล่านี้ไปพูดจาหาเสียง ไม่ใช่โหนเจ้าอย่างนั้น"

ด้วยภารกิจที่สุเทพกับพวกบอกว่าต้องทำอย่าง "สุดชีวิตและจิตใจ" บุคคลที่จะมายืนเป็นแนวหน้าของพรรคจึงผ่านการขบคิดและคัดสรรมาเป็นอย่างดี โดยเชื่อกันว่าหากได้ "ราชนิกุล" มานำทัพ ทิศทางการขับเคลื่อนพรรคจะแจ่มชัดยิ่งขึ้น พร้อมกับภาพของ 2 "คุณชาย" ที่สุเทพมีสายสัมพันธ์อันดีที่ลอยเด่นขึ้น

คนหนึ่งคือ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ "มิตรการเมือง" ที่ควักเงิน 10 ล้านบาทบริจาคสร้างหอสมุดของวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อาณาจักรแห่งใหม่ของ "ลุงกำนัน" หลังลาเวทีการชุมนุม

นายสุเทพ ยืนคู่กับ ม.ร.ว. จัตุมงคล
คำบรรยายภาพ,

ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ยืนคู่กับสุเทพ ในวันเปิดพรรค 3 มิ.ย. เพื่อคอยต้อนรับสมาชิกพรรค

อีกคนคือ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รู้จักกันกว่า 30 ปี ทว่าสุเทพก็รู้ดีว่าคุณชายรายนี้ "ไม่ชอบนักการเมือง" เคยเฉียดกายเข้าใกล้การเมืองมากที่สุดเมื่อต้องช่วยบุตรชาย ม.ล. อภิมงคล โสณกุล หาเสียงเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

"เต่า" เปลี่ยนใจ ยอมเป็น "หัว"

แต่มุมมองการเมืองของ ม.ร.ว. จัตุมงคลเปลี่ยนไปหลังเห็นสุเทพผันตัวไปเป็นผู้นำมวลชน ประกาศโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" จึงเกิดความประทับใจและศรัทธา เมื่อได้ข่าวว่าแนวร่วม กปปส. มีแนวคิดสร้างพรรค คุณชายเต่าจึงขอเป็นส่วนหนึ่งและกลายเป็นว่าที่หัวหน้าพรรค

แม้เป็นการลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรก แต่นี่คือบันทึก "ประวัติศาสตร์หน้าท้าย ๆ" ในชีวิตของราชนิกุลวัย 74 ปี จึงน่าสนใจใน "เงื่อนไข" และ "ระดับความไว้วางใจ" ที่ "คุณชาย" มีให้ "ลุงกำนัน"

เทือก

"ผมแค่เป็นสัญลักษณ์ แต่จริง ๆ ข้างหลังผมคือมวลมหาประชาชนที่คุณชายเห็นว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งที่ผมตั้งใจออกมาทำ การสนับสนุนจากมวลมหาประชาชนน่าจะเป็นกอบเป็นกำ เป็นหลักเป็นฐาน" สุเทพกล่าวพร้อมยิ้มยิงฟันกว้าง

เสือสองตัวอยู่ร่วมถ้ำเดียวกันไม่ได้ฉันใด "หม่อม" สองคนก็ยากจะอยู่ร่วมพรรคเดียวกันฉันนั้น เพื่อลดความเสี่ยงทางการเมืองภายในพรรค จึงไม่ปรากฏชื่อ "คุณชายหมู" ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของ "คุณชายเต่า" ในสารบบพรรค รปช.

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งปี 2562 ยังถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่นายสุเทพ-อดีต ส.ส. 12 สมัย ไม่ได้ลงสนามเอง นั่นทำให้คนที่ถูกเลือกมา "เล่นแทน" มีนัยสำคัญ ทว่านักการเมืองรุ่นเก๋าบอกปัด "ไม่เรียกว่าเป็นการเลือกคนมาแทนผมนะ คนที่มาไม่ใช่นอมินีของผม แต่ผมจะเอาประสบการณ์เกือบ 40 ปีที่ผมอยู่ในวงการการเมืองมาสนับสนุนนักการเมืองใหม่ ๆ"

ไม่เล่นการเมือง-ไม่เอาเลือกตั้ง แค่ "สรุปกันไปเอง"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุเทพเป็นมาเกือบหมดแล้วในทางการเมือง ทั้งรัฐมนตรี ส.ส. ผู้บริหารพรรค ผู้จัดการรัฐบาล และผู้นำมวลชน เขาเคยประกาศ "จะไม่หวนกลับมาเล่นการเมืองอีกต่อไป" หลังจบภารกิจการชุมนุมของ กปปส. นาน 204 วัน

