โควิด-19: เปิดบันทึกประสบการณ์ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม

ครึ่งเมตร ถึงหนึ่งเมตร คือระยะห่างของเตียงผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมนานาชาติ จ.เชียงใหม่ ที่ชัยพิพัฒน์ ลิ่วตระกูล นักเพาะกายทีมชาติไทย ประเมินด้วยสายตา ขณะที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาเป็นวันที่ 9 แล้ว

"วันแรก ๆ ดี ครับ เพราะว่าผู้ป่วยมีน้อย มีคนบริจาคของมาเพียบ ห้องน้ำสะอาดดี หลัง ๆ พอคนเยอะขึ้น คนที่ดูแลความสะอาดก็เป็นส่วนน้อย ตอนนี้คนเริ่มแน่นขึ้น ฮอลล์หนึ่งประมาณ 400 คน มันไม่พอ ก็ล้นออกไปข้างหน้า มีการประกอบเตียงกล่องเพิ่มขึ้น" ชัยพิพัฒน์ เล่าให้บีบีซีไทยฟังเมื่อ 19 เม.ย.

ชัยพิพัฒน์ เข้าไปเป็นผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนาม ภายหลังตรวจพบว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยยืนยันเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จังหวัดที่มีตัวเลขการระบาดลำดับต้น ๆ ในการระบาดระลอก เม.ย.

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว เตียงยังใหม่เอี่ยม มีการเว้นระยะห่าง ชัยพิพัฒน์ เล่าถึงช่วงเวลาที่กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ป่วยหน้าใหม่ แต่ละวันชัยเขาต้องวัดไข้ วัดความดัน และวัดค่าออกซิเจน วันละ 2 ครั้ง ก่อนส่งให้หมอพยาบาลที่ดูแลผ่านทางช่องทางแอปพลิเคชั่นไลน์แอด

เกือบ 20 วันของการระบาดที่กระทรวงสาธารณสุขเรียกว่าเป็น "ระลอกเดือน เม.ย." 77 จังหวัดของประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันแล้วทุกจังหวัด ตัวเลขล่าสุดจนถึงวันที่ 19 เม.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 รายงานว่า มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 14,879 ราย ทำให้รัฐบาลสั่งการให้เปิดโรงพยาบาลสนามทุกจังหวัดเพื่อรองรับผู้ป่วย

หนึ่งในโรงพยาบาลสนามของ จ.สุราษฎร์ธานี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ที่มาของภาพ, facebook/สาสุขสุราษฎร์News

คำบรรยายภาพ,

หนึ่งในโรงพยาบาลสนามของ จ.สุราษฎร์ธานี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ศูนย์กีฬาหลายแห่ง อาคารหอประชุมของหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา หรือกระทั่งลานจอดรถใต้ถุนหอประชุมของมหาวิทยาลัย ถูกจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามโดยคณะกรรมควบคุมโรคของจังหวัด ภาพของโรงพยาบาลสนามบางแห่งถูกเผยแพร่ผ่านเพจของสาธารณสุขจังหวัด เป็นภาพของเตียงนอนที่เป็นเตียงเหล็กบ้าง หรือเตียงกระดาษรีไซเคิล ถูกเตรียมไว้ให้ผู้ป่วย บางแห่งเว้นระยะได้ดี บางแห่งดูหนาแน่น

อีกด้านหนึ่งในโลกออนไลน์ ภาพผู้ป่วยนอนเรียงรายบนเตียงในโถงของโรงพยาบาลสนามหลายแห่ง ได้นำมาสู่กระแสการแสดงความเห็นถึงการจัดการโรงพยาบาลสนามในไทย เปรียบเทียบกับต่างประเทศที่จัดระบบโรงพยาบาลที่มีการกั้นแยกระหว่างเตียงผู้ป่วย หลายคนตั้งคำถามถึงการจัดการของรัฐบาลไทยที่น่าจะดำเนินการได้ดีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น

"ตอนแรกคือผมไม่รู้ว่าเขาจัดโรงพยาบาลสนามยังไง ได้ยินข่าวว่าเป็นเตียงเรียง ๆ กัน พอมารู้อีกทีว่าของต่างประเทศเป็นอย่างนี้ ดูสะอาด ความเป็นส่วนตัวสูง เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ... มันน่าจะเป็นแบบนั้นก็ดี" นี่เป็นเสียงสะท้อนอีกเสียงหนึ่งจาก ชัยพิพัฒน์