นายสุเทพร่ำไห้เมื่อย้อนนึกถึงการชุมนุมของ กปปส. และประกาศขอเป็น "ขี้ข้าประชาชน"
คำบรรยายภาพ,

สุเทพร่ำไห้เมื่อย้อนนึกถึงการชุมนุมของ กปปส. และประกาศขอเป็น "ขี้ข้าประชาชน"

ในวันเปิดหน้าร่วมก่อตั้งพรรค รปช. เมื่อ มิ.ย. 2561 เขายอมรับว่าตัวเอง "อาจเป็นจุดด้อยให้คนโจมตีว่าตระบัดสัตย์"

ส่วนในวันข้างหน้า เมื่อต้องนำพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้งย่อมมีอีกข้อวิจารณ์ตามมาด้วยเพราะ กปปส. เคยปฏิเสธการเลือกตั้ง-เปิดปฏิบัติการ "ปิดคูหา" ส่งผลให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 กลายเป็นโมฆะ แล้วจะมาลงสนามทำไม ?

คำชี้แจงของสุเทพคือเป็นการ "สรุปกันไปเอง" เขาเพียงแต่บอกว่าไม่ต้องการกลับมามีตำแหน่งการเมืองอีก แต่ความรับผิดชอบในฐานะประชาชนกับการเมืองยังมี เช่นเดียวกับ กปปส. ที่ไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตย แต่เรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีบทบัญญัติเหล่านี้แล้ว เมื่อจะมีการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่ กปปส. ยินดี

"ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ" ชิงเจ็บแทนประยุทธ์

การต่อสู้ของ "ม็อบนกหวีด" ยุติลงด้วย "รถถัง" ในเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 สุเทพกับพวกถอยฉากไปอยู่ในสู่ร่มกาสาวพัสตร์นานนับปี พร้อมกับตกที่นั่งผู้ต้องหาสารพัดคดี ก่อนกลับมาเป็น "ผู้ช่วย คสช." ส่งอดีตแกนนำ กปปส. เข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่วนตัวสุเทพก็สวมบทบาท "โฆษกรัฐธรรมนูญ" จัดเฟซบุ๊กไลฟ์รายวันโน้มน้าวให้ประชาชนไป "โหวตรับ" ร่างรัฐธรรมนูญในชั้นประชามติ และยังเปิดตัวเป็นผู้สนับสนุนหลักของหัวหน้า คสช. ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ว่านายกฯ คนที่ 30 ควรเป็นคนในหรือคนนอกบัญชี เขาระบุว่า "สิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ความเป็นไปได้คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา"

ประชุม รปช.

ถึงตอนนี้เมื่อมีโครงสร้างพรรครองรับ เพิ่มอัตราความเป็นไปได้ในการขยายอำนาจให้หัวหน้า คสช. สุเทพกลับสงวนวาจาในการตอกย้ำข้อวิเคราะห์เดิม โดยอ้างว่าไม่มีเสรีภาพในการพูด เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาของพรรค และต้องรอมติมหาชน

"ในภาพรวม เท่าที่ดูความมุ่งหวังตั้งใจของ พล.อ. ประยุทธ์ กับความมุ่งหวังตั้งใจของประชาชนมันไปในทางเดียวกันคือเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ถ้ายังมีแนวความคิดแบบนี้ก็คิดว่าไปด้วยกันได้"

จุดยืนเคียงข้างผู้นำ คสช. ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปของสุเทพ ทำให้การเปล่งวาจาที่ถูกสื่อมวลชนหยิบไปพาดหัวข่าวว่า "ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ" ถูกตีเจตนาว่าเป็นการชิงเจ็บตัวแทน พล.อ. ประยุทธ์หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้หัวหน้า คสช. เดินตามรอยคณะรัฐประหารรุ่นพี่อย่าง พล.อ. สุจินดา คราประยูร อดีตแกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เจ้าของวรรคทอง "เสียสัตย์เพื่อชาติ" จนนำไปสู่เหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" เมื่อปี 2535

"มหามิตร" ของ คสช. หัวเราะร่วนก่อนกล่าวเลี่ยง ๆ ไปว่า "อย่าไปพูดไกลถึงขนาดนั้นเลยดีกว่าครับ เอาเป็นว่าวันนี้ผมสบายใจที่จะทำงานนี้ เพราะว่าผมได้ปฏิบัติตามคำสอนอาจารย์พุทธทาส ผมไม่ได้ยึดตัวตนของผมเองแล้ว"

เพียง 50 เสียง รปช. ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลแน่

แม้ย้ำ-ยืนยันว่า "ผมไม่เป็นอะไรอีกแล้ว" ขอทำหน้าที่ "โค้ช-พี่เลี้ยง" เท่านั้น แต่การกระทำในอดีตย่อมส่งผลต่อสถานะในปัจจุบัน