ผู้ป่วยใหม่หลั่งไหล

ตลอดเวลา 9 วันที่ชัยพิพิฒน์อยู่ในโรงพยาบาลสนาม มีผู้ป่วยใหม่เข้ามาทุกวัน ที่นี่แยกโซนในฮอลล์ศูนย์ประชุมออกเป็นโซนหญิง โซนชาย คนที่เข้ามาใหม่บางคนก็นอนกับเพื่อนบ้าง หรือไม่ก็เป็นโซนที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยใหม่ ก่อนจะเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม ทุกคนจะได้รับการเอ็กซเรย์ที่ปอด เพื่อดูว่ามีอาการเบื้องต้นที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือไม่

เตียงนอน ชุดสำหรับผู้ป่วย ที่นอน หมอน ผ้าห่ม มีเกือบทุกอย่าง ผู้ป่วยเตรียมเฉพาะชุดของตัวเองทั้งขาไป ขากลับ เขาเล่าว่า ผู้ป่วยที่มาชุดแรก ๆ จะมีตู้เก็บของให้ แต่ว่าตอนนี้มีไม่พอ ส่วนเตียงที่นอนนั้นบางเตียงห่างกันครึ่งเมตร บางเตียงก็ห่างกัน 1 เมตร

ชัยพิพัฒน์บอกว่า ช่วงแรกเขากังวลถึงการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยด้วยกันว่าจะทำให้มีอาการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าตอนนี้ไม่ได้มีอาการเพิ่มขึ้น แต่ดีขึ้นตามลำดับจากช่วงแรกที่มีอาการคันคอ อยากไอ เมื่อยตามลำตัว และท้องเสียเล็กน้อย ตอนนี้แค่อมยาแก้ไอที่เตรียมมาเอง

"ตอนแรก ๆ ไม่มีใครกล้าถอดแมสก์ (หน้ากากอนามัย) เพราะว่าแต่ละคนยังไม่รู้จักกัน ผมใส่แมสก์หมด ตอนนอนเขาก็ใส่กัน มีส่วนน้อยที่ไม่ใส่ แต่หลัง ๆ ก็เริ่มถอดแมสก์กันเยอะ เพราะเขาคงคิดว่าติดเชื้อเหมือนกัน" ชัยพิพัฒน์ เล่าถึงความเป็นไปในโรงพยาบาลสนาม

สำหรับอาการป่วย เขาเล่าว่าทุกคนจะติดต่อหมอได้ทางไลน์แอด ภายในโรงพยาบาลสนามเขามักจะได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศรายชื่อของผู้ป่วยที่ต้องมารับยา รวมถึงประกาศแนวปฏิบัติตัวของคนไข้รายใหม่ ทั้งการวัดความดัน วัดไข้

เขาเล่าด้วยว่าการถ่ายเทของอากาศที่นั่นไม่มีปัญหา เพราะเป็นศูนย์ประชุมปรับอากาศที่แอร์ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป แต่ตอนนี้มีผู้ป่วยเข้ามามากขึ้น เรื่องการทำความสะอาดห้องน้ำที่แต่ละคนมีหน้าที่ช่วยกันก็อาจจะมีคนดูแลน้อยกว่าเดิม

ความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย

"ในนี้มีคนไม่ต่ำกว่าพัน แต่ว่าคนทำงาน (เจ้าหน้าที่) มี 6-8 คน เฉพาะข้างใน" ชัยพิพัฒน์ เล่าถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ที่งานหลัก ๆ ของพวกเขา คือ การทำความสะอาด เก็บขยะของผู้ติดเชื้อและชุดผู้ป่วย โดยทุกคนสวมใส่ชุดป้องกัน เริ่มทำงานตั้งแต่ 6-7 โมงเช้า และเลิกตอนห้าทุ่มที่เป็นเวลาปิดไฟ

ชัยพิพัฒน์บอกว่า สิ่งที่อยากให้โรงพยาบาลสนามในไทยปรับปรุงให้ดีขึ้น คือ ฉากกั้นระหว่างเตียงผู้ป่วยจะทำให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเช่นเดียวกับโรงพยาบาลสนามในต่างประเทศ

ส่วนการเว้นระยะห่าง เขาบอกว่าอาจยากที่จะทำได้ในโรงพยาบาลสนามเพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก ดังนั้น การสวมหน้ากากและล้างมือตลอดน่าจะช่วยได้

เมื่อหอพักกลายมาเป็นที่กักตัว

นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) รายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 เผยชีวิตภายในโรงพยาบาลสนามที่ถูกปรับเปลี่ยนจากหอพักมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เพิ่งปรับปรุงเสร็จ หลังจากเข้าไปนอนโรงพยาบาลสนามที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่มา 1 คืน