ปี 2551 สุเทพคือเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ผู้เดินเกม "พลิกขั้วการเมือง" ส่งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้นายกฯ คนที่ 27 ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ชนะการเลือกตั้ง เมื่อสุเทพพลิกมาทำพรรค รปช. มีโอกาสหรือไม่ที่หัวหน้าพรรคน้องใหม่จะได้ขึ้นเป็นประมุขฝ่ายบริหาร

สุเทพ กับอภิสิทธิ์
คำบรรยายภาพ,

สมัยเป็นเลขาธิการ ปชป. นายสุเทพพูดอยู่เสมอว่าความใฝ่ฝันสูงสุดคือการผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯ

เขานิ่งคิดพักหนึ่งก่อนพูดขึ้นว่า "มันตอบยากนะ พรรคที่จะให้หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ มันต้องมีเสียงมากนะ มันต้องมีเสียง 150, 180, 200 มันต้องไปอย่างนั้น เรียกว่าเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาก ๆ เราเจียมตัว เราเป็นพรรคใหม่ มี ส.ส. ได้สัก 50-60 คนในสภา เราก็ดีใจแล้ว แต่ว่าเราพร้อมจะสนับสนุนใครก็ตามที่เป็นคนดีให้มาเป็นนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้ง แต่มีข้อแม้นะว่าต้องรับเรื่องปฏิรูปประเทศของมวลมหาประชาชนไป"

สมมติฐานของบุคคลที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในการเมืองไทยมา 4 ทศวรรษคือ ผู้สมัครของพรรค รปช. จะได้รับคะแนนเสียงรวมกันไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านคะแนนจากทั่วประเทศ นั่นหมายความว่าจะมี ส.ส. ในสภาอย่างน้อย 50 คน

"พรรคนี้จะมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน เพราะมันเป็นพรรคที่มีฐานประชาชน ใครก็อยากได้" เขาวาดฝัน

พท. ใช้วิธี "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย"

ในบัญชีพรรคร่วมรัฐบาลที่นายสุเทพร่างไว้ในหัว ชัดเจนว่าไม่มีชื่อพรรคเพื่อไทย (พท.) ในสูตรจัดตั้งรัฐบาล จึงน่าสงสัยว่าความมั่นใจของชายผู้นี้อยู่บนฐานวิเคราะห์ที่ว่าพรรค พท. จะไม่ชนะเลือกตั้ง ? หรือชนะแต่มีกลไกสกัดให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ?

"พรรคเพื่อไทยได้คะแนนลดไปมาก ไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ผมไม่คิดว่าเขาได้ที่ 1 นะ กลวิธีที่เขาใช้ในวันนี้ก็คือเขาแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย คุณจะสังเกตเห็นว่าเขาจะมีพรรคเล็ก ๆ มากมาย เช่น พรรคของคุณวันนอร์ (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชาติ) ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เพราะชื่อของคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ขายใน 3 จังหวัดไม่ได้แล้ว แต่แน่นอนทุกคนก็รู้ว่าคุณวันนอร์กับคุณทักษิณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างนี้เป็นต้น และมีพรรคอย่างนี้อีกมาก"

“เสียงส่วนใหญ่” ใน “มวลมหาประชาชน”

  • 32% มีอายุ 46-55 ปี

  • 68% จบการศึกษา ป.ตรีขึ้นไป

  • 57% อาศัยในกรุงเทพฯ

  • 32% มีรายได้เกิน 6 หมื่นบาท/เดือน

  • 98% ใช้มือถือและสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางหลักมีส่วนร่วมกับการชุมนุม

  • 48% เข้าร่วมชุมนุมเพื่อหยุดระบอบชินวัตร

Getty Images

พรรค รปช. ประกาศสร้าง "การเมืองใหม่" ทว่าภารกิจต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ที่สุเทพทำมาตั้งแต่สมัยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ มาถึง กปปส. ยังเป็น "ภารกิจภาคต่อ" ของพรรค รปช.

"เรายังถือว่าระบอบทักษิณเป็นอันตรายต่อประเทศ ปล่อยให้เกิดอีกไม่ได้ เราจะต้องพยายาม เราถึงต้องปฏิรูปประเทศ ดังนั้นนี่คือภารกิจของเรา"

ยอมรับดาบแรก "คดีโรงพักฉาว" กระเทือนพรรค รปช.