"พอรู้วันที่ 10 (เม.ย.) ปุ๊บ สายแรกโทรบอกว่าติดเชื้อ สายที่สอง จะมีคนโทรมาบอกว่า เราต้องไป รพ.สนามเมื่อไหร่ เราได้รับสายก็บอกให้ไปที่ศูนย์ประชุม มีหนูที่รู้ผลเช้าวันที่ 10 และมีเพื่อนรู้ผลวันที่ 9 เลยเก็บของไปพร้อมเพื่อนอีก 2 คน ทางศูนย์ประชุม ให้ขับรถไปเอง ไม่ให้เรียกแกร็บคาร์" นี่คือจุดเริ่มต้นของนักศึกษาหญิงรายนี้ที่เล่าให้บีบีซีไทยฟัง เธอคือหนึ่งในกลุ่มของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีผลตรวจเชื้อยืนยันภายหลังกลับจากค่ายอาสาในช่วงปิดเทอม

bbc
คำบรรยายภาพ,

ของใช้จำเป็นที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการกักตัวได้รับที่ รพ.สนาม เชียงใหม่

เมื่อไปถึงศูนย์ประชุมเธอเข้าสู่ขั้นตอนการซักประวัติ เอ็กซเรย์ปอด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ใน จ.เชียงใหม่ มีผู้ไปรับการตรวจเชื้อจำนวนมากและมีจำนวนผู้ติดเชื้อวันละกว่า 100 คน บรรยากาศที่ศูนย์ประชุม มีผู้ป่วยชุดใหม่เข้าตลอดทั้งวัน

"วันที่หนูไป คนเข้าไปกันเยอะ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่รู้จำนวนคน คือยอดไม่นิ่งสักที พอถึงเวลาข้าวมื้อเย็น คนที่ รพ.สนาม รับเข้ามามันเยอะกว่าข้าวที่สั่งมา เจ้าหน้าที่ก็มาขอโทษเราก็เข้าใจ ก็เลยได้กินมาม่า"

ทว่าหลังจากนั้น เธอได้อยู่ที่ศูนย์ประชุมเป็นเวลา 1 คืน วันรุ่งขึ้นมีการประกาศว่านักศึกษา มช. ให้ย้ายไปเข้า รพ.สนามของมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นชีวิตการกักตัวที่หอพัก 5 หญิง มช. ก็เริ่มต้นขึ้น เธอได้ยินเสียงประกาศว่ามีนักศึกษา มช. ราว 60-70 คนที่ถูกย้ายไป รพ.สนามที่หอพักมหาวิทยาลัย พร้อม ๆ กับเธอในวันที่ 11 เม.ย.

24 ชั่วโมงใน รพ.สนาม หอพัก 5 หญิง มช.

ที่นี่เป็นหอพักที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ พวกเธอเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้เข้าใช้ น.ศ.หญิงรายนี้บอกเราว่า บางห้องยังเพิ่งกำลังเดินสายไฟฟ้าเครื่องทำน้ำอุ่น

หอพักที่เธอกักตัวมีทั้งหมด 4 ชั้น ชั้นละ 8 ห้อง วันแรก น.ศ.แต่ละคนได้นอนพัก 1 ห้องต่อ 1 คน พอวันที่ 2 น.ศ. มช. ที่ติดเชื้อเยอะขึ้น จึงต้องปรับให้พักห้องละ 2 คน ส่วนชีวิตประจำวันที่นี่การรับประทานอาหาร เมื่อถึงเวลาจะมีการประกาศห้าม น.ศ.ที่ติดเชื้อออกมานอกห้อง เจ้าหน้าที่จะนำอาหารมาวางไว้ที่ชั้น 1 ของหอพัก หลังจากนั้น แต่ละคนก็ทยอยลงมารับอาหาร นอกจากนี้ยังการรายงานอาการป่วยตามช่วงเวลา

bbc

ส่วนเรื่องการสั่งอาหารให้มาส่ง แต่ละคนสามารถสั่งได้ 3 เวลา เข้าส่งก่อนเวลา 7.30 น. และก่อน 11.30 น. แต่ตอนนี้ คนเริ่มเยอะขึ้น แล้วอาหารโรงพยาบาลมีอยู่แล้ว ทางผู้ดูแลก็เริ่มรณรงค์ลดขยะ จึงให้สั่งอาหารได้เฉพาะรอบเย็น ซึ่ง นักศึกษาหญิง รายนี้บอกบีบีซีไทยว่าเธอเห็นด้วย เพราะจะช่วยลดปัญหาขยะล้น

"เขาจะให้ตารางเวลามา แจกข้าวกี่โมง และหลังแจกข้าวก็ให้เวลาเราวัดความดัน ออกซิเจน วัดไข้ มีลิงค์ให้เข้าไปกรอกว่า เรามีผลยังไง หมอเขาก็จะดูผลตรงนั้นว่าออกซิเจน ต่ำเกินไปหรือเปล่า บางคนเหนื่อยหอบ ไอเยอะ หมอเขาก็จะวิดีโอคอลหาถ้าเร่งด่วน ถ้ามันไม่เร่งด่วน เขาจะไล่คอลตามลำดับ และถ้าใครที่มีอาการหนักหมอจะวิดีโอคอลหาบ่อย" เธอเล่า

เธอเล่าด้วยว่า ตอนนี้มีรถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ที่ได้รับบริจาคจากคณะเทคนิคการแพทย์มาจอดที่ด้านหลัง หากนักศึกษาคนใดมีอาการที่จำเป็นต้องเข้ารับการเอ็กซเรย์ จะได้รับนัดหมายเวลาจากแพทย์เพื่อให้ลงไปรับการตรวจด้านล่าง

อาการป่วยตั้งแต่วันแรก

บีบีซีไทยได้คุยกับ น.ศ.หญิงรายนี้ เมื่อ 18 เม.ย. เป็นวันที่ 8 ที่เธอกักตัว อาการของเธอเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง คือ วันก่อนรู้ผลตรวจ มีอาการไอ อีกสามวันต่อมาเริ่มมีไข้ ต่อมาในช่วงวันกักตัว รพ.สนามช่วงแรก ปวดร่างกาย มีไข้ ไอแห้ง เมื่อมาอยู่ รพ.สนาม ได้รับยาแก้ไอ ทำให้อาการไอลดลง และเริ่มไม่ได้กลิ่น คัดจมูก มีน้ำมูกเล็กน้อย แพทย์วิดีโอคอลวินิจฉัยอาการและจ่ายยาตามอาการ ก่อนเริ่มมีอาการดีขึ้นจากการไอที่ลดลง

bbc
คำบรรยายภาพ,

เครื่องวัดความดันที่ตั้งไว้บริเวณส่วนกลางของหอพัก รพ.สนาม

"เราพอจะรู้ว่าสเต็ปการรักษามันเป็นยังไง บางคนก็กลัวว่าเป็นแล้วจะลงปอดไปเลย อย่างเราพอรู้ว่าเป็นแล้ว สุดท้ายยังไม่มียารักษาเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการ มุมมองเรา ทำร่างกายให้แข็งแรง เป็นอะไร สุดท้ายก็รักษากันไป" นักศึกษาหญิงกล่าว

มาตรฐาน รพ.สนามในไทย

จากเสียงวิจารณ์ของโลกออนไลน์ถึงมาตรฐานการจัดตั้ง รพ.สนาม บีบีซีไทย สืบค้นคู่มือแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกรมการแพทย์ พบว่าหนึ่งในแนวปฏิบัติ ต้องจัดระยะระหว่างเตียงผู้ป่วยควรห่างกันไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร อย่างไรก็ตามในคู่มือนี้เขียนไว้ว่า อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมของแต่ละสถานที่

ส่วนการรับเข้าพัก เจ้าหน้าที่จะต้องประเมินผู้ป่วย และจัดผู้ป่วยเข้าตามผังเตียงที่กำหนด อาจจัดแบ่งโซนให้ชัดเจน เช่น ตามความเสี่ยงของผู้ป่วย หรือ ตามวันที่รับไว้ และแบ่งโซนชาย- หญิงให้ชัดเจน

THAI NEWS PIX

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ,

โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ คือที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน เขตบางบอน รองรับได้ 200 เตียง

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ. กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง รพ.สนามเมื่อ 16 เม.ย. ว่า ผู้ติดเชื้อที่อยู่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม แม้จะเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ขอให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมการรวมกลุ่มระหว่างกันอย่างใกล้ชิด และสวมหน้ากากเสมอ

ผู้บริหารกรมควบคุมโรคบอกว่า แม้จะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่ม เนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้ออยู่แล้ว หากคลุกคลีกันมากเกินไปอาจมีการฟุ้งกระจายของเชื้อเพิ่มขึ้น และธรรมชาติของโรคนี้ต้องติดตามอาการทุกวัน เนื่องจากอาการอาจเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น เริ่มไอ มีความเสี่ยงฟุ้งกระจายเชื้อจะประเมินและอาจให้กลับไปอยู่ในโรงพยาบาลหลัก