ท่ามกลางเป้าหมายสูงเสียดฟ้าของพรรคเกิดใหม่ในสถานการณ์อันแหลมคมทางการเมือง สุเทพผู้เคยประสบความสำเร็จในการ "ล้างภาพลักษณ์" นักการเมืองที่มีอดีตมัวหมองหลังกลายเป็น "ลุงกำนัน" ขวัญใจมวลชน ถึงขั้นเคยเปรียบตัวเองเป็นเหมือน "ฆราวาสบวชใหม่" ต้องพบจุดสะดุดครั้งสำคัญเมื่อถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขุด "คดีเก่า" เมื่อ 7 ปีก่อนขึ้นมาแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการอนุมัติก่อสร้างสถานีตำรวจ หรือโรงพักทดแทน 396 แห่ง

"ผมเอาเอกสารหลักฐานไปแสดงก็ไม่วินิจฉัยเสียที จู่ ๆ ก็ออกมาแถลงข่าวช่วงที่ผมเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งพรรค รปช. ผมคิดว่าขืนปล่อยอย่างนี้ พรรคได้รับผลกระทบเสียหาย เพราะพรรคตั้งขึ้นมาเพื่อผลักดันปฏิรูป ต้านทุจริต ถ้าผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งถูกกล่าวหาก็ได้รับผลกระทบ"

ทักษิณโต้ "ผมไม่กลัวคนเก่ง แต่ผมกลัวคนหน้าด้าน"

หลังเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนายสุเทพ บีบีซีไทยติดต่อนายทักษิณเพื่อให้ชี้แจงต่อคำกล่าวหาของนายสุเทพ ได้รับคำชี้แจงว่า

"ผมไม่กลัวคนเก่ง แต่ผมกลัวคนหน้าด้าน" นายทักษิณตอบ หลังนายสุเทพระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้คะแนนมาเป็นที่ 1 และไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้

"ผมรู้จักสุเทพดีทุกคนว่าเขาเป็นคนอย่างไร เขาสามารถใส่ชุดดำมอมแมมแล้วขึ้นไปบอกว่าชุดผมสีขาวสะอาดหอมหวลชวนให้มาอยู่ใกล้ได้ ซึ่งผมทำไม่ได้"

นายทักษิณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และ "นักโทษหนีคดี" ที่ถูกกล่าวหาและตัดสินจำคุกระหว่างคณะรัฐประหารครองอำนาจ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย เมื่อ 22 มิ.ย. ว่า มั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะที่ 1 แน่นอนในการเลือกตั้งปีหน้า และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จัดการเลือกตั้งตามสัญญาที่ให้ไว้ อย่างยุติธรรม และโปร่งใส

ส่วนข้อหาว่า พรรคประชาชาติ คือ แบงก์ร้อยที่แตกจากแบงก์พัน ของพรรคเพื่อไทยนั้น นายทักษิณอ้างว่า เขาตอบแทนพรรคทั้งสองไม่ได้ว่า พรรคประชาชาติ ไม่ใช่ สาขา หรือ พันธมิตร ของพรรคเพื่อไทย ตอบได้เพียงว่า "คงเป็นพรรคที่ไม่เอาเผด็จการเหมือนกัน"

"เขา (สุเทพ) คงคิดแบบที่เขาเป็นแบงก์ร้อยของประชาธิปัตย์มั้งครับ เลยคิดว่าทุกคนคิดเหมือนเขา"

Presentational grey line
แบนเนอร์เลือกตั้ง

คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง #ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562

บีบีซีไทย - BBC Thai
3 tim

แกนนำ กปปส. 8 คน ถูกส่งจากศาลไปเรือนจำ

ราว 20.30 น. นักโทษ 8 คน จากคดีกบฏ กปปส ถูกนำตัวจากศาลอาญาขึ้นรถกักของเรือนจำไปจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมี ประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาส่ง พร้อมตะโกนว่า "คนชั่วหนีหมด คนดีหนีเข้าคุก คนชั่วหนีไปต่างประเทศ ต่อไปใครจะออกมาสู้"
.
นางทยา ทีปสุวรรณ จำคุก 1 ปี 8 เดือน รอลงอาญา ปรับ 26,666 บาท กล่าวกับผู้สื่อข่าวหน้าศาลในสภาพอ่านรายละเอียดว่า 8 คน หนีบไม้เท้าที่แขนทั้งสองข้างว่า ผู้ต้องโทษทั้งหมดจะขออุทธรณ์และขอประกันตัวอีกครั้ง

เป็นใครบ้างทาง https://www.bbc.com/thai/thailand-56178240

 
Kan vara en bild av en eller flera personer och personer som stårKan vara en bild av en eller flera personer, personer som står och personer som sitter .
            Ingen fotobeskrivning tillgänglig.Kan vara en bild av 2 personer, personer som står, inomhus och text där det står ”THAI NEWS PIX”


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar